Skip to main content
sharethis

ปัญหาการจัดการศึกษาทางเลือก ในรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่หลายคนรู้จักกันในนามของ โฮมสคูล หรือในไทยเรียกว่าบ้านเรียน รวมไปถึงในรูปแบบศูนย์การเรียนของประเทศไทยนั้น ยังคงเป็นปัญหาที่หมักหมมกันมานานหลายสิบปี ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายหลายองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังเป็นปัญหาไม่รู้จบ

โดยเฉพาะสองปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบและวิธีการจัดการศึกษาทางเลือกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนที่มีลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการ องค์กรพัฒนาเอกชน และบ้านเรียนที่จัดโดยผู้ปกครอง

ทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยจะมีกฎกระทรวงกำหนดออกมาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานและเป็นระเบียบกำกับการดำเนินกิจกรรม แต่เมื่อประมาณปี 2563 ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการแก้ไขรายละเอียดของกฎกระทรวงที่สร้างผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทางเลือก เช่น แก้ไขเนื้อหาโดยตัดคำว่า “ประสงค์จะจัดการเรียนรู้” ออกไป เหลือเพียงคำว่าเด็กผู้ด้อยโอกาส พร้อมทั้งกระจายคำสั่งไปยังสำนักงานเขตทั่วประเทศ ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้อำนวยการ สพฐ. หรือเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขต

จนทำให้ทางสมาคมฯ ทำเรื่องคัดค้านและร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กโดยตรง และขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ร่วมทั้งขัดกับข้อกำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย แต่เบื้องต้นได้รับคำตอบจากหน่วยงานว่า สิ่งที่ สพฐ. ได้ดำเนินการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงต้องผลักดันให้มีการแก้ไขระเบียบอีกที โดยสาเหตุหลักพบว่า สพฐ. ขาดความเข้าใจและตีความเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาทางเลือกในทางที่ผิดไป พร้อมทั้งยืนยันว่ากรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินได้ชี้ขาดแล้วว่า สพฐ. ได้ดำเนินการตามกฎหมาย

ยกตัวอย่าง ประเด็นกรณี ผู้ปกครองบ้านเรียน ที่ขอยื่นจดทะเบียน เพื่อขอจัดตั้งการศึกษาในรูปแบบครอบครัว หรือโฮมสคูล แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่อนุมัติ ไม่อนุญาตให้จัดการศึกษา โดยอ้างว่า ทางครอบครัวไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษา จึงกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจที่ผิดหรือไม่ ทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษา และถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เรียน โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ จนทำให้ผู้ปกครองเด็ก ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และต่อมา กสม.เสนอให้มีการฟ้องต่อศาลปกครองได้ ถ้าทางเขตการศึกษายังไม่พิจารณาดำเนินการอนุญาติให้มีการจัดตั้ง

อัษฎายุทธ ปัญญา ผู้จัดการบ้านเรียนธิณัจกร ได้เปิดเผยเป็นกรณีศึกษาเอาไว้ว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ตนเองได้มีโอกาสเข้าประชุมที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการประชุมแลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา ผู้ปกครองบ้านเรียน และเครือข่ายการศึกษาทางเลือกไทย เขาเล่ารายละเอียดปัญหาที่ต้องเจอว่า

“หลังจากนั้น ผมได้เข้าไปสอบถามกับทาง สพฐ.เขต 1 เชียงใหม่ ซึ่งทางสำนักงานเขตก็แจ้งให้ผมเข้าไปยื่นพบเพื่อทำการยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตฯ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ต่อมา วันที่ 27พฤษภาคม 2565 ผมได้ไปยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตฯ ครบถ้วนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547ทางไปรษณีย์

จากนั้น วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ได้เข้าร่วมประชุมหารือตรวจแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวตามนัดหมายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 โดยทางเจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศก์ได้ฝากโน้ตไว้แจ้งให้ปรับแก้ไขแผนผ่านเจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมฯ โดยมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มเติม 6 เรื่อง โดยให้บ้านเรียนเลือกว่าจะจดแบบกลุ่มประสบการณ์ตามที่ยื่นไปหรือจดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามแนวทางของเขต ซึ่งแล้วแต่บ้านเรียนจะเลือก หากเลือกทำตามเขตก็ให้บ้านเรียนปรับแผนตามแนวทางเขตซึ่งมีตัวอย่างในเว็บไซต์ของสำนักงานเขตแล้วส่งมาได้เลย

