Skip to main content
sharethis

มวลมหาประชาชนบราซิลที่สนับสุนบอลโซนาโรที่ยังไม่ยอมแพ้ในการเลือกตั้งก่อเหตุจลาจล บุกเข้าอาคารรัฐบาลของบราซิลไปทุบทำลายข้าวของและก่อความวุ่นวายอื่นๆ เหตุการณ์นี้ถูกเทียบกับฝ่ายสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ บุกก่อจลาจลที่รัฐสภา 2 ปีที่แล้วเพราะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่ทว่าก็มีบางมุมของสองเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างกัน

สื่อสัญชาติสหรัฐฯ CNN วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้สนับสนุน จาอีร์ บอลโซนาโร ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัดบุกรัฐสภาแห่งชาติของบราซิลมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีการก่อจลาจลบุกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยกลุ่มสนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เกิดอะไรขึ้นกันแน่

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่มีกลุ่มฝูงชนจำนวนหนึ่งในกรุงบราซิลเลีย ประเทศบราซิล พากันตราทัพเดินไปตามทางลาดที่นำไปสู่อาคารรัฐสภา พวกเขาบุกเข้าไปจนถึงด้านในห้องประชุมสภาล่าง มีภาพวิดีโอที่ถ่ายเหตุการณ์นี้เอาไว้ได้เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนบอลโซนาโรกลุ่มอื่นๆ พากันบุกเข้าไปที่ประธานาธิบดีและศาลสูงสุดของบราซิล

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ใช้แก็สน้ำตากับประชาชนที่บุกเข้าไปในอาคาร โดยที่รัฐบาลบราซิลได้วางกำลังตำรวจปราบจลาจลเพื่อเตรียมรับมือกับฝูงชนไว้ 2,500 นาย และเตรียมพร้อมจะประกาศใช้มาตรการ "การันตีความสงบเรียบร้อย" (GLO) ซึ่งจะอนุญาตให้รัฐบาลใช้กองทัพในช่วงวิกฤตความมั่นคงได้

จากนั้นก็มีเหตุการณ์ที่สปริงเกอร์ฉีดน้ำในอาคารรัฐสภาทำงานเพราะมีผู้ประท้วงพยายามจุดไฟเผาพรมในอาคาร นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงบางคนที่ฉกชิงเอาของขวัญที่ผู้แทนจากต่างประเทศมอบให้ทางการบราซิลเอาไว้และทำลายงานศิลปะที่อยู่ในอาคารนั้นด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร เปาโล พิเมนตา กล่าวถึงสภาพเละเทะที่เกิดขึ้นกับอาคารว่า มันมีทั้งเลือด, อุจจาระ, ปัสสาวะ ฝูงชนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะอยู่กับความเกลียดชังราวกับฝูงซอมบี้ คนกลุ่มนี้พากันวิ่งไปตามโถงทางเดินแล้วก็ไล่ทุบทำลายสิ่งต่างๆ ขับถ่ายเรี่ยราดตามทางเดินและในห้อง พวกเขาทำลายล้างสิ่งต่างๆ ด้วยการก่อเหตุเพียงครั้งเดียว

ตกเย็นของวันที่ 8 ม.ค. หลายชั่วโมงหลังจากที่มีเหตุการณ์ผู้ก่อจลาจลบุกสภา อาคารสามหลังของรัฐสภาแห่งชาติบราซิล เจ้าหน้าที่จึงสามารถสลายผู้ชุมนุมออกไปจนหมด ผู้ว่าการเขตรัฐบาลกลางของบราซิล อิบานีส รอชา เปิดเผยว่าเบื้องต้นมีการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 400 ราย โดยที่ในเวลาต่อมาผู้พิพากษา ฟลาวิโอ ดีโน ก็เปิดเผยว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค. ถูกจับกุมรวมแล้ว "ประมาณ 1,500 ราย"

รอชาบอกอีกว่าผู้ที่ถูกจับกุมจะต้อง "ชดใช้ต่ออาชญากรรมที่ก่อไว้" และบอกอีกว่าพวกเขากำลัง "ทำการระบุตัวตนของบุคคลอื่นๆ ที่เข้าร่วมการก่อการร้ายในช่วงบ่ายวันนี้" แต่ทว่าอีกหลายชั่วโมงหลังจากนั้น ผู้พิพากษาศาลสูงสุด อเล็กซานเดอร์ เดอ โมราเอส ก็สั่งพักงานรอชาเป็นเวลา 90 วัน

