เครือข่าย We Fair พบพรรคการเมือง นำเสนอชุดนโยบายรัฐสวัสดิการ 9 ด้าน

We Fair เดินสายยื่นชุดข้อเสนอ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ถึง 15 พรรคการเมือง โดยข้อเสนอครอบคลุม 9 ด้านตั้งแต่แรกเกิด การศึกษา สุขภาพ รายได้จนถึง พัฒนาเงินยังชีพคนชรา 

18 ม.ค.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือ We Fair เข้าพบพรรคการเมืองเพื่อยื่น “ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ครอบคลุมสวัสดิการสังคม 9 ด้าน 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์กล่าวขณะยื่นข้อเสนอแก่พรรคพลังประชารัฐว่า การมายื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมืองครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นเรื่องหลักที่พรรคการเมืองควมีนโยบายทางด้านสังคมและสวัสดิการต่างๆ เพื่อแก้ไขเรื่องนี้โดยข้อเสนอทั้ง 9 ด้านมีดังนี้

(1) เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า

(2) การศึกษาฟรีตลอดชีวิต

(3) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าเทียม

(4) การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน

(5) งานและรายได้ที่เป็นธรรม สิทธิลาคลอด 180 วัน

(6) การพัฒนาสิทธิประโยชน์ระบบประกันสังคม

(7) การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า

(8) สิทธิทางสังคม เงินอุดหนุนคนพิการ สิทธิสวัสดิการการข้ามเพศ สวัสดิการผ้าอนามัย ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ

(9) ระบบภาษีและงบประมาณเพื่อสวัสดิการสังคม

“เราอยากเห็นสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิทธิเสมอกันที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแล้วเราเองมีความเห็นว่าในตัวสวัสดิการต่างๆ จะพัฒนาคุณภาชีวิตและสังคม แล้วก็อยากให้เป็นแบบถ้วนหน้าตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” นิติรัตน์กล่าว และเขายังย้ำว่าการเสนอนโยบายเหล่านี้เพื่อให้เป็นตาข่ายทางสังคมหรือเป็นที่พิงให้แก่ประชาชนเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือทางสังคมได้

เครือข่ายได้ยื่นข้อเสนอเดียวกันนี้ให้แก่พลังประชารัฐ พรรคเพื่อชาติ และพรรคเพื่อไทย

นอกจากนั้นในแถลงของเครือข่ายยังมีรายละเอียดถึงเหตุผลที่เครือข่ายมีข้อเสนอทั้ง 9 ข้อข้างต้นโดยสรุปได้ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 พรรคการเมืองต่างๆ มีการแข่งขันด้านนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อยกระดับสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลประยุทธ์กลับไม่มีการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียง อาทิ มารดาประชารัฐ เกิดปั๊บรับแสน การเรียนฟรีถึงปวส. ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท การประกันรายได้ 120,000 บาทต่อปี การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ

อีกทั้งสวัสดิการยุครัฐบาลประยุทธ์ กลับเน้นระบบสงเคราะห์เชิงอุปถัมภ์ พิสูจน์ความจน การเข้าไม่ถึงสิทธิเสมอกัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนี้

(1) เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท/เดือน สำหรับครอบครัวรายได้ 100,000 บาท ทำให้เด็ก 4.2 ล้านคน ได้รับเพียง 2.8 ล้านคน

(2) ลูกคนจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 4

(3) งบประมาณการรักษาพยาบาลเหลื่อมล้ำ ประกันสังคม 3,959 บาท บัตรทอง 3,800 บาท ข้าราชการ 15,000 บาท

(4) ที่อยู่อาศัยราคาแพง

(5) แรงงานมีชั่วโมงการทำงานตรากตรำ การลาคลอดไม่เพียงพอต่อพัฒนาการเด็ก

(6) แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคมน้อยกว่า 50%

(7) การไม่รับรองกฎหมายระบบบำนาญประชาชน 5 ฉบับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ปรับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2554 (เบี้ยความพิการต่ำกว่าเส้นความยากจน 3.5 เท่า

(9) ระบบภาษีขาดบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขาดการพัฒนาภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีกำไรจากการลงทุน ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) งบประมาณการจัดสวัสดิการสังคมเหลื่อมล้ำ

นอกจากนั้นทางเครือข่ายยังมีกำหนดการที่จะยื่นข้อเสนอถึงพรรคการเมืองทั้ง 15 พรรคดังนี้

วันที่ 17 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค : พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคประชาชาติ พรรคสามัญชน

วันที่ 18 ม.ค. 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

วันที่ 19 ม.ค. 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคก้าวไกล

วันที่ 20 ม.ค. 2566 ณ ที่ทำการพรรค พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคแรงงานสร้างชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท