Skip to main content
sharethis

สรุปเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทยในมิติต่างๆ นักวิจัยสะท้อนข้อดีของการทำฐานข้อมูลทำให้สามารถผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้และทำให้หน่วยงานมองเห็นภาพรวมของปัญหา อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลยังไม่ครอบคลุมพอและกระจัดกระจายรวมถึงความซ้ำซ้อนของข้อมูล บางครั้งหน่วยงานรัฐก็ไม่อยากให้ความร่วมมือ

19 ม.ค.2566 ที่อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนา “อนาคตของฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทยและความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านฐานข้อมูล : จากเหตุการดยิงสู่ความตายในเมือง” โยดมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการทำฐานข้อมูลความรุนแรงในมิติต่างๆ ทั้งที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติ ครอบครัว ผู้หญิง เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการฐานข้อมูล Monitoring Centre on Organised Violence Events หรือ MOVE ที่รวบรวมสถิติความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นการกระชับความร่วมมือระหว่างนักวิจัย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงการจัดงานเสวนาครั้งนี้ว่าการทำฐานข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความรุนแรงเหล่านี้ในสังคมไทย การทำงานข้อมูลนี้จึงอยากจะส่งต่อให้ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ โดยมุ่งให้เกิดผลออกมาเป็นการสร้างนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้เกิดขึ้นน้อยลงด้วย และการเสวนาครั้งนี้ก็เพื่อที่มองไปในอนาคตของงานวิจัยเชิงข้อมูลแบบนี้จะต้องเดินไปต่อในทิศทางใดและมีความต้องการในเชิงนโยบายอย่างไร

สุมนทิพย์ จิตสว่าง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงโครงการวิจัย “ท้าทายไทยสังคมไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้ายทายมากว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยไร้ความรุนแรง ซึ่งการจะทำให้สังคมเกิดการตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงและการจะหาทิศทางเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงก็ต้องเริ่มจากการมีฐานข้อมูลความรุนแรงก่อน

สุมนทิพย์กล่าวว่าโครงการวิจัยดังกล่าวนี้มีทั้งหมด 13 โครงการจึงต้องมีการจัดกลุ่มชุดของความรุนแรงเป็น ความรุนแรงต่อตนเองอย่างการฆ่าตัวตาย ความรุนแรงระหว่างบุคคลเช่นความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดกับสตรี เด็กและผู้สูงอายุ และความรุนแรงแบบกลุ่มอย่างเช่นกรณีนักเรียนยกพวกตีกัน และยังมีการศึกษาไปถึงความรุนแรงในสื่อ การใช้อาวุธปืน รวมถึงความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และบทบาทของเรือนจำ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาก่อน แต่เมื่อโครงการวิจัยเข้าสู่ปีที่สองจึงมีการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาคปฏิบัติอย่างเช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการทำแผนที่ความรุนแรงจากข้อมูลอาชญากรรม หรือการให้ข้อมูลกับกรรมาธิการกรณีศึกษาเรื่องอาวุธปืนหลังเกิดกรณีกราดยิง และยังมีการรวมมือกับกรมสุขภาพจิตในกรณีการฆ่าตัวตายความรุนแรงเกิดขึ้นกับสตรีและในครอบครัว รวมถึงหน่วยงานอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการทำฐานข้อมูลก็ทำให้เห็นข้อมูลความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ศึกษา แต่การทำวิจัยก็เจอกับอุปสรรคอย่างเช่น ทำให้หน่วยงานในบางพื้นที่มองว่าพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบเป็นพื้นที่สีแดงมีความรุนแรงเยอะมีภาพไม่ดีแล้วเขาจะได้รับงบประมาณน้อยลง

นักวิจัยจากจุฬาฯ กล่าวว่าต้นแบบการทำฐานข้อมูลความรุนแรง “คาร์ดิฟโมเดล” ในประเทศเวลส์ เป็นต้นแบบที่น่าสนใจที่เป็นฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างสาธารณสุข หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของเมืองคาร์ดิฟ ที่กลายเป็นเมืองต้นแบบในการแก้ปัญหาความรุนแรง ซึ่งทางโครงการเองก็เคยคิดที่จะสร้างเมืองต้นแบบขึ้นมาที่จังหวัดน่านด้วยเป็นโครงการสังคมไทยลดความรุนแรง ซึ่งจากโจทย์ที่ได้รับมาก็มองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้เพื่อนำเสนอเรื่องราวของปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขได้ โดยตอนนี้มองว่าฐานข้อมูลเรื่องอาวุธปืนเป็นเรื่องที่น่าทำเพราะยังเป็นเรื่องที่ขาดข้อมูลอยู่

