Skip to main content
sharethis

ตามความคืบหน้าเกือบ 1 ปี คดีสมาชิกอาชีวะปกป้องสถาบันทำร้ายช่างภาพข่าวหน้าร้านแมคฯ ราชดำเนิน ล่าสุด ตร.ส่งสำนวนให้อัยการไม่ทันตามกรอบเวลา ด้านอนุกรรมการเสรีภาพสื่อสมาคมนักข่าวฯ ร้อง ตร.ทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หวังความสำเร็จคดีนี้ช่วยดับชนวนความรุนแรงต่อสื่อในอนาคต 

 

16 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าว ติดตามความคืบหน้าเกือบ 1 ปี เจ้าตัวแจ้งความต่อกลุ่มชาย 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘เบญภกรณ์ วิคะบำเพิง’ สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ข้อหา 'ร่วมกันทำร้ายร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย' ที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อ 22 เม.ย. 2565 หลังทั้ง 3 คนทำร้ายณัฐพล ที่หน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน เมื่อ 22 เม.ย. 2565 พบว่าล่าสุด ตำรวจส่งสำนวนความเห็นให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องศาลไม่ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 21.35 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2565 หลังณัฐพล ติดตามทำข่าวการชุมนุมทัวร์มูล่าผัว ได้ถูกกลุ่มชาย 3 คน ทำร้ายโดยใช้กระบองดิ้วตีที่บริเวณหลังและศีรษะ บริเวณหน้าร้านอาหารแมคฯ ราชดำเนิน จนได้รับบาดเจ็บ ข้อน่าสังเกตในคดีนี้คือกลุ่มผู้มาทำร้ายมีการถามชื่อ และสถานะของณัฐพลว่าเป็นนักข่าวหรือไม่ และพอณัฐพล ตอบกลับว่าเป็นสื่อมวลชน ก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยครั้งนั้น เบญภกรณ์ กล่าวในไลฟ์สด เมื่อ 25 เม.ย. 2565 หรือ 3 วันหลังเกิดเหตุว่า เขาไม่เชื่อว่าณัฐพลเป็นสื่อมวลชนจริง เพราะไม่มีการแสดงหลักฐาน และอ้างว่าณัฐพล มีการเรียกพวกจะมาทำร้ายพวกเขา เขาจึงต้องทำร้ายณัฐพล เพื่อป้องกันตัว

บาดแผลของนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพ ถูกชายใช้ดิ้วรุมตีหน้าร้านแมคฯ ราชดำเนิน เมื่อ 22 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 21.35 น.

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปที่คลิปไลฟ์สดเพจ "อาชีวะปกป้องสถาบันและภาคีทุกภาคส่วน" เมื่อ 15 ม.ค. 2566 พบว่า บันทึกไลฟ์สดไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว โดยปรากฏข้อความว่า "เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้ เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าของแชร์เนื้อหากับคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น หรือเปลี่ยนกลุ่มคนที่สามารถดูได้ หรือเนื้อหาถูกลบไปแล้ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลังเกิดเหตุ ณัฐพล และวศินี พบูประภาพ สมาชิกอนุกรรมการสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) เดินทางไปติดตามความคืบหน้าคดีที่ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็น สน.ท้องที่เกิดเหตุ เมื่อ ต.ค. 2565 พบว่าตำรวจเจ้าของคดีทำสำนวนความเห็นส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องศาลแล้ว แต่ทางอัยการพบว่า 1 ในกลุ่มผู้กระทำความผิดมีคดีทำร้ายกายอื่นๆ อยู่ 11 คดี จึงส่งกลับมาให้ตำรวจรวบรวมสำนวนแนบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม และส่งให้อัยการอีกครั้ง 

ภาพจากไลฟ์สด (ขวาสุด) อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ ผู้ประสานงานอาชีวะปกป้องสถาบัน และ (คนที่ 2 จากขวา) เบญภกรณ์ วิคะบำเพิง หรือเบน สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน (ปัจจุบันไม่สามารถรับชมได้แล้ว)

แต่อย่างไรก็ตาม ตำรวจเจ้าของคดีของณัฐพล ลาออกหลังจากส่งสำนวนให้อัยการในครั้งแรก และไม่มีตำรวจคนใหม่มารับเรื่องดูคดีดังกล่าวต่อ ส่งผลต่อการส่งสำนวนให้อัยการเป็นไปอย่างล่าช้า 

"เราถามเขา (ตำรวจ) ว่า แล้วถ้าหมดเวลา หมดอายุความจะทำยังไง เจ้าหน้าที่เลยบอกว่า อายุความมัน 15 ปีน้อง ไม่ต้องห่วง" ณัฐพล กล่าว แต่พอรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว จึงขอเบอร์โทรศัพท์อัยการ เพื่อติดตามความคืบหน้าภายหลัง

