โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นยกเลิกกฎบังคับทรงผม-แต่งกาย เสนอกฎใหม่ 'เป็นกลางทางเพศ

สภานักเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองโอคายามะ ประเทศปุ่น ต่อสู้เรียกร้องจนทำให้มีการผ่อนปรนกฎบังคับการแต่งกาย-ทรงผมตามเพศของนักเรียน แบบที่เรียกว่า 'เป็นกลางทางเพศ' เช่น ให้นักเรียนเพศกำเนิดชายสามารถไว้ผมยาวแบบมัดผมได้ หลังจากที่ในปีที่แล้วญี่ปุ่นมีดราม่าเรื่องกฎโรงเรียนหลายเรื่องมาก เช่นเดียวกับที่ในไทยยังคงมีกฎที่กดขี่ทางเพศต่อนักเรียนเช่นนี้อยู่เหมือนกันจนทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้ากรณี 'กาฟิว'

แฟ้มภาพสถานีรถไฟ Okayama โดยโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เมืองโอคายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เปลี่ยนแปลงกฎของโรงเรียนที่มี "ความเป็นกลางทางเพศ" ทำให้นักเรียนไม่ถูกบังคับให้ต้องแต่งกายหรือไว้ทรงผมตามเพศกำเนิดอีกต่อไป (ที่มา: Wikipedia)

โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดโอคายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ได้เสนอกฎโรงเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2566 ที่เรียกว่า "ความเป็นกลางทางเพศ" ซึ่งจะมีการนำมาใช้นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยมีการยกเลิกการแบ่งแยกอย่างเคร่งครัดระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ทำให้นักเรียนเหล่านี้ไม่ถูกบังคับให้ต้องแต่งกายหรือไว้ทรงผมตามเพศกำเนิดของพวกเขาอีกต่อไป

กลุ่มที่เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนให้มีกฎใหม่ที่เปิดกว้างขึ้นเช่นนี้คือสภานักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาโคโย จังหวัดโอคายามะ ภายใต้กฎความเป็นกลางทางเพศนี้ จะมีการอนุญาตให้สิ่งที่เคยถูกปิดกั้นมาก่อน เช่นอนุญาตให้ "เด็กชาย" ไว้ผมยาวและมัดผมทรงหางม้าได้ จากที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนมัธยมศึกษาโคโยเคยสั่งห้ามทรงผมซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาก่อน เช่น ทรง "อันเดอร์คัท" สำหรับนักเรียนชาย และทรงหางม้าสำหรับนักเรียนหญิง แต่เมื่อกฎความเป็นกลางทางเพศถูกนำมาบังคับใช้ ก็จะมีการอนุญาตให้ไว้ทรงผมเหล่านี้ได้ ไม่ว่านักเรียนเหล่านั้นจะเป็นเพศใดก็ตาม ซึ่งจะยังคงมาตรฐานความเป็นระเบียบบางอย่างเอาไว้

สภานักเรียนโรงเรียนโคโยเคยร้องเรียนว่าการจำกัดทรงผมของนักเรียนนั้นเป็นเรื่องล่าสมัย โดยที่ ชุนโนะซุเกะ โอชิตะ เลขาธิการของสภานักเรียนเป็นผู้ผลักดันให้มีการใช้กฎความเป็นกลางทางเพศในเรื่องทรงผม โอชิตะมองเพศสภาพของตัวเองว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นชาย หรือเป็นหญิง แต่เป็นตัวของข้าพเจ้าเอง"

โอชิตะไว้ผมยาวต่ำกว่าระดับหูตั้งแต่ตอนที่เขาเรียนอยู่ในระดับมัธยมต้น แต่ก็ถูกบังคับให้ต้องตัดผมสั้นหลังจากที่เขาเข้าเรียนในชั้นเรียนมัธยมปลายเพราะมีการบังคับให้เด็กนักเรียนชายต้องไว้ผมตามกฎระเบียบ

โอชิตะกล่าวว่าการถูกบังคับให้ตัดผมตามระเบียบทำให้เขาทนทุกข์กับเพศสภาพของตนเอง แต่เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่ได้ปฏิบัติการเรียกร้องในเรื่องนี้ และเขาก็วางแผนจะกลับมาไว้ผมยาวอีกหลังจากนี้

ไพรด์ท่ามกลางสถิติความรุนแรงต่อ LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้น ชุมชนจัดการความปลอดภัยอย่างไร, 30 มิ.ย. 65

คริสตจักรสก็อตแลนด์หนุนรัฐบาล แก้กฎหมายลดอุปสรรคคนข้ามเพศ-นอนไบนารี ขอรับรองเพศสถานะ, 8 มิ.ย. 65

