Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้รวมทุกคดีที่บริษัทฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่น ‘อังคณา’ ตามที่ร้องขอ ขณะที่เจ้าตัวระบุ แม้ไทยจะมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) แต่การฟ้องคดีปิดปากหรือฟ้องกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้น หวังรัฐไทยให้ความสำคัญในการปกปกป้องนักปกป้องสิทธิฯ

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน คดีที่อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) ในฐานะจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดี ที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา รวม 2 คดี เนื่องจากเป็นการฟ้องด้วยมูลเหตุและข้อมูลชุดเดียวกัน โดยที่บริษัทธรรมเกษตรซึ่งเป็นโจทก์ ได้คัดค้านการรวมคดีต่อศาลโดยอ้างว่าเหตุเกิดคนละคราวกัน มูลคดีต่างวาระกัน

ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาคำร้องของอังคณา พร้อมทั้งคำคัดค้านของโจทก์แล้ว มีความเห็นว่าคดีที่อังคณา ถูกฟ้องร่วมกับพุทธนี กางกั้น และธนพร สารีผล รวมทั้งหมด 5 คดี มีมูลกรณีเดียวกัน พยานหลักฐานชุดเดียวกัน หากรวม 5 สำนวนเข้าด้วยกันจะเป็นการสะดวกและรวดเร็ว โดยศาลอนุญาตให้โจทก์สืบพยาน 7 ปาก ในเวลา 5 วัน ส่วนจำเลยทั้ง 3 คนขอใช้เวลาสืบพยานทั้งสิ้น 4 วัน โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14 - 17, 21- 23 มีนาคม และ 23 - 24 พฤษภาคม 2566

อังคณากล่าวภายหลังจากที่ศาลอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีได้ว่า “คดีที่ถูกฟ้องทั้งสองคดีนี้เกิดจากการทวีตข้อความเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของนักวิชาการ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ในการปกป้องของสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยข้อความที่ทวีตเป็นการแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับใช้กฎหมายเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิของยูเอนกล่าวอีกว่า หากศาลไม่อนุญาตให้รวมคดีตามคำคัดค้านของโจทก์ นั่นหมายถึงการที่ตัวเองในฐานะจำเลยจะต้องเสียเวลาในการสู้คดีเป็นสองเท่า และเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีเป็นจำนวนเงินที่สูง ทั้งค่าทนายความ ค่าเดินทาง ค่าเสียประโยชน์อื่น รวมถึงความเสียหายทางจิตใจที่ไม่อาจประเมินได้

“แม้ประเทศไทยจะมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) แต่การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษชนยังคงเกิดขึ้น จึงหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญในการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง” อังคณากล่าว

ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International (PI) กล่าวว่าเมื่อปีที่แล้วองค์กรสิทธิมนุษยชนกว่า 67 เครือข่าย และ15 บุคคล ออกจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรผู้จัดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 4 “สนับสนุนกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ในเอเชียแปซิฟิก จดหมายดังกล่าวแสดงความกังวลว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่สามารถให้ความคุ้มครองและความสนับสนุนแก่ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ปลอดพ้นจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม จดหมายยังเน้นให้เห็นการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องคดีปิดปากที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเมิดเสาหลักสามประการของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ปรานม กล่าวอีกว่าหลังผ่านไป 3 ปี เรากังวลอย่างมาก เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าและรัฐบาลไทยยังไม่แก้ไขปัญหาการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมเสมือนถูกออกแบบมาเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเปิดโปงการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อคนงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม

“องค์กรสิทธิมนุษยชนกว่า 67 เครือข่าย และ15 บุคคลได้มี 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ประกอบด้วย 1. กระตุ้นให้การประชุมนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ 2. ให้มีการพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้เกิดทิศทางการใช้งานที่ชัดเจน รวมทั้งการนิยามคำว่า โดยไม่สุจริต ” ตัวแทนจากองค์กร Protection Internationalระบุ

สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแรงงานจากบริษัทธรรมเกษตรโดยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักข่าว รวมทั้งหมด 22 คน 37 คดี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่แล้วศาลไม่รับฟ้องหรือยกฟ้อง แต่ล่าสุดกรณีของอังคณา พุทธณี กางกั้น และธนภรณ์ สาลีผล ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14 - 17, 21- 23 มีนาคม และ 23 - 24 พฤษภาคม 2566 นี้

ก่อนหน้านี้คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน มีจดหมายเปิดผนึกแสดงถึงความกังวลต่อการฟ้องคดีปิดปากอย่างเป็นระบบของหน่วยงานธุรกิจต่อนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในไทย โดยในจดหมายเปิดผนึกได้กล่าวถึงกรณีทั้งหมดที่บริษัทธรรมเกษตรฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

“พวกเรากังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่อาจได้รับโทษจำคุกและอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและความเห็นของตน” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวในจดหมายเปิดผนึกพร้อมทั้งมีข้อสังเกตว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติยังกระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินงานตาม แนวปฏิบัติ ที่มีการนำเสนอโดยคณะทำงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2564 กล่าวคือการประกันให้มีความเคารพต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (A/HRC/47/39/Add.2) โดยหน่วยงานธุรกิจไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย รวมทั้งการฟ้องคดีปิดปาก คณะทำงานได้ย้ำข้อความนี้ รวมทั้งในระหว่างการประชุมเวทีธุรกิจและสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 และ 2565

“หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ เน้นบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการส่งเสริมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนให้หน่วยงานธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบ การคุกคามใดๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการข่มขู่โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จึงต้องยุติลง” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวในจดหมายเปิดผนึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net