Skip to main content
sharethis

สธ.เผย บุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. ส่วนหนึ่งขอย้ายกลับ พร้อมเหตุผลหลายประการ

21 ม.ค 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จากการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจ พบว่า บุคลากรกว่า 40 % ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ประกอบด้วย

1. ความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนของ อบจ. ระบบใหม่ยังไม่ลงตัว ระเบียบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของสาธารณสุข โดยระบุว่าอยากให้โครงสร้าง อบจ. มีความพร้อมมากกว่านี้ถึงจะทำการถ่ายโอน และให้สมัครใจย้าย ไม่ใช่บังคับสมัครใจโดยนำกฎหมายมาอ้าง แต่ขาดความพร้อม ขาดความเข้าใจ

2. ภาระงาน ให้เหตุผลว่า ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของ รพ.สต. ทำให้ต้องหาเงินเข้า รพ.สต.ด้วย ขณะที่บุคลากร อบจ.ไม่เพียงพอและไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ ระบบบริการเดิมที่ดีอยู่แล้ว แย่ลงมาก ประชาชนได้รับผลกระทบ

3. ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยากและไม่มีความชัดเจน ความก้าวหน้าไม่เป็นไปตามโครงสร้าง การปรับเงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่า สวัสดิการและเงินค่าตอบแทนต่างๆ ได้ไม่เท่าเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้ไม่เท่าเดิม สิทธิการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นคงมากกว่า อปท.

4. ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนมาก ไม่มีความคล่องตัว ระบบการประสานงานข้ามกระทรวงยุ่งยาก ประสานงานลำบาก  ขอบเขตงานทันตกรรมไม่ชัดเจน ที่สำคัญ อบจ.ไม่มีทันตแพทย์รองรับการให้บริการทันตสุขภาพ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน อีกทั้งมิใช่การถ่ายโอนลงพื้นที่ตามเจตนารมณ์การกระจายอำนาจ การถ่ายโอนไป อบจ. เพิ่มชั้นความห่างของการทำงาน บาง รพ.สต. กว่าจะเดินทางมาถึง อบจ. มีระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ในพื้นที่ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งอยู่ใกล้ มีความใกล้ชิด เข้าใจระบบการทำงาน และทำงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

และ 5. ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่าไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลังถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง หรือทำไม่ได้อย่างที่ออกนโยบาย ต้องรอความชัดเจน และเห็นว่างานสาธารณสุขควรอยู่กับสาธารณสุข

ทั้งนี้ มีบุคลากรส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่ได้อยากโอนย้าย แต่อยากทำงานที่ รพ.สต.เหมือนเดิม และขอให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์โอนย้ายกลับ ภายในปี 2568 โดยขอย้ายกลับในตำแหน่งเดิม เลขที่ตำแหน่งเดิม และมีแนวทางรองรับเจ้าหน้าที่ย้ายกลับให้ชัดเจน และขอให้ดำเนินการด้วยความพร้อม มิใช่รวบรัด เร่งรีบ ขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ มิใช่มาสร้างปัญหาให้เกิดความเดือดร้อน เกิดผลกระทบกับประชาชน ทำลายระบบสาธารณสุขที่พัฒนาสร้างมาเป็นอย่างดีจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

ที่มา: Hfocus, 21/1/2566

พาณิชย์ เผย ปี 65 ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ทะลุ 1.2 แสนล้าน บาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5 พันคน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีคนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 583 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 128,774 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 5,253 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และ จีน ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 13 ราย เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 46,273 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา , บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย , บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด , และบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 20/1/2566

ธุรกิจร้านอาหารยื่นหนังสือ ก.ทรวงแรงงาน ขอไฟเขียวยืดกรอบเวลาต่างด้าว 180 วัน ชี้ขณะนี้ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ได้ส่งหนังสือยื่นเรื่องต่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องการขยายกรอบเวลาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีบัตร หรืออยู่ในระหว่างยื่นเรื่องให้ขยายเวลาเพิ่มไปอีก 180 วัน

โดยเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากว่าตอนนี้ภาคธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ร่วมทั้งหน่วยงานราชการต่างประเทศ ทั้งลาว เมียนมา และกัมพูชา ทำงานไม่ทัน ออกเอกสารล่าช้า เพราะแรงงานต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่ติดขัดเรื่องใบอนุญาติทำงาน จึงทำให้แรงงานขาดแคลนอย่างหนัก

เมื่อพ้นกรอบเวลาแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงปฏิบัติติหน้าที่เข้าตรวจจับ ทำให้ตอนนี้ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ บางร้านจำเป็นต้องปิด เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ เข้าตรวจจับและปรับ หรือต้องจ่ายเบี้ยบบ่ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งยิ่งทำให้ยากลำบากกับการเพิ่มต้นทุนอีก ยิ่งงานบริการในหลายตำแหน่งที่คนไทยในสมัยนี้ไม่นิยมทำ ทำให้ต้องยิ่งพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ทางชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จึงต้องร้องขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้รีบทบทวนออกกฎกระทรวงเพื่อขยายเงื่อนเวลาออกไปอีก 180 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเป็นการด่วน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/1/2566

เปิดกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบ สร้างการรับรู้กฎหมายแรงงาน เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2566 โดยมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี และผู้เข้าร่วมการประชุม ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ด้วยสถานการณ์ด้านแรงงานนอกระบบมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงงานนอกระบบถือว่าเป็นกำลังแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน และมุ่งเน้นให้แรงงานนอกระบบทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ให้สามารถเข้าถึงบริการทางสังคม พร้อมทั้งได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมเทียบเท่าแรงงานในระบบ ส่งผลให้แรงงานมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า การประชุมชี้แจงกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบในครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายแรงงาน นอกระบบ ร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการทำงานที่มีคุณค่า สามารถเข้าถึงสิทธิและการให้บริการทางสังคม พร้อมทั้งได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี จึงมีกระบวนการส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่ายแรงงานนอกระบบให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในดำรงชีวิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 19/1/2566

เยียวยารวมกว่า 5 ล้าน ให้ผู้เสียชีวิตเหตุเรือบรรทุกน้ำมันระเบิด

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่วัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตให้กับทายาทต่างด้าว จากเหตุเรือบรรทุกน้ำมันสมูธซี 22 ระเบิดภายในบริเวณอู่เรือบริษัทรวมมิตรค็อดยาร์ดจำกัด ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เสียชีวิต 8 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ประกันตนเสียชีวิตจำนวน 8 ราย ในจำนวนนี้ยืนยันตัวตนแล้ว 7 ราย โดยทั้ง 7 ราย ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีลูกจ้างที่เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน รวม 5,781,629.30 บาท คือ 1.นาย PIKE HTWE(ไป่ทุย) ทายาทได้รับเงิน 827,344.30 บาท,  2.นาย WIN BO(วินโบ) ทายาทได้รับเงิน824,374.83 บาท, 3.นาย ZAW MIN LWIN (ซอมิน ละวิน) 820,984.50 บาท,  4.นาย TIN WIN(ทินวิน)  821,017 บาท, 5.นาย NAING WIN (นายวิน) 823,987.74 บาท,  6.นาย THIHA (ตี๋หะ)  830,704.25 บาท และ 7.นาย KO PHYO(โกเคียว) ทายาทได้รับเงิน 823,937.36 บาท ในจำนวนนี้รวมค่าทำศพรายละ 50,000 บาท และค่าบำเหน็จชราภาพด้วย

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยและเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และกำชับให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ และญาติของลูกจ้างที่เสียชีวิตโดยด่วน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ตน เดินทางมามอบสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย  ส่วนอีก 1 ราย ขณะนี้ ศพผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่างการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล

นางธิวัลรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง กรณีลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จะได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้าง ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงานแต่ไม่เกิน 1 ปี กรณีสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าทดแทนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ลูกจ้าง จะได้รับการประเมินเมื่อสิ้นสุดการรักษา อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีความห่วงใยแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและกำชับให้กระทรวงแรงงาน ให้ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับแรงงานไทยทุกด้าน ซึ่งกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตน รวมถึงทายาทของผู้เสียชีวิตที่ประสบเหตุ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน และเข้าถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