บุญวรา สุมะโน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือTDRI กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องความรุนแรงที่องค์กรทำอยู่จะเน้นตอบโจทย์ทางนโยบายสาธารณะ ซึ่งงานวิจัยที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องความรุนแรงและการคุกคามในการทำงานโดยทำร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ทั้งที่เกิดในที่ทำงาน ที่พักที่นายจ้างจัดหา รวมถึงการเดินทางไปทำงานนอกสถานที่เพราะการใช้

นักวิจัยจาก TDRI กล่าวถึงข้อมูลที่พบจากการทำวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่เผชิญความรุนแรงมากในที่ทำงานมากที่สุดคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิงเพราะเขามความทับซ้อนทางอัตลักษณ์หลายอย่างจากการเป็นทั้งผู้หญิง แรงงานข้ามชาติทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงเยอะ แต่ในไทยไม่มีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเลยสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เก็บแค่ข้อมูลสัญชาติของคนทำผิดแต่ไม่ได้เก็บคนถูกกระทำ หรือเก็บแค่เป็นคนไทยหรือไม่เป็นคนไทยทำให้ไม่มีจำนวนของผู้เสียหายว่ามีอยู่เท่าไหร่ จึงสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีข้อมูลของพวกเขาเลยทั้งที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเราก็ใช้ประโยชน์จากเขามาเยอะ

นอกจากนั้นยังมีโครงการเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ทำกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยตอนที่ทำได้กลับไปดูงานศึกษาที่มีคนทำเอาไว้แล้วพบว่าเป็นงานที่ดูจากปัจจัยของปัจเจคบุคคลเยอะเช่น อาชีพ อายุ หรือการศึกษา จากงานเหล่านี้ทำให้พบรูปแบบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีคล้ายคลึงกันคือเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นผู้ถูกกระทำมีอายุน้อย การศึกษาไม่สูงหรือมีความไม่มั่นคงในอาชีพซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ถูกใช้ความรุนแรง แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่เชื่อมโยงปัจจัยเชิงปัจเจคเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง

บุญวรากล่าวว่ายังมีงานวิจัยสาเหตุของปัญหาในการคุ้มครองเด็กให้กับยูนิเซฟเนื่องจากไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาเป็นเวลา 20 ปี แล้วแต่กลับมีกรณีเด็กถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% และยังมีปัจจัยภัยคุกคามออนไลน์ที่กฎหมายเก่า 20 ปีไม่ตอบโจทย์ นอกจากนั้นความรุนแรงในเด็กยังสะท้อนจากคดีที่เด็กเป็นผู้กระทำก็เพิ่มมากขึ้นพบว่าเด็กช่วงวัย 13-17 ปีมีสัดส่วนเป็นผู้ใช้ความรุนแรงมากขึ้นทั้งที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลง จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าสังคมไทยเลี้ยงเด็กมาอย่างไรให้ใช้ความรุนแรงมากขึ้น

นักวิจัยจาก TDRI กล่าวถึงงานวิจัยที่ถูกแปลงออกมาเป็นนโยบายแล้วคือการคุ้มครองแรงงานจากความรุนแรงที่ทำกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่พนักงานตรวจแรงงานต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบของความรุนแรงที่เกิดในที่ทำงานจึงได้ไปคุยกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งทางกรมก็มีแผนจะทำคู่มืออยู่แล้วจึงได้เอางานวิจัยให้ไปใช้ในการทำคู่มือตรวจแรงงาน แต่คิดว่ายังต้องอธิบายให้เขาเข้าใจถึงข้อมูลในงานวิจัยด้วยซึ่งตอนหลังก็ได้ทุนจาก ILO ไปทำการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่าทางมูลนิธิเก็บข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์มีการแยกประเภทไว้เป็นการทำร้ายร่างกาย การฆ่ากัน มีการเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละปีก็พบว่าเพิ่มขึ้นทุกปีไม่ลดลงเทาไหร่แล้วเป็นกรณีสามีฆ่าภรรยาจะมีอยู่สูงมาก ข่าวข่มขืนระหว่างพ่อกับลูกเลี้ยง และมีการเก็บแยกเป็นข้อมูลของแต่ละจังหวัด แล้วก็ยังมีข้อมูลการฆ่าตัวตาย ข้อมูลเหล่านี้จากข่าวเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหาซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาความรุนแรงน่าจะมีมากกว่านี้

ผอ.มูลนิธิกล่าวว่าสำหรับหน่วยงานรัฐที่มีการเก็บข้อมูลข้อมูลความรุนแรงเหล่านี้และเชื่อถือได้อีกแห่งฐานข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ซึ่งมีข้อมูลถึง 2-3หมื่นกรณีโดยมีการแบ่งข้อมูลเป็นเดือนเป็นปีไว้ เพราะตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจะต้องมีการรายงานสถานการณ์ต่อรัฐสภาด้วย

“สถิติพวกนี้มีประโยชน์ในแง่ที่ว่าเอาข้อมูลภาพรวมไปให้ฝ่ายนโยบายได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทีนี้ปัญหาคือสถิติมันกระจัดกระจายมากไม่ได้รวมเป็นอันเดียวของประเทศว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

จะเด็จยกตัวอย่างของปัญหาในการเก็บข้อมูลว่าอาจจะเกิดกรณีเก็บข้อมูลซ้ำกัน ทำให้ไม่เห็นภาพรวมของปัญหา เพราะอย่างของมูลนิธิก็เก็บก็เพื่อใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงทุกปีหรือเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นก็นักข่าวก็มักจะมาขอสถิติเพื่อดูว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นแล้วก็เวคราะห์ปัญหาได้ เช่นตอนนี้เกิดการใช้อาวุธปืนในการก่อความรุนแรงในครอบครัวเยอะ อย่างเช่นเหตุที่หนองบัวลำภูที่มีการใช้ปืนฆ่าครอบครัวในตอนสุดท้าย ก็เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ว่าทำไมผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึงใช้ปืนได้ง่าย วิถีชีวิตของผู้ชายได้ปืนมาอย่างไร

นอกจากนั้นจะเด็จยังกล่าวถึงสภาพปัญหาอีกว่าที่ผ่านมาในไทยมักจะมองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ด้วย เพระาคนที่เขามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯก็สะท้อนว่าเมื่อไปแจ้งความกับตำรวจแล้วก็ไม่มีการดำเนินการอะไรมองปัญหาที่เกิดเป็นเพียงปัญหาส่วนตัวแล้วก็ไม่รับแจ้งความพอไม่รับแจ้งความผู้หญิงกลับไปก็ถูกทำร้ายอีกเมื่อไม่มีการจัดการก็ทำให้เกิดความรุนแรงซ้ำขึ้นอีกในอนาคต เรื่องนี้ทำให้เห็นว่ากลไกรัฐไม่มีประสิทธิภาพพอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง

ผอ.มูลนิธิฯ กล่าวอีกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ตอนนี้ยังมีช่องโหว่อยู่เพราะยังเน้นที่การประนีประนอมทำให้เกิดความรุนแรงซ้ำ การมีข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระดับนโยบาย ซึ่งตอนนี้กำลังมีการปรับแก้กฎหมายอยู่ แล้วก็ยังมีการเสนอนโยบายไปที่พรรคการเมืองที่กำลังเตรียมตัวเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามจะเด็จเห็นปัญหาว่าข้อมูลที่มียังมีจุดอ่อนอยู่ทั้งเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและการเก็บ จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ภาครัฐอย่างเช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาทำหรือมีกลไกรองรับ และจะทำอย่างไรให้ภาควิชาการหรือสถาบันทำวิจัยสนใจจะต้องมองเห็นภาพรวมมากขึ้น

อรชพร นิมิตกุลพร จาก UNDP กล่าวถึงการที่องค์กรเข้ามาเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลความรุนแรง เนื่องจากความรุนแรงคือผลกระทบจากการไม่สามารถพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งได้ ทาง UNDP จึงมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบหลักในการทำงานทำให้ทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ ของ UN ที่ทำงานเฉพาะเรื่องเพื่อเข้าใจปัญหาและพัฒนา ประเทศไทยก็มีหน่วยงานทำงานเฉพาะเรื่องอยู่เยอะอีกทั้งยังมีบทบาทในการพัฒนาระดับภูมิภาค UNDP จึงมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยเยอะเกือบที่สุดใน UN เกือบเท่าเจ้าหน้าที่ของยูนิเซฟแต่ทำงานในภาพรวมมากกว่าทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและ

ตัวแทนจาก UNDP กล่าวว่าจะการทำงานขององค์กรทำให้เห็นว่ามีความรุนแรงอยู่ในระดับย่อยของสังคมแต่ไม่มีช่องทางให้ได้คุยกับหน่วยงานภาครัฐว่าจะมองปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างไร แต่พอมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้ UNDP สามารถเอาประเด็นการแก้ไขความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาไทยจะถือว่าเป็นประเทศที่สงบสุขระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาทำให้เกิดคำถามต่างๆ ตามมาแล้วก็ไม่มีใครตอบได้ในภาพรวมว่าเราจะทำงานแบบไหนเพื่อลดความขัดแย้งรุนแรงหรือป้องกันความรุนแรงได้รวมถึงไม่ให้เกิดแนวความคิดที่สุดโต่งจนนำไปสู่ความรุนแรงได้

อรชพรกล่าวว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา UNDP ก็ได้ไปทำงานร่วมกับภาครัฐและนักวิชาการเนื่องจากผลของสถานการณ์โลกที่กำลังเกิดความรุนแรงจากบุคคลที่มีความคิดสุดโต่งใช้ความรุนแรงทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากจนเป็นความกังวลระดับสากล ทำให้หลายประเทศพยายามหามาตรการป้องกันและหลายหน่วยงานไทยเองก็กังวลในเรื่องนี้ก็มีคำถามมาว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะมีข้อมูลสถิติหรือหลักฐานอยู่แต่จะนำไปแปลงเป็นนโยบายได้อย่างไรบ้างให้มีประสิทธิภาพจริงหรือจะช่วยฝ่ายทำนโยบายได้อย่างไร และหน่วยงานรัฐที่เป็นระดับปฏิบัติการเองก็กำลังมองหาสิ่งนี้อยู่

ตัวแทนจาก UNDP กล่าวว่าจากความต้องการข้างต้นได้ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสถาบันเอเชียกับ UNDP ในการทำฐานข้อมูล MOVE นี้ขึ้นมาโดยศึกษาจากต่างประเทศที่ทำฐานข้อมูลแบบนี้ด้วย ถ้าฐานข้อมูลนี้สามารถขยายต่อแล้วทำให้เกิดการทำงานและแบ่งปันข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พม. ตำรวจหรือศาลได้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อรชพรกล่าวว่าอีกหน่วยงานที่สนใจก็คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะต้องการออกนโยบายที่เคารพความหลากหลายลดเงื่อนไขที่จะผลักคนไปสู่ความคิดสุดโต่งแล้วใช้ความรุนแรง ทำให้เห็นว่าภาครัฐพยายามเปิดช่องมาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ดังนั้นการทำงานของภาควิการก็ทำให้ภาครัฐรูสึกว่าได้รับการสนับสนุน ซึ่งก็เหมือนที่ในเวทีมีการเสนอให้ประเทศไทยต้องมีองค์กรคลังสมองเพิ่มมากกว่านี้ภาครัฐเองก็ยินดีที่จะให้มีเหมือนกัน เพราะ UNDP เองเวลาจะเสนอข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐก็อาจจะไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากับองค์กรในประเทศ ซึ่งก็ดีใจที่ได้เห็นว่ามีหลายๆ ที่กำลังทำฐานข้อมูลความรุนแรงออกมา ถ้าทางจุฬาฯ สามารถเป็นแหล่งรวมของฐานข้อมูลเหล่านี้และสามารถคอยเป็นสัญญาณเตือนของสังคมก่อนที่สถานการณ์ความขัดแย้งจะไปถึงการใช้ความรุนแรงต่อกันได้ก็เป็นเรื่องที่ดี

โครงฐานข้อมูล MOVE หรือที่มีชื่อเต็ม Monitoring Centre on Organised Violence Events เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างสถาบันเอเชียศึกษาของจุฬาฯ และ UNDP ที่เก็บข้อมูลสถิติของเหตุการณ์รุนแรง 13 ประเภทตั้งแต่ระดับระหว่างบุคคล คนในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดในการชุมนุมไปจนถึงการขัดกันด้วยอาวุธ โดยในเว็บไซต์มีการแบ่งตามประเภทสถานที่เกิดเหตุและช่วงเวลาระหว่างวัน โดยมีกราฟสัดส่วนและเส้นเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net