Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีตัวอย่างของคำถาม-ตอบเกี่ยวกับความจริงทางศาสนาในชุมชนผู้เรียนรู้ชีวิตตามวิถีพุทธแบบวัชรยานที่น่าสนใจ ต่อคำถามที่ว่า “ตันตระหรือวัชยานคืออะไร?” มีคำตอบชวนคิดซึ่งผมขอคัดมาให้อ่านข้างล่างนี้

อะไรคืออะไรแน่ๆ นั้นตอบยาก ขึ้นอยู่กับนักประวัติศาสตร์จะอธิบายยังไง ที่สนใจวัชรยาน ก็เพราะได้ไปสัมพันธ์กับผู้คนทิเบต สงสัยว่าทำไมเขาถึงเป็นอย่างที่เขาเป็น พอได้พบครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจที่ประเสริฐ เราเลยเข้าใจและรู้สึกอยากเป็นเหมือนท่าน อยากเรียนรู้คุณสมบัติที่ท่านมี ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนปฏิบัติวัชรยาน นั่นคือจุดตั้งต้น ดังนั้นหากเราอยากรู้จักว่าวัชรยานคืออะไร เราคงไม่สามารถรู้ได้จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ งานวิจัย มีเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้รู้จักวัชรยาน คือจากการปฏิบัติ แล้วเราต้องเปิดใจ เพราะถ้าเรามีของเก่าจากพุทธศาสนาแบบที่เรารู้จัก เราก็จะต้องพยายามเปรียบเทียบตลอดเวลา นั่นจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจวัชรยานจากมุมมองของวัชรยานเอง

วัชรยานเป็นยานที่มีชีวิต เน้นความเป็นคน คุณสมบัติอันประเสริฐที่เรามี เต็มไปด้วยอุบายวิธีที่ใช้สัมพันธ์กับผู้คนที่มีความแตกต่าง วิธีการอันนึงของวัชรยานก็คือตันตระ ตันตระคือการเปลี่ยน เปลี่ยนสิ่งที่เป็นความสับสน เปลี่ยนอารมณ์ที่บั่นทอนต่างๆ ให้เป็นแสงสว่าง เป็นความรัก เป็นการตื่นรู้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจตันตระ แต่ถ้าเราจะพยายามเข้าใจตันตระจากเว็บไซต์ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือไปอ่านจากหนังสือที่มีนักวิชาการด้านศาสนาพยายามเขียนแต่ไม่เคยปฏิบัติ งานเขียนก็อาจยังใช้แว่นตาของพุทธเถรวาทมอง

วัชรยานมีหลายระดับมาก ตั้งแต่ระดับที่เผยแพร่ได้ ไปจนถึงระดับที่เผยแพร่ไปก็ไม่มีใครเข้าใจ และถ้าเผยแพร่ไปอาจเป็นอันตราย ในแง่ที่ว่าอาจจะฝึกผิด ไม่เข้าใจแล้วคิดไปในเชิงอกุศล ครูบาอาจารย์จึงมี secret teaching ที่ว่า secret นั้นมีจริงๆ แต่ที่เป็นความลับนั้นไม่ใช่เป็นความลับต่อผู้ปฏิบัติหรือผู้มีความพร้อม 

(ที่มา https://www.vajrasiddha.com/whatistantra/?fbclid=IwAR2D6ezW25i3F_Y_VqJ01AsKl_lARGZz3cwmmgzDLNw-rIcF0Ecc_zRx7PQ

ประโยคว่า “เรารู้จักวัชรยานจากการปฏิบัติ” หมายความว่า เรารู้จักความจริงทางศาสนาแบบวัชรยานได้จากการปฏิบัติแบบวัชยาน หรือเราเข้าใจวัชรยานได้ “จากมุมมองของวัชรยานเอง” การยืนยันเช่นนี้สามารถอ้างทั้งเหตุผลเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ “แบบพุทธ” มาสนับสนุนได้ เช่น.- 

