Skip to main content
sharethis

อาจพูดได้ว่าการปะทะระหว่าง ‘มนุษย์ป้า’ กับ ‘เด็กสมัยนี้’ ในสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงมาคุ มันเป็น ‘วยาคติ’ หรืออคติที่เกิดจากวัยอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของโลกและแยกโลกของคนสองวัยออกจากกัน เกิดชุดคุณค่าที่ต่างกัน ...ไม่แปลกที่มนุษย์จะมีอคติ ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเข้าใจ เท่าทันอคติในใจเราหรือไม่ และอย่าเผลอไผลถูกมันปิดตา

  • ความเปลี่ยนแปลงถมช่องว่างความรู้ระหว่างผู้สูงอายุกับวัยรุ่นที่เคยมีในอดีต และแยกโลกของคนสองรุ่นออกจากกัน ส่งผลให้อคติระหว่างรุ่นมีสูงขึ้นเนื่องจากคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือแตกต่างกัน
  • มนุษย์ทุกคนล้วนมีอคติ แต่อคติจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นเมื่อเราใช้อคติลดทอนตัวตนอันหลากหลายของคนคนหนึ่งเหลือเพียงอัตลักษณ์เดียว

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์ป้า’ กับ ‘เด็กสมัยนี้’ มีทั้งบวกและลบ แต่ส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอมักเป็นความขัดแย้ง ความไม่ลงรอย อันเกิดจากช่องว่างของคนสองรุ่น ก่อตัวเป็นอคติระหว่างกัน และในบางมิติเป็นความขัดแย้งใหญ่ที่ผลักคนสองรุ่นให้อยู่คนละฟาก

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง (ที่มาภาพ เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

งานศึกษา ‘“เด็กสมัยนี้” กับ “มนุษย์ป้า”: วยาคติกับความสัมพันธ์ระหว่างวัยในสังคมไทย’ โดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และจักรี โพธิมณี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นความพยายามทำความเข้าใจ ‘วยาคติ’ หรืออคติที่เกิดจากวัย ‘ageism’

‘ประชาไท’ พูดคุยกับแพรเพื่อค้นหาสาเหตุแห่งอคติและหนทางที่เราจะลดอันตรายจากมัน

‘เด็กสมัยนี้’ ทุกยุคเป็นปัญหาเสมอในสายตาผู้ใหญ่

ก่อนอื่น ‘มนุษย์ป้า’ ในที่นี้ใช้แทนผู้สูงอายุ ไม่จำเพาะแค่เพศใดเพศหนึ่ง ไม่ได้สื่อถึงความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่ได้มีความหมายเชิงลบ เพียงแต่เป็นคำที่ติดหูและไม่ให้ดูเป็นวิชาการมาก

“คำสองคำนี้ (มนุษย์ป้าและเด็กสมัยนี้) เป็นการนิยามความแตกต่างระหว่างวัยในลักษณะที่เป็นอคติต่อกันเฉยๆ ถ้าถามกลับไปว่านิยามของมนุษย์ป้าและเด็กสมัยนี้ คืออะไร มันคือคำที่ถูกพูดถึงวัยแตกต่างกันอย่างอคติ” แพร กล่าว

เธออธิบายต่อว่าความเป็นวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยเป็นปัญหาเสมอในมุมมองของผู้ใหญ่ การศึกษาเกี่ยวกับวัยรุ่นมักออกไปในแนวทางว่าปัญหาในวัยรุ่นเป็นอย่างไร ซึ่งเธอตั้งคำถามว่าการมุ่งประเด็นไปที่วัยรุ่นมีปัญหาถือเป็นอคติหรือไม่ ในทางกลับกัน ผู้สูงวัยก็เผชิญอคติจากคนอายุน้อยกว่าเช่นกัน

ประเด็นที่แพรตั้งขึ้นมาคือปัญหาระหว่างวัยในยุคนี้มีสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คำว่า เด็กสมัยนี้ ถูกใช้และสื่อความถึงความอ่อนหัด ความรู้น้อยกว่า ประสบการณ์น้อยกว่า ส่วนมนุษย์ป้า/ลุงผ่านโลก ผ่านประสบการณ์ และมีความรู้มากกว่าทำให้ในอดีตผู้สูงอายุได้รับความเคารพว่าเป็นภูมิปัญญาของสังคม

แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามา ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และประสบการณ์ที่โลกออนไลน์หยิบยื่นให้แก่เด็กสมัยนี้ก็เขามาถมช่องว่าง กลายเป็นว่าเด็กสมัยนี้ล้ำหน้ากว่าในด้านเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกว่าคนรุ่นก่อนและภูมิปัญญาของผู้สูงวัยก็เริ่มเป็นสิ่งไร้ความหมาย แพรยกตัวอย่างเรื่องในครอบครัวเช่นการตั้งครรภ์ อดีต แม่เป็นผู้แนะนำลูกสาวในการเตรียมตัว ส่วนคนสมัยนี้หาข้อมูลจากกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก ภูมิปัญญาของแม่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

เราอาศัยอยู่กันคนละโลก

“ดังนั้นอคติที่มีต่อกันจึงเพิ่มขึ้นได้จากความแตกต่างของโลกที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ เพราะว่าเราทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกัน แม่กับเราอยู่กันคนละโลก แม้จะอยู่ในบ้านเดียวกันก็อยู่กันคนละโลก”

เกิดคำถามต่อว่าถ้าอย่างนั้นคน generation ต่อไปเรื่อยๆ ที่คลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน โลกที่ต่างกันจะขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นหรือเปล่า แพรคิดว่ายากที่สรุปแบบนั้น เนื่องจากโลกในอินเทอร์เน็ตของแต่ละคนก็แตกต่างหลากหลาย ต่างคนต่างมีความสนใจคนละอย่าง แต่ละคนมี echo chamber คนละชนิด จึงมิได้หมายความว่าโลกของคนใน generation ถัดไปจะเข้าใกล้กันมากขึ้น

แม้กระทั่งปัจจุบันที่ผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นและพยายามสื่อสารกับเด็กสมัยนี้ ทว่า แพลตฟอร์มที่ใช้ก็ต่างกัน มิพักต้องพูดถึง ‘สาร’ ที่สื่อออกมาก็ยิ่งแตกต่าง การส่งช่อดอกไม้สวัสดีวันจันทร์ วันอังคารเป็นตัวอย่างชัดเจน

“สวัสดีวันจันทร์ อังคาร พุธ เป็นการบอกว่าฉันก็อยู่ในโลกของเธอได้เหมือนกันนะ คือฉันก็อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกับเธอ มีความสามารถทางเทคโนโลยีเหมือนกับเธอ แต่ก็คนละโลก คุณลองจินตนาการกลับไปในโลกที่ไม่ออนไลน์ คุณเข้าบ้านไปคุณต้องฟังภูมิปัญญาแบบเดียวกัน ต้องสืบทอดความรู้จากบ้านแบบนี้ ในวันนั้นมันเป็นแบบนี้ แต่วันนี้มันไม่ใช่ ความรู้ที่ลูกอายุ 7 ขวบแต่ไปแก้ปัญหาไอแพดให้ยายอายุ 70 กว่าได้ มันก็เลยทำให้เขามีความรู้สึกเหนือกว่ายายในบางลักษณะ

“เวลายายจะมาสอนอะไรที่เป็น tradition มันจะเข้าใจยาก มันไม่ได้อยู่ในตรรกะ อันนี้เราพูดในระดับตรรกะนะคะ ไม่ใช่เพราะยายไม่รู้เรื่องนั้น ไม่รู้ content นี้ แต่เป็นเรื่องตรรกะและแนวคิดบางอย่างที่เขาเรียนรู้มาจากบนพื้นที่ออนไลน์ แนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดบนโลกนี้มันทำให้เขาไม่เข้าใจว่ายายคิดแบบนี้ได้ยังไง คล้ายๆ ว่าถ้าความรู้คือคำอำนาจ ตอนนี้ทุกวัยมีอำนาจ เพราะมันมีความรู้กันคนละชุด คนละโลกที่แตกต่างกัน วัยมันจึงสู้กันได้ ยายก็ต้องยอม”

ส่งผลให้มนุษย์ป้า/ลุงรู้สึกไม่มั่นคงและถูกท้าทาย ขณะที่เด็กสมัยนี้ก็ไม่กลัวเพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความจากคนรุ่นก่อนเหมือนในอดีต ซ้ำร้ายความรู้บางอย่างของคนรุ่นก่อนอาจใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้ซึ่งก็เป็นที่มาของอคติ แพรยกตัวอย่างโลกาภิวัตน์ที่นำพาอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างมาสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง วิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตอย่างมากคล้ายกับฝัง (embody) ใส่เข้าไปในร่างกายของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าอาจจะไม่ได้รับผ่านเทคโนโลยี

ชุดคุณค่าที่ต่างกัน

มุมมองต่อโลกและชีวิต ค่านิยม บรรทัดฐาน ฯลฯ ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้ยังอาจส่งผลหนักหน่วงขึ้นในอนาคตเมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นและย้อนกลับมาเป็นอคติต่อผู้สูงวัยมากขึ้น

แพรเล่าถึงสังคมสูงวัยในญี่ปุ่น รัฐจัดเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อนำไปจัดหาสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ผลพวงจากนโยบายนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มีอคติและไม่ชอบผู้สูงอายุ เนื่องจากพวกเขารู้สึกเป็นภาระที่ต้องแบกรับ

ถามว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดในสังคมไทยหรือไม่ แพรยอมรับว่าไม่รู้เพราะนโยบายสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ สำหรับเธอสังคมไทยมีความซับซ้อนกว่านั้นอันเนื่องจากคุณค่าที่เรียกว่า ‘ความกตัญญู’

“คุณมีหน้าที่ให้สวัสดิการแก่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย รัฐไม่จำเป็นต้องดูแลผู้สูงอายุเพราะครอบครัวหรือลูกหลานต่างหากที่เป็นผู้ดูแล เรากำลังอยู่ในโลกที่ความกตัญญูไม่ทำงานเท่าไหร่ เราก็จะตั้งคำถามกับมัน แต่คนที่อายุหกสิบเจ็ดสิบเขารับไม่ได้เลยนะที่คนรุ่นใหม่มาบอกว่าเขาไม่ได้อยากเกิด แล้วมาทำให้เขาเกิด ก็ต้องรับผิดชอบเขา ประเด็นคือต่อให้คุณสอนเขา (เรื่องความกตัญญู) เราไม่สามารถฝังเรื่องนี้ให้กับเขาได้อีกแล้ว แล้วคำว่ากตัญญูนี่แหละเป็นหลักประกันของผู้สูงอายุในสังคมไทยยิ่งกว่ารัฐสวัสดิการ แต่คำว่ากตัญญูมันไม่ฟังก์ชั่นแล้ว”

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงชุดคุณค่าที่ต่างกันในคนแต่ละรุ่นซึ่งยากจะรอมชอม แพรขยายความต่อว่า

“มันเคยเกิดประเภทที่ว่าเด็กพูดต่อหน้าผู้ใหญ่ โดยที่ไม่แคร์ผู้ใหญ่คนอื่น พูดคำหยาบคายโดยไม่สนใจเขา ผู้ใหญ่ก็จะรู้สึกว่าไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพเขา สิ่งที่เราจะพูดก็คือเพราะนิยามการให้เกียรติของเรากับเขามันต่างกัน มารยาทคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าก็ต่างกัน เวลาเขานับถือ เขานับถือคนที่เป็นมนุษย์ มีคุณค่าบางอย่างที่เหมือนเขา ไม่ใช่ว่านับถือเพราะคุณแก่ แต่ไม่นับถือคุณเพราะคุณแก่กะโหลกกะลา คือเขาจะนับถือคนไม่ได้นับถือที่อายุไง เขานับถือความมีเหตุมีผล มีทัศนคติที่ยอมรับกันได้

“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขานับถือมันถูกหรือผิดเพราะขึ้นกับคุณค่าของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ที่ผ่านมาสังคมไทย ผู้ใหญ่ทำอะไร พูดอะไรก็ถูกหมด เราต้องเคารพเขาในฐานะผู้ใหญ่ แค่นี้คุณค่าก็ต่างกันแล้ว ฉะนั้นคนสูงวัยก็จะรับไม่ได้กับสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดและยึดถือ อายุไม่ได้ matter สำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่บอกว่าคนรุ่นใหม่ถูกนะ มีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนพยายามเหยียดคนที่เด็กกว่าเขา คุณยังไม่นับถือคนที่สูงอายุกว่าเลย เพราะเขากะโหลกกะลา แล้วคุณไม่รู้สึกว่าทำแบบนี้แล้วกะโหลกกะลาเหมือนกันไปเรียกเด็กน้อยมัธยมว่าไอ้พวกนี้ไม่รู้เรื่องได้ยังไง ถ้าเคารพคุณต้องเคารพให้เหมือนกัน คุณค่าแบบนี้ก็ต้องใช้กับทุกวัย”

อย่ามองมนุษย์ผ่านตัวตนเดียว

ถึงกระนั้น แพรไม่ได้หมายความว่าคนแก่ต้องเข้าใจเด็ก ต้องปรับตัวเข้าหาเด็ก แม้เธอจะเรียกร้องกับฝ่ายแรกมากกว่าเล็กน้อยก็ตาม แต่โดยรวมแล้วมันเรียกร้องจากใครไม่ได้เพราะทุกคนล้วนมีอคติ

“เราไม่ได้เรียกร้องว่าใครต้องปรับตัว งานนี้เรียกร้องใครไม่ได้ ทุกคนมีอคติต่อกันไม่เว้นเรื่องอะไร เรายกตัวอย่างเรื่องการเมือง คุณกอดรัดอุมดมการณ์หนึ่งได้ คุณต่อสู้เพื่ออุดมคติทางการเมืองคุณได้ แต่คุณต้องรู้ด้วยเหมือนกันและเคารพว่าอีกฝ่ายเขาก็กอดรัดอุดมการณ์อีกชุดหนึ่ง ไม่มีสิทธิบังคับใครให้รักหรือไม่รัก เราพูดมาตลอดนะ ถ้าคนอีกกลุ่มเขาอยากจะรัก ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรเขาก็รัก คุณมีสิทธิอะไรไปบอกให้เขาไม่รัก

“เช่นเดียวกัน คุณค่าที่คนแต่ละวัยยึดถือต่างกัน เราไม่ได้เรียกร้องให้คนสูงวัยทิ้งคุณค่าที่เขายึดถือ เราเพียงเรียกร้องให้คุณเข้าใจ เราเรียกร้องทุกฝ่ายให้เข้าใจว่าเรายึดถือคุณค่าต่างกัน อยู่ในโลกที่ต่างกัน ดังนั้นคุณจะล้มกันด้วยอคติที่มาจากความแตกต่าง คุณต้องเข้าใจที่มาที่ไปของมันหน่อยมั้ย เวลาคุณจะด่าเด็ก คุณก็ต้องรู้ว่าเด็กอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่เราเคยโตมาด้วยซ้ำ น้ำร้อนของเด็กวันนี้ไม่ใช่น้ำร้อนเดียวกับที่ผู้ใหญ่อาบมาก่อน คือคุณไม่รู้จักโลกที่เขาอยู่เลย

“เด็กก็เหมือนกัน ไม่เคยรู้จักโลกที่คน 70 เขาอยู่มา ก็ต้องเข้าใจว่าเราอยู่กันคนละโลกมาก่อน เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนมั้ยว่าเราไม่สามารถลบอคติใครได้หรอก ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนมั้ยว่าเราเถียงกันคนละโลก คนละคุณค่า แล้วส่วนที่เหลือคุณจะปฏิบัติการยังไง เราบอกไม่ได้ เราไม่ได้เรียกร้องใคร เราเพียงบอกว่าเราอยู่กันคนละโลก คุณค่าที่เราถือมันต่างกันมากมายขนาดนี้”

การมีอคติเป็นสิ่งเลี่ยงไม่ได้ แต่มันจะอันตรายมากขึ้นเมื่ออคติทำให้เราเหมารวมมนุษย์คนหนึ่งให้เหลือเพียงอัตลักษณ์เดียวเป็นภาพแทนตัวตน ทั้งที่มนุษย์คนหนึ่งมีหลากหลายด้าน เราไม่สามารถตัดสินมนุษย์คนหนึ่งจากตัวตนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง

“เวลาเราพูดว่าอย่าเหมารวมๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่จะฉุดหลังเอาไว้ไม่ให้เกิดอันตราย ใช่มั้ย เวลาคุณพูดมนุษย์ป้า มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น conservative คุณก็จะเริ่มแบ่งแยกคนใหม่ ไม่แบ่งกลุ่มแบบเหมารวม จะเริ่มมองหาว่ามนุษย์ป้าที่น่ารักก็มี มนุษย์ป้าที่ไม่น่ารักก็อาจจะมีมุมน่ารักก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถตัดสินคนคนหนึ่งในตัวตนเดียวของเขาได้ ถ้าทุกคนเข้าใจสิ่งนี้ก็อาจจะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการมองเห็นคนหนึ่งที่เราไม่ชอบ คือเรารู้สึกว่าที่มาของความขัดแย้งหลายอย่างมาจากอันนี้ อคติทำให้เราตาบอด”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net