ทางครอบครัวได้ศึกษาหาข้อมูล โดยเลือกยื่นจดแบบกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกตามเจตนาเดิม จึงส่งหนังสือชี้แจงยืนยันแผนกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกพร้อมแผนการเรียนที่ใช้ยืนยัน 1 ฉบับ โดยเขียนยื่นหนังสือร่วมกับกลุ่มจำนวน 4 บ้านเรียน ต่อ สพฐ.เชียงใหม่ เขต 1”

อัษฎายุทธกล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ผู้ปกครองได้รับจดหมายจากเขต ปฏิเสธการยื่นจดในเทอมที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พร้อมกับแผนการเรียนที่ส่งไปของทั้ง 4 บ้าน ทางเขตบอกว่าเอกสารไม่ครบให้ไปส่งเอกสารภายในวันที่ 15 เดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับเป็นการยื่นจดในเทอม 2 ของปีการศึกษา 2565 เพราะเลยกำหนดปฏิทินการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1

อัษฎายุทธอธิบายว่ากรอบแนวทางการยื่นจดอนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว 1 ปีจะมี 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคม และครั้งที่ 2 เดือนมิถุนายนถึงเดือน กรกฎาคม ที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของ สพฐ. โดยให้ยื่นเอกสารตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิ์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 ข้อที่ 2 เอกสารยังขาดเอกสารในข้อวงเล็บ (3)(4)(5 และเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาตใหม่หมดในเทอมที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ทั้งๆ ที่ครอบครัวยื่นเอกสารครบถ้วน เมื่อวันที่ 27 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2565 แล้ว

อัษฎายุทธ ปัญญา ผู้จัดการบ้านเรียนธิณัจกร

ทำให้ผมและตัวแทนกลุ่มผู้ขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวจำนวน  4 บ้านเรียน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณา อ้างถึง หนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เชียงใหม่ เขต 1 ขอผ่อนผันเกณฑ์การปฏิบัติงานของสำนักงานเพื่อยืนยันสิทธิเด็กในการเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อเนื่อง  และได้ร้องขอต่อทางสำนักงานเขตขอให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เด็กได้รับสถานภาพเป็นนักเรียนโดยไม่หลุดจากระบบการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อเนื่อง ของกลุ่มผู้ขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวจำนวน  4 บ้านเรียน”

จากนั้น ตัวแทนกลุ่มผู้ขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวจำนวน  4 บ้านเรียน ได้โทรติดตามประสานไปยังสำนักงาน สพฐ.เขต 1 เชียงใหม่อีกครั้ง และได้รับทราบการไม่ปฏิบัติตามหนังสือคัดค้านการพิจารณาและขอผ่อนผันเกณฑ์การปฏิบัติงานของสำนักงานเพื่อยืนยันสิทธิเด็กในการเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อเนื่อง ของกลุ่มผู้ขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวจำนวน  4 บ้านเรียนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมได้ยืนยันให้ครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาตใหม่ ในเทอม ที่ 2 ปีการศึกษา 2565 และบอกว่าส่งแผนให้เจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศก์อ่าน และให้ครอบครัวต้องปรับแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวตามสำนักงานเขตเท่านั้น

ผู้จัดการบ้านเรียนธิณัจกร เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมา ตนเจอปัญหากรณีที่ได้เข้าไปยื่นจดขออนุญาตจัดการศึกษา ตั้งแต่เทอมแรก แต่ดูเหมือนว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เหมือนกับดองเรื่องไว้สองอาทิตย์ จนผ่านเข้าช่วงเทอมการศึกษาที่สอง ก็ยังไม่มีการอนุมัติ ซึ่งทำให้ตนรู้สึกว่า กระบวนการทำงานที่ล่าช้าแบบนี้ 

“มันทำให้ผมต้องมาตั้งคำถามว่า ปัญหาความล่าช้าเช่นนี้ มันทำให้ลูกของผมเสียสิทธิและเป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ ซึ่งตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าทางเขตการศึกษาเขาไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้จัดที่ยื่นจดกลุ่มประสบการณ์ จึงทำให้การยื่นคำขอจัดบ้านเรียนตามกลุ่มประสบการณ์ไม่ได้  แต่ทางเจ้าหน้าที่เขต กลับมีการพยายามโน้มน้าวให้บ้านเรียนทำตามแบบแผนของเขตซึ่งเป็นแบบ 8 กลุ่มสาระ ซึ่งมันเป็นรูปแบบของระบบโรงเรียน”