เหตุผลเชิงทฤษฎี เราสามารถอ้าง “หลักกาลามสูตร” มาสนับสนุนได้ เพราะสาระสำคัญของกาลามสูตร คือการยืนยันทฤษฎีญาณวิทยาแบบพุทธ (Buddhist epistemology) ว่า “การรู้ความจริงทางศาสนาที่เชื่อถือได้ คือการรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ” และการยืนยันทฤษฎีจริยศาสตร์แบบพุทธ (Buddhist ethics) ว่า “หลักการปฏิบัติที่มีความถูกต้องทางศีลธรรม คือหลักการปฏิบัติที่ทำให้พ้นทุกข์หรือเกิดประโยชน์สุขได้จริง” (เช่นหลักอริยมรรคหรือหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกัน) 

ทั้งสองทฤษฎีล้วนยืนยันการรู้ความจริงและความดีทางศาสนาจากการปฏิบัติจนเห็นผลจริง ไม่ใช่แค่อ่านหรือฟังเกี่ยวกับความจริงทางศาสนา แล้วจะสรุปได้ว่ารู้ความจริงหรือความดีนั้นแล้ว 

ส่วนเหตุผลเชิงปฏิบัติ คือการอ้างตัวอย่างการปฏิบัติของบุคคลที่ใช้ชีวิตแสวงหาความจริงทางศาสนา เช่น สิทธัตถะต้องการรู้ความจริงทางศาสนา ก็เอาชีวิตตนเองเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนผู้แสวงหาความจริงนั้น ด้วยการใช้ชีวิตเรียนรู้ฝึกปฏิบัติตามครูอาจารย์ ทดลองปฏิบัติตามความเชื่อต่างๆ และลองผิดลองถูกด้วยวิธีการของตนเองจนพบความจริงในที่สุด 

เรื่องเล่าในคัมภีร์พุทธเกี่ยวกับสาวกคนอื่นๆ ก็เช่นกัน พวกเขาล้วนแต่เลือกพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตทางศาสนา คือวิถีชีวิตของชุมชนผู้เรียนรู้ฝึกฝนแสวงหาความจริงทางศาสนาจากประสบการณ์ตรง ความจริงและความดีทางศาสนาที่แต่ละคนรู้จึงไม่ใช่แค่รู้ “ความหมายตามตัวอักษร” แต่เป็นการรู้ความหมายที่เกิดกับจิตใจ หรือจิตวิญญาณอันเป็นประสบการณ์ด้านในของแต่ละคน และความหมายที่เกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นแสงสว่างนำทางในการมองชีวิตมองโลก และการรับมือกับสุข ทุกข์ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตตนเอง หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและโลก

อันที่จริงคำอธิบายจุดตั้งต้นของการเรียนรู้วัชรยานที่ว่า “ที่สนใจวัชรยาน ก็เพราะได้ไปสัมพันธ์กับผู้คนทิเบต สงสัยว่าทำไมเขาถึงเป็นอย่างที่เขาเป็น พอได้พบครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจที่ประเสริฐ เราเลยเข้าใจและรู้สึกอยากเป็นเหมือนท่าน อยากเรียนรู้คุณสมบัติที่ท่านมี ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนปฏิบัติวัชรยาน นั่นคือจุดตั้งต้น” ดูเหมือนจะมีความคิดที่คล้ายกันนี้ คือทฤษฎี “ปรัชญาภาษา” ของวิตเกนสไตน์ (Ludwig Josef Johann Wittgenstein) มองว่าถ้าเราต้องการเข้าใจภาษาของชุมชนใด เราต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน “ชุมชนทางภาษา” นั้นๆ เพราะถึงแม้ภาษาจะเป็น “สาธารณะ” หรือสื่อสารให้เข้าใจกันเป็นการทั่วไปได้ แต่ก็มีปัญหาว่าการแปลความหมายข้ามวัฒนธรรมภาษาหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมภาษาหนึ่ง ความหมายอาจเปลี่ยนแปลงไป หรือพูดอีกอย่าง เราไม่อาจใช้ “แว่น” ของวัฒนธรรมทางภาษาหนึ่งไปตัดสินความจริงในวัฒนธรรมอีกภาษาหนึ่งอย่างถูกต้องตรงเป๊ะได้ ดังผู้เรียนรู้ความจริงแบบวัชยานบอกว่า เราจะใช้ “แว่น” แบบเถรวาทไปตัดสินวัชรยานไม่ได้ ต้องเปิดใจเรียนรู้วัชรยานจากมุมมองของวัชรยานเอง (สิทธัตถะเองก็ปฏิเสธและรับความเชื่อบางอย่างทางศาสนาจากการเข้าไปเรียนรู้วิถีของชุมชนศาสนานั้นๆ โดยตรง)

