Skip to main content
sharethis

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” เป็นบทบัญญัติที่ได้รับรองสิทธิไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 29 วรรค 2 และ วรรค 3 แต่ไม่ใช่สิทธิสำหรับประชาชน ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองและคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ภายหลังมีแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา เอาผิดกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง การดำเนินแจ้งความเอาผิดในมาตรา 112 กับประชาชนทุกภูมิภาคก็เพิ่มสูงขึ้น และจากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 21 ธ.ค. 2565  คดีมาตรา 112 ที่มีการพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว จำนวน 17 คดี และมีคดีที่จำเลยรับสารภาพ โดยศาลมีคำพิพากษาแล้วอีก 13 คดี ในจำนวนดังกล่าวนี้ยังไม่มีผลทางคดีถึงที่สุด และในหลายๆ คดีกำลังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา

สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

การพิจารณาให้ประกันตัว เป็นอำนาจของศาลที่จะสามารถกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 วรรค 3 ที่ได้บัญญัติให้การเรียกประกันหรือหลักทรัพย์ประกันจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีไม่ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ซึ่งให้ดุลยพินิจศาลแล้วแต่กรณี

ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเกินกว่ากรณี แม้คดีไม่ได้มีการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ไผ่ — จตุภัทร บุญภัทรรักษา ในคดีชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา63 เพราะไปพ่นสีใส่พื้นถนน ป้ายที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไปพ่นทับกล้องวงจรปิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และข้อหาอื่นกว่า 9 ข้อหา ซึ่งไม่ได้มีการแจ้งดำเนินคดีตามมาตรา 112 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวไผ่ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า“จากคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและพฤติการณ์ของจำเลยคนอื่นๆ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้าแล้ว เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท ระบุเงื่อนไข ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล

ศาลให้ประกัน “ไผ่” พร้อมกำหนดเงื่อนไข 5 ข้อ หลังสูญเสียอิสรภาพ 186 วัน ส่วน “ไมค์” ศาลอยุธยานัดไต่สวนพรุ่งนี้ | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. 2565 ศาลอาญา ก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ไดโน่ — นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า หลังพนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ19สิงหาไล่ล่าทรราช ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564

ศาลได้ระบุคำสั่งที่มีความสอดคล้องกับเงื่อนไขประกันตัวในคดีของไผ่ แม้ในคดีนี้ของไดโน่จะเป็นเหตุจากการชุมนุมเพื่อกดดันให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และอัยการไม่ได้สั่งฟ้องคดีมาตรา 112 กับจำเลย แต่ศาลยังกำหนดเงื่อนไขขยายไปถึงการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับคดีด้วยว่าห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนระบุให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแลและนายประกันเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น พร้อมกับวางเงินหลักทรัพย์กว่า 90,000 บาท

อัยการสั่งฟ้องคดี “ไดโน่ ทะลุฟ้า” ก่อนได้ประกันวางเงิน 90,000 บาท หลังถูกขัง 1 คืน ศาลชี้ให้นายประกัน-ผู้กำกับดูแลเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตั้งมาตรฐานเงื่อนไขประกันตัวเข้มเกินกฎหมาย และเรียกเงินประกันชนเพดาน

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108 วรรค 1 ระบุว่า "การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
  2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

นอกจากนี้ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยเรื่องการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ.2565 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ได้ออกข้อกำหนดเรื่องการกำกับดูแลและการเรียกดประกัน ในข้อ 8 ว่า แม้มีเหตุตามกฎหมายที่จะออกหมายขัง แต่หากศาลเห็นว่าการกำกับดูแลสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้นั้นจะหลบหนีหรือก่อภัยอันตราย หรือสร้างความเสียหายในระหว่างการประกันตัว ก็ให้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวได้ 

โดยใช้การกำกับดูแลและการเรียกประกันตามลำดับความเข้มงวด ดังนี้

  1. กำหนดเงื่อนำไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ
  2. แต่งตั้งผู้กำกับดูแล
  3. ทำสัญญาประกัน
  4. ใช้อุปกรณ์กำไล EM
  5. เรียกหลักประกัน

ข้อบังคับดังกล่าวมีใจความสรุปได้ว่า หากศาลมีดุลยพินิจตามมาตรา 108 แล้วให้พิจารณาความเข้มงวดของการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ ตามลำดับขั้นดังกล่าว 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนและนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่ต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าเงื่อนไขการประกันตัวในคดีการเมืองมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