เช่นเดียวกับ ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือคลีโพ ศิลปินปกาเกอะญอและเป็นผู้จัดการบ้านเรียนเด๊อะโพ ก็บอกเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว ตนคิดว่าถ้าจะให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ ก็ควรจะเป็นการเรียนรู้ตามสภาพวิถีจริง เรียนรู้ตามความถนัดของผู้เรียน ของพ่อแม่ และตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว  แต่พอเราไปยื่นขอจดขออนุญาตจัดการศึกษา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เขตยังไม่อนุมัติให้

“การไม่อนุมัติ ถ้าเป็นไปในรูปแบบนี้ ก็จะมีผลต่อจิตใจ ต่อครอบครัวของเรา เพราะมันทำให้ดูเหมือนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กและผู้ปกครองต้องมารับพลังงานลบจากสังคมรอบข้าง ว่าทำไมเด็กไม่เข้าเรียนหนังสือ ถูกตั้งคำถามต่างๆ นานา เพราะผู้ปกครองไม่ยอมทำตามคำชี้นำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมพื้นที่การศึกษาเขต 1 ที่จะให้จัดทำแผนแบบ 8 กลุ่มสาระ ผู้ปกครองไม่ยอมแก้ตามเขต เพราะเราเห็นว่า การแก้ตามเขตแบบนั้น ก็เหมือนกับการยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้านแล้วเรียกว่าโฮมสคูล ซึ่งมันไม่เป็นไปตามวิถีของเด็กบ้านเรียนเลย”

ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือคลีโพ ศิลปินปกาเกอะญอและเป็นผู้จัดการบ้านเรียนเด๊อะโพ

ณัฐวุฒิ บอกอีกว่า ในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง มองว่าปัญหานี้ว่ามันติดขัดที่โครงสร้างทั้งหมด แต่สำหรับกรณีของสพฐ.เขต 1 เชียงใหม่ ตนถือว่าเจ้าหน้าที่นั้นมีผลอย่างมาก จึงทำให้ติดขัดล่าช้า ก็อยากสื่อไปยังเจ้าหน้าที่เขต สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ ว่าควรปรับปรุงกระบวนการทำงาน อยากให้เข้าใจวิถีบ้านเรียน ว่าแผนสอดคล้องกับบ้านเรียนจริงๆ เหมาะสมกับบ้านเรียนนั้น และต้องไม่บังคับให้บ้านเรียนทำตามแบบที่เขตวางให้

ปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ มีบ้านเรียนทั้งหมด 150 แห่ง มีผู้เรียนทั้งหมด 182 คน โดยในพื้นที่สปพ.เขต 1 เชียงใหม่ มากที่สุด 70 แห่ง มีผู้เรียน 85 คน และปัญหาในภาพรวมทั้งประเทศ ในขณะนี้ มีบ้านเรียนที่ขออนุญาตจัดตั้ง แต่ยังไม่มีการอนุมัติ คือจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ตาก เชียงใหม่ ระยอง ส่วนบ้านเรียนที่มีปัญหาเรื่องการประเมินผล พบที่จังหวัดระยอง นครปฐม ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ผู้ปกครองบ้านเรียนหลายแห่ง ที่เจอกับปัญหาในลักษณะนี้ ถึงขั้นต้องทำหนังสือร้องเรียนต่อองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางส่วนต้องถึงขั้นต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กันเลยทีเดียว

ล่าสุด อนุกูล ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 1) ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อว่า ปัญหาอยู่ที่การล่าช้าในขั้นตอนการจัดส่งเอกสารขออนุมัติการขออนุญาตจัดการศึกษาระหว่างผู้ปกครองและหน่วยงาน ล่าสุด ได้ส่งเรื่องไปยังศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขออนุมัติเรียบร้อยแล้ว 