แต่ประเด็นคือ แม้เราจะเข้าไปอยู่ในชุมชนภาษา เช่น ชุมชนวัชรยานที่ใช้ทั้งภาษาพูด เขียน พิธีกรรม สัญญะทางวัฒนธรรม และ “รหัสนัย” อื่นๆ ในการ “สื่อความหมาย” ของ “ความจริงทางศาสนา” ที่เชื่อกันว่าเป็นความจริงที่รู้ด้วยปัญญาญาณที่ทำให้มีอิสรภาพด้านในได้ ซึ่งชาวพุทธนิกายต่างๆ เรียกคล้ายๆ กันว่า “วิมุติ” หรือ “นิพพาน” แต่การรู้ความจริงเช่นนี้ ก็พูดกันว่าเป็น “ปัจจัตตัง” หรือรู้เฉพาะตัวในความหมายว่า ผู้รู้ความจริงกับความจริงไม่ได้แยกจากกันในฐานะที่ผู้รู้ความจริงเป็นผู้สังเกตที่รู้ “สิ่ง” ที่ตนสังเกตเห็น เช่น นายเอรู้ว่าขณะนี้ฝนกำลังตกหนัก ก็คือนายเอกำลังสังเกตเห็น “ฝนกำลังตกหนัก” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์นอกตัวนายเอ แต่การรู้ความจริงทางศาสนาเป็นการรู้ความจริงแบบที่ปัจเจกกับความจริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นการรู้ “ความเปลี่ยนแปลงด้านใน” จากสภาวะจิตที่เคยมีทุกข์แบบที่เราคุ้นเคยสู่สภาวะจิตแบบใหม่ที่ไม่มีทุกข์ หรือสภาวะจิตที่รับรู้หรือมองความหมายของความทุกข์ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง นี่คือ ความจริงที่ผู้ปฏิบัติทางศาสนาสามารถรู้ได้เฉาะตน 

ดังนั้น ความจริงเช่นนี้จึงเป็น “ความจริงเชิงอัตวิสัย” (subjective truth) ผู้ปฏิบัติทางศาสนา หรือคัมภีร์ศาสนาเรียกว่าเป็นความจริงเหนือการใช้เหตุผล หรือรู้ไม่ได้ด้วยการใช้เหตุผล ในคัมภีร์พุทธบางแห่งเรียกนิพพานว่า “นิรวจนีย์” ซึ่งหมายถึงสภาวะ (จิต?) ที่ไม่สามารถรู้ได้หรือเข้าถึงได้ด้วยภาษาหรือการใช้ถ้อยคำอธิบาย แต่รู้ได้จากประสบการณ์ตรงอันเป็นผลของการปฏิบัติตามวิธีการบางอย่าง (ซึ่งพุทธแต่ละนิกายมี “วิธีการ” ต่างกัน หรือพุทธนิกายเดียวกันแต่ต่างสำนัก ต่างสายครูอาจารย์ก็อาจมีวิธีการต่างกัน) และความจริงที่รู้จากประสบการณ์ตรงนั้น คือความเปลี่ยนแปลงทางจิตหรือทางจิตวิญญาณที่มีผลต่อชีวทัศน์ และโลกทัศน์ของปัจเจกที่รู้ความจริงนั้นโดยตรง พูดในเชิงอุปมาคือ ความจริงทางศาสนาที่เกิดกับปัจเจกผู้ปฏิบัติทางศาสนาคือ “แสงดาว” นำทางชีวิตของเขาตลอดไป

นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ชาวพุทธอวยกันเอง แต่ “สิทธารถะ” ในนวนิยายของเฮอร์มานด์ เฮสเสกล่าวว่า พุทธะคือคนหนึ่งในคนจำนวนน้อยมากที่เขาเคยพบว่าเป็นผู้มีแสงดาวนำทางของตนเอง แต่แทนที่สิทธารถะจะเลือกเป็นสาวกของพุทธะ เขากลับเดินจากไป เพราะหลังจากสนทนากับพุทธะเขาพบว่า ความจริงที่พุทธะรู้เป็นความจริงเชิงอัตวิสัยที่เป็นประสบการณ์ตรงของแต่ละคน เขาจึงละทิ้งวิถีชีวิตแบบศาสนา หันไปใช้ชีวิตทางโลก ผ่านความรุ่งเรืองและตกต่ำ ผ่านความรัก และการพรัดพรากจากคนที่รัก ความเศร้าและความเจ็บปวดอื่นๆ แล้วละทิ้งชีวิตเช่นนั้นไปสู่การเรียนรู้จากธรรมชาติ จากสายน้ำ ซึ่งสะท้อนว่าการแสดงหาอิสรภาพด้านในไม่ได้มีแค่ต้องเดินตามเส้นทางศาสนาเท่านั้น ปรัชญาของเอพิคิวรัสยุคกรีกโบราณ ก็เสนอวิถีชีวิตเรียบง่ายเพื่อแสวงหาอิสรภาพด้านในเช่นกันเป็นต้น

ผมขอแทรกการพูดถึงหนังสือ “จิตสำนึกแห่งพระเจ้า: ประสาทวิทยาศาสตร์ ศรัทธาและการแสวงหาจิตวิญญาณของมนุษย์” เขียนโดยนักประสาทวิทยาชื่อ เจย์ ลอมบาร์ด (สิรพัฒน์ ประโทนเทพ แปล) ตอนหนึ่งผู้เขียนพูดถึง “ชีวิตที่ไร้ความทรงจำ” โดยยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประสบการณ์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ของพระทิเบตรูปหนึ่งชื่อเทนซิน

ลอมบาร์ดบันทึกความเบิกบานของพระทิเบตขณะเดินเล่นที่ชายหาดด้วยกัน ในช่วงเวลาหนึ่งของการรักษาว่า พระเทนซินพูดถึงอาการอัลไซเมอร์ของตนเองว่า “นี่เป็นโอกาส และไม่ใช่ความบกพร่อง มันทำให้อาตมาได้รับรู้ประสบการณ์ทั้งหมดนี้โดยไม่มีอะไรปิดบัง ความทรงจำเปรียบเหมือนเมฆหมอกที่มาบดบังทะเลสาบแห่งนี้ เราไม่อาจเห็นภาพสะท้อนอันแท้จริงของมันได้ ตอนนี้อาตมาเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง และที่นี่ทุกสิ่งช่างดูงดงามทีเดียว” นี่เป็นมุมมองของพระเทนซินในช่วงที่อัลไซเมอร์ยังไม่กำเริบมาก เป็นมุมมองที่เห็นว่าการสูญเสียความทรงจำไปกันได้กับการสลายไปของอัตตา

