Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน เร่งขับเคลื่อนโครงการ 3 ม. แก้ปัญหาขาดแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว

7 ม.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยถึงความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการว่า ตามที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กระทรวงแรงงานเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้จัดหางานทุกจังหวัดนำโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) มาประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับ ม.6 ปวช. ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับทราบและเข้าร่วม โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิตได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยได้รับบริการส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมาย

ซึ่งโครงการนี้ได้นำร่องที่จังหวัดชลบุรีไปแล้ว โดยได้ร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยภาคตะวันออก (อี.เทค) จังหวัดชลบุรี เพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์กับวิทยาลัยอีเทค และทำงานไปด้วย สามารถมีรายได้ มีทักษะ มีวุฒิเพิ่ม ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จึงได้นำโครงการนี้มาขยายผลต่อไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ภูเก็ต ระยอง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) นี้จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้งานทำ มีรายได้ มีวุฒิเพิ่ม ขณะเดียวกันสถานประกอบการเองก็จะมีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ และได้แรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ด้านสถานศึกษาเองสามารถกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ กระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ จึงเชิญชวนสถาบันการศึกษา ร่วมโครงการ 3 ม. เพื่อส่งนักเรียน นักศึกษา มาทำงานแบบ On the Job Training ในจังหวัดที่มีธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มทักษะ สร้างรายได้ ระหว่างศึกษา ร่วมกับการสนับสนุนการทำงานแบบรับรายได้เป็นรายชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/1/2566

รมว.แรงงานสั่งปูพรมตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ ห้ามทำอาชีพต้องห้ามในไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีมีข้อร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพ เร่ขายสินค้า ขายอาหาร นวดแผนไทย และช่างทำผม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นจำนวนมากนั้น กระทรวงแรงงาน ย้ำเตือนว่า อาชีพขายสินค้า, ขายอาหาร, นวดแผนไทย และช่างทำผม เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติห้ามทำโดยเด็ดขาด ซึ่งระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

ทั้งนี้ หลังทราบเรื่อง ไม่นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานลงพื้นที่ปูพรมตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว และสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย เพื่อตรวจสอบ ควบคุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้างสถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/1/2566

สื่อนอกแฉ ทางการไทย-ฟินแลนด์ รับทราบพฤติกรรม บ.เก็บเบอร์รี่เอาเปรียบแรงงานตั้งแต่ปี 2563

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีสินบนแรงงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่ประเทศฟินแลนด์ว่ามีรายงานข่าวจากสำนักข่าวเฮลซิงกิไทม์สว่าหน่วยงานทางการของระเทศฟินแลนด์ได้รับทราบต่อกรณีการเอาเปรียบแรงงานชาวไทยที่ไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่ประเทศฟินแลนด์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2563 แล้ว จากข้อมูลการทำข่าวสืบสวนของรายการโทรทัศน์ชื่อว่า MOT ซึ่งเป็นสำนักข่าว YLE.

โดยทีมงานของรายการ MOT ได้มีการไปรวบรวมบันทึกวิดีโอการพบปะกันระหว่างบริษัทเบอร์รี่กับหน่วยงานทางการของทั้งประเทศไทยและประเทศฟินแลนด์มา  โดยหน่วยงานทางการทั้งสองประเทศได้มีการทบทวนถึงผลประกอบการในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในปี 2563  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจว่าหน่วยงานทางการของประเทศไทยได้ให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการกระทำผิดที่คนเก็บเบอร์รี่ซึ่งถูกจ้างจากสองบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ได้แก่บริษัทเคียนทามาและบริษัทโพลาริกาต้องเผชิญ

“ลูกจ้างนั้นถูกจ่ายเงินด้วยค่าจ้างที่น้อยกว่าบริษัทได้มีการรับรองเอาไว้ก่อนหน้านี้มาก  พวกเขายังถูกหักเงินจากสิ่งที่เรียนกว่าค่าฝึกสอนและการขายาผลิตภัณฑ์และบริการ” รายการโทรทัศน์ระบุ