“ส่วนการจัดทำหลักสูตรนั้น ขอยืนยันว่าผู้ปกครองมีอิสระเต็มที่ในการขอจัดทำหลักสูตร จัดทำแผนการเรียนรู้ได้อย่างสอดคล้องกับผู้เรียนได้ จะเป็นแบบกลุ่มประสบการณ์จริงก็ได้ แบบพื้นที่จริงก็ได้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งวัฒนธรรมต่างๆ ก็สามารถให้เด็กได้เรียนรู้ตามนี้ได้ แต่ขอให้จัดทำแผนการเรียนรู้นี้มา แล้วเราจะให้ทางศึกษานิเทศก์ลงไปตรวจ ว่าเป็นไปตามแผน ตรงตามหลักสูตร เด็กเกิดการเรียนรู้ตามสมรรถนะที่ต้องการหรือไม่” 

หลายครอบครัวมองว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ออกมาชี้แจงได้ดี แต่ในทางกลับกัน ในปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น มักไม่สอดคล้องและสวนทางกันมาโดยตลอด

การออกแบบระบบงานของรัฐไม่รับรองสิทธิการศึกษาของเด็ก

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาว่า ปัญหามันอยู่ที่การออกแบบระบบงานของหน่วยงานไม่สอดคล้องกับการรับรองสิทธิการศึกษาของเด็ก

“ยกตัวอย่าง ปกติ เด็กไปสมัครเข้าโรงเรียนในระบบ ก็จะได้เข้าเรียนก่อน ส่วนเด็กบ้านเรียนต้องรอระบบการทำงานของหน่วยงาน กรณีนี้ ถือว่าหน่วยงานไม่มีความพร้อมปฏิบัติงาน จนทำให้เด็กไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบัน มีกรณีกำลังยืนยันสิทธิในการจัดการศึกษา มีทั้งเข้าเรียนใหม่ และ จัดการศึกษาต่อเนื่อง ในพื้นที่นครศรีธรรมราช ระยอง ชุมพร ตาก กรุงเทพมหานคร นครปฐม ทุกพื้นที่คือความไม่พร้อมของระบบปฏิบัติงาน รวมไปถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขต และความซ้ำซ้อน  ทำให้เด็กเสียเวลาในกระบวนการพิจารณาอนุญาตจัดการศึกษาโดยครอบครัวเพื่อรับรองการจัดการศึกษาโดยครอบครัวทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาที่บ้านกับครอบครัว ไม่เคยหยุดรอการทำงานของผู้ใหญ่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐก็ใช้อำนาจจนเคยตัว ไม่มีการออกแบบระบบงานเพื่อรับรองสิทธิเด็ก การใช้อำนาจเป็นวิธีการที่ไม่เป็นมิตรกับครอบครัวและเด็ก จึงไม่เอาใจใส่ต่อสิทธิครอบครัวและเด็ก”

ชัชวาล ทองดีเลิศ นายกสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) มองปัญหานี้ว่ามีสาเหตุของปัญหาที่เกิดกับการศึกษาบ้านเรียนคือ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ มีการแก้ไขคู่มือของกลุ่มการศึกษาทางเลือก ที่ถูกจำกัดสิทธิ ทั้งการขอจดการศึกษา การกำหนดหลักสูตร รวมทั้งการประเมินผลการเรียนที่ยังไม่มีความชัดเจน 

ชัชวาล ทองดีเลิศ นายกสภาการศึกษาทางเลือกไทย(สกล.)

กสม.ชี้แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาโดยไม่ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เองก็มองเห็นปัญหาที่ สพฐ.แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาโดยไม่ให้ครอบครัวของเด็กโฮมสคูลร่วมแสดงความเห็นเช่นกันผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 โดยมีกรรมการสองคนร่วมกันแถลงคือ วสันต์ ภัยหลีกลี้ และศยามล ไกยูรวงศ์

กสม.แถลงว่าจากการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 ได้พิจารณาคำร้องของผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวที่กล่าวอ้างว่า สพฐ.รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษารวม 7 แห่ง ปฏิเสธไม่ให้ครอบครัวเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ประจำปีการศึกษา 2563 

ในการแถลงของ กสม.ระบุอีกว่า ทางผู้ร้องอธิบายว่าเนื่องจาก สพฐ. แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนของคณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ให้มีเพียงผู้แทนหน่วยงานของรัฐ อันประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ข้าราชการครู แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่แต่เดิมกำหนดให้คณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว 

ผู้ร้องเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวทำให้ครอบครัวของเด็กผู้เรียนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่งผลให้ผู้เรียนและครอบครัวถูกวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างขาดความเข้าใจ และไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้ตรวจสอบ

