สมาพันธ์แท็กซี่ฯ ร้องก้าวไกล ชี้กรมขนส่งฯ ตั้งค่าจูนมิเตอร์ใหม่ 300 บาทต่อคัน แพงเกิน หวั่นเอื้อนายทุน

สมาพันธ์แท็กซี่ฯ ร้องก้าวไกล กรมขนส่งฯ ตั้งค่าธรรมเนียมจูนมิเตอร์ใหม่ 300 บาทต่อคัน แพงเกิน หวั่นเอื้อประโยชน์นายทุน 5 บริษัท ผูกขาดตรวจสอบมิเตอร์ ประธาน กมธ.แรงงาน อัดรัฐปล่อยแท็กซี่เดือดร้อน เพราะมัวแต่สนใจผลประโยชน์ตัวเอง

 

10 ม.ค. 2566 ทีมสื่อก้าวไกล รายงานต่อสื่อ (10 ม.ค.) ที่รัฐสภา สุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล เลขานุการ กมธ.การแรงงาน ทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กมธ.การแรงงาน และองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือร้องเรียนจากเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย กรณีขอให้ตรวจสอบค่าธรรมเนียมการปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ที่มองว่าราคาแพงเกินความเป็นจริง ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้แท็กซี่นำรถเข้าไปปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ เริ่ม 16 ม.ค. 2566 ค่าธรรมเนียมคันละ 300 บาท โดยกำหนด 5 บริษัทที่จะเป็นผู้ดำเนินการด้วย พร้อมกับได้นำโครงสร้างกล่องมิเตอร์มาให้สื่อมวลชนตรวจสอบ

เกรียงไกร กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ราคาที่กรมการขนส่งฯ กำหนดมาไม่เป็นธรรม เพราะต้นทุนดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้สูง กับขั้นตอนที่เพียงถอดน็อต 4 ตัว และแปะตะกั่วที่เป็นของกรมการขนส่งฯ โดยปัจจุบันมีแท็กซี่ในระบบทั้งหมด 80,000 คัน รวมเป็นเงิน 24,000,000 ล้านบาท อยากทราบว่าเงินจำนวนนี้จะไปตกที่ใคร การที่กรมการขนส่งฯ กำหนด 5 บริษัทที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มองได้ว่าเป็นการรวมหัวกันเพื่อกินแท็กซี่หรือไม่ นอกจากนี้ การต้องแปะตะกั่วของกรมการขนส่งฯ เท่านั้น ทำให้หากมิเตอร์มีปัญหาหรือเสียหายในภายหลัง ผู้ขับแท็กซี่ไม่สามารถซ่อมเองได้ ต้องไปซ่อมกับ 5 บริษัทดังกล่าว ตนมองว่าแท็กซี่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่มีใครมองเห็น จึงอยากให้ กมธ.การแรงงาน เข้ามาดูแลพูดคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ

ด้านสุเทพ ในฐานะ ปธ.กมธ.การแรงงาน กล่าวว่า เงิน 300 บาท ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนขับแท็กซี่ ใช้จ่ายใน 1 วัน ทั้งเติมก๊าซ เติมน้ำมัน รับประทานอาหาร และใช้จ่ายในครอบครัว ปกติการตรวจสภาพมิเตอร์จะทำเป็นประจำอยู่แล้ว 3 ครั้งต่อปี ครั้งละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 150 บาท แล้วเหตุใดครั้งนี้จึงเก็บเพิ่มเป็น 300 บาท ยิ่งหากเป็นการกำหนดจากฝั่งรัฐให้ปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ ก็ควรบริการฟรีด้วยซ้ำ โดยเบื้องต้น กมธ.การแรงงาน จะส่งหนังสือให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พิจารณาเรื่องนี้

"แท็กซี่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 ขอถามไปยังรัฐบาลว่าที่จนถึงวันนี้ ผู้ขับแท็กซี่ยังไม่ได้รับการดูแล เพราะปัจจุบันรัฐบาลมัวแต่สนใจผลประโยชน์ส่วนตนจนลืมแรงงานแท็กซี่หรือไม่" สุเทพ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท