Skip to main content
sharethis

21 ม.ค. 2566 สื่อธุรกิจอเมริกันรายงาน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าระดมทุนได้เกิน 100 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 3.2 พันล้านบาทแล้ว รายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ลงทุนใน 'พันธบัตรเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากนี้มีแผนตั้งธนาคารของตัวเอง ใช้เงินคริปโต และเปิดสัมปทานพลอยทับทิม หวังภายใน 1 ปี สร้างผลลัพธ์จับต้องได้ในการโค่นล้มเผด็จการ

รายงานของบลูมเบิร์กอ้างอิงข้อมูลจากตินตุนนาย รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผน การคลัง และการลงทุน เมื่อ 15 ม.ค. ที่ผ่านมาอีกว่า เงินจากการระดมทุนจะ "ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายภาคส่วน" เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายใน 1 ปี ทุนเหล่านี้มีแหล่งที่มาของงบประมาณอย่างน้อย 3 ทาง และจะมีช่องทางการระดมอื่นในเร็วๆ นี้ด้วย 

แหล่งรายได้แรกคิดเป็นประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ มาจาก 'พันธบัตรธนารักษ์พิเศษเพื่อการปฏิวัติในฤดูใบไม้ผลิ' (Spring Revolution Special Treasury Bonds) หรืออาจเรียกชื่อเล่นได้ว่า 'พันธบัตรเพื่อประชาธิปไตย'  เงื่อนไขการลงทุนในพันธบัตรกำหนดว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้ และจะจ่ายผลตอบแทนต่อเมื่อการต่อสู้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น

แหล่งรายได้ที่สอง คือการระดมทุนผ่านการนำทรัพย์สินของกองทัพพม่ามาตั้งประมูล แม้ผู้ชนะประมูลจะยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพย์สินเหล่านี้ได้ภายในทันที แต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าสัญญาว่าจะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นรางวัล หลังรัฐบาลทหารพม่าลงจากอำนาจ ตัวอย่างเช่น  คฤหาสน์ 2 หลังของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ยึดมาจากกองทัพพม่า

แหล่งรายได้ที่สามคิดเป็นประมาณ 1.43 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 46 ล้านบาทมาจากการเก็บภาษีใน 38 จาก 330 เขตเมืองที่กลุ่มต่อต้านควบคุมอยู่ทั่วพม่า ตินทุนนายให้ข้อมูลว่าในพื้นที่เหล่านี้ หลายแห่งยังมีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งแร่ที่สำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ในการออกสัมปทาน และระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคตได้อีกด้วย 

"นักลงทุนของเรารู้ดีอยู่แล้วว่า พวกเขาจะได้รับประโยชน์ต่อเมื่อการปฏิวัติครั้งนี้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่พวกเขาก็ยังคงลงทุนในโครงการต่างๆ ของเราเพราะความเชื่อของพวกเขา" ตินตุนนายกล่าว โดยยกตัวอย่างของนักลงทุนคนหนึ่งโดยไม่ได้มีการระบุชื่อ แต่ให้งบประมาณสนับสนุนแก่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติกว่า 6 ล้านดอลล่าร์ หรือ 196.5 ล้านบาท 

แหล่งรายได้ในอนาคต 

ตินตุนนายระบุว่าในเร็วๆ นี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าจะออกกฎหมายเปิดทางให้นักลงทุนซื้อเหรียญคริปโตใหม่เพื่อระดมทุน หรือที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดรับเงินฝากแบบประจำ และรับเงินฝากคริปโตผ่านธนาคารที่จะทำการเปิดใหม่

"เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิวัติจะผลิดอกออกผลใน 1 ปี เราจะใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนและเงินคริปโต เพื่อตั้งธนาคารการพัฒนาฤดูใบไม้ผลิภายในเดือนหน้า" ตินตุนนายกล่าว พร้อมระบุว่าผู้ที่สนใจสนับสนุนทุนแก่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ สามารถใช้บริการของธนาคารที่จะเปิดให้ใช้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเคยพยายามเข้าถึงกองทุนทรัพย์สินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ของผู้นำรัฐบาล​ทหารพม่า ที่ถูกแช่แข็งตามมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม กฎหมาย Burma Act ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาคองเกรสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ซึ่งถูกพูดถึงในกฎหมายดังกล่าวโดยตรง อาจได้งบประมาณด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคร่าชีวิต จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกช่องทางหนึ่ง

เตรียมเปิดสัมปทานเหมืองอัญมณี

ในรายงานที่เกี่ยวข้องกัน สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่ากระทรวงการวางแผน การคลังและการลงทุน จะเปิดให้นักลงทุนท้องถิ่นและต่างชาติเข้ามาสัมปทานเหมืองอัญมณีในเขตเมืองโมก๊กของแคว้นมัณฑะเลย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 'แดนทับทิม' ภายในปีงบประมาณใหม่ด้วย

ตินตุนนายระบุในแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่าผลประโยชน์จากสัมปทานเหมืองทับทิมจะถูกนำมาตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาหลังยุคที่ผ่านมาทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้เพื่อปรนเปรอชนชั้นนำและเหล่านายพลมาโดยตลอด 

ในการออกใบอนุญาตสัมปทาน จะมีการออกแนวปฏิบัติใหม่ โดยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อม และใช้กระบวนการที่เป็นสากล เพื่อเปลี่ยนแปลงหลังที่ผ่านมา

โซ ธูรา ตุน รัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ระบุว่าบริษัทขุดเหมืองไม่เคยใช้แผนบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม เพราะได้สัมปทานจากการใช้เส้นสายกับกองทัพพม่า และส่วนใหญ่แล้วเป็นสัญญาระยะสั้น ส่งผลให้บริษัทเร่งขุดทรัพยากรให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าจะเสนอแผนสัมปทานระยะยาว เพื่อส่งเสริมการขุดเหมืองอย่างเป็นระบบ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐจะถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เอกชนเป็นผู้ถือหุ้น 49 ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนร่วมกัน

เหมืองเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการ หลังรัฐบาลทหารถูกขับไล่ออกไป และจะมีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการเร็วๆ นี้ พ่อค้าอัญมณีคนหนึ่งให้ข้อมูลกับอิรวดีว่า ขณะนี้ไม่มีบริษัทเหมืองที่จดทะเบียนประกอบกิจการในโมก๊ก เพราะขาดความปลอดภัย และการปกครองของกฎหมาย แต่ยังมีนักขุดเหมืองในระดับรายบุคคลและกลุ่มขนาดเล็กเข้าไปทำงานอยู่

ประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลกับอิรวดีว่า ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโมก๊กอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง และกองกำลังปกป้องประชาชน ขณะที่ในตัวเมืองยังอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลทหาร โมก๊กเป็นส่วนหนึ่งของ 'แดนอัญมณี' ประกอบด้วยเมืองมิต ทวินเง ตะเบะจี้น บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยอัญมณีมูลค่าสูง เช่น ทับทิม ไพลิน และมรกต เป็นต้น


แปลและเรียบเรียงจาก
Myanmar’s Civilian Govt to Grant Mining Licenses for ‘Ruby Land’
Myanmar Shadow Government Raises $100 Million to Oppose Junta
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net