Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์' เปิดโพล คนกรุงฯ 58.75% เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง มีทิศทางไปทางเดียวกับทัศนคติ 85.5% ของคน Gen Z ทั้งประเทศ เหตุ ส.ว.เหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน ระบุ ส.ว.แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้นายกฯ ที่ประชาชนตั้งใจเลือก เป็นต้น

16 ม.ค.2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 ม.ค.) เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน

ข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง”

ผลการวิจัยพบว่า

1. คนกรุงเทพฯ เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง จำนวน 705 คน คิดเป็นร้อยละ 58.75, เห็นว่า ต้องมี ส.ว. แต่งตั้ง 217 คน คิดเป็นร้อยละ 18.08 ไม่แสดงความเห็น 278 คน คิดเป็นร้อยละ 23.17

2. ทัศนคติคนกรุงเทพฯ มีทิศทางไปทางเดียวกับทัศนคติคน Gen Z ทั้งประเทศ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง ร้อยละ 85.5, เห็นว่า ต้องมี ส.ว. แต่งตั้ง ร้อยละ 5.1 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.4

3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง นั้นมีคำอธิบายในแนวทางเดียวกันกับของคน Gen Z กล่าวคือ เพราะ ส.ว. แต่งตั้งไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน, ผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, ส.ว.แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนตั้งใจเลือก, ส.ว. แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้รัฐบาลของประชาชนเพื่อประชาชน, ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้รักษาสืบทอดอำนาจฝ่ายรัฐประหาร คสช., ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนทหาร, ส.ว.แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐบาลทหารเป็นสำคัญ, ส.ว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย, ส.ว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ, ส.ว.แต่งตั้งเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ, ส.ว.แต่งตั้งทำให้ ส.ส. และพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ให้เป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯและคน Gen Z ที่ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้เป็นฉบับเผด็จการ

สำหรับคนกรุงเทพฯ ฝ่ายที่ยังต้องการให้มี ส.ว.แต่งตั้ง ให้คำอธิบายว่า ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับ ส.ส., ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญหลากหลายอาชีพ, ส.ว.แต่งตั้งไม่ใช่นักการเมือง, ส.ว.แต่งตั้งทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองกฎหมายของพวก ส.ส., ส.ว.แต่งตั้งทำหน้าที่ถ่วงดุลการทำงานของพวก ส.ส., ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้คอยปกป้องความพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข, ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการทำงาน, ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเพราะความจำเป็นของบ้านเมือง

4. ทัศนคติของคนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง สอดคล้องกับทัศนคติที่เห็นว่าผู้นำทหาร คสช. ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่คนกรุงเทพฯ พึงปรารถนา และไม่ได้เป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย

5. ทัศนคติของคนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง สอดคล้องกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯ ทุกช่วงวัยที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)

ทีมผู้ช่วยวิจัย : สหรัฐ เวียงอินทร์, ชนวีย์ กฤตเมธาวี และศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net