แต่ต่อมาเมื่ออาการอัลไซเมอร์หนักขึ้น พระเทนซินกลายเป็นคนละคน ลอมบาร์ดบันทึกว่า “ท่านเทนซินในแบบที่ทุกคนรู้จัก และในแบบที่ท่านเคยรู้จักตัวเองมาร่วมเจ็ดทศวรรษกำลังหลุดลอยไป ไม่มีใครที่อยู่ใกล้ชิดท่านสามารถใช้เหตุผลและอดทนกับอารมณ์และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ตามมาของท่านได้อีกต่อไป...ด้วยการสลายไปของเรื่องราวที่เป็นตัวตน กิริยามารยาทของท่านแปรสภาพไปสู่สภาวะที่แทบจะไร้การควบคุม ชายผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคนอ่อนน้อม และเป็นที่เคารพเชิดชูได้ลดสภาพไปสู่สภาวะที่เกรี้ยวกราด และบางครั้งก้าวร้าวรุนแรง โดยสรุปคือท่านไม่ใช่ท่านเทนซินอีกต่อไปแล้ว”

คำถามคือ หาก (หรือสมมติว่า) พุทธะ หรือใครก็ตามที่รู้ความจริงทางศาสนาแบบพุทธะเป็นโรคอัลไซเมอร์ เมื่อความทรงจำเกี่ยวกับความจริงทางศาสนาที่เขารู้หายไป เขาจะกลายเป็นคนละคนแบบลามะเทนซินหรือไม่? ถ้าเป็น ก็แสดงว่าการรู้ความจริงทางศาสนาและการหายไปของความทรงจำเกี่ยวกับความจริงนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามกลไกทางชีววิทยา ดังนั้น ความจริงทางศาสนาก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือเหตุผลแต่อย่างใด เพราะปรากฏการณ์ทุกอย่างที่เป็นไปตามกลไกทางชีววิทยาล้วนเป็นไปตามกฎของความมีสาเหตุและผล ซึ่งความจริงทุกอย่างที่เป็นไปตามกฎนี้ ย่อมเป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสและเหตุผล

คำถามดังกล่าว เป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานทางปรัชญาอย่างหนึ่ง คือปัญหาพื้นฐานว่าธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร ถ้าธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์เป็นไปตามกลไกทางชีววิทยา การรู้ความจริงและความเปลี่ยนแปลง “ด้านใน” ที่เกิดจากการรู้ความจริงนั้นก็ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นไปจากกลไกทางชีววิทยาได้ ยกเว้นว่าจะมีธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์อีกแบบ เช่น “พุทธภาวะ” (หรืออะไรก็ตาม) ที่เป็นอิสระจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นไปตามกลไกทางชีววิทยาที่เชื่อกันว่าธรรมชาติเช่นนี้สามารถ “ส่งผ่าน” จากภพชาติหนึ่งไปยังอีกภพชาติหนึ่งได้ เช่นพุทธภาวะของโพธิสัตว์ถูกส่งผ่านภพชาตินับไม่ถ้วนเป็นต้น ซึ่งนี่เป็นคำถามทางปรัชญาว่าพุทธภาวะเช่นนี้มีอยู่จริงหรือไม่ เรารู้ได้อย่างไร หรือมีเหตุผลหรือหลักฐานอะไรสนับสนุนความมีอยู่จริงของพุทธภาวะดังกล่าว

ประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ว่ามา อาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับความมีอยู่จิงของพุทธะภาวะ และเป็นประเด็นปัญหาทางญาณวิทยาว่าความจริงของพุทธะภาวะรู้ได้อย่างไร หรือความจริงทางศาสนาอันเป็นความจริงที่ทำให้ผู้รู้ความจริงนั้นมีอิสรภาพด้านในเป็นความจริงที่ “รู้ได้อย่างไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัยและตั้งคำถามได้อย่างมีเหตุผล แม้ว่านักปฏิบัติภาวนาทางศาสนาจะยืนยันว่าเป็น “ความจริงที่รู้ได้จากการปฏิบัติตามแนวทางของศาสนานั้นๆ หรือนิกายนั้นๆ” ก็ตาม