  1. ห้ามจำเลยกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ 
  2. ห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง 
  3. ให้ติดกำไล EM 
  4. กำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน จนถึงการห้ามไม่ให้ออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง 
  5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

มีกรณีที่นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า 7 คนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนานกว่า 57 วันจากกรณีถูกฟ้องว่าทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 12 ก.ย. 2565  พบว่าศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล,ติดกำไล EM และกำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน ซึ่งจากกรณีของทะลุฟ้าได้ปรากฎเงื่อนไขที่เข้มงวดอยู่หลายประเภททั้งการให้ติดตั้งอุปกรณ์ติดตาม (EM) หรือการกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานในช่วงเวลากลางคืน การใช้ดุลยพินิจของศาลดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการลำดับความเข้มงวดหรือเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาที่กำหนดไว้แต่อย่างใด

56 วันของการกักขัง : ทะลุฟ้าได้ประกันตัวทั้ง 7 คน

หรือในกรณีของ ‘แซม - แม็ก - มิกกี้บัง’ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2564 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 22 พ.ย. 2565 โดยกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ค่อนข้างมีความเข้มงวด คือไม่ให้ใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยระบุว่านายประกันและเงินประกันไม่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล กล่าวคือไม่ใช่บุคคลในครอบครัวหรือมีสัมพันธ์กับจำเลย ก่อนที่ทนายจะยื่นคำร้องใหม่โดยใช้ทรัพย์สินของครอบครัวพวกเขาที่เป็นผู้กำกับดูแลไม่ใช่กองทุนราษฎรประสงค์ ศาลถึงอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท

ศาลให้เปลี่ยนผู้กำกับดูแล-เงินประกัน ก่อนให้ประกัน “แซม - แม็ก - มิกกี้บัง” วงเงินคนละ 1 แสน พร้อมให้ติด EM และอีก 4 เงื่อนไข | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาสั่งปล่อยชั่วคราวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 5 ว่านายประกันที่เป็นครอบครัวกับจำเลย สามารถยื่นคำร้องประกันได้โดยไม่ต้องเสนอหลักประกันใดๆ มาพร้อมกับคำร้อง อีกทั้งข้อบังคับดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ในเรื่องของการกำหนดวงเงินประกัน ในข้อ 18 ว่า ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจอนุญาตให้ประกัน โดยให้ผู้ขอประกันวางเงินสดหรือหลักทรัพย์เพียงจำนวนร้อยละ 20 จากจำนวนเงินประกันที่ศาลกำหนดก็ได้

แต่สำหรับคดีอาญาทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112 การวางเงื่อนไขและเรียกหลักทรัพย์ประกันมักจะเรียกเต็มจำนวน อย่างในกรณีของทะลุฟ้าทั้ง 3 คนข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้จะใช้นายประกันและผู้กำกับดูแลเป็นบุคคลในครอบครัว แต่ศาลก็ไม่ได้มีดุลยพินิจที่จะผ่อนปรนหลักทรัพย์ประกันตามข้อบังคับที่ประกาศใช้แต่อย่างใด 

ความลักลั่นในคำสั่งและเงื่อนไขการประกันตัว ตามดุลยพินิจของศาล

ในปี 2565 นักโทษคดีการเมืองอย่าง “เอกชัย หงส์กังวาน” ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.65 จากการถูกศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังโพสต์เล่าเรื่องราวประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจขออุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ยืนยันเห็นชอบกับบทลงโทษของศาลชั้นต้น ระบุว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นเห็นชอบแล้ว 

เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี “เอกชัย” โพสต์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

การต่อสู้ของเอกชัยดำเนินต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ หลังทนายความเข้ายื่นประกันตัวเขาในระหว่างฎีกาคำพิพากษาแต่กลับพบว่าศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวถึง 5 ครั้ง ระบุเห็นว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี คดียังไม่เห็นสมควรได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา

ในวันที่18 พ.ค.2565 ศาลฎีกาได้รับรองคำร้องของเอกชัยที่ได้ขอแถลงข้อเท็จจริงในหลายประเด็น โดยในความสำคัญในคดีนี้ ได้แก่

1.ในคดีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท แต่ศาลฎีกากลับปฏิเสธการให้ประกันตัวเรื่อยมา อีกทั้งในชั้นศาลฎีกา ได้วางเงินสดประกันตัวไปถึง 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับโทษจำคุก ที่เหลือเพียงแค่ 6 เดือน และยิ่งสูงมากเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับคดีอื่นๆ ที่มีอัตราโทษจำคุกมากกว่า

