Skip to main content
sharethis

รวมตัวอย่างสถานที่ที่มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชื่อพระราชทาน พบมีทั้งเขื่อน โรงพยาบาล และค่ายทหาร หากท่านใดพบเห็นสถานที่ที่มีการเปลี่ยนชื่อ หรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแสดงความเห็นกันเข้ามาได้

1. เขื่อนยันฮี เปลี่ยนเป็น เขื่อนภูมิพล 

เขื่อนภูมิพล ตั้งอยู่บนแม่น้ำปิงที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เริ่มอนุมัติการก่อสร้างในปี 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า เขื่อนยันฮี เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2500 ต่อมา รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อัญเชิญพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 9 มาเป็นชื่อเขื่อนว่า ‘เขื่อนภูมิพล’ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 และดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

2. เขื่อนพองหนีบ เปลี่ยนเป็น เขื่อนอุบลรัตน์ 

เขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู  เริ่มสร้างเมื่อปี 2503 และดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในปี 2508 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน พระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า เขื่อนอุบลรัตน์

3. เขื่อนเจ้าเณร เปลี่ยนเป็น เขื่อนศรีนครินทร์

เขื่อนศรีนครินทร์ สร้างขึ้นบนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปี 2516 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี 2523 ต่อมา รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาตั้งชื่อเขื่อนเป็น ‘เขื่อนศรีนครินทร์’ 

4. เขื่อนผาซ่อ เปลี่ยนเป็น เขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมมีชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปี 2511 ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มาตั้งชื่อเขื่อนว่า ‘เขื่อนสิริกิติ์’และทำพิธีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520 

5. เขื่อนลำโดมน้อย เปลี่ยนเป็น เขื่อนสิรินธร 

เขื่อนสิรินธร  ตั้งอยู่ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ต่อมารัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาตั้งชื่อเขื่อนว่า ‘เขื่อนสิรินธร’ ซึ่งดำเนินการสร้างเสร็จในปี 2514

6. เขื่อนน้ำพรม เปลี่ยนเป็น เขื่อนจุฬาภรณ์

สำหรับ “เขื่อนจุฬาภรณ์” หรือชื่อเดิมคือ เขื่อนน้ำพรม ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อน และโรงไฟฟ้าเมื่อ ม.ค. 2513 ก่อนที่จะก่อสร้างเสร็จ และเริ่มจ่ายไฟเมื่อ ต.ค. 2515 

ต่อมา รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนีพันปีหลวง  (พระนางเจ้าสิริกิติ์) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี (กรมสมเด็จพระเทพฯ) และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ) เดินทางมาทำพิธีเปิดเขื่อน เมื่อ 3 มิ.ย. 2516 และพระราชทานชื่อเขื่อนว่า “เชื่อนจุฬาภรณ์”

เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ (ที่มา: กฟผ.)

7. เขื่อนเขาแหลม เปลี่ยนเป็น เขื่อนวชิราลงกรณ

เขื่อนเขาแหลม ตั้งอยู่ใน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อ มี.ค. 2522 และสร้างเสร็จในปี 2527 หลังสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 9 เสด็จพร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ ทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อ 9 ม.ค. 2529 และพระราชทานนามใหม่ว่า “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามชื่อของรัชกาลที่ 10 หรือยศสมัยนั้นคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร แทนชื่อเขาแหลม เมื่อ 13 ก.ค. 2544

8. เขื่อนเชี่ยวหลาน เปลี่ยนเป็น เขื่อนรัชชประภา

เชื่อนเชี่ยวหลาน ตั้งอยู่ที่ ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มก่อสร้างเมื่อ 9 ก.พ. 2525 แล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2530 โดยรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาพระราชดำเนินและทำพิธีเปิดเขื่อน เมื่อ 30 ก.ย. 2530 และทรงพระราชทานนามว่า "เขื่อนรัชชประภา" 

เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี (ที่มา: กฟผ.)

9. เขื่อนห้วยโสมง เปลี่ยนเป็น อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา

เขื่อนห้วยโสมง หรืออ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตั้งอยู่ที่ บ้านแก่งยาว ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริ เมื่อ 2521 ให้พิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำพระปรง และลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี เพื่อจัดหาน้ำให้ประชาชนใช้เพาะปลูกทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง และเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี

กรมชลฯ เริ่มศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อปี 2532 อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2548 อุทนยานแห่งชาติปางสิต และอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนติตกับพื้นที่โครงการดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมชลฯ จึงชะลอการดำเนินงาน เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติม โดยผนวก EIA ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางธรรมชาติ 

จนกระทั่งเมื่อ 27 ต.ค. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เริ่มดำเนินโครงการอีกครั้ง ต่อมา เมื่อ 16 พ.ค. 2559 รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำว่า "อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" มีความหมายว่า "อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ล่าสุด เมื่อปี 2560 รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ที่ปราจีนบุรี ด้วยตัวเอง

10. ค่ายพหลโยธิน เปลี่ยนเป็น ค่ายภูมิพล-ค่ายพิบูลสงคราม เปลี่ยนเป็น ค่ายสิริกิติ์ 

เมื่อต้นปี 2563 อ้างอิงจากเว็บราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องพระราชทานเปลี่ยนแปลงนาม ค่ายทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหารที่จังหวัดลพบุรี 2 แห่ง  

โดยมีการเปลี่ยนชื่อ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือค่ายพหลโยธิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาพระงาม อ.เมือง เป็นชื่อ "ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ค่ายภูมิพล" 

ขณะที่อีกแห่งที่ถูกเปลี่ยนชื่อคือ กองพลทหารปืนใหญ่ หรือ "ค่ายพิบูลสงคราม" ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าแค อ.เมือง เป็นชื่อ “ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และมีชื่อย่อว่า "ค่ายสิริกิติ์" โดยทั้ง 2 แห่งเริ่มใช้ชื่อใหม่ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2562  

ซุ้มประตูค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

11. เปลี่ยนชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เปลี่ยนเป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

‘สถานีกลางบางซื่อ’ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่จะเข้ามาทดแทนการใช้สถานีหัวลำโพง มีการเปลี่ยนชื่อหลังจากเมื่อเดือน ก.ย. 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอพระราชทานชื่อสถานีจากรัชกาลที่ 10 ก่อนที่สำนักพระราชวังจะแจ้งกลับมาว่า ร.10 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของกรุงเทพมหานคร 

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รองรับได้ทั้งรถไฟหัวรถจักรดีเซล รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน-เข้ม และระบบรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง นอกจากนี้ ตัวสถานีเชื่อมต่อการคมนาคมอื่นๆ อย่างแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟฟ้า MRT สายสีแดง (ตลิ่งชัน บางซื่อ และรังสิต) 

สถานีกลางบางซื่อ (ที่มา: google map)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

12. โรงพยาบาลลพบุรี เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช 

โรงพยาบาลลพบุรี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี เปิดให้บริการวันที่ 1 พ.ย. 2499 และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 6 ก.พ. 2500 ก่อนที่เมื่อ 8 ก.ย. 2552 รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อใหม่ว่า "โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช" เพื่อเป็นการให้เกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ กษัตริย์สมัยยุคกรุงศรีอธุยา ที่นำความเจริญด้านการแพทย์เข้ามาในอาณาจักร 

หมายเหตุ - มีการปรับภาพกราฟิกประกอบ และข้อมูลเพิ่มชื่อโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 10 ม.ค. 2566 เวลา 23.11 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net