Skip to main content
sharethis

กสทช.แจ้งวันประมูลวงโคจรดาวเทียม 15 ม.ค.หลังมีมติทั้ง 3 บริษัท "สเปซเทค-Nt-พร้อม" มีคุณสมบัติพอร่วมประมูล แม้เพิ่งมีกลุ่มสหภาพแรงรัฐวิสาหกิจ NT-ไทยภักดีอ้างวงโคจรเป็นสมบัติชาติต้องให้ NT ดำเนินการแทนเอกชน

10 ม.ค. 2565 ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัท มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ สำนักงาน กสทช.

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั้น ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” นั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม

กรรมการ กสทช.กล่าวต่อว่า ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากยกเลิกการประมูลและให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจาก ITU ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย กลับไปสู่การผูกขาด และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซึ่งหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น

“กสทช.ยินดีสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยที่ หากเป็นการให้บริการเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้งานในเชิงพาณิชย์ แล้ว กสทช.พร้อมที่จะอนุญาตให้สิทธิดังกล่าวแก่หน่วยงานรัฐ หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องประมูล เหมือนที่ กสทช.ได้สนับสนุนและอนุญาตให้สิทธิแก่กองทัพอากาศและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น ส่วนกรณีการนำสิทธิไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ กสทช.ต้องพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาต ให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เสรี และ เป็นธรรม รวมทั้ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ด้วย เพราะต้องเข้าใจว่ากิจการดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่ให้บริการเฉพาะภายในประเทศ แต่สามารถให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย รวมทั้งต่างประเทศเองก็ต้องการมาให้บริการในประเทศไทยด้วยเช่นกัน “ พลอากาศโทธนพันธุ์ ฯ กล่าว

ก่อนหน้านี้ กสทช.เคยรายงานว่าจำนวนชุดวงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลมีทั้งหมด 5 ชุด และมีราคาประมูลเริ่มต้นดังนี้

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัทไทยคม จำกัด เป็นบริษัทที่เพิ่งจดจัดตั้งเมื่อ 22 พ.ย.2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทโดยกรรมการทั้ง 5 คนของสเปซเทคเป็นกรรมการของไทยคมด้วย โดยบุญชัย ถิราติ รองประธานกรรมการของไทยคมยังเป็นกรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ด้วย

ส่วน บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีกิจการหลายด้านทั้งโทรคมนาคมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จดจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2543 มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 จำนวน 30 ล้านบาท

สำหรับ NT ที่เป็นบริษัทที่เกิดจากการรวม TOT และ CAT เป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งมีมติให้ NT เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการตามแผนใน “ร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ” โดยมีแนวทางดำเนินการคือ จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย

กลุ่มประท้วงอ้างความมั่นคงต้องให้รัฐดูแลกิจการดาวเทียม

จากที่กรรมการ กสทช.กล่าวถึงประเด็น กสทช.ถูกคัดค้านการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมนั้น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(6 ม.ค.) ไทยโพสต์รายงานว่า กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ,คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ,สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (สร.ทช.) หรือ NT, พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย และพรรคไทยภักดี ร่วมกันชุมนุมที่หน้าสำนักงาน กสทช. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและ กสทช.ยกเลิกการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่กำลังจะมีขึ้นครั้งนี้และยกสิทธิดำเนินงานกิจการดาวเทียมแก่ NT

แถลงการณ์ของเครือข่ายที่มาชุมนุมอ้างว่ากิจการดาวเทียมเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคง แต่กลับตกอยู่ในมือของเอกชนมากว่า 30 ปีในการหาประโยชน์สร้างความร่ำรวยแต่ประชาชนได้ประโยชน์น้อยและต้องแบกรับค่าบริการที่แพง นอกจากนั้นยังอ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดว่าวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติชาติที่รัฐต้องรักษาคลื่นความถี่และวงโคจรเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชน และรัฐจะทำให้ตกเป็นกรรมสิทธิเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net