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ว่าด้วยเรื่องของการคำนวนโทษ หากคำนวนตามข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว เอกชัยจะคงเหลือโทษจำคุกเพียง 6 เดือน คดีนี้มีประเด็นที่ได้ยื่นฎีกาต่อศาล คือเรื่องการคำนวณโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 โดยเอกชัยควรต้องโทษจำคุกเพียง 10 เดือน 20 วัน ไม่ใช่ 1 ปี ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้เอกชัยยังคงเหลือโทษจำคุกเพียง 6 เดือน หลังจากถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 ไม่ใช่ 7 เดือนเศษ และจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ

คำร้องดังกล่าวถูกยื่นไปถึงศาลฎีกา แต่ศาลก็ได้มีคำสั่งปฏิเสธไม่อนุญาตให้ประกันตัวกับเอกชัยเป็นจำนวนกว่า 5 ครั้ง ถึงแม้ข้อเท็จจริงของเอกชัยจะมีมูลให้พิจารณาในเรื่องการคำนวนโทษใหม่ แต่ศาลยังคงระบุคำสั่งว่าจำเลยมีคดีติดตัวเป็นจำนวนมาก เลยเกรงว่าจะหลบหนี

เก็บตกหลังศาลฎีกามีคำสั่ง #ไม่ให้ประกันตัว “เอกชัย” เรื่องการคำนวณโทษจำคุก ที่จำเลยโต้แย้งในชั้นฎีกา 

จนกระทั่งในวันที่ 19 ก.ย.2565 การพยายามยื่นประกันตัวของเอกชัยในครั้งที่ 6 ด้วยคำร้องเดียวกันก็เป็นผล เมื่อศาลฎีกาได้กลับคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเอกชัยในระหว่างฎีกา ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีกำหนดเพียง 1 ปี  จำเลยต้องคุมขังมาระยะหนึ่งแล้วและได้รับอนุญาตให้ฎีกา จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างฎีกา ตีราคาประกันหนึ่งแสนบาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันและดำเนินการต่อไป”

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีของเอกชัย พบว่าคำสั่งของศาลฎีกาที่วินิจฉัยคำร้องขอประกันตัวในประเด็นเดียวกัน กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีการคำนวณโทษจำคุกผิดพลาด แต่ศาลให้เหตุผลคนละแบบ โดยในคำสั่งเดิมศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผล “เกรงว่าจะหลบหนี” เรื่อยมา แต่ในวันที่ 19 ก.ย.2565 หลังจากเอกชัยถูกคุมขังมา 5 เดือน ศาลจึงเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี” และอนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการคุมขังกว่า 154 วันของเอกชัย

ศาลฎีกาให้ประกันตัว “เอกชัย” ระบุ “ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี” หลังถูกคุมขังในเรือนจำมา 5 เดือน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นของศาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสั่งประกันตัวของผู้ต้องขังในคดีอาญาทางการเมือง ตลอดจนในกรณีอื่นๆ ที่ศาลตั้งเงื่อนไขการให้ประกันเข้มงวดเกินกว่าข้อกฎหมาย และเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวแบบชนเพดาน หรือเต็มวงเงินสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ ถึงแม้ประธานศาลฎีกาจะออกข้อบังคับให้มีความ ‘อลุ่มอะล่วย’ กับกรณีของคดีความอาญา

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับประชาชนผู้ซึ่งออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและถูกดำเนินคดี ตลอดจนการที่จำเลยในคดีอาญาทางการเมืองยืนยันต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด ไม่ได้นำพาให้ศาลมองเห็นความบริสุทธิ์ใจที่จะยืนยันต่อสู้ตามสิทธิที่ประชาชนคนหนึ่งพึงมีอย่างเท่าเทียมกันแต่อย่างใด แต่หากสร้างความซับซ้อน งุนงงและสร้างคำถามให้กับประชาชนในสังคมว่าการใช้ดุลยพินิจของศาลมีการแบ่งแยกระหว่างคดีความอาญาทั่วไป กับคดีความอาญาการเมืองหรือไม่

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเข้าไม่ถึงเงิน #ประกันตัว และปัญหาดุลยพินิจที่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ในคดีความอาญา มาตรา 112

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net