Skip to main content
sharethis

กสทช.เผยผลการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโครจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) ทั้งหมด 5 ชุด และมีผู้สนใจเพียง 3 ชุด สามารถนำเงินเข้าสู่รัฐได้ทั้งหมด 806,502,650 บาท

15 ม.ค. 2566 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลวงโคจรดาวเทียมลักษณะชุดทั้งหมด 5 แพกเกจ ซึ่งเริ่มต้นการประมูลเมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งการประมูลทั้ง 5 ชุด ใช้เวลาทั้งหมด 31 นาที โดยผลการประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด สามารถขายวงโคจรดาวเทียมได้ทั้งหมด 3 แพกเกจ ได้แก่ แพกเกจที่ 4 ได้แก่ วงโคจรที่ 126E แพกเกจที่ 3 ได้แก่วงโคจรที่ 119.5E และ 120E และแพกเกจสุดท้ายคือ วงโคจรที่ 78.5E

สำหรับลำดับของการประมูลได้มีการจับสลากลำดับในช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยลำดับที่ 1 คือชุดที่ 4 ได้แก่วงโคจรที่ 126E มีราคาขั้นต้นที่ 8,644,000 บาท และมีผู้ประสงค์แพกเกจดังกล่าวเพียงรายเดียว และปิดราคาที่ 9,076,200 บาท โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที จึงจบการประมูลในชุดแรก

ลำดับที่ 2 คือชุดที่ 3 ได้แก่วงโคจรที่ 119.5E และ 120E มีราคาตั้งต้นที่ 397,532,000 และปิดที่ราคา 417,408,600 บาท ซึ่งในชุดนี้มีผู้ประสงค์เพียงรายเดียว และใช้เวลาเพียง 6 นาที จึงสามารถปิดการประมูลชุดนี้ได้

ลำดับที่ 3 คือ ชุดที่ 5 ได้แก่ วงโคจรที่ 142E มีราคาเริ่มต้นที่ 198,854,250 บาท ซึ่งในชุดนี้มีผู้ประมูลขอใช้สิทธิ End Early ก่อนที่จะหมดเวลาประมูล และไม่มีผู้ประมูลรายใดประสงค์ดาวเทียมชุดนี้

ลำดับที่ 4 คือ ชุดที่ 2 ได้แก่ วงโคจรที่ 78.5E มีราคาเริ่มต้นที่ 360,017,000 ซึ่งในชุดนี้มีผู้เข้าประมูล จำนวน 2 ราย และมีผู้เข้าร่วมประสงค์ใช้สิทธิ End Early เมื่อเวลา 11.05 น. โดยการเคาะรอบแรกทำให้ราคาขึ้นไปเป็น 378,017,850 บาท และรอบที่ 2 ขยับขึ้นเป็น 396,018,700 บาท จนได้ราคาสุดท้าย คือ 380,017,850 บาท โดยในรอบนี้ใช้เวลาเพียง 6 นาที

และชุดสุดท้าย คือ ชุดที่ 1 ได้แก่ วงโคจรที่ 50.5E ราคาเริ่มต้นที่ 374,156,000 บาท ซึ่งไม่มีผู้ใดประสงค์เข้ารับการประมูล สำหรับแพกเกจที่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีมติอย่างไรต่อไป

บอร์ด กสทช.รับทราบการประมูลวงโคจรดาวเทียม

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รับทราบผลการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด โดยการประมูลครั้งนี้สามารถนำรายได้เข้าสู่รัฐได้จำนวน 806,502,650 บาท

ศาสตราจารย์นายแพทย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า สำหรับผลการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะชุด ตามประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด

โดยมีลำดับการประมูลจากข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 4 ชุดที่ 3 ชุดที่ 5 ชุดที่ 2 และ 1 ตามลำดับที่ได้มีการจับสลาก การประมูลเริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. ในวันที่ 15 ม.ค. 2566 และได้สิ้นสุดลงในเวลา 11.36 น. ซึ่งใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น1 ชั่วโมง 36 นาที (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) และมีราคาประมูลรวมของชุดข่ายงานดาวเทียมจำนวน3 ชุดข่ายงานดาวเทียม เท่ากับ806,502,650 บาท โดยมีผู้ชนะการประมูลการเข้าใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมลักษณะชุดดังนี้

ชุด 1 ได้แก่วงโคจรที่ 50.5E ราคาเริ่มต้นที่ 374,156,000 บาท ไม่มีผู้ยื่นความประสงค์

ชุด 2 ได้แก่ วงโคจรที่ 78.5E มีราคาเริ่มต้นที่ 360,017,000 ซึ่งในชุดนี้มีผู้เข้าประมูลจำนวน 2 ราย และมีผู้เข้าร่วมประสงค์ใช้สิทธิ End Early เมื่อเวลา11.05 น. โดยการเคาะรอบแรกทำให้ราคาขึ้นไปเป็น 378,017,850 บาท และรอบที่ 2 ขยับขึ้นเป็น 396,018,700 บาท โดยในรอบนี้ใช้เวลาเพียง 6 นาที ผู้ชนะได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ส่วนราคาสุดท้ายที่บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ยื่นเสนอ คือ 380,017,850 บาท

ชุด 3 ได้แก่ 119.5E และ 120E โดยมีราคาขั้นต้นที่ 397,532,000 และปิดที่ราคา 417,408,600 บาท ซึ่งในชุดนี้มีผู้ยื่นความประสงค์เพียงรายเดียว และใช้เวลาเพียง 6 นาที โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ด้วยราคาสุดท้ายคือ 417,408,600 บาท

ชุด 4 ได้แก่ วงโคจรที่ 126E มีราคาขั้นต้นที่ 8,644,000 บาท และมีผู้ประสงค์แพ็คเกจดังกล่าวเพียงรายเดียว และปิดราคาที่ 9,076,200 บาท โดยใช้เวลาเพียง 2 นาทีจึงจบการประมูลในชุดแรก โดยผู้ที่ชนะผลการประมูล ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในราคา 9,076,200 บาท

ชุด 5 ได้แก่ วงโคจรที่ 142E มีราคาขั้นต้นที่ 198,854,250 บาท ซึ่งในชุดนี้มีผู้ประมูลขอใช้สิทธิ์ End Early ก่อนที่จะหมดเวลาประมูล ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ ส่วนกรณีชุดข่ายงานดาวเทียมที่ยังไม่มีผู้ใดสนใจเข้าประมูลในครั้งนี้ ทางบอร์ด กสทช.จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีมติอย่างไรต่อไป

"ในการประมูลดาวเทียมครั้งแรกจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ นอกเหนือจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และสามารถทำให้ตลาดเกิดผู้เล่นรายใหม่ที่สามารถสร้างและส่งดาวเทียมเพื่อให้บริการแก่ประชาชนชาวไทยได้อย่างน้อย 3 วงโคจร ซึ่งเราจะมีดาวเทียมที่สามารถให้บริการได้ทั้งบรอดคาสต์และบรอดแบนด์ ที่มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องการแข่งขันต้องให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตัดสิน ซึ่งทางกสทช.มีหน้าที่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยุติธรรมในการแข่งขันให้มากที่สุด" พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. กล่าว

ทั้งนี้ ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการรับรองผลการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดภายใน 7 วัน และหลังจากที่การประมูลเสร็จสิ้นผู้ชนะการประมูลดาวเทียม จะต้องจ่ายเงินประมูลงวดแรกจำนวน 10% ของราคาประมูลภายใน 90 วัน และชำระเงินงวดที่ 2 จำนวน 40% ภายใน 4 ปี และชำระงวดสุดท้ายอีก 50% ภายใน6 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net