จนกระทั่ง เมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา วศินี โทรติดต่ออัยการเพื่อถามความคืบหน้าคดี แต่คำตอบที่ได้กลับมาคือ ตำรวจส่งสำนวนคดีไม่ทันกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และทำให้คดีความขาดฟ้อง ซึ่งหากจะดำเนินคดีต่อจนถึงที่สุด ต้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ 

วศินี มองว่า ปัญหาเรื่องนี้น่าจะมาจากร้อยเวรเจ้าของคดีลาออกกลางคัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบอีกคดีหนึ่งที่ เบญภกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำร้ายร่างกายช่างภาพข่าว เคยต่อยหน้าประชาชนที่หน้าร้านแมคฯ สาขาราชดำเนิน กลางดึกเมื่อ 22 เม.ย. 2565 คดีนั้นมีการแจ้งความกับร้อยเวรอีกนาย และกระบวนการศาลเสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว (2565) โดยจำเลยเสียค่าปรับจำนวน 5,000 บาท 

สามารถอ่านรายละเอียดเหตุการณ์จากข่าวนี้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ช่างภาพข่าวระบุว่า ยังไม่สามารถบอกได้ โดยต้องหารือเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรต่อไป 

วศินี กล่าวว่าเธอรู้สึกผิดหวังหลังจากทราบเรื่องดังกล่าว และมองว่าเรื่องนี้ควรจะทำให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐานกล้องวงจรปิดชัดเจน และผู้กระทำผิดมาไลฟ์สดยืนยันว่าเป็นคนลงมือก่อเหตุจริง แต่กลายเป็นว่าคดีนี้ผู้กระทำผิดกลับลอยนวล เพราะส่งสำนวนให้อัยการไม่ทัน นอกจากนี้ เธอตั้งคำถามด้วยว่าจะคาดหวังให้ตำรวจคดีอื่นๆ อย่างคดีสืบสวนสอบสวน หรือคดีคอรัปชันได้อย่างไร 

สมาชิกอนุกรรมการฯ TJA มองว่า คดีทำร้ายสื่อคดีนี้มีความสำคัญต่อการตั้งมาตรฐานว่าคนทำ ทราบว่าทำไปแล้วไม่มีใครเอาผิดได้ เลยกล้าทำ และมันก็จริง และต่อให้คดีนี้ถึงที่สุดระวางโทษของมันแค่ปรับ 5,000 บาท แต่เธอรู้สึกว่า ต้องเอาคนที่ทำผิดขึ้นศาลให้ได้ เพราะผลกระทบของคดีนี้อาจเกี่ยวพันถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนในอนาคต 

"หากเราดูที่ต่างประเทศเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ดักตีหัวสื่อ ก่อนพัฒนาไปเป็นการอุ้มหาย และดักยิงสื่อแบบนี้ เรารู้สึกว่าอันนี้ (ผู้สื่อข่าว - การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิด) เป็นหนึ่งในกระบวนการที่มันจะหยุดยั้งไม่ให้ความรุนแรงต่อสื่อมันลุกลามไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าวันนี้เขาตีหัวได้ วันอื่นก็ชะล่าใจว่าอุ้มไปได้ ไม่มีใครตาม ยิงก็ได้ไม่มีใครตาม แต่อย่าให้ถึงจุดนั้นเลย คือชนวนแรกๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าระบบยุติธรรมมันอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันก็สามารถที่จะห้ามปรามคนที่คิดจะกระทำได้" วศินี ระบุ และมองว่า แค่สื่อไปทำงานภายในการชุมนุมทางการเมืองและยังโดนทำร้าย และจะหวังให้สื่อผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ที่ไหนไปทำข่าวสืบสวนสอบสวน หรือคอรัปชันได้

ท้ายสุด สมาชิกอนุกรรมการฯ TJA เรียกร้องถึงตำรวจ อยากให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส และยุติธรรม ซึ่งเธอยังเชื่อในระบบยุติธรรมอยู่ แต่อยากเรียกร้องเพิ่มเติมคือความมีประสิทธิภาพและการทำงานที่รวดเร็ว เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า มันคือความไม่ยุติธรรม

คลิปวินาทีสื่ออิสระถูกทำร้าย จากกล้องวงจรปิดหน้าร้านแมคฯ ราชดำเนิน ช่วงเกิดเหตุเมื่อ 22 เม.ย. 65 (ที่มา DemAll)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net