ที่มา: บ้านเมือง, 19/2/2566

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยจังหวัดที่ต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับ ภูเก็ต-เชียงใหม่-ชลบุรี-พังงา-สุราษฎร์ธานี

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กระทรวงแรงงานได้ให้สำนักงานแรงงานทุกจังหวัดลงพื้นที่สอบถามความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะนี้มีรายงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัด 60 จังหวัด ผลปรากฏว่า มีสถานประกอบกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านค้า จำนวน 32,359 แห่ง ลูกจ้าง 297,824 คน สถานประกอบกิจการที่มีความต้องการแรงงาน จำนวน 1,817 แห่ง ลูกจ้าง 9,763 คน สถานประกอบกิจการต้องการแรงงานคิดเป็นร้อยละ 5.61 และมีความต้องการแรงงานร้อยละ 3.28 ส่วนจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

1) ภูเก็ต จำนวน 3,648 คน

2) เชียงใหม่ จำนวน 858 คน

3) ชลบุรี จำนวน 594 คน

4) พังงา จำนวน 410 คน

5) สุราษฎร์ธานี จำนวน 349 คน

รวมจำนวนทั้งสิ้น 5,859 คน

ส่วนตำแหน่งงานที่สถานประกอบกิจการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1) พนักงานต้อนรับ (รีเซฟชัน ยกกระเป๋า ฯลฯ)

2) พนักงานเสิร์ฟ

3) พนักงานทำความสะอาด แม่บ้าน

4) เชฟ ผู้ช่วยเชฟ พ่อครัว แม่ครัว ผู้ช่วยงานในครัว

5) พนักงานเก็บเงิน พนักงานบัญชี

นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานนั้น ในส่วนของกรมการจัดหางาน ในระยะเร่งด่วนจะสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ได้ทำงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อให้มีทักษะ มีรายได้ระหว่างเรียน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม พร้อมกับช่วยให้สถานประกอบการมีแรงงานเพียงพอสามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ และเมื่อได้ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากผู้ประกอบการแล้วจะจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบจากจังหวัดที่มีกำลังแรงงานไปสู่จังหวัดที่ขาดแคลน เร่งประสานสถานศึกษาเอกชนปรับเวลาส่งนักเรียน นักศึกษา สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรมเข้าฝึกอบรมในระบบทวิภาคี ในโรงแรมที่มีความต้องการแรงงานในช่วงไฮซีซัน ซึ่งปกติจะฝึกในช่วงโลซีซัน และเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่นักเรียน นักศึกษา ที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวบริการเข้าฝึกงานในสถานที่จริง แบบ On The Job Training และในระยะยาวจะให้จัดหางานทุกจังหวัดนำโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) มาประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับ ม.6 ปวช. ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับทราบและเข้าร่วม โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิตได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยได้รับบริการส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย

ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะดำเนินการฝึกอบรม up skill ให้นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ด้านภาษา และหลักสูตรตามที่ขาดแคลน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการ โดยใช้สิทธิประโยชน์จาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยให้สถานประกอบการรับสมัครคนทำงานแล้วส่งให้กรมฝึกอบรมต่อไป

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในนามสมาคมฯ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ขอขอบคุณรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญและช่วยเร่งผลักดันให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในวันนี้ได้อย่างตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้บูรณาการทำงานด้วยกันมาโดยตลอด จากการหารือในวันนี้ทำให้เกิดความร่วมมือหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของแรงงานธุรกิจโรงแรมและภาคบริการ ซึ่งหลายอาชีพในภาคธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทั้งในเรื่องภาษา ดิจิทัลเทคโนโลยี การตลาด การบริหารรายได้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่การหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งแต่ละสมาคมก็ยินดีที่จะผนึกกำลังโดยใช้กลไกของรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 18/1/2566

'ภูเก็ต' ยังขาดแคลนแรงงานกว่า 3 พันตำแหน่ง ป้อนตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

