คุยกับมนุษย์ม็อบ ‘ยืน หยุด ขัง 112 ชั่วโมง’

ประชาไท สัมภาษณ์ประชาชน-นักกิจกรรมผู้เข้าร่วมม็อบ 'ยืน หยุด ขัง 112 ชั่วโมง' หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (BACC) นัดหมายโดย 'ทะลุฟ้า' เพื่อสอบถามถึงเหตุผลที่พวกเขาอยากมาร่วมกิจกรรม และเสียงที่อยากส่งถึงนักการเมือง

 

23 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (22 ม.ค.) สัมภาษณ์ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม 'ยืน หยุด ขัง' 112 ชั่วโมง ระยะเวลา 4-5 วันติดต่อกัน ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC แยกปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 13.30-19.00 น. โดยวันนี้เเป็นวันแรกของกิจกรรม 

พรรคการเมืองต้องรับลูกข้อเรียกร้องประชาชน

'ดา' อายุ 54 ปี อดีตพลพรรคคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์กับประชาไท เธอเขียนป้ายข้อความกระดาษเรียกร้องสิทธิการประกันตัว และความอยุติธรรมในสังคมไทย มาร่วมทำกิจกรรม 'ยืน หยุด ขัง 112 ชั่วโมง' กับนักกิจกรรมทะลุฟ้า ที่หน้าหอศิลปฯ BACC แยกปทุมวัน เมื่อ 15.00 น.  

ดา อายุ 54 ปี

หนึ่งในข้อเรียกร้องของทะลุวัง 3 ข้อที่ถูกประกาศเมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคแสดงจุดยืนต่อมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และมาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่น

อดีตคนเสื้อแดง มองว่า พรรคการเมืองต้องผลักดันข้อเรียกร้องร่วมกับประชาชน และนักกิจกรรมไปพร้อมๆ กัน และอยากให้พรรคการเมืองคิดถึงผลประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญ

"ในเมื่อพรรคการเมืองต้องการประชาชนไปต่อรองอำนาจ 'เพื่อไทย' ทำไมคุณไม่ไปต่อรองอะไรที่มันมากกว่า อะไรที่มันจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่า มากกว่าที่จะบอกว่าเอาแค่เรื่องทำมาหากิน เด็กเขาดันแล้ว ดันต่อดิ เพราะคุณเป็นพรรคใหญ่ …พี่เลือกพรรคก้าวไกล แต่ก่อนพี่เลือกพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ดันให้สุด ก็ไม่ต้องเลือก"

"พี่จะร่วมสู้กับน้องตะวัน เด็กๆ ทุกคน พี่ทำได้ติดป้ายเดินออกไปทุกวัน" ดา กล่าว

เชื่อข้าราชการเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

ดา เล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงที่ผ่านมาเธอร่วมเรียกร้องกับคนรุ่นใหม่โดยการติดป้ายที่แผ่นหลังของเธอ มีข้อความประมาณว่า 'เด็กถูกยิงตาบอด ตำรวจไม่จับ เด็กออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมประเทศนี้ โดนขังคุก เด็กกำลังจะตายเพราะออกมาเรียกร้องความไม่ยุติธรรมในประเทศนี้ #ตะวัน #มึงล่ามโซ่เด็กทำไม' และเดินไปตามที่สถานที่ต่างๆ 

อดีตคนเสื้อแดง เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอใช้คำว่า ‘โคตรดีใจ’ คือตอนที่ทำธุระที่สำนักงานข้าราชการแห่งหนึ่งพร้อมกับติดป้ายที่เรียกร้องความยุติธรรมให้ตะวัน แล้วมีเจ้าหน้าที่รู้จักตะวัน กลุ่มทะลุวัง และรู้สิ่งที่ตะวัน กำลังทำอยู่

"เมื่อวันศุกร์ (20 ม.ค.) พี่ไปสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง เขารู้จักตะวัน พี่โคตรดีใจ ที่เขารู้เรื่อง วันนั้นพี่ดีใจมากๆ เลยต้องโทรเข้าไปหาอาจาร์ศิโรตม์ (ผู้สื่อข่าว - รายการ ‘ตาสว่าง’ ของศิโรตม์) และทั้งชั้น 20 กว่าคน พี่เชื่อว่าข้าราชการเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนหัวเมื่อไรระบบก็จะดีขึ้น" ดา เล่าให้ฟัง และระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ข้าราชการฝากกำลังใจให้แบม และตะวัน ผ่านมาทางเธออีกด้วย

นอกจากนี้ ตอนที่เธอไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต 'แมคโคร' เธอก็ติดกระดาษข้อความลักษณะเดียวกันที่หลังของเธอ ก็มีคนเข้ามาขอถ่ายรูป และขอบคุณที่เธอออกมาช่วยส่งเสียง 

