รัฐบาลอิหร่านอาจนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้า มาใช้ตรวจตราคนฝ่าฝืนกฎหมายฮิญาบ

ในขณะที่การประท้วงต่อต้านกฎหมายบังคับสวมฮิญาบในอิหร่านยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง มีบทวิเคราะห์ที่กังวลว่าอิหร่านจะนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามาใช้ ในการระบุตัวตนผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายบังคับสวมฮิญาบ 


ที่มาภาพประกอบ: EFF Photos (CC BY 2.0)

14 ม.ค. 2566 ย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว มีผู้หญิงชาวอิหร่านคนหนึ่งผู้ทำงานที่สวนสนุกในร่ม "ซาร์ซามิเนห์ ชาห์ดี" ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เผชิญกับการถูกเล่นงานโดยทางการอิหร่านหลังจากที่ทางการพบว่า มีรูปถ่ายของเธอที่ไม่ได้สวมฮิญาบถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดีย สื่ออิหร่านหลายแห่งรายงานว่าสวนสนุกที่เธอทำงานอยู๋นั้นได้ปิดตัวลงและอัยการของทางการก็กำลังสืบสวนสอบสวนกรณีที่เธอไม่สวมฮิญาบ

ในอิหร่านรัฐบาลมักจะใช้วิธีบีบให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายการแต่งกายของผู้หญิงซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความเข้มงวด ด้วยการสั่งปิดสถานประกอบการที่มีคนไม่ปฏิบัติตาม  กรณีนี้เคยถูกนำมาใช้กับ ชาปารัก ชาจารีซาเดห์ มาก่อน เธอเป็นผู้หญิงอิหร่านที่เลิกสวมใส่ฮิญาบในปี 2560 เพราะเธอมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการปิดกั้นเสรีภาพจากรัฐบาล แต่ในตอนนั้นเจ้าของร้านอาหารที่ชาจารีซาเดห์ทำงานอยู่ก็กดดันให้เธอสวมฮิญาบเพราะกลัวว่าจะถูกเล่นงานจากทางการ

ถึงแม้ว่าชาจารีซาเดห์จะลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่แคนาดาแล้วตั้งแต่ปี 2561 หลังจากที่เธอถูกจับกุมเรื่องฝ่าฝืนกฎหมายฮิญาบ 3 ครั้ง แต่เธอก็ยังกังวลว่า ผู้หญิงคนที่ทำงานในสวนสนุกซาร์ซามิเนห์อาจจะตกเป็นเป้าหมายของทางการ ที่อาศัยทั้งระบบการจดจำใบหน้าและระบบการติดตามตัวแบบดั้งเดิมของตำรวจได้

ก่อนหน้านี้ในปี 2565 ส.ส. อิหร่านเคยเสนอว่าควรจะมีการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามาใช้ในการบังคับกฎหมายฮิญาบ ประธานของหน่วยงานรัฐบาลอิหร่านที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายศีลธรรมเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไว้เมื่อเดือน ก.ย. 2565 ว่า จะมีการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามาใช้ระบุการกระทำที่ "ผิดปกติ" หรือ "ไม่เหมาะสม" รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายบังคับสวมฮิญาบด้วย โดยที่พวกเขาจะใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้ในการระบุตัวตนของบุคคลผ่านทางการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของรัฐบาลเพื่อทำการสั่งปรับและจับกุม

2 สัปดาห์ต่อมาหลังจากที่มีบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ก็เกิดกรณีการเสียชีวิตของ จีนา มาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดอายุ 22 ปี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านนำตัวไปคุมขังเพียงเพราะเธอสวมฮิญาบไม่รัดกุมพอ ต่อมาอามินีก็เสียชีวิตในที่คุมขัง การเสียชีวิตของเธอจุดชนวนให้เกิดการประท่วงต่อต้านกฎหมายฮิญาบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน จนทำให้ตอนนี้มีผู้ถูกจับกุมราว 19,000 รายแล้ว และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มากกว่า 500 ราย

