Skip to main content
sharethis

ชาวประมง แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จ.ระยอง 837 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เหตุหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วเมื่อปี 2565 เป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการเยียวยา

เพจ 'Rising Sun Law' ของบริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด รายงานเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ว่าชาวประมง แม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดระยองกว่า 837 ราย ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองเดินทางไปศาลปกครองระยองพร้อมทีมทนายความจาก Rising Sun Law เพื่อยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ที่ 1, กระทรวงมหาดไทย ที่ 2, กรมเจ้าท่า ที่ 3, กรมธุรกิจพลังงาน ที่ 4, กรมประมง ที่ 5, กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่ 6 และกรมควบคุมมลพิษ ที่ 7 ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลอย่างต่อเนื่องกลางทะเลจังหวัดระยองกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตของประชาชน แต่กลับละเลยในการป้องกันเหตุหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ประมาทเลินเล่อในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ อนุญาตให้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอย่างผิดวิธีและเกินจำเป็น อีกทั้ง ยังละเลยต่อการสำรวจประเมินมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับการประมง พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการท่องเที่ยวจนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

ภายหลังยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองระยองในวันนี้ ชาวประมง แม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดระยอง 837 ราย ยังได้เตรียมการไปยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อมลพิษ ต่อศาลจังหวัดระยอง ในวันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 13.00 น.   

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เกิดเหตุให้ท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แตก จนมีน้ำมันดิบไหลทะลักออกมาในทะเลเป็นปริมาณมาก และจากการขาดระบบควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำมัน และการตรวจสอบสภาพท่อส่งน้ำมันและวิธีการส่งถ่ายน้ำมันที่ดีพอ ทำให้การรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร อีกทั้ง บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยังเลือกใช้วิธีการฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน เช่นเดียวกับที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารเคมีที่ใช้เพื่อสลายคราบน้ำมัน เป็นสารอันตรายเพราะจะทำให้น้ำมันดิบแตกตัวออก แล้วจับตัวกับสารเคมีกลายเป็นตะกอนจมลงสู่ก้นทะเล ทำให้สารอันตรายในน้ำมันดิบละลายปะปนกับน้ำทะเลเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเศรษฐกิจภายในจังหวัดระยองเป็นอย่างมาก

มากไปกว่านั้น ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่วที่ระยองในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยองยังไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ชาวประมง แม่ค้าและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว รายได้จากการประกอบอาชีพยังคงน้อยกว่าก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วและทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำก็ยังไม่ฟื้นฟูกลับมาระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในปี 2556

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยองอีกครั้งในต้นปี 2565 เปรียบเสมือนกับการซ้ำเติมชีวิตของผู้ที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยทรัยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยอง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 837 ราย ซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นประมงชายฝั่ง หรืออาศัยและประกอบอาชีพบริเวณชายฝั่ง ได้รับความวิตกกังวล และเดือดร้อน กระทบวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ได้ว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี กว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยองจะสามารถฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

1. ให้มีการออกกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล และมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลักเกณฑ์การกำจัดน้ำมัน ต้องมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวด้วย

2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยการเรียกให้บริษัทดังกล่าวจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง ด้วยงบประมาณของบริษัท โดยในกองทุนดังกล่าว ต้องมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและบริษัท ในการกำหนดและเสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทีได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในคดีนี้

3. ต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดเยียวยาชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด จนเป็นเหตุทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้ฟ้องคดี กว่า 600 ล้านบาท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net