สื่อ CNN ระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงที่บุกรัฐสภาในครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีขวาจัด จาอีร์ บอลโซนาโร พวกเขาแสดงความไม่พอใจให้เห็นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ที่ ลูลา ดา ซิลวา อดีตฝ่ายซ้ายผู้ที่ถูกเล่นงานทางการเมืองสามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ และความคับแค้นนี้ก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทั่งกลายมาเป็นเหตุการณ์บุกรัฐสภาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานใดๆ พวกเขาพากันเอาธงชาติของบราซิลมาคลุมตัวหรือสวมชุดฟุตบอลทีมชาติบราซิลที่มีสีเหลืองกับสีเขียว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในการหาเสียงของบอลโซนาโร กลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้พากันเข้าไปในอาคารราชการ พากันทุบกระจกแล้วก็ใช้เฟอร์นิเจอร์มาทำเป็นแนวกั้นต้านทานกองกำลังฝ่ายความมั่นคง

กลุ่มฝูงชนผู้สนับสนุนบอลโซนาโรพากันปักหลักที่เมืองหลวงของบราซิลมาตั้งแต่ที่พวกเขารับรู้ว่าบอลโซนาโรพ่ายแพ้การเลือกตั้งแล้ว ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ปะทะกับเจ้าหน้าที่มาก่อนคือในวันที่ 12 ธ.ค. 2565 ที่กรุงบราซิลเลีย การปะทะเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนบอลโซนาโรพยายามจะบุกเข้าไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติบราซิล

นอกจากนี้ยังมีฝูงชนผู้สนับสนุนบอลโซนาโรบางส่วนที่ชุมนุมอยู่ใกล้กับฐานทัพต่างๆ ของกองทัพบราซิล มีบางส่วนที่เรียกร้องให้มีการรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตช่วงที่บราซิลตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาเป็นเวลาราว 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2507 ผู้พิพากษาดีโนเคยระบุทางทวิตเตอร์เมื่อช่วงวันคริสต์มาสของปี 2565 ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้กลายเป็น "แหล่งเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย" หลังจากที่มีคนถูกจับกุมเพราะพยายามวางระเบิด

บอลโซนาโร มีบทบาทในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในบราซิล บอลโซนาโร ก็พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งโดยไม่ได้เสนอหลักฐานใดๆ ซึ่งในที่สุดบอลโซนาโรก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งและเขาก็พยายามอ้างว่าเป็นเพราะมีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น เรื่องนี้สื่อ CNN ระบุว่าชวนให้นึกถึงกรณีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยอ้างแบบเดียวกันในช่วงที่เขาแพ้การเลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน ในปี 2563

เมื่อไม่นานนี้ หัวหน้าผู้พากษาศาลการเลือกตั้งบราซิลปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของบอลโซนาโรที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ อีกทั้งในรายงานก่อนหน้านี้ของกระทรวงกลาโหมของบราซิลก็ระบุว่าไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่ามีการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งล่าสุดที่อดีตผู้นำฝ่ายซ้าย ลูลา เป็นผู้ชนะ

แต่กระนั้น บอลโซนาโร ก็ไม่เคยออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แม้เขาบอกว่าจะปฏิบัติตามหลักการรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้กับลูลา จนกระทั่งในที่สุดบอลโซนาโรก็หนีไปที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ หนึ่งวันก่อนหน้าที่ลูลาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และบอลโซนาโรยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงตอนนี้

อย่างไรก็ตามบอลโซนาโรได้พยายามตีตัวออกห่างจากเหตุการณ์จลาจลบุกรัฐสภาบราซิลเมื่อวันที่ 8 ม.ค. โดยประณามการจลาจลผ่านทางทวิตเตอร์ แต่ก็ไม่วายพยายามจะโยงเรื่องนี้ว่าเคยเป็นสิ่งที่ "พวกฝ่ายซ้าย" กระทำมาก่อนในอดีต และมีนักวิเคราะห์มองว่าจริงๆ แล้วตัวบอลโซนาโรเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจลาจลล่าสุดนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จากการที่เขาเป็นผู้สร้างความกังขาให้กับความชอบธรรมในการเลือกตั้งล่าสุดจนกลายเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่สนับสนุนเขาก่อเหตุในวันที่ 8 ม.ค. ในที่สุด

เหตุ 6 ม.ค. 2564 ในสหรัฐฯ เป็นแรงบันดาลใจให้กับกรณีจลาจลในบราซิลหรือไม่

เหตุการณ์ที่บราซิลถูกเอาไปเปรียบเทียบว่าคล้ายกับกรณีบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสองปีที่แล้วในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน

สิ่งที่คล้ายคลึงกันเรื่องหนึ่งคือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำฝ่ายขวาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในกรณีของสหรัฐฯ คือทรัมป์และใช้โวหารในเชิงปลุกปั่นชวนให้ผู้คนกังขาต่อสถาบันประชาธิปไตย สิ่งที่ต่างกันก็คือในกรณีสหรัฐฯ ทรัมป์เป็นคนที่พูดกับผู้สนับสนุนของตัวเองไม่กี่ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุจลาจล ขณะที่บอลโซนาโรถึงแม้จะเคยพูดยุยงก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงใกล้เกิดเหตุเขาก็ไม่ได้อยู่ในบราซิลแล้ว

แน่นอนว่าทั้งสองกรณีนี้มีสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือ มันเรียกเสียงประณามจากนานาชาติ แล้วก็ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อผลการเลือกตั้งที่จบลงไปแล้วเลย ในกรณีของบราซิลนั้น ลูลาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเรียบร้อยแล้วและไม่มีพิธีการใดๆ ให้กลุ่มผู้ประท้วงได้ทำการก่อกวน

หนึ่งในผู้ที่ประณามเหตุในบราซิลคือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยระบุทางทวิตเตอร์ว่า "ผมขอประณามการโจมตีประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอย่างสันติในบราซิล" ไบเดนระบุอีกว่าเขาขอแสดงการสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยของบราซิลอย่างเต็มที่และจะต้องไม่มีอะไรมาทำลายเจตจำนงของประชาชนบราซิล

พิเมนตา รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารของบราซิลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในบราซิลนั้นเลวร้ายมากกว่าที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพราะที่บราซิลผู้ก่อจลาจลทำการบุกรุกหน่วยงานหลักของรัฐทั้งสามภาคส่วนคือ ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ

พิเมนตา ถึงขั้นบอกว่าการก่อเหตุในครั้งนี้เป็นการพยายามก่อรัฐประหาร เนื่องจากว่ามันไม่ใช่แค่การพยายามต่อต้านฝ่ายบริหาร แต่มันเป็นการโจมตีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ลูลา ดา ซิลวา กล่าวในการแถลงข่าวต่อเรื่องนี้ว่า การก่อจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ "ป่าเถื่อน" และมองว่ามันเป็นปัญหาเรื่อง "การรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ" ถึงได้ปล่อยให้ฝ่ายผู้สนับสนุน "เผด็จการฟาสซิสต์" อย่างบอลโซนาโรฝ่าเข้าไปในรัฐสภาได้ ลูลาประณามอีกว่าผู้คนที่ก่อเหตุเช่นนี้เป็น "สิ่งที่น่ารังเกียจในการเมือง" และบอกว่าคนที่ถูกพบว่ากระทำผิดในเรื่องนี้ทุกคนจะต้องถูกลงโทษ

นอกจากนี้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของบราซิล โมราเอส ก็มีมาตรการที่แข็งกร้าวต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่า นายพลของกองทัพ, ตำรวจ และรัฐมนตรีกลาโหมจะถูกนำตัวมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าหากยังไม่มีการสลายผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ และจะต้องมีการสลายการปักหลักปิดถนนทางหลวงในบราซิลทุกสายภายในวันที่ 9 ม.ค.

โรซา เวเบอร์ ประธานศาลสูงสุดของบราซิลกล่าวว่า ศาลสูงสุดของบราซิลจะต้องนำตัวผู้ก่อเหตุจลาจลที่เธอเรียกว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" มาลงโทษให้ "เป็นเยี่ยงอย่าง" ให้ได้

สำนักงานอัยการสูงสุดของบราซิล (MPF) ระบุว่าพวกเขากำลังทำการสืบสวนสอบสวนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบุกอาคารรัฐบาลที่เกิดขึ้น เนื่องจาก "มีการก่อเหตุทำลายทรัพย์สินของรัฐในอาคารราชการ" รวมถึงยังได้ร้องเรียนไปถึงสำนักงานอัยการประจำเขตรัฐบาลกลางของบราซิล (PRDF) แล้วว่าให้มีการเริ่มต้นกระบวนการสิบสวนหาตัวคนผิดมารับผิดชอบ


เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net