อีกประเด็นพื้นฐานหนึ่งคือ ความจริงทางศาสนาส่วนที่ “ไม่ใช่ความจริงเชิงอัตวิสัย” จากการปฏิบัติของปัจเจกบุคคล เช่น ความจริงทางประวัติศาสตร์ศาสนา สังคมวิทยาศาสนา มานุษยวิทยาศาสนาเป็นต้น ซึ่งเป็น “ความจริงสาธารณะ” ที่ตรวจสอบจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่า ความเชื่อทางศาสนานั้นๆ มีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง ถูกนำมาปรับใช้กับปัจเจกบุคคลอย่างไรบ้าง และปรับใช้ในทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองอย่างไรบ้าง และส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าความจริงทางศาสนาดังกล่าวนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่า “ความจริงทางศาสนาที่เชื่อว่าทำให้ปัจเจกบุคคลมีอิสรภาพด้านใน” หรือที่จริงแล้วอาจสำคัญมากกว่า เพราะความจริงทางศาสนาในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มนุษยวิทยามีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความจริงที่ว่าศาสนาสร้างระบบชนชั้นวรรณะ สร้างระบบอำนาจทางการเมืองแบบเผด็จการโดยธรรม โดยอำนาจเทวสิทธิ์ต่างๆ ขึ้นมาใช้ในสังคมก่อนสมัยใหม่มายาวนาน (แม้ในสังคมสมัยใหม่บางแห่ง อิทธิพลการปกครองเผด็จการในนามศาสนาก็ยังมีความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัดมาก)

ตัวอย่างเช่น เราอาจตั้งคำถามได้ว่า ถ้าทิเบตไม่ถูกจีนยึดครอง ทะไลลามะองค์ปัจจุบันจะประกาศยกเลิกพิธีการค้นหาเด็กที่เชื่อว่าเป็นอดีตทะไลลามะองค์ก่อนกลับชาติมาเกิดเพื่อนำเด็กคนนั้นเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนเพื่อให้เป็นกษัตริย์โพธิสัตว์สืบทอดตำแหน่งทะไลลามะปกครองทิเบตสืบต่อไปไหม ก็น่าจะไม่ประกาศยกเลิก ซึ่งสะท้อนว่าแม้วัชรยานจะยืนยันความจริงทางศาสนาในมิติที่ลึกซึ้งว่า เราทุกคนมีพุทธภาวะภายในตนเองเหมือนกัน และสามารถฝึกปฏิบัติตามแนวทางวัชรยานเพื่อให้พุทธภาวะเช่นนั้นเบ่งบานออกมาเป็นการใช้ชีวิตด้วยปัญญาและกรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างแท้จริง แต่ความจริงเช่นนี้ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบการปกครองแบบกษัตริย์นักบวช ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนมายาวนาน

แต่ที่ทะไลลามะอธิบายความจริงทางศาสนาที่เน้นพุทธภาวะ, ปัญญาและกรุณาในเชิงสนับสนุนจริยธรรมโลกวิสัย (secular ethics) และหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีชีวิตชีวา ก็หลังจากที่เขากลายเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นที่แสดงบทบาทเรียกร้องอิสรภาพของชาวทิเบตในความหมายที่สอดคล้องไปกับกระแสการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพด้านต่างๆ ของโลกสมัยใหม่แล้ว ดังนั้น แม้นัยสำคัญของพุทธภาวะ, ปัญญาและกรุณาจะมีความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์แฝงอยู่ แต่นัยแฝงนี้ก็ไม่อาจแสดงออกภายใต้รัฐศาสนาใดๆ ที่ผู้ปกครองเป็นโพธิสัตว์ นัยแฝงนี้แสดงออกให้เห็นชัดได้เมื่อปะทะแลกเปลี่ยนกับคุณค่าแบบโลวิสัยสมัยใหม่แล้วเท่านั้น 

แต่พุทธแบบไทยกลับตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่ปะทะแลกเปลี่ยนกับคุณค่าแบบโลกวิสัยสมัยใหม่มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม (เป็นอย่างน้อย) กลับไม่ได้ตีความพุทธธรรมที่สามารถให้กำเนิดแนวคิดเสรีภาพและความเสมอภาคได้เลย เพราะมีการสถาปนา “พุทธราชาชาตินิยม” ขึ้นมาโต้แย้งกับคุณค่าแบบโลกวิสัยสมัยใหม่ โดยอ้างว่าความจริงทางพุทธศาสนาเป็น “ความจริงเหนือโลก” เรียกว่า “โลกุตตรธรรม” นัยสำคัญคือ ความจริงเหนือโลกดังกล่าวสูงส่งกว่าความจริงทางโลก เช่น วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย จริยธรมโลกวิสัย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นมันยังทำให้กษัตริย์และนักบวชผู้สืบทอดรักษาหรือปฏิบัติตนให้เข้าถึงความจริงเหนือโลกมีสถานะและอำนาจเหนือหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัยด้วย ซึ่งหมายความว่าสถานะของกษัตริย์และนักบวชในระบบพุทธราชาชาตินิยมสูงส่งศักดิ์สิทธิ์เหนือสามัญชน

คำถามคือ เหตุใดความจริงทางศาสนาที่เรียกว่าพุทธภาวะ, ปัญญาและกรุณาแบบวัชรยาน หรือจะเรียกว่าโพธิปัญญา, วิมุติ, นิพพานแบบเถรวาทก็ตามจึงเป็นความจริงที่ถูกปรับใช้สนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการและระบบชนชั้นมาได้อย่างยาวนาน ปัจจุบันวัชรยานอาจปรับเปลี่ยนเข้ากับคุณค่าสมัยใหม่ได้เพราะ “บริบท” ของวัชรยานเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง แต่พุทธแบบไทยกลับแช่แข็งอยู่กับระบบอำนาจแบบก่อนสมัยใหม่ และถูกปรับใช้เป็นป้อมปราการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย และสิทธิมนุษยชน

จากคำถามดังกล่าว ทำให้ย้อนกลับไปสู่คำถามปัญหาพื้นฐานว่า ความจริงสูงสุดทางศาสนาที่เชื่อว่าเป็นความจริงที่ “ข้ามพ้น” บริบททางสังคมและยุคสมัย เช่นความจริงของพุทธภาวะ วิมุติ นิพพาน ปัญญาและกรุณา เป็นความจริงที่มีคุณค่าต่อความเป็นคนของเราและต่อความเป็นธรรมทางสังคมอย่างไรบ้างที่จับต้องได้จริง หรือเห็นจริงได้อย่างเป็นสาธารณะ

หรือถามอีกอย่างได้ว่า จริงหรือไม่ว่าปัจเจกบุคคลที่สนใจจริงจังกับความจริงทางศาสนาเพื่อ “ความเปลี่ยนแปลงด้านใน” มักมีความโน้มเอียงที่จะไม่สนใจต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม อีกทั้งพวกเขายังมีแนวโน้มที่จะไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาการปรับใช้ความจริงทางศาสนาสร้างระบบอำนาจเผด็จการโดยธรรม อำนาจเทวสิทธิ์ที่กดขี่ประชาชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือจริงหรือไม่ว่าความจริงทางศาสนาที่เน้นการปล่อยวางสมมติ แต่กลับเป็นเนื้อเดียวกันกับการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม และปรับตัวตอบสนองระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน ขณะที่ “แปลกแยก” กับประชาธิปไตยโลกวิสัย สิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม

ยังมีปัญหาเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัดอีกคือ มีตัวอย่างของผู้ใช้ชีวิตบนวิถีการบ่มเพาะโพธิจิตบางคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับสูงมากใช้ “ความจริงเชิงอัตวิสัย” ที่ได้จากวิถีชีวิตทางศาสนาเป็นมุมมองต่อชีวิตและโลก วันหนึ่งเขาก็ใช้มุมมองเชิงอัตวิสัยดังกล่าวขึ้นปราศรัยบนเวทีของผู้ชุมนุมขวางการเลือกตั้ง โดยเขากล่าวชื่นชมวีรกรรมของ “ท่านกำนันสุเทพ” อย่างดราม่าว่า ตัวเขาเองนั้นเคย “เดินสู่อิสรภาพ” ได้มีโอกาสสัมผัสมือสัมผัสใจคนเพียงไม่กี่คนเอง แต่ท่านกำนันสุเทพเดินสัมผัสมือสัมผัสใจพี่น้องประชาชนเป็นแสนๆ แล้วเขาก็กล่าวจากมุมมองเชิงอัตวิสัยของตนว่า อีกไม่นานสองสามเดือนหลังจากนี้จะเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรัฐประหารปี 2557 บางคนอาจมองว่านี่เป็นเพียงความผิดพลาดเล็กๆ เพียงครั้งเดียวของผู้เดินบนเส้นทางการบ่มเพาะโพธิจิต แต่คำถามคือเหตุใดความผิดพลาดเล็กๆ นี้จึงไปสอดคล้องกับวิถีของพระอริยะในพุทธศาสนาไทยโดยบังเอิญ นั่นคือวิถีพระอริยพุทธไทยที่นิยมใช้มุมมองเชิงอัตวิสัยของตนตัดสินความถูก-ผิด หรือดี-เลวทางการเมืองมากกว่าที่จะยึด “หลักการสาธารณะ” ของระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งตัดสิน 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกอย่าคือ “บางคน” ที่อ้างว่าตน "รู้ความจริงทางศาสนาจากการปฏิบัติ" ไม่ใช่แค่รู้จากการฟัง การอ่าน การตีความเชิงปรัชญา แล้วเขาใช้ "มุมมองความจริงทางศาสนาจากการปฏิบัติ" ของตนมาแย้งความจริงทางประวัติศาสตร์ศาสนา สังคมวิทยาศาสนา และมานุษยวิทยาศาสนาที่สะท้อนการใช้ศาสนาสร้างระบบชนชั้น อำนาจทางการเมืองแบบเผด็จการขึ้นมาในยุคก่อนสมัยใหม่และปัจจุบัน โดยไม่รู้ตัวว่าตนเอง "แย้งผิดประเด็น" อย่างจัง

ดังนั้น การโชว์ว่าตนรู้ความจริงจากการปฏิบัติที่ว่าเหนือกว่า ก็กลายเป็นการโชว์ "อวิชชา" ในเรื่องความจริงทางศาสนาเชิงประจักษ์ คือความจริงทางประวัติศาสตร์ศาสนา ฯลฯ นักปฏิบัติแบบนี้พอถูกแย้งกลับที่เปิดเผยให้เห็น "อวิชชา-ความไม่รู้" ของตนเอง ก็ "ของขึ้น" ทุกราย ซึ่งแสดงว่าที่คุณโชว์ว่ารู้ความจริงทางศาสนาจากการปฏิบัติน่ะมันเฟค!

แน่นอนว่า คำถามเชิงปรัชญาอาจ “กวนจริต” ของบรรดาผู้ศรัทธาศาสนามาแต่ไหนแต่ไร แต่การสงสัย การตั้งคำถาม และการวิพากษ์แบบปรัชญา ก็ช่วยให้เรามองเห็นปัญหาในมุมกว้างและลึกมากขึ้น และสำหรับนักปรัชญาเขาก็ไม่ตั้งคำถามท้าทายเฉพาะวงการอื่นๆ เท่านั้น วงการเดียวกันก็ท้าทายอย่างถึงราก เช่นที่คาร์ล มากซ์ เสนอว่า “นักปรัชญาไม่ใช่แค่อธิบายโลก แต่หน้าที่ของนักปรัชญาคือเปลี่ยนแปลงโลก” ซึ่งมีนัยสำคัญ “กวนตีน” นักปรัชญาด้วยกันเองว่าที่เก่งๆ กันในการอธิบายโลกได้แทบทุกเรื่องนั้น คุณมี “กระดูกสันหลัง” กันบ้างหรือไม่!

 

 

ที่มาภาพ:
http://www.tairomdham.net/index.php?topic=14388.0 และ chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/
http://www.satriwit3.ac.th/files/150320099113961_20071522223229.pdf
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net