โดยแทนที่ทางการฟินแลนด์จะได้มีการดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดโดยเร็ว พวกเขาได้บอกว่าจะห้ามไม่ให้คนเก็บผลไม้ทำงานกับทั้งสองบริษัทนี้ซึ่งมีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนนับสิบเรื่องเกี่ยวกับกรณีของแรงงานที่เก็บเบอร์รี่

อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทก็ยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจ้างแรงงานและทำกิจกรรมอื่ๆตามปกติต่อไป  ยกตัวอย่างเช่นบริษัทโพลาริก มีรายงานว่าบริษัทนี้ได้มีการจ้างแรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเป็นจำนวน 770 คนในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1,150 คนในปี 2564 และต่อมาก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 1,200 คนในปี 2565

ทั้งนี้เมื่อประมาณวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว YLE ได้มีการรายงานว่าในการพบปะหารือดังกล่างนั้นอาจมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวนทางอาญาที่ได้มีการกระทำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีการเอาเปรียบแรงงานเก็บผลไม้จากประเทศไทย โดยมีผู้ต้องสงสัยได้แก่นายจุ้กก้า คริสโต ผู้บริหารระดับสูงของโพลาริกานั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ามนุษย์ที่เริ่มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และนายโอลลี โซเรนเนน เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานของฟินแลนด์ ซึ่งนายโซเรนเนนนั้นปัจจุบันถูกพักงานเนื่องจากถูกสอบสวนจากสํานักงานสอบสวนแห่งชาติ (KRP) ด้วยข้อสงสัยว่ามีพฤติกรรมการรับสินบน

โดยในการประชุมเมื่อปี 2563 ทั้งสองคนนี้ยังได้ร่วมประชุมทางไกลด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา KRP ได้เปิดเผยว่าได้มีการขยายผลการสืบสวนครอบคลุมบริษัทเก็บเบอร์รี่ฟินแลนด์อีกรายหนึ่งและครอบคลุมไปถึงผู้ประสานงานบริษัทคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่คัดเลือกแรงงานที่เก็บเบอร์รี่ให้กับทั้งบริษัทเคียนทามาและบริษัทโพลาริกา โดยความคืบหน้าการสอบสวนในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องมากกว่า 12 รายมีส่วนในการบังคับ เอาเปรียบ ขู่เข็ญเพื่อหาประโยชน์จากแรงงาน

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 6/1/2566

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จี้ยกเลิกเปิดให้เอกชนประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียม

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (สร.ทช.) พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย และพรรคไทยภักดี เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อยื่นแถลงการณ์เรียกร้องใหรัฐบาล และ กสทช. ยกเลิกการประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียม และให้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง

แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีความพยายามเร่งรีบผ่านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมภายหลังการสิ้นสุดสัญญาของบริษัทเอกชน แทนที่จะส่งต่อให้หน่วยงานรัฐได้เข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการให้บริการสาธารณะกับประชาชนได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรม ในประเด็นนี้มีความเห็นว่า

1.กิจการดาวเทียมโครงสร้างหรือโครงข่ายชั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กิจการดาวเทียมตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเอกชนเพื่อนำไปหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทตนเอง ได้สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้อย่างมหาศาล แต่ประโยชน์ที่ตกสู่ประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้รับเพียงเล็กน้อยและประชาชนในชาติยังต้องแบกรับภาระค่าบริการที่แสนแพง เนื่องจากการแสวงหาผลกำไรนั้นอีก

2.การออกประกาศของ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้” ประกอบกับมาตรา 60 วรรคหนึ่ง “รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็น สมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน”

3. หากเกิดปัญหาขึ้นในอวกาศระหว่างการอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียม รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

4. รัฐได้ควบรวมหน่วยงานของรัฐในกิจการสื่อสารโทรคมนาคม 2 แห่งคือ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม จำกัด ( เข้าด้วยกันเป็น บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้กับประเทศและประชาชนได้ใช้บริการตามบทบาทที่รัฐพึงจัดให้บริการแก่ประชาชน รัฐจึงควรมอบให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ กิจการดาวเทียม เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่การทำธุรกิจบริการสื่อสาร ที่ต้องอยู่ภายใต้ตลาดแข่งขันเสรีการมอบหมายให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความชอบธรรม

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 6/1/2566

รมว.แรงงาน สั่ง กพร.เร่งผลิตแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ รับทัวร์จีนเที่ยวไทย

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 น.ส.บุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยกำลังฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และเมื่อรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ และประชาชนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประเทศไทยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการท่องเที่ยวของชาวจีน แหล่งท่องเที่ยวที่ชาวจีนให้ความสนใจมีทั้งกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย พัทยา และอีกหลายจังหวัด ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวและกิจการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว มีความต้องการแรงงานภาคบริการเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ กพร. เร่งพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน ทั้งแรงงานใหม่ให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเข้าทำงาน และแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการอยู่แล้วให้มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น กพร.ได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งฝึกพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธุรกิจนำเที่ยว ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

น.ส.บุปผากล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วย จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ผลิตกำลังคนด้านท่องเที่ยวเพื่อป้อนแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการ จัดฝึกอบรมหลากหลายหลักสูตร อาทิ หลักสูตรพนักงานต้อนรับส่วนหน้า พนักงานผสมเครื่องดื่ม ผู้ประกอบอาหารฮาลาล การประกอบอาหารไทย การประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ การประกอบธุรกิจร้านกาแฟ และบาร์เทนเดอร์มืออาชีพ บาริสต้ามืออาชีพ และเทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ และสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) จะเข้ามาคัดเลือกผู้เข้าฝึกอบรมเพื่อรับเข้าทำงานทันทีหลังจากฝึกอบรมเสร็จสิ้น เป็นการช่วยทั้งแรงงานและสถานประกอบกิจการ ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานไปได้ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่กรมดำเนินการมีทุกจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนั้น สถานประกอบกิจการที่ต้องการแรงงานสามารถแจ้งตำแหน่งงานที่ต้องการให้สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจะได้ผลิตแรงงานที่ตรงกับความต้องการดังกล่าว

“กระแสการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยต่างๆ เร่งดำเนินการพัฒนากำลังคน กพร. เป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานเพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้าทำงาน โดยเชื่อว่าการบริการที่ดีจะสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดการฝึกอบรมได้ที่ www.dsd.go.th เลือกกำหนดการฝึกอบรม หรือสถานประกอบกิจการที่สนใจรับพนักงานเข้าทำงานแจ้งรายละเอียดในอินบ็อกซ์ในเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/dsdgothai หรือสอบถามเพิ่มที่สายด่วน 1506 กด 4” น.ส.บุปผากล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/1/2566

"ประกันสังคม" อัพเดทเดือน ธ.ค. 65 มีผู้ประกันตนใช้บริการทันตกรรม ไม่ต้องสำรองจ่าย 6.18 แสนครั้ง เป็นเงินกว่า 568.42 ล้านบาท

 ทำฟัน "ประกันสังคม" สรุปผลการใช้บริการทันตกรรม (ถอนฟัน,อุดฟัน,ขูดหินปูน,ผ่าฟันคุด) เดือนธันวาคม 2565

ผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรม เดือน ธ.ค.65

ไม่ต้องสำรองจ่าย 618,312 ครั้ง

คิดเป็นจำนวนเงิน 568,425,613.87 บาท

เงื่อนไข

เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรตา 39 ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการ

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 5/1/2566

โรงแรมรับมือวิกฤติคนขาดแคลน จี้รัฐ MOU นำเข้ากำลังเสริมแรงงานต่างชาติ

“ภาวะหาคนยาก” คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจโรงแรมและไมซ์ (MICE : การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ตอนนี้ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนที่เคยออกจากระบบการทำงานไปเมื่อช่วงเกิดวิกฤติ ไม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานประจำ

ส่วนหนึ่งได้สร้างธุรกิจส่วนตัว หรือมีอาชีพเสริมที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการทำงานประจำ รวมถึงมีวิถีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลายๆ องค์กรกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือการหาคนทำงานยากขึ้น!

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการจากภาครัฐ เพื่อเร่งแก้ไข “ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เปิดให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้หลายตำแหน่งขึ้น มีกระบวนการนำเข้าที่ง่ายขึ้น และเพิ่มจำนวนสัญชาติใน MOU ให้หลากหลายขึ้น

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการใน “ภูเก็ต” จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงาน พบว่า 45% เป็นกลุ่มโรงแรมที่พัก หรือคิดเป็นจำนวน 695 แห่ง จากจำนวนสถานประกอบ 1,463 แห่ง โดยจากจำนวนอัตราที่ประกาศรับสมัครพนักงาน 17,173 อัตรา เป็นกลุ่มโรงแรมที่พัก 7,727 อัตรา ความต้องการรองลงมาคือธุรกิจบริการ และธุรกิจค้าปลีก

“ตำแหน่งที่ขาดพนักงานอย่างมากในกลุ่มโรงแรมที่พัก มีทั้งแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ช่างซ่อมบำรุง ส่วนโรงแรมที่มีบริการสปา ก็ขาดแคลน สปา เธอราพิสต์ (Spa Therapist) เช่นกัน”

สำหรับแรงงานที่ธุรกิจโรงแรมต้องการ ประกอบไปด้วย 1.แรงงานระยะสั้น เช่น นักศึกษาฝึกงานมาช่วยงานในโรงแรม 4 เดือน หากเป็นระบบทวิภาคี ก็จะมีการฝึกงาน 1 ปี บางโรงแรมมีนักศึกษาฝึกงานต่างชาติด้วย โดยสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ได้ MOU ร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ซึ่งมีทั้งหมด 7 วิทยาลัย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และระนอง 2.แรงงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานในโรงแรม สามารถรับการฝึกระยะสั้นแล้วเข้ามาทำงานในโรงแรมได้ และ 3.แรงงานที่เคยทำงานโรงแรมมาก่อน แต่ไปทำอาชีพอื่นๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด

ด้านข้อสรุปในการเสนอแรงงานและการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ มีดังนี้ 1.การขยายผล Non-Immigrant ED Visa สำหรับนักศึกษาฝึกงานต่างชาติ (Study or Internship in Thailand) 2.ขยายจำนวนประเทศที่ลงนาม MOU แรงงาน ด้วยการเพิ่มประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขให้ง่ายต่อนายจ้าง จากปัจจุบันทำ MOU ร่วมกับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา 3.ขยายตำแหน่งงานที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ใน MOU เช่น ตำแหน่ง Front Office อาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำโดยเด็ดขาด สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น และ 4.ปรับรายได้ขั้นต่ำในการจ้างงาน Non-Immigrant Visa Expatriate

ด้าน ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของ “อิมแพ็ค” ปัจจุบันจำนวนการจัดงานประชุม สัมมนา และคอนเสิร์ต เริ่มฟื้นตัวกลับมา ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับแผนเรื่อง “บุคลากร” ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สอดรับกับสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป

ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง “พนักงานใหม่” ให้มีหลายแนวทางขึ้น เช่น การจ้างงานแบบ Project Based หรือแบบ Gig Economy เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงทางเลือกในการใช้ Outsource ในบางงานที่ทำได้ ปรับกระบวนการทำงานไปสู่ HR Tech โดยพัฒนาระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านทรัพยากรบุคคล รวมถึงการปรับแผน Employer Branding เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงดูด “คนรุ่นใหม่” ให้สนใจมาทำงานกับอิมแพ็คมากขึ้น

“ในตลาดแรงงานไมซ์ เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สนใจธุรกิจไมซ์นัก อาจเป็นเพราะไม่ค่อยรู้จัก ไม่ใช่สาขาอาชีพเป้าหมาย บวกกับไมซ์ไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับความนิยม อิมแพ็คจึงต้องดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาในธุรกิจไมซ์อย่างต่อเนื่อง”

ด้วยการจัดโครงการ “กล้า MICE” ซึ่งเป็นเสมือนแคมป์สำหรับนักศึกษาฝึกงานโครงการแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ที่เกิดขึ้นปีแรกในปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทำงานอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจไมซ์ นอกจากนี้อิมแพ็คยังวางแผนระยะยาวไปถึงการทำ MICE Academy ในอนาคตอีกด้วย

สำหรับการพัฒนา “บุคลากรในองค์กร” ทางบริษัทฯเร่งเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ แก่พนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,000 คน ให้มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย (Multi-skill) และพยายามปลูกฝังแนวคิดด้านนวัตกรรม (Innovation Mindset) ให้พนักงาน โดยได้ริเริ่มโครงการ “ประกวดนวัตกรรม R2i” (From Routine to Innovation) จัดมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคิดนอกกรอบ การคิดแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพของตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาองค์กร และมีหลายผลงานได้รับคัดเลือกไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในเชิงธุรกิจด้วย

“ทางอิมแพ็คยังให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตให้พนักงานภายในองค์กร โดยมีโอกาสปรับเปลี่ยนงานภายในบริษัทและบริษัทในเครือ เปิดให้พนักงานสามารถทำงาน Part-time ในบริษัทเพื่อเพิ่มรายได้ มีการปรับเปลี่ยนแผนสวัสดิการพนักงาน เน้น Wellness Program เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/1/2565

ธปท.เผยปี 66 ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งเป้ารายได้โต 5-10%-ห่วงปัญหาขาดแคลนแรงงาน-ศก.โลกชะลอตัว

3 ม.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ เดือน ธ.ค.2565 โดยผลสำรวจพบว่า ในภาพรวม ระดับการผลิต การค้าและการบริการของธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่ง ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยว ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดได้ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป

สำหรับการสะสมวัตถุดิบคงคลังในภาพรวมลดลงจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตยานยนต์และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นการสะสมวัตถุดิบคงคลังลดลงจาก 2-3 เดือน มาอยู่ที่ 1-2 เดือน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการเร่งผลิตรถยนต์เมื่อได้รับการจัดสรรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่การสะสมสภาพคล่องของธุรกิจลดลงเช่นกัน โดยลดลงจากเดิมที่มากกว่า 2 ปี มาอยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปี เช่น กลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าเกิดจากคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในปี 2566 ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ครึ่งหนึ่งเห็นว่ารายได้จะเติบโตสูงกว่า 10% อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจบางส่วนที่ตั้งเป้ายอดขายต่ำกว่าปี 2565 เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คลังสินค้าและสาธารณูปโภค โดยในปี 2566 ธุรกิจยังมีความกังวลจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

“4 ปัจจัยแรก ที่ผู้ตอบคำถามระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในปี 2566 ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีผู้ตอบสูงสุดที่ 74.2% ,ปัจจัยที่ 2 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งมีผู้ตอบรองลงมา คือ 60% ,ปัจจัยที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าคาด มีผู้ตอบคิดเป็น 41% และปัจจัยที่ 4 กำลังซื้อในประเทศเปราะบาง โดยมีผู้ตอบคิดเป็น 34.5%” ผลสำรวจ BSI เดือน ธ.ค.2565 ระบุ

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่วางแผนปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจบางส่วนในภาคการท่องเที่ยว ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีแผนขึ้นค่าจ้าง คาดว่าเป็นเพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วเพื่อดึงดูดแรงงาน

ขณะเดียวกัน ธปท.ได้เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือน ธ.ค.2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ธ.ค.2565 ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ตลอดจนการบริโภคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงตามมาตรการรัฐที่ทยอยหมดลง ต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ

ด้านการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกนั้น ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หรือเดือน พ.ย.2565 ซึ่งเป็นผลของการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร และสินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ปรับแพงขึ้น และกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอกดดันกำลังซื้อในระยะต่อไป

“ธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมในไตรมาส 4/2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่ตั้งเป้ายอดขายในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากปีก่อน และคาดว่ารายได้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วสุดในปี 2567” ผลสำรวจ RSI เดือน ธ.ค.2565 ระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 3/1/2566

เปิดสถานการณ์ผีน้อยหลังโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ

ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้หรือผีน้อยอวดธนบัตรปึกใหญ่ บ้านหลังงามที่แลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความเสี่ยงโทษทัณฑ์และแม้กระทั่งชีวิตแพร่หลายในสื่อโซเชียลมีเดีย

แต่นับจากเดือนเม.ย. ปี 2565 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกาหลีใต้กำหนดให้ผู้เดินทางจากประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าต้องสมัครระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการขออนุญาตเข้าประเทศ สำหรับประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่า หรือเค-อีทีเอรวมถึงไทย เพื่อคัดกรองด้านสุขภาพ แต่ภายหลังระบบนี้เน้นคัดกรองคนเข้าประเทศและในตัวมันเองคัดกรองแรงงานผิดกฎหมายด้วย

มาตรการในภาพรวมมีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับคนต่างชาติที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ ไม่เฉพาะแรงงาน เพราะระบบเค-อีทีเอ ซึ่งคล้ายกับวีซ่า เป็นระบบคัดกรองการเข้าประเทศเบื้องต้น แม้คนไทยผ่านขั้นต้น แต่เมื่อบินเข้าไปยังต้องผ่านด่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงจะสามารถเข้าเกาหลีใต้ได้ จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยว แรงงานถูกสัมภาษณ์เยอะมากขึ้นในช่วงหลัง

นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หนทางในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย เกาหลีใต้ใช้นโยบายสมัครใจ สำหรับแรงงานผิดกฎหมาย อนุญาตให้รายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และให้กลับไทยได้โดยไม่ถูกลงโทษ

จากสถิติมีการรายงานตัวตามนโยบายเพียง 15,000 คน ซึ่งถือว่าจำนวนน้อยมาก จากแรงงานผิดกฎหมาย 150,000 คน สถิติแรงงานผิดกฎหมาย 5 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2561-2565 ไม่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในแง่จำนวนของแรงงานผิดกฎหมายที่มีราว 130,000-150,000 คน สะท้อนปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ลดลงทั้งก่อน ระหว่างและหลังโควิด-19 สถิติ ณ ต.ค. 2565 มีแรงงานถูกกฎหมายในระบบจ้างงานหรืออีพีเอสเฉลี่ย 25,000 คน

ในเกาหลีใต้ แรงงานผิดกฎหมายมาจากประเทศไทยมากที่สุด 130,000-150,000 คน จีนรองลงมาราว 70,000 คน และเวียดนามอันดับ 3 ที่ 60,000-70,000 คน สำหรับในปี 2566 คาดว่าตัวเลขแรงงานไทยผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากเกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น รายได้สูง รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่ไม่ได้เพิ่มเป็นนัยยะสำคัญ เพราะมีการเพิ่มมาตรการคัดกรองและมีการส่งกลับแรงงานผิดกฎหมายด้วย

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ลงโทษคนของเกาหลีใต้เอง ทั้งนายหน้า นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 8.6 แสนบาท แต่ในทางปฏิบัติ ทางการเกาหลีใต้ไม่ได้ลงโทษมากขนาดนั้น ทำให้อาจเห็นได้ชัดว่าต้องการแรงงานทำงานประเภท 3 D ได้แก่ ลำบาก (Difficult) สกปรก (Dirty) และอันตราย (Dangerous) ซึ่งไม่มีคนเกาหลีทำ จึงต้องใช้แรงงานต่างชาติในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

นายนฤชัยกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีพอสมควรในหลายๆมิติของทางด้านแรงงาน ในรูปแบบความร่วมมือการประชุมร่วม 2 ฝ่ายไทยและเกาหลีใต้ด้านความร่วมมือด้านการกงสุล ในส่วนแรงงาน ซึ่งเป็นวาระที่มีการพูดคุยอยู่เสมอช่วยหาวิธีการป้องกันการไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ช่องทางความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศส่งเสริมให้มีแรงงานถูกกฎหมายมากขึ้น ได้แก่ ระบบการจ้างงานอีพีเอส (Employment Permit System –EPS) ซึ่งเกาหลีใต้เป็นผู้กำหนดโควตาให้ 16 ประเทศ รวมไทย ตามสาขาแต่ละปีรวมจำนวน 50,000 คน ไทยได้ปีละ 5,000 คน แต่ระบบอีพีเอสมีข้อจำกัด ส่วนใหญ่รับผู้ชาย แต่ผู้หญิงมีความต้องการไปทำงานในจำนวนมากเช่นกัน รวมถึงต้องทำงาน 3 D แรงงานย้ายนายจ้างไม่ได้ (มีข้อยกเว้น) เกิดปัญหาคือแรงงานถูกกฎหมายหนีบริษัทเดิมไปทำงานกับอีกบริษัทกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ทางการไทยกำลังจัดทำเจรจาบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูกับหน่วยงานท้องถิ่นในเกาหลีใต้ เพื่อจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลระยะเวลา 5-6 เดือนในแต่ละปี แม้ภาคเกษตรเกาหลีใต้ต้องการแรงงาน และไทยพร้อมส่งแรงงาน แต่ในการทำเอ็มโอยู เกาหลีใต้มีข้อกังวล คือ แรงงานไทยมีประวัติการอยู่เกินกำหนดเวลาจำนวนมาก

“ที่เกาหลีใต้กลัวมากที่สุดคือ ระยะเวลาในการทำงานไม่นานมาก คือระยะเวลา 5-6 เดือน ซึ่งมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าแรงงานถูกกฎหมายจะหลบหนี เพราะอยากได้เงินต่อเนื่อง จึงอาจลักลอบอยู่ต่อ หรืออีกนัยหนึ่งอาจทำให้แรงงานในระบบที่ต้องการทำงานต่อต้องการเป็นผีน้อย” นายนฤชัยกล่าว

กระทรวงแรงงานของไทยได้ขอเพิ่มโควตาแรงงานถูกฎหมายในระบบ ช่วงโควิดไทยได้โควตาต่ำกว่าปกติที่ราว 3,000 คน จากเดิม 4,000-5,000 คนต่อปี แต่เกาหลีใต้ระบุว่า เพราะเป็นโควตากลุ่ม การให้โควตาไทยมากขึ้นหมายถึงการให้โควตาประเทศอื่นลดลง ไม่สามารถตัดสินใจได้ฝ่ายเดียว

“และดูจากประวัติแรงงานสำคัญมาก ที่ผ่านมาเกิดปัญหาแรงงานถูกกฎหมายกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เช่น ประเทศอื่นเข้ามาตามระบบจำนวน 10,000 คนกลับไป 10,000 คน เกาหลีใต้คงอยากให้โควตาประเทศนั้นมากกว่า หากเมื่อเทียบกับไทย ถ้าเข้ามา 5,000 คนเหลือกลับเพียง 1,000 คน” นายนฤชัยกล่าว

ความช่วยเหลือจากสถานทูตไทย มีภารกิจดูแลคนไทยทุกคน ในช่วงโควิด ปี 2562-2565 ส่งคนไทยทุกคนรวมแรงงานผิดกฎหมายกลับเที่ยวบินช่วยส่งกลับ 16,000 คน เจรจาการฉีดวัคซีนให้คนไทยทุกคนทั้งถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ตอบรับเป็นอย่างดี เชิญหมอจากกรมการแพทย์ให้คำแนะนำในการรักษาตัวเองจากโควิด เป็นระบบออนไลน์ซึ่งมีประโยชน์มากต่อแรงงานไทยผิดกฎหมายที่ไม่สามารถและไม่อยากหาหมอ เพราะไม่อยู่ในระบบสวัสดิการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก อีกทั้ง ความกลัวถูกรายงานว่าอยู่อย่างผิดกฎหมาย อาจถูกส่งกลับ

ปัจจุบัน สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของแรงงานผิดกฎหมายจากไทย ป่วยเรื้อรัง ได้แก่ เส้นเลือดในสมองแตก ปอดอักเสบ วัณโรค หัวใจวาย ไตวาย เนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษา แม้แรงงานมีรายได้สูงราว 50,000 บาทต่อเดือนในภาคเกษตร แต่ค่ารักษาพยาบาลหลักแสนหลักล้าน และไม่มีประกันสุขภาพ จึงรักษาตัวเองตามอาการไปเรื่อยๆ อีกทั้งงานหนัก ทำงานแม้ป่วย และมีพฤติกรรมชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์นำไปสู่การเสียชีวิตของคนไทย โดยมากพบการเสียชีวิตในบ้านพัก

ปี 2558-2565 หรือ ราว 7-8 ปี เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตปีละ 98 ราย ซึ่งถือว่าจำนวนมาก โดยปี 2563 -2565 ช่วงโควิดมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละ 120-130 ราย แบ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย 110 ราย หรือราวร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ อาทิ ไม่ชัดเจน อุบัติเหตุ

“นอกจากแรงงานผิดกฎหมาย สถานทูตมีการดูแลนักโทษด้วย ขณะนี้ปัญหายาเสพติดของคนไทยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีนักโทษชาวไทยราว 500 คน เป็นนักโทษคดียาเสพติด 440 คน คิดเป็นร้อยละ 83-85 ของคดีอื่นๆ เป็นจำนวนที่เยอะมาก สถานทูตเตือนคดีร้ายแรง” นายนฤชัยกล่าว

และผู้ต้องหาคดียาเสพติดชาวไทยถูกจับกุมเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนมากที่สุดในหมู่คนต่างชาติในเกาหลีใต้ จากสถิติในปี 2561 มีจำนวนราว 300 คน ปี 2562 จำนวน 550 คน ปี 2564 จำนวนราว 600 คน ส่วนใหญ่ลักลอบส่งทางไปรษณีย์จากไทยเข้ามา เป็นยาไอซ์ ยาบ้าผสมในอาหาร อาทิ ผงชูรส แป้ง ปลาร้า ยาบำรุง วิตามิน ซึ่งยาเสพติดถูกใช้ในกลุ่มแรงงานต่างชาติ และมีในหมู่ชาวเกาหลีด้วย แต่จำนวนไม่มาก

ยาบ้าขายได้ในราคาที่สูงกว่าไทยอย่างมาก ตอนหลังค้าขายในหมู่แรงงานไทยกันเอง แต่ไม่ได้เป็นเครือข่ายค้าเสพติด ระดับชาติหรือสากล โดยเป็นการค้ารายบุคคล ปริมาณยาเสพติดไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณยาเสพติดที่หมุนเวียนในเกาหลีใต้ ซึ่งในหมู่คนต่างชาติ ไทยมีปริมาณยาเสพติดอันดับ 4 โดยได้มีความร่วมมือในการลดปัญหา โดยการทำเอ็มโอยู มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน

นายนฤชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนถือว่าการทำงานในต่างประเทศเป็นการเปิดมิติใหม่ หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว กระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากมีการแจ้งทางการ สถานทูตพร้อมช่วยเหลือ ทั้งเงิน คนประสานงาน จึงฝากว่า ก่อนเดินทาง ไปอย่างถูกกฎหมาย อยู่อย่างถูกกฎหมาย กลับมาไทยอย่างถูกกฎหมาย

ที่มา: ข่าวสด, 1/1/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net