Skip to main content
sharethis

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง "ตะวัน-แบม" ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง – พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ยกเลิก ม.112 - ม.116 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยังเรียกร้องให้รัฐบาล พรรคการมือง และกระบวนการยุติธรรม ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในสังคม

 

19 ม.ค. 2566 หลัง ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรม ยื่นขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ของ ตะวัน-แบม ที่เรียกร้องให้

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

ทั้งนี้ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยังเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคการมือง และกระบวนการยุติธรรม ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในสังคม

แบม - ตะวัน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ราดตัวเองด้วยสีแดง "เลือดแลกเลือด"

ก่อนยื่นถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 ภาพโดย แมวส้ม

 

แถลงการณ์ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

หลังจากกษัตริย์รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสต่อ ผู้พิพากษาประจำศาล ยุติธรรม ที่เข้าเฝ้า ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ศาลได้เข้ามามีบทบาทการเมืองชัดเจนในการตัดสินความขัดแย้งทางการเมืองแบบสองมาตรฐานที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางจนนำไปสู่การรัฐประหารที่อ้างว่าเป็นการปกป้องกษัตริย์ในปี 2549 และ 2557 โดยศาลได้วินิจฉัยให้การยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ต่อเนื่องมาถึง ปี 2563 เมื่อคนรุ่นใหม่ในนามคณะราษฎรลุกขึ้นมาเรียกร้อง 10 ข้อให้มีการปฏิรูปกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยแต่รัฐบาลประยุทธ์ ได้ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมและยัดเยียดข้อกล่าวหาว่าเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา 112 มีการจับกุมคุมขังราษฎรกว่า 247 คดี ในจำนวนนี้แกนนำกว่า 50 คน ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว กลายเป็นกระแสการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112โดยคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย.112) ในปี 2564 

แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาศาลได้จองจำด้วยเครื่องพันธนาการหรือกำไล EM และกำหนดเงื่อนไขห้ามการวิจารณ์กษัตริย์ ห้ามการชุมนุมที่อาจเกิดความวุ่นวาย ห้ามออกนอกประเทศ  ห้ามทำให้ศาลเสื่อมเสีย เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ เป็นการขัดต่อหลักการ ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบมและ ตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งทั้งสองคนถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 แม้ได้รับการประกันตัวและถูกเครื่องพันธนาการติดกำไล EM  แต่ทั้งสองยังคงใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติ กลายเป็นเหตุให้ศาลถอนการประกันตัวเพื่อคุมขังทั้งสองคน และทั้งสองคนตัดสินใจถอนประกันตัวด้วยตนเองเพราะเงื่อนไขของศาลขัดต่อสิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยระบุด้วยว่า ผู้บริหารศาลมีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีมาตรา 112พร้อมทั้งประกาศข้อเรียกร้องสามข้อคือ

    1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

    2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชน ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน  ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

    3. พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยยกเลิกมาตรา 112 และ 116

ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 19 มกราคม 2566 ทั้งสองคนตัดสินใจพลีชีพด้วยการเริ่มอดอาหารและงดดื่มน้ำ  เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยขอสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสามข้อและขอเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคการมืองและ กระบวนการยุติธรรมที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวและขอเรียกร้องต่อประชาชน ทุกกลุ่มทุกองค์กรในการผลักดันให้ข้อเรียกร้อง3ข้อของทั้งสองคนให้เป็นจริง อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในสังคมต่อไป

 

 

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

วันที่ 19 มกราคม 2566

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net