Skip to main content
sharethis


บรรยากาศพิธีฉลองวันเอกราชพม่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 | ที่มาภาพ: สำนักข่าวอิรวดี

สำนักข่าวอิรวดีรายงาน พิธีฉลองวันเอกราชพม่าของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อ 4 ม.ค. 2566 พบกลิ่นอายคล้ายอยู่ 'เปียงยาง' ผู้สื่อข่าวพม่าในกรุงเนปิดอว์พบจังหวะ 'ซิตคอม' หลายจุด ตั้งแต่ข้าราชการนอนไม่พอ ม้าตัวหนึ่งวิ่งเตลิดก่อนกำหนดการ พลร่มลงไม่ตรงจุดที่ซ้อม ไปถึง การของบก้อนโตจัดขบวนแห่ แต่รีไซเคิลของจากงานที่แล้ว 

ถนนสายหลักขนาด 20 เลนของกรุงเนปิดอว์ ซึ่งปกติดูรกร้างว่างเปล่า ในวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมาคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาเข้าพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีที่พม่าได้รับอิสรภาพจากบริเตน ในงานนี้มีทั้งการเดินขบวน ฟ้อนรำ ปฏิบัติท่าแสดงความเคารพ การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารและกระโดดร่มลงมาจากท้องฟ้า 

รัฐบาลทหารพม่าจัดพิธีเฉลิมฉลองใหญ่ในกรุงเนปิดอว์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์  ที่กรุงเนปิดอว์ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวสุนทรพจน์ แสดงความขอบคุณต่อประเทศพันธมิตรของพม่า และพูดไปในทางที่ทำให้เข้าใจได้ว่าอาจมีการจัดเลือกตั้ง หลังครบกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน ก.พ. 66

"ผมอยากขอบคุณประเทศในระดับภูมิภาคและนานาชาติในร่วมมือกับเราในทางบวก ... ท่ามกลางแรงกดดัน การวิจารณ์และการโจมตีทั้งหมด" พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวสุนทรพจน์ในพิธี "ขณะนี้เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย ไทย ลาว และบังกลาเทศ"

"เมื่อบทบัญญัติตามประกาศสถานการณ์ครบกำหนดแล้ว จะมีการจัดเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 และจะมีการดำเนินงานเพื่อโอนถ่ายหน้าที่ของรัฐแก่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามมาตรฐานของประชาธิปไตยต่อไป" 

แผนการจัดเลือกตั้งทั่วไปในปี 66 ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการทำให้การยึดอำนาจโดยทหารกลายเข้าสู่สภาวะปกติผ่านการเลือกตั้ง โดยควบคุมผลคะแนนเพื่อรักษาอำนาจรัฐบาลทหารไว้ ทั้งนี้ กองทัพจะเป็นผู้ควบคุมกระบวนการทั้งหมด และที่ผ่านมาใช้เวลากว่า 2 ปีในการปราบฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

บรรยากาศเหมือนเปียงยาง

สำนักข่าวอิรวดีระบุว่า พิธีเฉลิมฉลองวันเอกราช ซึ่งใช้งบประมาณหลายพันล้านจัต จัดขึ้นเพื่อตบตาประชาชนในประเทศและประชาคมโลกให้เชื่อว่าประชาชนชาวพม่าสนับสนุนการปกครองของรัฐบาลทหาร และเข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันเอกราชอย่างสนุกสนาน ทว่าบรรยากาศกลับคล้ายเกาหลีเหนือเสียมากกว่า

"เมียนมาร์กำลังกลายเป็นเกาหลีเหนือแห่งใหม่ สิ่งที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนเมื่อพุธ (4 ม.ค.) ที่ผ่านมาในเมืองหลวงของการบริหาร ทำให้พวกเขานึกถึงการเดินสวนสนามใหญ่โต ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ของรัฐในกรุงเปียงยาง" สื่ออิรวดีระบุ

"การเดินสวนสนามเหล่านี้ทำหน้าที่ 2 อย่าง ประการแรกคือการแสดงออกให้โลกภายนอกเห็นว่าเกาหลีเหนือยังคงไปได้ดี แม้ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ประการที่สองคือเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ยากลำบาก" 

พิธีเฉลิมฉลองวันเอกราชในปีนี้นับต่างจากครั้งที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เชิญสมาชิกครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ข้าราชการ และผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร ให้เดินทางมายังกรุงเนปิดอว์เพื่อชมพิธีสวนสนามใหญ่ การให้สมาชิกครอบครัว ทหาร และข้าราชการเข้าร่วมแบบนี้เป็นสไตล์การจัดงานที่ค่อนข้างคล้ายเกาหลีเหนือ

ผู้สื่อข่าวระบุว่าข้าราชการในเมืองหลวงถูกบังคับให้ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ของวันพุธ เนื่องจากงานพิธีเริ่มตอน 7  โมงเช้า รัฐบาลประกาศระงับคำสั่งเคอร์ฟิวชั่วคราวให้กับพิธีสวนสนามครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ มีตารางกำหนดการกินเวลากว่า 6 ชั่วโมง 

ขบวนสวนสนามตั้งแถวบนถนน บางคนขยี้ตาเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มขึ้นสูง หน้าตาอยู่ในสภาพอิดโรย ข้าราชการของรัฐบาลพม่าคนหนึ่งบ่นว่าพวกเขานอนไม่พอมาตั้งแต่ ธ.ค. ปีแล้ว เขาระบุว่า "เราซ้อมมา 1 เดือนแล้ว เราต้องออกจากบ้านตี 3 ทุกวัน ฉันรอเห็นงานนี้จบไม่ไหวแล้ว" 

ตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมกับรัฐบาลทหารหลายพันคนเดินสวนสนามผ่านพิธีไป พร้อมกับโบกธงขนาดเล็กและปฏิบัติท่าทำความเคารพให้กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยใบหน้าไม่แสดงอารมณ์ใดๆ เหมือนกับหุ่นยนต์

ขณะที่จูจูหละยืนอยู่ข้างๆ พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้เป็นสามีด้วยสีหน้าเรียบเฉย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าได้เข้าร่วมพิธี โดยติดสัญลักษณ์ของประธานาธิบดีไว้บนเครื่องแบบด้วย อิรวดีตั้งข้อสังเกตุว่านี่เป็นการสื่อสารความต้องการของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในการเป็นประธานาธิบดี แม้คนส่วนใหญ่จะรู้กันมานานแล้ว  

พบจังหวะ 'ซิตคอม' หลายจุด

ตามกำหนดการแล้ว พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะต้องถูกพาเข้าพิธีโดยหน่วยทหารม้า แม้พิธีจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น แต่ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวอิรวดีว่า "เกิดเหตุชุลมุนขึ้น เมื่อม้าวิ่งเตลิดออกไป ก่อนที่ผู้นำกองทัพจะมาถึง" 

บนถนนเส้นหลักสายใหญ่ของกรุงเนดิปอว์ที่ขยายไปเชื่อมต่อกับที่พักของประธานาธิบดี พบการสวนสนามของรถขบวนแห่ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ของกระทรวงและหน่วยงานหลายระดับ เพื่อแสดงผลงานของรัฐบาลทหารพม่านับตั้งแต่การรัฐประหาร และสถานที่สำคัญของรัฐและแว่นแคว้นต่างๆ

ข้าราชการคนหนึ่งที่กลับมาทำงานให้รัฐบาล หลังเคยเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนในช่วงแรก ให้ข้อมูลกับอิรวดีว่า "ขบวนแห่ [พวกนี้] เคยถูกใช้ในพิธีครบรอบวันสหภาพ [12 ก.พ. 65] มันถูกเอามาปรับแต่งเล็กน้อยเพื่อใช้ในวันเอกราช แต่ก็มีการอนุมัติงบประมาณ [ก้อนโต] ให้ตามที่ขอ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์เลยทีเดียว"

ในแต่ละขบวนแห่ตามมาด้วยแถวของคณะการแสดง ที่ได้รับมอบหมายมาให้สร้างความบันเทิงแก่ผู้นำรัฐบาลทหาร นักแสดงส่วนใหญ่พบว่ายืนบนอยู่ถนนคอนกรีตที่อาบแสงอาทิตย์ร้อนผ่าวในสภาพเท้าเปล่า สภาพอากาศในตอนกลางวันคาดว่าสูงประมาณ 30 องศาเซลเซียส

ในพิธีเฉลิมฉลอง มีพิธีปล่อยนกพิราบขาว 750 ตัว และมีการสั่งยิงพลุจากเวทีเพื่อเสริมทัศนียภาพในพิธี แหล่งข่าวของอิรวดีระบุว่านกพิราบ 750 ตัวนำเข้ามาจากประเทศไทย ขณะที่พลุที่ใช้ในพิธีนำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 

พลร่ม 75 คน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 75 ปีของการได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ โดดกางร่มลงมาในพิธีสวนสนาม เพื่อแสดงศักยภาพทางอากาศของกองทัพพม่า ทว่ากลับไม่ได้ผลตามที่คาดเท่าที่ควร เพราะหลายคนโดดลงมาไม่ตรงจุดที่กำหนดไว้

พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยืนอยู่บนรถเปิดประทุนเพื่อตรวจตราไพร่พล ในช่วงเช้ามีการยิงสลุต 12 นัด และมีการแสดงแสนยานุภาพทางทหารด้วยการโชว์เครื่องบินรบ พาหนะหุ้มเกราะ และขีปนาวุธ ในแบบเดียวกับที่สามารถเห็นได้ในเกาหลีเหนือ

"มันเหมือนกับเกาหลีเหนือแน่นอน รัฐบาลผลาญเงินและใช้งบประมาณของสาธารณะอย่างสูญเปล่า" ผู้เข้าร่วมพิธีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่ออิรวดี ที่ผ่านมา ประชาชนในพม่าตั้งข้อสังเกตว่าพม่าอาจกลายเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบเกาหลีเหนือหลังการรัฐประหาร โดยบางครั้งมีการเรียกพม่าแบบติดตลกว่า "พม่าเหนือ" ด้วย

สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ในวันเดียวกันที่เมืองย่างกุ้ง มีการจัดตลาดนัดและกิจกรรมบันเทิงที่เจดีย์ชเวดากอง จตุรัสประชาชน และสวนสาธารณะมหาบันดูลา แต่หลายคนตัดสินใจไม่เข้าร่วมเพราะเห็นว่าพม่ายังไม่ได้รับอิสรภาพที่แท้จริง ภายในการปกครองของทหาร 

ในวันเดียวกัน พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ทำการปล่อยนักโทษ 7,012 ราย เป็นคดีการเมืองเพียง 200 ราย แต่กลับมีการจับกุมเพิ่มถึง 22 รายในวันเดียวกัน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองออกแถลงการณ์ว่า "รัฐบาลผิดกฎหมายไม่สามารถประกาศอภัยโทษได้" แต่ดำเนินการมา "หลายครั้งแล้วเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติ"


แปลและเรียบเรียงจาก
Dispatch from Naypyitaw: Myanmar’s North Korea-esque Independence Day
Myanmar’s junta pardons more than 7,000 prisoners
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net