"พี่ไปที่แมคโคร เดินไปซื้อของ คนก็เดินเข้ามาถ่ายรูป และบอกขอบคุณพี่นะ ที่พี่กล้าที่จะแสดงออก พี่ก็หันกลับไปหาเขา ต้องช่วยกันนะ เพราะว่าเด็กกำลังจะตาย เด็กกำลังจะตายเพราะความอยุติธรรมในประเทศนี้ ศาลต้องอยู่ตรงกลาง" ดา กล่าวเชิญชวนประชาชนร่วมกันออกมาต่อสู้ร่วมกับนักกิจกรรม 

ทุกคนควรมีสิทธิ์พูดถึงปัญหาประเทศ 

ซูโม่ อายุ 18 ปี หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมที่หน้า BACC ระบุว่า วันนี้เขามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกในชีวิต เพราะเขารู้สึกว่า สิ่งที่นักกิจกรรมเรียกร้อง ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิการประกันตัว การดำเนินคดีทางการเมือง มาตรา 112 และ มาตรา 116 เหล่านี้เป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน และต้องมาช่วยกันผลักดัน เช่น มาอ่านหนังสือ ‘มายืน หยุด ขัง’ หรือมาร่วมกิจกรรมต่างๆ 

ซูโม่ อายุ 18 ปี

ประชาชนอายุ 18 ปี มองว่า ประชาชนควรมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับปัญหาการเมือง และบ้านเมืองของตัวเองได้ และเห็นว่าการที่รัฐกดปราบนักกิจกรรม และคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาส่งเสียงถึงปัญหาการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สมควร "รู้สึกมันเหมือนคือการกดขี่ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกมาพูดได้ ออกมาแสดงความคิดเห็นได้" 

"พวกผมยังอยู่ตรงนี้ ยังจะสู้ เห็นด้วยกับแบม กับตะวัน และทุกๆ คน ที่อยู่ข้างใน ต่อให้ทุกคนอยู่ข้างใน พวกผมยังออกมาเคลื่อนไหว ออกมาสู้เพื่อพวกคุณ" ซูโม่ ทิ้งท้าย

บรรยากาศเวลา 17.30 น. มีประชาชนทยอยมาร่วมกิจกรรมยืน หยุด ขัง 112 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสีกากีเดินลาดตระเวนผ่านไป-มาในบริเวณพื้นที่ทำกิจกรรม และบริเวณสกายวอล์ก และพื้นที่โดยรอบ BACC 

เมื่อประมาณ 18.00 น. ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทะลุฟ้า นำประชาชนที่มาร่วม ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 ชั่วโมง ทำกิจกรรมตะโกนยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 

ชวนประชาชนออกมาร่วมต่อสู้ทางการเมือง

เมื่อเวลา 19.00 น. การทำกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 ชั่วโมง ที่หน้า BACC แยกปทุมวัน นัดหมายโดย กลุ่มทะลุฟ้า ยังคงดำเนินต่อไปเข้าสู่ชั่วโมงที่ 18   

ระหว่างการทำกิจกรรม ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคน ซึ่งจากการคุยพบว่ามีคนบางส่วนเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองเป็นครั้งแรก โดยปัจจัยหนึ่งมาจากทราบข่าวการประกาศอดข้าว-น้ำของ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ และ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สองนักกิจกรรม เมื่อ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา 

‘โย่ง’ อายุ 28 ปี กล่าวว่า เขามาร่วมกิจกรรมวันนี้ (22 ม.ค.) มองว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของทะลุวัง สำคัญหมดทุกข้อ และอยากฝากให้พรรคการเมืองฟังเสียงของประชาชนมากที่สุด อย่าไปกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้ประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง

‘มิน’ อายุ 30 ปี ชาวฉะเชิงเทรา เผยว่า เธออยากมาเป็นกำลังใจให้กับนักสู้ทางการเมืองทุกคน เราเห็นว่าเขาสู้กันเยอะ และเรายังไม่เคยมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองเลย นี่เป็นครั้งแรกในการมาร่วมยืน หยุด ขัง ในครั้งนี้ มีความตั้งใจมาก เพราะก่อนหน้านี้บ้านอยู่ไกลและติดงานมาตลอด พอดีเป็นวันหยุด เลยอยากมาร่วมสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้กำลังใจทุกคน 

'มิน' อายุ 30 ปี ชาวฉะเชิงเทรา

มิน กล่าวต่อว่า 3 ข้อของทะลุวังเป็นประโยชน์กับประเทศ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า แต่กลับกลายเป็นว่าความคิดเห็นไม่ตรงกับผู้บริหารประเทศ ทำให้เกิดการรังแก และขัดขวางไม่ให้เกิดการตอบสนอง และเกิดการกลั่นแกล้ง 

ประชาชนจากฉะเชิงเทรา ระบุว่าเธอคงไม่อยากจะฝากอะไรถึงภาครัฐ แต่เชิญชวนประชาชนออกมาร่วมต่อสู้ด้วยกัน อย่างที่ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่งพงษ์ กล่าวก่อนเข้าเรือนจำว่า  ‘ไทยเฉย เราจะตายกันหมด’ 

“อยากให้ทุกคนออกมาจาก safe zone ของตัวเอง ออกมาแสดงตัวกันนิดหนึ่ง เพื่อที่จะถ้าไม่มีใครออกมาเลย จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร” มิน ทิ้งท้าย 

พิม (นามสมมติ) อายุ 22 ปี ที่มาร่วมกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 ชั่วโมง เพราะว่าอยากให้การเมืองกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง อยากมาแสดงออกว่ายังมีคนในสังคมที่ยังแคร์อยู่ และคิดว่าถ้ามีคนแสดงออกเยอะ แบม กับตะวัน ก็จะไม่ต้องอยู่ในคุกเพื่อแสดงออกและกดดัน เพื่อไปอดอาหารและน้ำ

พิม กล่าวต่อว่า ถ้าคนออกมาแสดงพลังทางการเมืองเยอะขึ้น ทางพรรคการเมืองและผู้มีอำนาจคงได้รับแรงกดดัน และจะต้องเปลี่ยนแปลงตามคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะประชาชนคือคนที่มีอำนาจ และถ้าเราร่วมกันพูดอะไรก็คือแค่แสดงออกมา อยากให้คนออกมากันเยอะๆ มากขึ้น อยากให้เหมือนช่วง 2 ปีที่แล้ว คือพอมันซาไปก็คนที่ยังสู้ต่อก็ลำบาก แค่อยากให้มันกลับมามีพลังอีกครั้ง 

‘ที’ และ ‘เอ็น’ เยาวชนอายุ 17 ปี ที่วันนี้บังเอิญแวะผ่านมา จึงมาร่วมกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 ชม. หน้า BACC เมื่อเวลา 19.00 น. นอกจากนี้ ทั้งสองคนเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองมาตลอด อาจจะเกิน 10 ครั้ง ผ่านดงแก๊สน้ำตาก็เคยมาแล้ว 

(ซ้าย) ที และ (ขวา) เอ็น เยาวชนอายุ 17 ปี ที่มาร่วมยืน หยุด ขัง 112 ชม.

เอ็น กล่าวต่อว่า เขาอยากมาร่วมกิจกรรมวันนี้เพราะอยากมีส่วนร่วมในการทำอะไรสักอย่างในสังคมให้มันดีขึ้น แม้ว่าเราไม่ทราบว่าทำไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างน้อยเราได้ลงมือทำ และได้เป็นประโยชน์เพื่อสังคม ให้คนเขาเห็นว่ามีคนออกมาเรียกร้องเรื่องนี้จริงๆ

ที เด็กหนุ่มใส่แว่น อายุ 17 ปี กล่าวก่อนว่า เขาติดตามข่าวสารการเมืองมานานมากแล้ว และทราบว่ามีกิจกรรมนี้อยู่ วันนี้บังเอิญผ่านมาเลยมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ที กล่าวต่อว่า เขาติดตามข่าวมานานแล้ว และอยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เพราะไม่เห็นด้วยกับการจับคนที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีในระบอบประชาธิปไตย

“ผมไม่เห็นคนอายุต่ำกว่า 20 ปีเลย อยากให้ไทยเฉยออกมาแสดงพลัง แสดงกิจกรรมทางสัญลักษณ์กัน ไทยเฉยเราจะตายกันหมด” เยาวชนคนเดิมกล่าวเสริม

เยาวชนมอง 112 ควรยกเลิก

ที กล่าวถึงกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งกำลังใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองว่า ใจหนึ่งก็อยากแก้ไข แต่อีกใจหนึ่งก็อยากให้ยกเลิกไปเลย เพราะว่าต่างชาติไม่มี และต่อให้มีหรือไม่มี ประชาชนก็พูดกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้ ไม่ว่าจะวงเหล้า วงทานอาหาร และอื่นๆ มันเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่า

“ผมคิดว่า (ผู้สื่อข่าว - การยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112) อาจจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดีขึ้นด้วย เพราะว่าพอเราพูดอะไรก็ได้แล้ว มันทำให้คนอื่นรู้แล้ว อาจจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้” ที กล่าว

เอ็น กล่าวเสริมว่า เขาเชื่อว่าสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่ต้องไประรานคนอื่น 

“ผมไปคณะรัฐศาสตร์กับเพื่อนคนนี้มา เขาบอกว่ารัฐศาสตร์คือการทำยังไงก็ได้ให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างเห็นต่างอย่างมีสันติ ผมเชื่อว่าคนเห็นต่างสามารถอยู่ด้วยกันได้ ระบบคนที่เห็นด้วยกับระบบกษัตริย์ และกำลังสนับสนุนอาจจะไม่ต้องไปทำร้ายพวกเขา เพราะพวกเขามีสิทธิที่จะคิดของเขา แต่ไม่ควรที่จะมีใครมาระรานกันและกัน และเราควรอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข” เอ็นกล่าว 

แม้ว่าอายุยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ที และเอ็น ก็มีข้อความฝากถึงพรรคการเมือง ที ฝากว่า อย่าเล่นเกมการเมืองให้มากละกัน เพราะประชาชนไม่โง่ ด้านเอ็น กล่าวต่อว่า อยากให้พรรคการเมืองเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่แค่ว่าเห็นแต่ของตัวเอง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท