Skip to main content
sharethis

เวที 100 พลเมืองถกปัญหาค่าไฟ จี้รัฐลดค่าไฟฟ้า เพิ่มการผลิต กฟผ. หยุดเอกชนผูกขาด ชี้การที่รัฐปล่อยให้กลุ่มทุนเอกชนเข้ามาหาส่วนแบ่งกำไรจากรัฐวิสาหกิจของประเทศอย่างแยบยล ไม่ต่างจากการพยายามแปรรูป เพราะรัฐวิสาหกิจไทยทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 14 ล้านล้านบาท

15 ม.ค. 2566 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการจัดเวที 100 พลเมืองถกปัญหาค่าไฟแพง ร่วมแถลงโดย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และนายจักรี เริงหรินทร์ อดีตกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวในเวทีถกปัญหาค่าไฟแพง และความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ร่วมกับกลุ่ม 100 พลเมืองที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐให้ยุติการให้ใบอนุญาตเอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน 100 พลเมืองไทยร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลยุติการให้เอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐ ซึ่งมีผู้ลงชื่อที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก โดยเป็นอดีตผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหารกว่า 20 คน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจ และแกนนำแรงงาน 18 คน คณบดี  อาจารย์มหาวิทยาลัย 28 คน อดีต ส.ส. ส.ว. 9 คน ศิลปิน ดารานักร้อง 3 คน นอกนั้น เป็นนักกฎหมาย ทนายความ อดีตข้าราชการ องค์กรอิสระ นักธุรกิจเพื่อสังคม และแกนนำภาคประชาชน

เรียกร้องให้รัฐรัฐบาล คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยุติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย การให้ใบอนุญาตเอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของประเทศ และเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับเอกชน ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่า แม้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนหรือกำลังการผลิตเกินกว่าร้อยละ 51 แต่ไม่ใช่โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง โดยไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของในโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐลดน้อยลง

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำแก่รัฐบาลว่า กิจการพลังงานไฟฟ้า เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจำเป็นต้องดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ จึงให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศให้เหมาะสม และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน อันจะผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรหรือศาลอื่นได้

พวกเราเห็นว่า ใจกลางสำคัญของปัญหา คือการที่รัฐอนุญาตและปล่อยให้เอกชนผูกขาดการผลิดไฟฟ้า โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีนโยบายให้รัฐโดบ กฟผ. ลดการผลิตการไฟฟ้าลง เพื่อรับซื้อจากเอกชนแทน ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและกำไรจากการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อนำมาบริการสาธารณะตกแก่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า จนนำมาสู่ข้อครหาว่า นายทุนของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ เติบโตแบบก้าวกระโดดหลายแสนล้านบาทในรอบไม่กี่ปีนี้เป็นเพราะการเอาเปรียบและเอื้ออำนวยทางนโยบายจากรัฐบาลใช่หรือไม่

เราไม่ได้คัดค้านการที่เอกชนจะผลิตไฟฟ้า ยิ่งผลิตได้มากก็เอาไปขายต่างประเทศได้  แต่เรียกร้องรัฐให้ผลิตไฟฟ้าให้มากพอกับความต้องการของคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นบริการสาธารณะและสวัสดิการประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าใช้เองผ่านรูปแบบการติดโซลาเซลล์ในบ้านเรือนโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (net metering) เพื่อการประหยัด และเป็นทิศทางพลังงานสะอาดในอนาคต แต่ข้อเสนอนี้ทางสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยยังดำเนินอย่างล่าช้า ไม่รู้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรืออย่างไร

ไม่ใช่มีนโยบายให้ กฟผ. ของรัฐลดการผลิตลงแล้วไปซื้อของเอกชนมากขึ้น ตามที่ไปออกใบอนุญาต ทำสัญญาซื้อขายแบบผูกพัน มีประกันราคาไว้เบ็ดเสร็จ จนความมั่นคงพื้นฐานถูกเอกชนผูกขาดการค้ากำไรเช่นในปัจจุบัน นี่คือผลประโยชน์ทับซ้อนทางนโยบาย ที่รัฐปล่อยให้กลุ่มทุนเอกชนเข้ามาหาส่วนแบ่งกำไรจากรัฐวิสาหกิจของประเทศอย่างแยบยล ไม่ต่างจากการพยายามแปรรูป เพราะรัฐวิสาหกิจไทยทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 14 ล้านล้านบาท

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเอาทรัพยากรของส่วนรวมไปให้เอกชนแสวงหากำไร นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก นี่คือผลงานเด่นของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าคิดว่านายกฯ ไม่เคยคอร์รัปชั่น นี่คือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และเคยมีข่าวลือด้วยซ้ำว่า หลังรัฐประหารไม่นาน เอกชนรายหนึ่งเข้าไปขอสัญญาใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้า หน้าห้องนายกฯ เรียกเงินถึง 200 ล้านบาท จริงหรือไม่

นโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมประชารัฐของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ให้อภิมหาเศรษฐีต่างๆ ปล้นกระเป๋าคนไทย สร้างภาระจากค่าใช้จ่ายสินค้าและพลังงานที่แพงขึ้น จากโครงสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเงินจากข้างล่างไปสู่กระเป๋านายทุนเจ้าสัวผูกขาดข้างบน อภิสิทธ์ชนส่วนหนึ่งร่ำรวยขึ้นจากธุรกิจการเมืองในยุคนี้จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม นอกจากการยึดสัดส่วนหลักในจีดีพีของประเทศแล้ว รัฐยังเอื้อให้นายทุนแสวงหาส่วนเกินจากส่วนแบ่งงบประมาณแผ่นดินกว่า 3 ล้านบาท และพยายามล้วงลูกรัฐวิสาหกิจที่มีทรัพย์สินกว่า 14 ล้านล้านบาท

วันนี้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากกว่า 15 ล้านล้านบาท แต่ 8 ปีภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยกลับมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.3 ล้านล้านบาท และปีนี้มีเจ้าสัวรายใหม่ทะยานขึ้นแซงหน้าเจ้าสัวรายเก่าขึ้นเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทยด้วยความมั่งคั่งมากกว่า 4 แสนล้านบาท เรื่องราวเหล่านี้เกิดจากการบริหารโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net