ในตอนที่กลุ่มสภานักเรียนตัดสินใจจะหารือเกี่ยวกับโรงเรียนในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขกฎของโรงเรียนเมื่อเดือน เม.ย. 2565 ก็ทำให้สื่อในญี่ปุ่นพากันพาดหัวข่าวในเรื่องความไร้เหตุผลของกฎโรงเรียนมัธยมศึกษาภายใต้กำกับของสำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ทำให้เกิดการโต้ตอบจากสำนักงานบริหารมหานครโตเกียวด้วยการเรียกร้องให้โรงเรียนต่างๆ พิจารณากฎของโรงเรียนพวกเขาใหม่อีกครั้ง จากที่กฎบางอย่าง เช่น กฎที่บังคับให้คนผมน้ำตาลตามธรรมชาติต้องย้อมให้เป็นสีดำนั้น มีการยกเลิกไปแล้ว

สภานักเรียนโคโยบอกว่าพวกเขาได้ตกลงกันว่าจะมีการร่างกฎของโรงเรียนขึ้นมาเองแล้วเสนอให้กับทางโรงเรียน โดยไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพวกผู้ใหญ่ ทางสภานักเรียนยังได้ "เรียนรู้โลกจริง" ด้วยการส่งแบบสำรวจให้กับบริษัท 162 บริษัททั้งในจังหวัดโอคายามะ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อสอบถามบริษัทเหล่านั้นว่าพวกเขามองเรื่องทรงผมและการแต่งกายของนักเรียนอย่างไรในตอนที่พวกเขามีการสัมภาษณ์เพื่อรับเข้าทำงาน อีกทั้งสภานักเรียนโคโยยังได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสมาคมทามาโนะไลออนส์คลับ จากเมืองทานาโนะ ด้วย

ในตอนแรกที่มีการเรียกร้องเรื่องนี้ มีครูบางส่วนที่แสดงความกังวลในเรื่องนี้สภานักเรียนจะทำการพิจารณากฎของโรงเรียนใหม่ แต่ต่อมาในเดือน พ.ย. 2565 ร่างกฎใหม่ที่สภานักเรียนเสนอก็ได้รับคะแนนเสียงอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมคณาจารย์ของโรงเรียน รองครูใหญ่ของโรงเรียนโคโย ชูจิ ฟุรุซาวะ กล่าวว่าคณาจารย์ของโรงเรียนรู้สึกปลื้มปิติในเรื่องการทำงานของสภานักเรียน

สื่อไมนิจิตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2565 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีการพูดถึงเรื่องกฎของโรงเรียนไร้เหตุผลหรือที่เรียกว่า "กฎสีดำ" (black rules) หลายเรื่องมาก ไม่ว่าจะเป็นกฎข้อบังคับเรื่องการแต่งกาย ทรงผม หรือแม้กระทั่งชีวิตรักของนักเรียน เช่น กรณีที่นักเรียนหญิงรายหนึ่งถูกสั่งให้ออกจากโรงเรียนมัธยมศึกษา โฮริโคชิ กะคุเอ็น หลังจากพบว่าเธอมีคู่เดทเป็นเพื่อนในห้องของตัวเอง แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ศาลแขวงโตเกียวก็ตัดสินเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ให้นักเรียนผู้ถูกไล่ออกชนะคดี ได้รับเงินค่าชดเชยราว 970,000 เยน (ราว 250,000 บาท) ซึ่งนักเรียนหญิงฟ้องร้องว่าทางโรงเรียนได้ "จำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" ของเธอ

ในกรณีการบังคับเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายตามเพศกำเนิดยังเคยส่งผลเลวร้ายจนกลายเป็นเรื่องเศร้าในประเทศไทย อย่างกรณีของ "กาฟิว" นักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกบังคับให้ตัดผมตามกฎของโรงเรียน จนตัดสินใจผูกคอตาย ซึ่งคุณปู่ของผู้เสียชีวิตได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าอยากให้ยกเลิกระเบียบที่บังคับเรื่องการแต่งกายหรือทรงผมกับเด็ก ที่เขาควรจะมีอิสระมีสิทธิในร่างกายของเขา และขอให้กาฟิวเป็นคนสุดท้ายที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยระเบียบเหล่านี้

เรียบเรียงจาก

West Japan high school to introduce 'gender-neutral' rules, The Mainichi, 15-01-2023

2022 Rewind: Japan's strict school rules restrict hair, underwear colors and dating, The Mainichi, 28-12-2022

Ex-high schooler told to drop out for dating classmate wins damages in Tokyo lawsuit, The Mainichi, 30-11-2022

นักเรียน LGBTQIAN+ ถูกครูสั่งให้ไปตัดผม โดนเพื่อนล้อว่าไม่สวย ผูกคอเสียชีวิต, เพจ Young Pride Club, เพจ 'นักเรียนเลว', 20-11-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท