'ซูเปอร์โพล' ระบุ 'เพื่อไทย' ความนิยมสูงสุดใน กทม. รองลงมา 'ภูมิใจไทย' - 'นิด้าโพล' ชี้คนส่วนใหญ่ เห็นด้วยพรรคเล็กควบรวม

'ซูเปอร์โพล' สำรวจ 1,207 คน ชี้นโยบายพรรคการเมืองที่โดนใจคือด้านสุขภาพคน ระบุหากวันนี้เลือกตั้ง คน กทม.เลือก 'เพื่อไทย' มากสุด รองลงมา 'ภูมิใจไทย' ส่วน 'ปชป.-ก้าวไกล' คงที่ 'พปชร.' ความนิยมลดน่าห่วง - 'นิด้าโพล' สำรวจ 1,310 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยพรรคเล็กควบรวม ภายใต้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หนีสูตรหาร 100 ชี้ ควรไปรวบรวมกับพรรคการเมืองมีแนวโน้มเป็นพรรคขนาดใหญ่ 

วันที่ 15 ม.ค. 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง นโยบายพรรคที่โดนใจ คน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,207 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 12–15 ม.ค. 2566 นี้ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อถามถึงนโยบายพรรคที่โดนใจ คน กทม. ของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบว่า นโยบายพรรคก้าวไกลที่โดนใจคน กทม. ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า ร้อยละ 66.3 รองลงมาคือ สวัสดิการก้าวหน้า ร้อยละ 63.6 และอันดับสามได้แก่ การเมืองไทยก้าวหน้า ร้อยละ 63.1

ในขณะที่ นโยบายพรรคเพื่อไทย ที่โดนใจคน กทม. ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ยกระดับ 30 บาท ได้ร้อยละ 84.3 อันดับสอง ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทั่วไทย จองคิวได้เร็ว ร้อยละ 80.8 และอันดับสาม ได้แก่ ปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 79.4 ตามลำดับ

ในขณะที่ นโยบายพรรคที่โดนใจ คน กทม. ของพรรคพลังประชารัฐ ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ต่อยอดโครงการ คนละครึ่ง ร้อยละ 70.1 อันดับสอง ได้แก่ ต่อยอดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 67.0 และอันดับสาม ได้แก่ ต่อยอดโครงการบ้านประชารัฐ ร้อยละ 65.4

ที่น่าสนใจคือ นโยบายพรรคที่โดนใจ คน กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ ใน 3 อันดับแรก พบว่า เรียนฟรี ถึง ปริญญาตรี ได้ร้อยละ 82.3 รองลงมาคือ ธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ได้ร้อยละ 65.1 และอันดับสาม ได้แก่ ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน ได้ร้อยละ 64.5 ตามลำดับ

นอกจากนี้ นโยบายพรรคที่โดนใจคน กทม. ของพรรคภูมิใจไทย ใน 3 อันดับแรก พบว่า รักษาฟรี โรคมะเร็ง ได้ร้อยละ 79.7 อันดับสองได้แก่ ฟอกไตฟรี ผู้สูงอายุวัคซีนฉีดฟรีถึงบ้าน ร้อยละ 77.8 และอันดับที่สาม ได้แก่ เพิ่มรายได้ เปิดพื้นที่ค้าขายรองรับท่องเที่ยว 24 ชั่วโมง ร้อยละ 77.0 ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายสังคมได้แก่ นโยบายด้านสุขภาพได้รับการตอบรับจากคนกรุงเทพฯ มากที่สุดคือ การต่อยอด 30 บาทจากพรรคเพื่อไทย และรักษาฟรีโรคมะเร็งจากพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่ด้านการศึกษาจากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากสุดคือการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อถามโดยสรุปว่า นโยบายพรรคการเมืองใดที่โดนใจ คนตอบแบบสอบถาม มากที่สุด พบว่า ร้อยละ 33.0 ระบุ พรรคเพื่อไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 26.4 ระบุ พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 23.5 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งห่าง พรรคก้าวไกลที่ได้ร้อยละ 9.0 และพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 6.6

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ เมื่อนำคำถามถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง คนกรุงเทพมหานคร จะเลือกพรรคการเมืองใด โดยนำข้อมูลที่เคยสำรวจก่อนหน้านี้มาทำการเปรียบเทียบแนวโน้ม พบว่า พรรคเพื่อไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.1 ในเดือนกรกฎาคม 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 31.5 ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.4 และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 3.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 17.1 อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคพลังประชารัฐ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากร้อยละ 28.7 ในเดือนกรกฎาคม 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ในการสำรวจล่าสุด และพรรคก้าวไกลอยู่ในระดับทรงตัวคือร้อยละ 7.0 ในเดือนกรกฎาคม 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ในการสำรวจครั้งนี้

'นิด้าโพล' ชี้คนส่วนใหญ่ เห็นด้วยพรรคเล็กควบรวม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “พรรคการเมืองขนาดเล็กและการควบรวม” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 9-12 มกราคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับพรรคการเมืองขนาดเล็กและการควบรวมพรรคการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.26 ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อด้วยการไปควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น รองลงมา ร้อยละ 37.56 ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อไปในนามพรรคการเมืองเดิม ร้อยละ 15.34 ระบุว่า ควรยุติบทบาททางการเมือง และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อด้วยการไปควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น (จำนวน 606 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับขนาดของพรรคการเมืองที่ควรไปควบรวม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 61.55 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 27.39 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะเป็นพรรคขนาดกลาง และร้อยละ 11.06 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กเหมือนกัน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการควบรวมทางการเมืองระหว่าง คุณกรณ์ จาติกวณิช กับ คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จนกลายมาเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.87 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ 30.99 ระบุว่า การควบรวม ทำให้มีโอกาสได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 19.39 ระบุว่า เป็นการควบรวมชั่วคราว เฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 14.50 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ไม่เหมาะสมเลย ร้อยละ 9.31 ระบุว่า การควบรวมจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อโอกาสการได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 5.80 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้ประโยชน์มากกว่าร้อยละ 5.34 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 4.43 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ลาออกจากพรรคกล้า ร้อยละ 3.44 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่จะไม่มีพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และร้อยละ 3.21 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข่าวแนวโน้มการควบรวมทางการเมืองระหว่างพรรคไทยสร้างไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.15 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ 31.76 ระบุว่า การควบรวมทำให้มีโอกาสได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 20.08 ระบุว่า เป็นการควบรวมชั่วคราว เฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 14.35 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ไม่เหมาะสมเลย ร้อยละ 10.76 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่พรรคไทยสร้างไทย และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 8.32 ระบุว่า การควบรวม จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อโอกาสการได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 4.50 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่อาจจะไม่มีพรรคไทยสร้างไทย ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ร้อยละ 3.66 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่พรรคสร้างอนาคตไทย และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 1.76 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่อาจจะไม่มีพรรคสร้างอนาคตไทยในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และร้อยละ 2.82 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท