Skip to main content
sharethis

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แถลงจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษด้านพม่า เพื่อปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ระบุพร้อมคุยกับ "ทุกฝ่าย" เพื่อนำพม่ากลับสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลทหารพม่าเตือนอย่าแทรกแซงกิจการภายในและพูดคุยกับ "องค์กรผู้ก่อการร้าย" หลังสื่อจับตา "ทุกฝ่าย" อาจรวมถึง "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)"


เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย | ที่มาภาพ: The Voice Of Spring

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้จัดแถลงข่าวในกรุงจากาตาร์ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านพม่า และแต่งตั้งให้เธอเป็นประธานสำนักงานดังกล่าว เนื่องในโอกาสที่อินโดนีเซียขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนในปี 2566 

ที่ผ่านมา บรูไนและกัมพูชาในฐานะอดีตประธานอาเซียนโดยส่วนใหญ่แล้วประสบความล้มเหลวในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งระบุให้ (1) ยุติความรุนแรงภายในพม่าในทันที (2) พูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (3) แต่งตั้งผู้แทนพิเศษ (4) ตั้งศูนย์ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่า และ (5) ส่งผู้แทนเพื่อพบปะพูดคุยกับทุกฝ่าย 

ภายใต้กรอบฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน เร็ตโน มาร์ซูดีระบุว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำพม่าออกจากวิกฤติการณ์ทางการเมือง และจะไม่ยอมให้ประเด็นของพม่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของภูมิภาค โดย "ข้อตกลงในการสร้างบทสนทนาระดับชาติจะมีน้ำหนักขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทำกระทำผ่านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น" 

ผู้สังเกตการณ์และนักวิเคราะห์หลายฝ่าย รวมถึงอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เคยระบุว่าอาเซียนควรละทิ้งแผนฉันทามติ 5 ข้อเสีย และกำหนดกรอบแผนการทำงานใหม่โดยมีกำหนดระยะเวลาและกลไกการบังคับใช้แผนอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย และอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเห็นว่าแผนฉันทามติ 5 ข้อยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในพม่า ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 ในอีกไม่นาน 

'ทุกฝ่าย' รวมใครบ้าง

หลังการแถลงข่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าได้ออกแถลงการณ์ว่าจะดำเนินการตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ "โดยสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ อำนาจอธิปไตย และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก" 

รัฐบาลทหารพม่าเตือนอาเซียนอีกว่าไม่ให้ "พูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและสมาคมผิดกฎหมาย [ที่อยู่ในรายชื่อ] ของรัฐบาลพม่า" แม้ไม่ได้พูดถึงองค์กรใดเป็นพิเศษ แต่เป็นที่รับรู้กันดีว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และกองกำลังชาติพันธุ์บางส่วน ถูกขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้ายโดยรัฐบาลทหารพม่า มาตั้งแต่ พ.ค. 2564 

ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ อาเซียนจึงปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผู้แทนทางการเมืองของกองทัพพม่า ไทยยังคงดึงดันที่จะนำทหารพม่าเข้าสู่โต๊ะเจรจาในช่วงปลายปี แต่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากสมาชิกอาเซียนฝั่งคาบสมุทรไม่มีใครเข้าร่วม

อีกด้านหนึ่ง ทุกฝ่ายที่อาเซียนพูดถึงในทางปฏิบัติแล้วยังไม่เคยรวมถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) องค์กรกองกำลังชาติพันธุ์ (EAO) และขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) แม้องค์กรสิทธิและนานาชาติเห็นว่าการพูดคุยกับกลุ่มเหล่านี้ด้วยอาจเป็นประโยชน์กับการคลี่คลายสถานการณ์ในพม่ามากกว่า

ในบริบทแวดล้อมเช่นนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่าอาเซียนภายใต้การนำของอินโดนีเซียจะมีแนวทางในการคลี่คลายวิกฤติการณ์เมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม และคาดหวังให้อาเซียนกดดันเผด็จการทหารมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าที่ต้องการเข้าไปเป็นคู่เจรจาของอาเซียนโดยตรง 

อิรวดีได้รายงานบทสัมภาษณ์ของซินมาอ่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ระบุว่าเธอคาดหวังให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย "ทุกฝ่าย" โดยนอกจากฟังรัฐบาลทหาร ควรฟังองค์กรกองกำลังชาติพันธุ์ กลุ่มต่อต้านในฝ่ายพลเรือน และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติด้วย 

เธอประเมินว่าอินโดนีเซียน่าจะมีแนวทางเชิงรุกมากขึ้นในการแก้ไขวิกฤติการณ์ในพม่า เนื่องจากอินโดนีเซียเคยมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐสภาใต้เงาทหารมาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้กับประเทศของเธอ

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าระบุในบทสัมภาษณ์ โดยตั้งข้อสังเกตอีกว่าอินโดนีเซียน่าจะ "ได้บทเรียนจาก 2 ปีที่ผ่านมา ตอนประเทศอื่นเป็นประธานอาเซียนแล้ว เราจึงคาดหวังว่าอินโดนีเซียจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น"  

ขณะที่อาเซียนกำลังนำแผนฉันทามติ 5 ข้อขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาเพิ่งผ่านกฎหมาย Burma Act เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าให้แก่ "ทุกฝ่าย" ที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลทหารพม่า และยกระดับการคว่ำบาตรเหล่านายพลร่วมกับชาติตะวันตกอื่นๆ

ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักการเมืองระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหารพม่าครั้งล่าสุดจนถึง 13 ม.ค. 2566  มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองของกองทัพแล้ว 2,734 ราย มีผู้จับกุมโดยรัฐบาลพม่าแล้ว 17,250 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้วเพียง 3,731 ราย ยังคงอยู่ในเรือนจำกว่า 13,495 ราย

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Indonesia and ASEAN set up new Office to Deal With Myanmar Crisis
Myanmar junta opposes ASEAN engagement with NUG shadow government
Daily Briefing in Relation to the Military Coup
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net