ทาง กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 54 บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดว่านอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัวองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ขณะที่กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ครอบครัวดำเนินการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย

กสม.ระบุว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบและเป็นการศึกษาทางเลือกที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะเฉพาะของตัวผู้เรียนแต่ละคน ที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย ซึ่งครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา เป็นครูผู้สอนด้วยตนเองหรือเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจและทราบถึงพัฒนาการของผู้เรียนได้ดีที่สุด ครอบครัวจึงควรมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา การที่ สพฐ. ไม่ให้ครอบครัวเข้าไปร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลฯ แต่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องทำการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น จะส่งผลให้คณะกรรมการขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลที่รอบด้านในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัวอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กผู้เรียนตามมา จึงเห็นว่าการกระทำของ สพฐ. เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในตอนท้ายของแถลงทาง กสม.ย้ำว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้แก่ครอบครัวและผู้เรียน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. กำหนดให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้มีการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเข้าใจต่อผู้เรียน รวมถึงเป็นไปตามพัฒนาการและศักยภาพของผู้เรียน

ถ่ายโอนการศึกษาทางเลือกออกจาก สพฐ.ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

ชัชวาล ทองดีเลิศ นายก สกล.เสนอทางออกของปัญหาของการศึกษาบ้านเรียน หรือการศึกษาทางเลือก ว่าขอให้ถ่ายโอนการบริหารงานไปยังหน่วยงานอื่นที่ทำงานคล่องตัว อย่างเช่น สำนักปลัดกระทรวงฯ แล้วให้มีเจ้าหน้าที่ สำนักงาน หรือกลไกในการดูแลการจัดการศึกษารูปแบบนี้เฉพาะทั้งระบบ เป็น One stop Service ไปเลย ตั้งแต่การขออนุญาตจัดตั้ง การสนับสนุน การประเมินผล การออกใบประกาศ เหล่านี้ เอาให้ชัดๆ กันไปเลย เพื่อให้เป็นระบบการศึกษาที่มีความชัดเจนและมีความเท่าเทียมกับสถานศึกษา ตามกฎหมาย มาตรา 18(1) และ(2)

เช่นเดียวกับ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ก็ออกมากล่าวว่า ปัญหาที่เรามองเห็นมาโดยตลอดก็คือ สพฐ. ทีเข้ามากำกับดูแลเรื่องการศึกษาทางเลือก ในรูปแบบศูนย์การเรียนและบ้านเรียนนั้น มีภารกิจเยอะ ปกติก็กำกับดูแลนักเรียน โรงเรียนในระบบเป็นจำนวนมาก มีโรงเรียนขนาดใหญ่ 30,000 กว่าโรง มีโรงเรียนขนาดเล็กอีก 10,000 กว่าโรง ซึ่งตนคิดว่าทาง สพฐ.คงไม่มีเวลาดูแลได้ทั่วถึง ก็เลยเป็นปัญหาอุปสรรคในเรื่องของบุคลากรในการทำงานด้านการศึกษาทางเลือก ตามมาตรา 12 ได้ไม่เต็มกำลังและไม่เต็มประสิทธิภาพ

“ดังนั้น ตนในฐานะเป็นตัวแทนของสภาการศึกษาทางเลือก จึงอยากเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเราอยากขอให้มีการย้ายไปสังกัดอื่นที่รับผิดชอบดูแลโดยตรงดีกว่า”

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการ สกล. และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ก็ออกมาเปิดเผยว่า ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรับผิดชอบเกิดจากผลงานวิจัยของ สกล. การนำเอาการศึกษามาตรา 12 มาอยู่ที่ สพฐ. เป็นการทำงานแบบผิดฝาผิดตัว เจ้าหน้าที่และระบบงานไม่เป็นมิตรกับเรา ทำงานโดยขาดองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาทางเลือก ไม่มีระบบงานจัดสรรสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม อย่างเช่น เงินอุดหนุนบ้านเรียนขาดหายไปกับระบบงานที่ล่าช้าและตกหล่น เด็กศูนย์การเรียนไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนเลย เด็กการศึกษามาตรา 12 ไม่ได้รับการจัดสรรนมและอาหารกลางวัน สพฐ.อ้างว่าไม่มีระเบียบ

“หน่วยงานรัฐไม่มีกลไกคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้กับเด็กร่วมกับเครือข่ายเลย ปฏิเสธการทำงานร่วมกับเครือข่าย ให้อำนาจจากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานนี้ ทำบนความไม่เข้าใจ ใช้ทัศนคติที่ไม่น่ารัก มีการออกระเบียบจากอำนาจส่วนกลางขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียซึ่งขัดกับสิทธิมนุษยชน และกฎหมายหลักด้านการศึกษา สพฐ.ในปัจจุบันทำงานใช้อำนาจกดขี่ผู้จัดการศึกษามาตรา 12 เมื่อการนำเสนอต่อผู้ใหญ่ในกระทรวงไม่ได้ผล กลับเกิดคำสั่งที่สร้างข้อจำกัดในสิทธิทางการศึกษามาตรา 12 มากขึ้น เราจึงขับเคลื่อนงานกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และ กรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดทราบข่าวว่า สพฐ. เสนอ ครม.ให้ย้ายเราไปสังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งไปเริ่มกับหน่วยงานรับผิดชอบเด็กๆ โดยตรงใหม่ น่าจะดีกว่าอยู่กับหน่วยงานที่แก้ไขระบบปฏิบัติงานที่มีเจ้าหน้าที่หลายพื้นที่ไม่เป็นมิตรกับครอบครัวและเด็กเช่นทุกวันนี้”

ย้ำการศึกษาไทยยุคโควิดสอดคล้องและเหมาะกับการศึกษาทางเลือกที่สุด

เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการ สกล.บอกว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งย้ำให้เราได้เห็นเด่นชัดเลยว่า การศึกษาทางเลือกที่เราได้ลงมือทำนี้ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่การศึกษาในระบบโรงเรียนนั้นพยายามจะลดจำนวนชั่วโมงเรียนลง มีการสับเปลี่ยนเวลาเรียน เรียนวันคี่วันคู่ มีการเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่ศูนย์การเรียน การศึกษาบ้านเรียนที่เป็นการศึกษาทางเลือกของเรานั้นถือว่าเป็นจิ๋วแต่แจ๋ว

เทวินฏฐ์ให้เหตุผลว่าเพราะทั้งเด็ก ผู้ปกครอง สามารถมาออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเอาชีวิตของเด็กๆ เป็นตัวตั้งในการเรียนรู้เลย โดยในช่วงสถานการณ์โควิด เด็กก็สามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้น เด็กโฮมสคูล เด็กศูนย์การเรียนเหล่านี้จะมีความสุขมาก แม้จะอยู่ในท่ามกลางวิกฤติปัญหาเรื่องโควิดก็ตาม ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใดเลย ซึ่งตนเชื่อว่า ในอนาคตการศึกษาทางเลือกในรูปแบบนี้จะมีความจำเป็นอย่างมาก

เทวินฏฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

ทั้งนี้ เลขาฯ สกล.ยังบอกอีกว่า จะต้องยกระดับความเท่าเทียมระหว่างการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบได้อย่างไรนั้น ก็อยากจะเสนอไปยังรัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการแก้ไขปัญหานี้เป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ระยะสั้น คือ อุปสรรคปัญหาที่เราพบเร่งด่วนก็คือ การประกาศแก้ไขคู่มือการดำเนินงานของศูนย์การเรียนและบ้านเรียน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ นอกจากมีการแก้ไขเรื่องของคุณสมบัติแล้ว ยังเป็นการตัดสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ด้วย ดังนั้นตนจึงอยากขอให้กระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการฯ ช่วยยกเลิกการประกาศแก้ไขคู่มือตัวนี้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการจำกัดเรื่องคุณสมบัติของผู้เรียน รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของเครือข่ายที่จะเข้ามีส่วนร่วม ขอให้ยกเลิก เพื่อให้ทางเครือข่ายได้สามารถเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและร่วมกันบริหารจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนและบ้านเรียนต่อไปได้

“ขอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงที่เป็นตัวปัญหาและมักเป็นข้ออ้างของ สพฐ.ที่จะบอกว่า การแก้ไขคู่มือการดำเนินงานของศูนย์การเรียนและบ้านเรียนนี้ สามารถทำได้และสอดคล้องตามกฎกระทรวงระบุไว้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวกฎกระทรวงนี้มันไปย้อนแย้งและขัดแย้งกับตัว พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็น พ.ร.บ.แม่ เพราะฉะนั้น ตนคิดว่าในระยะสั้นนี้ ขอให้มีการยกเลิกการประกาศแก้ไขคู่มือ และมีการแก้ไขกฎกระทรวงนี้โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้น ปัญหาที่เจอก็คือ เรื่องเงินอุดหนุน ซึ่งมีหลายศูนย์การเรียน ที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน หรือนม ต่างๆ ซึ่งปัญหาตรงนี้มันทำให้เรามองเห็นว่ามันมีความเหลื่อมล้ำจริงๆ” เลขาฯ สกล.กล่าวถึงข้อเสนอระยะกลางและยาวของเขา

ย้ำทางออกของปัญหาทั้งหมด แก้ที่ทัศนคติและการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่รัฐ

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการ สกล. และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย บอกว่าต้องใช้คนให้ถูกกับงาน จากประสบการณ์ตรงของเธอคิดว่าปัญหาเกิดจากการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องในการแก้ปัญหาคือการมีคานงัดอำนาจ เช่น ไม่มีความร่วมมือจากส่วนกลาง มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนคนทำงานทำให้มีฝังโลกทัศน์ของการศึกษาแบบเก่ากับเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่

รองเลขาฯ สกล. มองว่าปัญหาแบบนี้ทำให้ต้องเริ่มทำงานกับ สพฐ.จากศูนย์ใหม่ และต้องแก้ปัญหาแบบ รายกรณีของแต่ละพื้นที่ไป แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่พร้อมเปิดใจคุยกับครอบครัวและเราในฐานะผู้มีประสบการณ์บนหลักการของสิทธิในการจัดการศึกษาโดยครอบครัวตามกฎหมายและแนวปฏิบัติทางวิชาการ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังพอจะยินดีที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางจากความไม่เข้าใจเดิมให้ค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกันได้

“แต่ประเด็น คือ ระหว่างการทำงานบนความกลัวผิด เพราะการศึกษามาตรา 12 ยืดหยุ่นมากกว่าระบบโรงเรียนที่เจ้าหน้าที่สังกัด สพฐ. คุ้นเคยกับการทำงานการศึกษาในระบบ และความเนิ่นช้าที่ครอบครัวได้รับการปฏิเสธสิทธิไปแล้วทำให้ต้องยืนยันสิทธิเพื่อให้ได้สิทธิทางการศึกษาของเด็กภายหลัง ทั้งๆ ที่เด็กโฮมสคูล เด็กศูนย์การเรียนนั้นเรียนรู้ทุกวันไม่สามารถหยุดเติบโตเพื่อรอระบบงานที่ไม่มีความพร้อมใดๆ”

ธรรณพร ยังบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือความร่วมมือในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาเรียนรู้ร่วมกันและทำความเข้าใจกับเครือข่ายการศึกษาทางเลือก และสร้างระบบใหม่ไปด้วยกัน ระยะยาว คือ กระทรวงศึกษาธิการควรต้องมีกลไกความรับผิดชอบการศึกษามาตรา 12 รูปแบบใหม่ได้แล้ว ตัดสายป่านการพิจารณาอนุญาตที่ยาวเทอะทะออก เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่สั่งสมในสังคมไทยมานานมากแล้ว วนลูปเหมือนกันทุกปี แถมยังหนักขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆ

“โดยส่วนตัวอยากวิงวอนว่า หน่วยงานภาครัฐควรยุติบทบาทของเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคซึ่งมีทัศนคติที่ไม่แยแสต่อการตัดสินใจทำให้สิทธิการศึกษาของเด็กตกหล่น หยุดการใช้ระบบต่อรองเพื่อรักษาอำนาจจากดุลยพินิจส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เรามีองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีความพร้อมจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ”

 

ข้อมูลประกอบ

1.ข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน,ThaiPBS North,22 พฤศจิกายน 2022

2.คุณเล่า เราขยาย: Talk อนาคตการศึกษา ThaiPBS North, นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)15 ธันวาคม 2022

3.กสม. ชี้ สพฐ. ละเมิดสิทธิ แก้คู่มือจัดการศึกษาระบบโฮมสคูล ไม่ให้ครอบครัวร่วมประเมินผล

การศึกษา workpointTODAY 3 ก.พ. 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net