16 ม.ค.2566 - นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง คนส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้กับโรคดังกล่าว ประกอบกับประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นลำดับแรกๆ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ภูเก็ต พบว่า มีผู้เยี่ยมเยือนจำนวนมากกว่า 4 ล้าน 2 แสน คน เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 726.52 เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 2 ล้าน 9 แสนคน ในเดือนมกราคม และเดือนต่อไป จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้จากการที่จีนอนุญาตให้คนในประเทศเดินทางออกได้ ส่วนใหญ่พักในโรงแรม/รีสอร์ท ร้อยละ 93.33 สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับจังหวัดมากถึง 148,236 ล้านบาท(หนึ่งแสนสี่หมื่นแปดพันสองร้อยสามสิบหกล้านบาท) เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 1,276.35 (หนึ่งพันสองร้อยเจ็ดสิบหกจุดสามห้า)เป็นรายได้ที่มาจากชาวต่างชาติ 133,409.63 ล้านบาท

" เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งประเทศพบว่าภูเก็ต เป็นที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สถานประกอบการแจ้งความต้องการไว้ ตำแหน่งงานว่าง 3,378 ตำแหน่ง มีผู้มาสมัครงานเพียง 387 คน ยังเหลือ 2,991 คนหรือยังขาดอีกประมาณ 3,000ตำแหน่ง ซึ่งต้องหาแรงงานสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวหลังจากมกราคมไปแล้ว เมื่อประเทศจีนอนุญาตให้คนของเขาออกนอกประเทศได้จะทำให้มีคนเข้ามาอีกเท่าทวีคูณ

จังหวัดภูเก็ตมีการวางแผนแก้ปัญหาในระยะสั้นให้บูรณาการในจังหวัดภูเก็ตกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประสานวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตนำนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายป้อนเข้าตลาดแรงงาน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจัดหาแรงงานเข้ามาจากต่างพื้นที่ให้เพียงพอกับความต้องการ ให้สมัครงานหรือติดต่อนายจ้างผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อประหยัดค่าเดินทางและที่พักในการมาสมัครงาน" นายดนัย กล่าว และว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่แจ้งมาจากผู้ประกอบการ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ได้มีการดำเนินงานของจังหวัดภูเก็ตต่อการแก้ไขปัญหาความต้องการแรงงาน คือ พยายามดูตำแหน่งงานว่างที่ชัดเจน เพื่อจัดหาแรงงานมาให้ในจำนวนที่เพียงพอบูรณาการการการจัดการด้านแรงงานระหว่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน จ.ภูเก็ต ผ่านการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ เช่น การประชุมเสมากาแฟ ทุกวันพฤหัสบดีหรือ การประชุมร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.ภูเก็ต ในวันพุธ เวลา 08.00 น. โดยประมาณ มีสถานประกอบการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน,กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวง พม.เป็นต้น ได้ผลที่ดีคือ การพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับกลุ่มคนครอบคลุมทุกกลุ่ม สำหรับให้มาทำงาน เป็นการดูแลสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตไม่ขาดแรงงานอีกต่อไปในอนาคต ทุกฝ่ายกำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง

ในส่วนมาตรการการจัดหากำลังแรงงาน เช่น จัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน ตั้งแต่เกิดปัญหามา ได้จัดไปหลายครั้งแล้ว การร่วมมือกับอาชีวศึกษา นำน้องๆ นักเรียน มาทำงาน partime แม้จะยังไม่ได้จำนวนคนที่เพียงพอในปัจจุบัน แต่ก็สามารถช่วยคลี่คลายไปได้บ้างแล้ว มีการพัฒนาอาชีพ (Up-skill,Re-skill) โดยสถาบันพัฒนาอาชีพ จ.ภูเก็ต ได้หารือร่วมกันจากสถานประกอบการ ที่ขาดแคลนแรงงานกันอยู่ตลอดเวลา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการการพัฒนาอาชีพจากรูปแบบเดิมๆ มา Up-skill,Re-skill ที่ตรงตามความต้องการมากขึ้น

ปัญหาด้านความเพียงพอของจำนวนกำลังคนที่จะมาทำงาน รวมทั้งที่จะ Upskill,Re-skillซึ่งอาจจะต้องหามาจากจังหวัดอื่นๆ ปัญหานี้ได้รับการดูแลจากกระทรวงแรงงาน ที่ได้มีการสำรวจคนทั่วประเทศ จะหามาตรการนำกำลังคนมาทำงานใน จ.ภูเก็ต เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องควบคู่กับการดูเรื่องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ คือ สำนักงานสวัสดิการฯ จ.ภูเก็ต การให้เงินเดือนสูงๆ มีค่าคอมมิชชั่นให้กับบุคลากรจำนวนมากๆ ของสถานประกอบการ ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจ เชิญชวน ดึงดูดให้มีคนมาทำงานในภาคท่องเที่ยวมากขึ้น

