วันเอกราชพม่า 'มินอ่องหล่าย' ปล่อยนักโทษ 7,000 คน เป็นคดีการเมือง 200 คน แต่จับเพิ่ม 1 วัน 22 ราย

มินอ่องหล่าย ปล่อยนักโทษ 7,012 ราย เนื่องในวันเอกราชพม่า ในกลุ่มผู้ได้ปล่อยตัวเป็นนักโทษการเมืองเพียง 200 ราย แต่กลับมีการจับกุมเพิ่มถึง 22 รายในวันเดียวกัน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง สวน รัฐบาลผิดกฎหมายไม่มีสิทธิอภัยโทษใคร

 

6 ม.ค. 2566 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ประกาศให้อภัยโทษให้แก่นักโทษกว่า 7,000 ราย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ม.ค. 66) เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีที่พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ รัฐบาลทหารพม่าได้จัดพิธีเฉลิมฉลองใหญ่ในกรุงเนปิดอว์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์  

MRTV สื่อของรัฐบาลพม่า ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้เป็นนักโทษที่ไม่ได้กระทำผิดในข้อหาฆาตกรรมและข่มขืน หรือถูกจำคุกในข้อหาเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด อาวุธ ยาเสพติด การบริหารภัยพิบัติธรรมชาติ การทุจริตคอรัปชั่น และการรวมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

การปล่อยนักโทษในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลทหารพม่าใกล้ครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ หลังถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติและถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ระบุว่า จะมีการจัดเลือกตั้งขึ้นเร็วๆ นี้ และส่งมอบหน้าที่แก่พรรคที่เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป  

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า

รัฐมนตรี นักเขียน ทนาย นักข่าว ได้ปล่อยตัว

สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย รายงานว่า ในการอภัยโทษครั้งนี้พบบุคคลที่ชื่อเสียงหลายคนได้รับการปล่อยตัว มีตั้งแต่รัฐมนตรี นักเขียนนิยาย ไปจนถึงนักข่าว หลังก่อนหน้านี้ถูกดำเนินคดีโดยรัฐบาลทหารพม่าด้วยข้อหาเช่น การทุจริตคอรัปชั่น ยุยงปลุกปั่น และล้มล้างการปกครอง

ธูรา อ่อง โก รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาของรัฐบาลพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่งในช่วงคืนวันอังคาร ลูกสาวของเขาได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวเขากลับไปยังบ้านของเขาในเมืองย่างกุ้งแล้ว ก่อนหน้านี้ธูรา อ่อง โก ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาทุจริต

ตัน มิน อ่อง นักเขียนนิยายที่มีชื่อเสียง และทำงานให้กับองค์กรการกุศลหลายแห่งในพม่า ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่งเช่นกัน หลังก่อนหน้านี้เธอถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่น นอกจากเธอแล้วยังมี ติน ลิน อู ทนายความในเมืองย่างกุ้งได้รับการปล่อยตัวด้วย หลังถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี ด้วยข้อหาล้มล้างการปกครอง

เมียว เต ซาร์ ม่อง กวีที่เคยถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ในข้อหาล้มล้างการปกครอง ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำยาเมติน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเนปิดอว์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตู ซาร์ นักข่าวที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2564 เธอถูกสั่งจำคุก 2 ปี ตู ซาร์ ให้สัมภาษณ์หลังปล่อยตัวว่าเธอยังสุขปนทุกข์ เพราะนักข่าวคนอื่นในเรือนจำอินเส่งยังไม่ถูกปล่อยตัว  

นอกจากตู ซาร์ ยังมีชื่อนักข่าวได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ จอเซยา, อาหละเลตูซาร์, ลเวเอ็มโพะ, แปโพอ่อง, ไซโกโกตุน, และเยตุนอู บุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ นายงานลิน รัฐมนตรีกิจการสังคมประจำย่างกุ้งในรัฐบาลของพรรคสันติบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย 

 

รัฐบาลผิดกฎหมายไม่มีสิทธิอภัยโทษใคร

หลังการประกาศปล่อยตัวนักโทษ 7,000 ราย สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า "รัฐบาลผิดกฎหมายไม่สามารถประกาศอภัยโทษได้ นับแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลทหารได้ประกาศสิ่งที่อ้างกันว่าเป็นการอภัยโทษหลายครั้งแล้วเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติ"

สมาคมช่วยเหลือการเมืองพบว่าในจำนวน 7,000 ราย ที่ได้รับการปล่อยตัว "เข้าใจว่านักโทษการเมืองกว่า 200 คนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ 19 แห่งในวันนี้ (4 ม.ค. 2565) จนถึงตอนนี้เราสามารถยืนยันตัวตนได้แล้ว 43 คน และจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน (4 ม.ค. 2565) สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าพบว่า มีการจับกุมนักโทษเพิ่มอีกว่า 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์จับกุมเกิดขึ้นในแคว้นสะกาย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และขณะนี้เกิดการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 มีนักกิจกรรมและพลเรือนเสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าไปแล้ว 2,701 ราย ปัจจุบันมีผู้ถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหารพม่ากว่า 13,356 ราย พิจารณาคดีและพิพากษาแล้วเพียง 1,923 ราย ในจำนวนนี้ถูกพิพากษาประหารชีวิตและอยู่ระหว่างรอการสำเร็จโทษ 100 ราย

ในกลุ่มผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดกว่า 121 ราย ถูกตัดสินโทษโดยไม่ได้ปรากฎตัวในการพิจารณาคดีและในจำนวนนี้ถูกตัดสินประหารชีวิตกว่า 42 ราย เมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งหมดพบว่ารัฐบาลทหารพิพากษาประหารชีวิตนักโทษการเมืองไปแล้วกว่า 142 ราย และที่ผ่านมามีผู้ได้ปล่อยตัวแล้ว 3,517 ราย และได้การประกันตัวเพียง 24 ราย  

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุว่า ในวันเอกราชพม่าทางสมาคมฯ เพิ่งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ทหารพม่าที่ประจำการในแคว้นมะเกวได้ทำการกราดยิงเข้ามาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ส่งผลให้อามูมูอ่องเด็กวัย 12 ปี เสียชีวิตระหว่างเก็บฟืนอยู่บนเขาตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน

นอกจากนี้สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ยังพบอีกว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา อาชิน อาร์ซาร์ยา ภิกษุในสังกัดสหภาพสงฆ์มัณฑะเลย์ ซึ่งมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหาร ถูกกลุ่มพลเรือนติดอาวุธของรัฐบาลทหารจับกุมและควบคุมตัว ระหว่างที่กำลังจัดกิจกรรมถ่ายภาพที่เจดีย์เจาะตอกี ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณตีนเขามัณฑะเลย์

 

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar military government to pardon 7,012 prisoners on independence day, touts election plan

https://www.abc.net.au/news/2023-01-04/myanmar-release-7012-prisoners-independence-day/101827596 

Myanmar’s junta pardons more than 7,000 prisoners

https://www.rfa.org/english/news/myanmar/myanmar-amnesty-01042023054805.html

Daily Briefing in Relation to the Military Coup

https://aappb.org/?p=23876

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท