Skip to main content
sharethis

ช่วงปลายปี 2565 'ค่าจ้างที่แท้จริง' ในญี่ปุ่น ถดถอยมากที่สุดตั้งแต่ปี 2557 หรือในรอบ 8 ปี ต่อมาช่วงต้นปี 2566 สินค้า 7,152 รายการ เตรียมปรับขึ้นราคา


ที่มาภาพประกอบ: Ignat Gorazd (CC BY-SA 2.0)

ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 สำนักข่าว NHK World รายงานว่าจากสถิติเมื่อปลายปี 2565 มูลค่าของ 'ค่าจ้างที่แท้จริง' (Real Wage) ของคนทำงานในญี่ปุ่นลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบปีต่อปีในรอบ 8 ปี เนื่องมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้อำนาจการจับจ่ายของคนทำงานลดลง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ชี้ว่าในเดือน พ.ย. 2565 ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงร้อยละ 3.8 จากปีก่อนหน้าจากการปรับตามเงินเฟ้อ และยังลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ที่ในปีนั้นมีการขึ้นภาษีบริโภคทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงถึงร้อยละ 4.1

ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage)
ค่าจ้าง คือ ค่าที่จ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งค่าจ้างที่ได้รับจึงเป็นที่มาของรายได้ และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ค่าจ้างแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน (Money Wage) คือ ค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างที่จ่ายให้อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน 2. ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) คือ การนำค่าจ้างที่เป็นตัวจริงลบด้วยอัตราเงินเฟ้อต่อปีซึ่งอัตราเงินเฟ้อสามารถคำนวณได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคการกำหนดอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน คือ ถ้าอุปสงค์ของแรงงานมีมาก ความต้องการจ้างแรงงานมาก อัตราค่าจ้างจะสูงขึ้น แต่ถ้าอุปทานของแรงงานมีมาก จะทำให้ค่าจ้างลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เงินเดือนเฉลี่ยของคนทำงานในญี่ปุ่นเมื่อเดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 283,895 เยน (ประมาณ 72,000 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในรูปตัวเงินจากปีก่อนหน้า และยังเพิ่มเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันเมื่อเทียบปีต่อปี แต่อัตราการเพิ่มนี้กลับช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประกอบกับคนทำงานต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่านั้นหมายความว่าค่าจ้างที่แท้จริงกำลังลดลง

ช่วงต้นปี 2566 ราคาสินค้าเตรียมปรับขึ้น 7,152 รายการ

การสำรวจโดยบริษัทวิจัยเอกชน Teikoku Databank พบว่าผู้ผลิตในญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะขึ้นราคาสินค้าทั้งหมด 7,152 รายการ ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 การขึ้นราคาดังกล่าวมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 กว่าร้อยละ 50 เบื้องต้นคาดว่าราคาสินค้ากว่า 4,200 รายการ จะปรับขึ้นในเดือน ก.พ. 2566 นี้ นักวิจัยชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นอย่างมากเหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2565

ด้าน Mizuho Research & Technologies ก็ประเมินใกล้เคียงกันกับ Teikoku Databank โดยคาดว่าการใช้จ่ายสำหรับสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2566 นี้ จะสูงกว่าปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ย 96,368 เยนต่อเดือน (ประมาณ 25,000 บาท)

ซากาอิ ไซซูเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Mizuho Research & Technologies กล่าวว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อย อาจต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างในญี่ปุ่นนั้นไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น


ที่มา
Survey: Prices of over 7,000 food items in Japan to be raised (NHK World, 4 January 2023)
Japan's real wages mark biggest drop since 2014 (NHK World, 6 January 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net