ทั้งชาจารีซาเดห์และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ติดตามเรื่องการลุกฮือในอิหร่าน ตั้งข้อสังเกตว่า มีบางคนที่เข้าร่วมกับการประท้วงแล้วถูกตำรวจพบตัวหลังจากนั้นหลายวัน รวมถึงผู้หญิงที่ตำรวจเหล่านั้นอ้างว่าไม่ยอมสวมฮิญาบด้วย ชาจารีซาเดห์บอกว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกจับกุมบนท้องถนน แต่พวกเขาถูกจับกุมที่บ้านของตัวเองไม่กี่วันหลังจากการประท้วง

ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะใช้วิธีอื่นด้วยในการระบุตัวผู้ประท้วง แต่ ชาจารีซาเดห์ และคนอื่นๆ ก็ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเมื่อดูจากรูปแบบลักษณะของการเล่นงานผู้ชุมนุมแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันก้จะนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอิหร่านนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาบังคับใช้กฎหมายการแต่งกายของผู้หญิง

มาห์ซา อาลีมาร์ดานี นักวิจัยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในอิหร่านจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดก็มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน เขาบอกว่าเคยได้ยินรายงานเรื่องที่ผู้หญิงในอิหร่านถูกระบุว่ากระทำผิดกฎหมายห้ามสวมฮิญาบถึงแม้ว่าพวกเธอจะไม่ได้พบเจอกับตำรวจเลยก็ตาม อาลีมาร์ดานีบอกว่ารัฐบาลอิหร่านใช้เวลาหลายปีในการสร้างกลไกในการสอดแนมทางไซเบอร์ พวกเขาสร้างฐานข้อมูลระบุตัวประชาชนชาวอิหร่านไว้ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีข้อมูลเชิงชีวมิติ (biometric) อย่างการสแกนใบหน้าและใช้มันในบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อระบุตัวบุคคลที่ทางการมองว่าเป็นผู้ต่อต้าน

ในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติอิหร่านปี 2522 กฎหมายของอิหร่านเกี่ยวกับฮิญาบเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับปัจจุบัน นั่นคือมีการระบุให้ผู้หญิงอิหร่านต้องถอดผ้าคลุมศีรษะออกเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายทำให้เป็นสมัยใหม่ ถึงขั้นที่ตำรวจในยุคนั้นบังคับให้ผู้หญิงถอดผ้าคลุมศีรษะออก แต่ทว่าหลังการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 ที่ทำให้อิหร่านกลายเป็นระบอบเทวาธิปไตย ก็มีการเปลี่ยนกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบแทน

และเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี ได้เสนอกฎหมายเพิ่มเติมในการบังคับสวมฮิญาบและการรักษาพรหมจรรย์ มีมาตรการลงโทษผู้หญิงอิหร่านที่ฝ่าฝืนด้วยการกีดกันไม่ให้เธอเข้าถึงธนาคาร, การขนส่งมวลชน และบริการจากภาครัฐที่จำเป็นอื่นๆ ได้ คนที่กระทำผิดซ้ำจะถูกสั่งจำคุกหรือถูกบังคับให้ต้องเข้ารับการปรับทัศนคติด้านศีลธรรม จากข้อมูลของยูไนเต็ดฟอร์อิหร่านระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 5,000 รายถูกคุมขังในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นเรื่องชี้ให้เห็นว่ามีการใช้วิธีการคุมขังผู้หญิงฝ่าฝืนกฎสวมฮิญาบจนกลายเป็นเรื่องสามัญในอิหร่าน

แคทรีน โกรทธ์ นักวิจัยจากองค์กรสหรัฐฯ ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง "ฟรีดอมเฮาส์" กล่าวว่า เธอเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงในอิหร่านเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในแง่ที่ว่าพวกเขาเริ่มลดวิธีการใช้สายตำรวจและวิธีการออกตรวจตราข้างนอกลง แล้วกันมาใช้วิธีการสอดแนมแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อเล่นงานกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น การสอดแนมโซเชียลมีเดียเพื่อตรวจหาคนที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ถ้าหากว่ามีกรณีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าจริง โกรทธ์ก็มองว่ามันจะเป็นครั้งแรกเช่นกันที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการบังคับใช้กฎหมายการแต่งกายตามเพศสภาพ

โกรทธ์กล่าวว่า เทคโนโลยีการจดจำใบหน้ากลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลเผด็จการในที่ต่างๆ ของโลกชอบนำมาใข้ในการปราบปรามผู้ต่อต้าน แต่ก็ยังมีหลายที่ๆ ยังขาดโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่เพียงพอจะปฏิบัติการในเรื่องนี้ ในขณะที่รัฐบาลอิหร่านดูเหมือนจะมีสมรรถภาพมากพอในการที่จะทำ จากการที่หลายภาคส่วนในรัฐบาลอิหร่านสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้าได้ ตั้งแต่ปี 2563 ตำรวจจราจรอิหร่านเริ่มใช้ระบบนี้ในการส่ง SMS เตือนผู้หญิงที่ถูกจับได้ว่าไม่ได้สวมฮิญาบตอนอยู่ในรถ

ดูเหมือนว่าระบบการจดจำใบหน้านี้บางส่วนมาจากบริษัทกล้องและปัญญาประดิษฐ์สัญชาติจีนที่ชื่อ "เทียนดี" มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 จากองค์กรข้อมูลเทคโนโลยีทางกายภาพด้านความมั่นคงหรือไอพีวีเอ็ม (IPVM) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมการสอดแนมและความมั่นคง

เทียนดีเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตกล้องวงจรปิดรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ส่วนมากแล้วจะขายในจีน อย่างไรก็ตามบริษัทนี้ก็ได้คว้าโอกาสในการขยายฐานลูกค้าตัวเองในอิหร่านโดยทันที ซึ่งทาง IPVM พบว่าเว็บไซต์ของบริษัทเทียนดีได้ระบุรายชื่อลูกค้าของตัวเองโดยมีหน่วยงานความมั่นคงอย่างกองทัพปฏิวัติอิหร่าน ตำรวจ และคณะทำงานทัณฑสถานอิหร่านรวมอยู่ในลูกค้าของตัวเองด้วย ซึ่งชาร์ลส์ โรลเล็ต ผู้เขียนงานวิจัยนี้ระบุว่ามันเป็น "สัญญาณอันตรายจากมุมมองเรื่องการคว่ำบาตรหรือเรื่องสิทธิมนุษยชน"

ในเดือน ธ.ค. 2565 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรบริษัทเทียนดีจากการที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน และมีการยกเลิกการส่งวัตถุดิบส่วนประกอบจากสหรัฐฯ ให้กับบริษัทนี้ โดยที่บริษัทเทียนดีเคยอาศัยวัตถุดิบจากบริษัท อินเทล ซึ่งเป็นบริษัทชิพประมวลผลคอมพิวเตอร์สัญชาติสหรัฐฯ ทางอินเทลได้แถลงเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ว่าพวกเขายกเลิกส่งวัตถุดิบให้กับเทียนดีแล้ว

การส่งออกเทคโนโลยีเช่นนี้จากจีนทำให้มีการแพร่กระจายเทคโนโลยีสอดแนมอย่างรวดเร็วไปในที่ต่างๆ ของโลก สตีเวน เฟลด์สไตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประเด็นการสอดแนม ทำการสำรวจข้อมูลของประเทศ 179 ประเทศระหว่างปี 2555-2563 พบว่ามีอยู่ 77 แห่งที่ใช้เทคโนโลยีสอดแนมโดยอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ มี 61 ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าหรือเทคโนโลยีการสอดแนมดิจิทัลแบบอื่นๆ

ซึ่งเฟลด์สไตน์ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ว่า มันเป็นเรื่องที่กลุ่มประเทศอำนาจนิยมสามารถโต้ตอบกระแสการประท้วงที่อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือได้ กลุ่มอำนาจนิยมพวกนี้มีการปรับตัว แล้วก็กำลังใช้เครื่องมือใหม่ในการยึดกุมอำนาจของตัวเองไว้ในมือ

ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีแบบนี้ทั้งในอิหร่านและในจีน แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศนี้ต่างยังคงเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เรียบเรียงจาก
Iran Says Face Recognition Will ID Women Breaking Hijab Laws, Wired, 10-01-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท