Skip to main content
sharethis

สตช. ทำหน้งสือถึงกระทรวงยุติธรรม ขอขยายเวลาบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย’ จากเดิม 22 ก.พ. 66 ออกไป อ้างเครื่องมือไม่พร้อม-จนท.ขาดความเข้าใจ ด้านภาค ปชช.ร่วมคัดค้านหนัก เหตุผลไม่เหมาะสม ขอให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

12 ม.ค. 2566 เว็บไซต์ 'iLaw' รายงานวันนี้ (12 ม.ค.) สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย ได้ผ่านสภาทั้ง 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนที่จะนำมาสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 25 ต.ค. 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศ หรือตรงกับ 22 ก.พ. 2566 

เมื่อ 6 ม.ค. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (โดยผ่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) เรื่อง ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยมีพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนาม 

ประเด็นสำคัญของหนังสือฉบับนี้ คือ ขอเสนอความเห็นให้ “ขยายเวลา” การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ บางส่วน เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน เท่ากับว่าเฉพาะหมวดนี้เท่านั้นที่จะถูกขยายเวลาออกไป ส่วนหมวดอื่นๆ ยังมีผลบังคับใช้ตามวันที่กำหนดไว้
 
สตช.ยกตัวอย่างการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายขึ้นมาเป็นแนวทางคือกรณีของพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแก้ไข พ.ร.บ.และกำหนดแก้ไขวันบังคับใช้กฎหมาย เปิดช่องให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายได้
 
บทบัญญัติในหมวด 3 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ที่ สตช.อยากขอขยายเวลาบังคับใช้ออกไปนั้น สาระสำคัญคือ กำหนดกลไกการป้องการการทรมานและการอุ้มหาย เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีที่มีการอ้างว่าบุคคลถูกกระทำทรมาน พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายหรือญาติสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำนั้นได้ และหากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการอุ้มหาย ก็สามารถไปแจ้งพนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้
 
โดยเหตุผลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกขึ้นมา เพื่อขอเสนอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น มีสามข้อหลักๆ ด้วยกัน
 
1. ด้านงบประมาณ กล้องสำหรับรองรับการปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ยังไม่เพียงพอ โดยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่จะต้องจัดซื้ออีก 1.7 แสนตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกตับอีก 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 3,473, ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567 
 
2. ด้านการเตรียมความพร้อมบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เนื่องจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันพัฒนาก้าวล้ำไปมาก ผลิตภัณฑ์มีหลายยี่ห้อ วิธีใช้งานแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
 
3. ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมยึดถือปฏิบัติ

ข้อเสนอขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ของ สตช. ยังเป็นเพียง “ข้อเสนอ” เท่านั้น ยังไม่มีผลให้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปในทันที แต่ต้องมีการตัดสินใจจากฝ่ายบริหาร และมีการตรากฎหมาย เช่น พระราชกำหนด เพื่อมาแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ มาตรา 2 ที่กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ของกฎหมาย
 
ซึ่งผลสุดท้าย พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 จะถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

 

ตอนแรก ‘พร้อม’ ตอนหลัง ‘ไม่พร้อม’

ด้านสื่อ The Reporters สัมภาษณ์ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ยะลา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และประธานอนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเบื้องต้นว่า ทางอนุกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้รับเรื่องการขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไป

อาดิลัน กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันเมื่อ 22 ธ.ค. 2565 มีการเชิญหน่วยงานที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการสอบถามความคืบหน้าต่อการเตรียมความพร้อมการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ รวมถึง สตช.ผู้ที่มาชี้แจงวันนั้นคือ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยระบุว่าถึงแม้ สตช.ยังมีบางประเด็นที่จะต้องดำเนินการอยู่ แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบังคับใช้ภายในวันที่ 22 ก.พ. 2566 แต่อย่างใด

เสนอชุด Body Cam บันทึกภาพ ไม่ต้องซื้อให้ จนท.ทั้งหมด ให้ใช้เฉพาะผู้ปฏิบัติงาน

ประธานอนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ระบุต่อเหตุผลที่ สตช.ใช้ขอเลื่อนว่า อาจเป็นความวิตกของผู้ปฏิบัติงาน เพราะเครื่องมือที่ไม่พร้อมโดยเฉพาะกล้อง "Body Cam" หรือกล้องการบันทึกภาพและเสียง อาจจะไม่ต้องซื้อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย แต่อาจจะมีประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแต่ละ สน. (สถานีตำรวจนครบาล) และ สภ. (สถานีตำรวจภูธร) ซึ่งเวลาที่ตำรวจจะออกปฏิบัติหน้าที่ก็ให้มารับ และนำไปใช้ นอกจากนี้ บางกรณีอาจจะไม่ต้องใช้กล้องก็ได้ อย่างในกฎหมายระบุว่า กรณีที่มีความเร่งด่วนจริงๆ เช่น การจับกุมซึ่งหน้า หรือเผชิญหน้าโดยทันทีทันใด อาจจะไม่ต้องบันทึกภาพและเสียงก็ได้ 

ภาค ปชช.ไม่เห็นด้วย ตั้งข้อสงสัยมีใบสั่งจากเบื้องบนหรือไม่

สมศรี หาญอนันทสุข สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) และในฐานะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า ‘ตกใจมาก’ เพราะตอนที่เชิญ สตช. มาชี้แจงความพร้อมเมื่อ 22 ธ.ค. 2565 ตัวของรอง ผบ.ตร. ในฐานะตัวแทน สตช. ไม่ได้ระบุว่าไม่พร้อม หรือปฏิเสธ ตอนนั้นก็ดีใจว่าทุกหน่วยงานมาหมด ทุกฝ่ายบอกว่าอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ และจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

สมศรี มองว่า ทาง สตช.อาจจะมีความกังวลเรื่องการอบรมเจ้าหน้าที่ไม่ทันการณ์ หรืออุปกรณ์ ‘Body Cam’ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ว่าไม่ได้บอกว่าจะไม่พร้อม ตรงนี้ ส.ส.ยังมองว่าในแง่ของงบประมาณ จะเร่งรัดให้ เพื่อจะซื้อ ‘Body Cam’ ในการให้ความร่วมมือ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวาน (11 ม.ค.) มีข่าวออกมา ก็ทำให้เกิดความกังวล หรือว่า สตช.ไม่มีเอกภาพในเรื่องนี้ หรือได้ใบสั่งหรือไม่ 

“ก่อนหน้านี้ UNOHCHR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) แสดงความยินดีไปแล้วต่อกรณีนี้ และทุกฝ่ายทางภาคประชาสังคมเตรียมอบรมฝ่ายของประชาชน ประชาชนก็ต้องเข้าใจกฎหมายใหม่ เราคิดว่ามันไม่ใช่ข้ออ้างแล้ว ทั้ง 2 สภาฯ ได้ผ่าน พ.ร.บ.อย่างเอกฉันท์ เราได้คุยเรื่องกันมาเยอะแล้วว่า ควรจะเตรียมการอย่างไร แต่ไม่ใช่ความไม่พร้อม แต่เป็นเรื่องของความกลัวรึเปล่าว่า ทำงานกันแบบเก่าไม่ได้แล้ว ถ้าจะบอกว่าขอเลื่อนออกไป ก็ไม่ได้บอกว่าจะเลื่อนออกไปถึงเมื่อไร ภาคประชาสังคมถึงได้กังวลพอสมควร องค์กรสิทธิ์จึงได้ออกแถลงการณ์ออกมาว่า ไม่เห็นด้วย ตรงนี้ก็อยากให้ทางภาคประชาชนให้ความสนใจ ในความเป็นจริง ไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของความไม่พร้อม” สมศรี กล่าว 

ขอเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

สมศรี ระบุต่อว่า มีการเสนอว่าต้องเชิญทาง ผบ.ตร. มาพูดกันไหม แต่ทางภาคประชาชนคิดว่าไม่ต้องเชิญ เพราะ สตช.รับปากไปแล้ว และมองว่าทุปอุปสรรคมีทางออก

“อยากให้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของชีวิตและอนาคตของประชาชน เพื่อที่เขาจะได้ไม่ถูกรีดไถ หรือซ้อมทรมานอีก ในขณะเดียวกัน ทำเพื่อสังคมเอง ทั้งหมดนี้เราพูดหลายครั้งแล้วว่า เราทำเพื่อท่าน คนจะได้มากล่าวหาท่านไม่ได้ว่า ท่านปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใสบริสุทธิ์ ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนั้นจริง ในกล้อง Bodycam มันก็ปรากฏออกมาเอง เพราะฉะนั้น คุ้มครองทุกฝ่าย แม้แต่วันเดียวกันมีความหมาย”  สมศรี กล่าวเพิ่ม

ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.13 น. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง ‘คัดค้านการที่ สตช.ขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย’

รายละเอียด

ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฯ นี้ ขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อันอาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมนั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์การสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ ขอคัดค้านการขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ดังกล่าว ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีบทบัญญัติสำคัญในการคุ้มสิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยในหมวด 3 ได้กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย เพื่อควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมส่งผลต่อการปฏิรูปการทำงานของตำรวจอย่างกว้างขวาง  เช่น กำหนดว่าในการตรวจค้นจับกุมบุคคล เจ้าหน้าที่จะต้องติดกล้องติดตามตัวเจ้าหน้าที่หรือ Body Cam ซึ่งนอกจากเพื่อการป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติโดยมิชอบแล้ว ยังเป็นการควบคุมการตรวจ ค้น จับ ทำให้ประชาชนไม่ถูกรังแก รีดไถ หรือการประพฤติโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติต่อประชาชนโดยสุภาพ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งในกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลใดแล้ว จะต้องแจ้งให้หน่วยงานอื่นคือ ฝ่ายปกครองและอัยการทราบทันที พร้อมทำบันทึกการจับกุม สภาพเนื้อตัว ร่างกายของผู้ถูกจับ โดยละเอียด เพื่อให้ครอบครัวหรือทนายความของผู้ถูกจับสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้มีการทรมาน อุ้มหาย  หรือการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับ ให้อำนาจฝ่ายปกครอง ดีเอสไอ และอัยการสอบสวนหรือตรวจสอบได้ นอกจากนี้ การให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร้องให้ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจไต่สวนโดยทันทีในกรณีที่มีการทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำให้สูญหาย  ดังนั้น พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ  จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกระทำโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่บางคน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจของประเทศ อันจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทยยิ่งกว่าผลร้ายดังที่ผู้บัญชาการ สตช. กล่าวอ้าง 

2. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ และภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม และรัฐสภา โดยได้รับความเห็นชอบโดยมติเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นที่ชื่นชมขององค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ติดตามว่าเมื่อใดประเทศไทยจะมีกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ฯ นี้

3. การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามจะให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไป โดยอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมทำงาน อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการปฏิบัติงานยังมีไม่พร้อมนั้น เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ เพราะกฎหมายได้ให้เวลาหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สตช. มีเวลาในการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายหลายเดือน และ ตัวแทนของ สตช. ในเวทีสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้คำรับรองและยืนยันกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรและประชาชน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ได้แน่นอน โดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด อันถือว่าคำชี้แจ้งดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีผลผูกพันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

4.  อนึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐและประชาชน ความพยายามผลักดันให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปอีกย่อมกระทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การที่ สตช.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 ที่กำหนดว่าการออกพระราชกำหนดต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การที่ สตช. ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกไปย่อมไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์การสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมทำความเข้าใจกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร่งด่วนและจะต้องไม่ดำเนินการใดอันจะมีผลให้เลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  ออกไป ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตามกำหนดเพื่ออำนวยให้เป็นไปตามหลักการสากลที่ว่ารัฐมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการเคารพ (respect) ปกป้อง (protect) และเติมเต็มให้การปฏิบัติสิทธิมนุษยชนเป็นจริง (fulfill) ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทยต่อไป

แถลง ณ วันที่ 12 มกราคม 2566

1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 
2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)
3. กลุ่มด้วยใจ
4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) 
5. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD 
9. เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
10. ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.) 
11. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
12. มูลนิธิสายเด็ก 1387
13. มูลนิธิสถาบันเพื่อการรวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
14. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)
15. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 
16. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
17. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยชน (pro-rights)
18. มูลนิธิรักษ์เด็ก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net