Skip to main content
sharethis

วันที่ 22 ม.ค. 2566 จะเป็นวันครบรอบ 50 ปี คำตัดสินคดี Roe v. Wade ซึ่งกลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญในการคุ้มครองสิทธิทางเลือกในการทำแท้งทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ทว่าในเดือน มิ.ย. 2565 คดีนี้ก็ถูกพลิกคำตัดสินเดิม กลายเป็นการอนุญาตให้หลายๆ รัฐยกเลิกการคุ้มครองสิทธิในเรื่องนี้ ในขณะที่หลายรัฐก็พยายามสู้กลับด้วยการยืนยันสิทธิในการทำแท้งในกฎหมายระดับรัฐของพวกเขาเอง

ถ้าหากว่าไม่มีการพลิกคำตัดสินคดี Roe v. Wade เมื่อปีที่แล้ว (2565) ในวันที่ 22 ม.ค. นี้จะกลายเป็นวันครบรอบ 50 ปีของคดี Roe v. Wade ในคดีดังกล่าวนี้ ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่าตามหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แล้วประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้งได้ คำตัดสินนี้ส่งผลให้มีการยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งทั้งในระดับประเทศและในระดับรัฐต่างๆ ของอเมริกา

แต่ทว่าเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ก็มีการพลิกคำตัดสินดังกล่าวโดยกลุ่มผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ รุ่นปัจจุบันที่ส่วนใหญ่แล้วได้รับการแต่งตั้งมาจากสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พวกเขาพลิกคำตัดสินโดยอ้างว่าสิทธิในการทำแท้งนั้น "ไม่ได้เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์หรือประเพณีของประเทศ" จึงไม่นับเป็นสิทธิที่สำคัญ (substantive right) และอ้างว่ามันไม่ได้นับเป็นหนึ่งในสิทธิในช่วงที่มีการให้สัตยาบันต่อกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี 2411

ข้ออ้างดังกล่าวนี้ส่งผลให้ประชาชนนับล้านคนในสหรัฐฯ ถูกลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ เพราะมันทำให้แต่ละรัฐทำการออกกฎสั่งห้ามทำแท้งไม่ว่าจะห้ามเป็นบางส่วนหรือห้ามโดยทั้งหมด รวมถึงเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับกระบวนการด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ อย่างเช่นการคุมกำเนิดและการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย

แต่ก็มีบางรัฐที่พยายามต่อต้าน มีอยู่ 3 รัฐในอเมริกาที่โต้ตอบคำตัดสินของศาลสูงสุดอย่างชัดเจนด้วยการเพิ่มบทคุ้มครองด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ลงไปในกฎหมายพื้นฐานของตัวเอง คือ แคลิฟอร์เนีย, มิชิแกน และเวอร์มอนต์ แม้แต่ในรัฐแคนซัสที่มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีการลงประชามติคัดค้านการจำกัดการทำแท้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในการลงประชามติเมื่อเดือน ส.ค. 2565

ขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ก็อนุมัติหนึ่งในยาสองประเภทที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ให้มีการจัดจำหน่ายในร้านขายยาได้ ถึงแม้ว่ามาตรการนี้อาจจะไม่สามารถช่วยเหลือคนที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐที่จำกัดในเรื่องนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ยายุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แต่ก็มีรัฐมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสหรัฐฯ ที่แสดงจุดยืนแบบต่อต้านการทำแท้ง สถาบันกุตต์มาเคอร์ระบุว่า ในตอนนี้มีอยู่ 26 รัฐที่มีนโยบายต่อต้านการทำแท้ง ไม่ว่าจะเป็นการ "จำกัดการทำแท้งโดยส่วนใหญ่" ไปจนถึงจำกัดการทำแท้งโดยสิ้นเชิง การจำกัดเช่นนี้จะทำให้ผู้คนต้องเดินทางข้ามรัฐเพื่อเข้าถึงบริการทำแท้ง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเผชิญผลกระทบด้านกฎหมายในพื้นที่สีเทา

ผลพวงที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งคือ มีร้านยาหลายร้านที่ปฏิเสธจะจ่ายยาบางประเภท หรือแพทย์บางคนที่ไม่ค่อยอยากจะสั่งจ่ายยาเหล่านี้เพราะกลัวถูกลงโทษทางกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ไม่ได้รับยาที่จำเป็นต่อพวกเขา แม้กระทั่งกับยาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างเช่นยารักษาอาการข้ออักเสบ เพราะมีความกลัวว่าจะมีคนใช้ยาเหล่านี้ช่วยในการทำแท้งตัวเอง

นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่บริษัทแม่ของเฟสบุคคือเมตาถูกวิจารณ์ในเรื่องที่พวกเขาให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ทางการรัฐเนบราสกาในการเอาผิดแม่ลูกคู่หนึ่งที่พูดคุยกันทางเฟสบุคแช็ตเรื่องการทำแท้ง ที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าเป็นการทำแท้งที่ "ผิดกฎหมาย"

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การที่ประชาชนไม่มีหลักการของคดี Roe ที่จะรับรองการทำแท้ง ทำให้พวกเขาขาดเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายตัวเองหรือเสรีภาพในด้านการวางแผนครอบครัวที่จะกำหนดว่าตัวเองอยากจะมีลูกหรือไม่มีลูก เรื่องนี้จะกระทบมากเป็นพิเศษต่อกลุ่มคนชายขอบ เช่น คนผิวดำในสหรัฐฯ ที่เคยถูกกีดกันไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพอยู่ก่อนแล้ว

มีการประเมินจากสื่อ Now This ว่า กลุ่มต่อต้านการทำแท้งในสหรัฐฯ อาจจะไม่หยุดแค่การคว่ำคำตัดสิน Roe v. Wade เท่านั้น แต่พวกเขาอาจจะพยายามทดสอบว่าจะผลักดันการจำกัดการทำแท้งไปได้มากแค่ไหนในยุคหลังจากที่มีการคว่ำคำตัดสิน Roe v. Wade แล้ว เรื่องนี้มาจากการที่กลุ่มต่อต้านการทำแท้ง "มาร์ชฟอร์ไลฟ์" ยังคงทำการเดินขบวนประท้วงรายปีของพวกเขาอยู่ และ ส.ส. ลอสแองเจลิสจากพรรครีพับลิกัน สตีฟ สกาลิส ก็ขึ้นเวทีปราศรัยในที่ชุมนุมประกาศว่า การคว่ำคำตัดสิน Roe v. Wade "เป็นแค่การสิ้นสุดของการต่อสู้ขั้นแรกของพวกเขาเท่านั้น"

ฝ่ายสนับสนุนให้มีทางเลือกในการทำแท้งก็โต้ตอบกลุ่มต่อต้านการทำแท้งเช่นกัน มีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในด้านนี้หลายกลุ่มที่วางแผนเดินขบวนประท้วงในวันครบรอบ 50 ปี Roe v. Wade อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส จะปรากฏตัวที่การประท้วงเพื่อสิทธิทางเลือกในการทำแท้งที่ฟลอริดาด้วย


เรียบเรียงจาก
Roe at 50, Now This News, 21-01-2023

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เฟซบุ๊กส่งข้อมูลสองแม่ลูกพูดเรื่องทำแท้ง ให้ตำรวจเนแบรสกาใช้ตั้งข้อหา

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Roe_v._Wade

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net