จังหวัดภูเก็ต เรียนรู้ถอดบทเรียน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในครั้งนี้โดยเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการกำลังแรงงานในระยะยาว อาศัยโอกาสที่ จ.ภูเก็ตเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 5 ของ พรบ.จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา2562 จึงได้บูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ สนับสนุนการผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ตรงกับบริบทของจังหวัดภูเก็ต ใช้ MOU ระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกลไกการขับเคลื่อน สร้างความเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจนต่อไป

ที่มา: ไทยโพสต์, 16/1/2566

“พรรคแรงงานสร้างชาติ” ปลื้มคนหนุนนโยบาย เพิ่มเบี้ยยังชีพ 1.5 พันบาท

15 ม.ค. 2566 นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ (NLP) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงพื้นที่นำเสนอนโยบายของพรรคแรงงานสร้างชาติ และรับฟังปัญหาสถานการณ์ผู้ใช้แรงงานว่า ตลอดเวลา 42 ปี ที่คลุกคลีอยู่ในขบวนการแรงงานยอมรับว่า ปัญหาผู้ใช้แรงงานมีมาก และยังไม่ได้รับการแก้ไขก็เยอะ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเป็นประเด็นปัญหามา 42 ปีแล้ว รวมถึงกรณีค่าจ้างขั้นต่ำ เอาต์ซอร์สแรงงาน ซึ่งไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนลงมาแก้ปัญหาได้อย่างสำเร็จเลย ดังนั้นพรรคแรงงานสร้างชาติตั้งขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

พรรคแรงงานสร้างชาติ อาสาแก้ปัญหาปากท้องให้คนทำงานก่อน ในเรื่องการจ้างงานไม่เป็นธรรมต้องไม่เกิดในสถานประกอบการ เช่น กรณีเงินออมชราภาพ ถ้าออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี สามารถไปขอเงินออมชราคืนได้เลย ไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี เพราะความเดือดร้อน รอไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่า ออกจากงานตอนไหนก็รับเงินคืนตอนนั้นได้เลย

หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวต่อว่า ถ้าพรรคแรงงานมีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.และอยู่ในรัฐบาล มี3 เรื่องด่วนต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 ปีแต่ยังทำงานได้ ต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนและรัฐบาลมีการจ้างงานมากขึ้น รวมทั้งดำเนินการปรับเพิ่มผู้สูงอายุเป็นขั้นได เริ่มต้น 1,500 บาท/เดือนไปจนถึง 4,500 บาทเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณส่วนนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี มั่นใจถ้ารัฐบาลปรับลดงบประมาณซื้ออาวุธของกองทัพและงบประมาณก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน กทม. ลงสามารถดำเนินการได้ทันที

2.ปรับโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า โดยมีการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และตัวเลขGDP ประเทศ พร้อมแก้กฎกระทรวงแรงงานให้สถานประกอบการต้องปรับค่าจ้างประจำปีอัตโนมัติ

3.ปรับแก้ให้กองทุนข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำในหมู่คนไทย

ทั้งนี้มั่นใจพรรคเราจะได้รับเสียงสนับสนุนจากคนทำงานเลือก ส.ส.ของพรรคแรงงานสร้างชาติไม่ต่ำกว่า 10 คนเพราะจากการลงพื่นที่พบปะผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศต่างขานรับนโยบายพรรคเยอะมาก เนื่องจากเป็นนโยบายไม่ขายฝันแต่ทำได้จริง

ทั้งนี้ นายมนัส โกศล เป็นผู้นำแรงงานสายกลางคลุกคลีวงการแรงงานยาวนาน ที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญเคลื่อนไหวเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคมต่อเนื่องและเข้าไปช่วยเหลือกรณีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและจ้างงานไม่เป็นธรรม ก่อนจะลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อผู้ใช้แรงงาน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 15/1/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net