อิหร่าน จับ 'นักข่าวหญิง' เพิ่ม 3 ราย จับ 'ช่างทำป้ายหลุมศพ' ให้ผู้ประท้วง ที่ถูกประหาร

ทางการอิหร่านจับนักข่าวหญิงเพิ่ม 3 ราย ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง รวมยอดมีนักข่าวถูกจับกุมเพิ่มเป็น 55 ราย นับตั้งแต่การประท้วงใหญ่ และมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมช่างทำป้ายหลุมศพให้ผู้ประท้วงที่ถูกโทษประหารแขวนคอ คาดกลัวประชาชนใช้เป็นจุดนัดชุมนุม

 

25 ม.ค. 2566 กลุ่มสิทธิ เผย ทางการอิหร่านจับนักข่าวหญิงเพิ่ม 3 ราย ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง ส่งยอดรวมนักข่าวถูกจับเพิ่มเป็น 55 ราย นับตั้งแต่การประท้วงใหญ่ อีกรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมช่างหินทำป้ายหลุมศพให้ผู้ประท้วงที่ถูกประหารด้วยการแขวนคอ คาดกลัวประชาชนใช้ป้ายหลุมศพเป็นจุดนัดชุมนุม

จับนักข่าวหญิงเพิ่ม 3 ราย

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน องค์กรสิทธิสื่อสัญชาติฝรั่งเศส รายงานเมื่อ 23 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า เมลิกา ฮาเชมี นักข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ Shahr News Agency ถูกเรียกตัวมาสอบปากคำที่เรือนจำเอวิน ซึ่งเป็นที่กุมขังนักโทษการเมืองในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 66 หลังเข้าไปในเรือนจำ ก็ไม่มีใครสามารถติดต่อหาเธอได้อีกเลย

เช้าวันต่อมา (22 ม.ค. 66) เมห์รนูช ซาเร และซาอีด ชาเฟียอิ ก็ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำเช่นกัน การจับกุมนักข่าวทั้ง 3 รายเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่การประท้วงใหญ่จากการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี มีนักข่าวถูกจับแล้วกว่า 55 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงกว่า 25 ราย

โจนาธาน ดาเกอร์ หัวหน้าโต๊ะตะวันออกกลางของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกมาเรียกร้องว่า "สาธารณรัฐอิสลามต้องปล่อยตัวเมลิกา ฮาเชมี เมห์รนูช ซาเร และซาอีด ชาเฟียอิ และนักข่าว ช่างภาพ และบล็อกเกอร์คนอื่นๆ ทั้งหมดโดยทันที"

"ความถี่ในการจับกุม ยอดตัวเลข และความโหดร้าย ทั้งหมดนี้ฉายให้เห็นภาพของรัฐบาลที่จงใจตัดขาดการไหลเวียนของข้อมูล แต่นักข่าวก็เป็นนักสู้ไม่แพ้กัน ทั้งที่ถูกจับอย่างไม่รู้จบ พวกเขาก็ยังคงทำงานต่อไปอย่างกล้าหาญ" โจนาธาน กล่าว

เมห์รนุช ซาเร เป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ที่เขียนข่าวให้กับสื่อหลายแห่ง เช่น ILNA, ISKA และ Chelcheragh ก่อนที่เธอจะถูกจับกุมขณะกำลังอยู่หน้าบ้านของเธอในกรุงเตหะราน ข้อมูลของ HRANA สำนักข่าวด้านสิทธิมนุษยชนอิหร่านระบุว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มาบ้านของเธอไม่ได้แสดงตนว่ามาจากสังกัดหน่วยงานใด

หลังจากตรวจค้นบ้านและยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเธอ เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมเมห์รนุช ซาเร และนำตัวเธอขึ้นยานพาหนะ ขับไปยังเรือนจำเอวิน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงออกมาจากทางการอิหร่านว่าเธอถูกจับกุมในข้อหาใด

ในเช้าวันเดียวกัน กองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามได้ทำการจับกุม ซาอีด ชาเฟียอิ นักข่าวฟรีแลนซ์ที่เคยร่วมงานกับสำนักข่าว Donyaye Eghtesad, Shargh, และ Insaf News ในสถานที่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ฮัสซาน โฮมายอน สามีของเธอเปิดเผยในทวิตเตอร์ว่าเขาได้รับการติดต่อจากเธอขณะอยู่ในเรือนจำเอวินในช่วงเที่ยงของวันที่ 23 ม.ค.

รายงานหลายแห่งระบุว่า ซาอีด ชาเฟียอิ ถูกตั้งข้อหา "โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านระบบและกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคง" ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่การประท้วงใหญ่ในอิหร่าน จากกรณีการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินีเป็นต้นมา นักข่าวหญิงถูกจับเป็นสัดส่วนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ตั้งแต่เข้าปี 2566 เป็นต้นมา ทางการได้จับกุมนักข่าวและช่างภาพไปแล้ว 8 ราย เพียงเพราะปฏิบัติหน้าที่สื่อของตนเอง ในจำนวนนี้ 4 รายได้รับการประกันตัวแล้วและอยู่ระหว่างพิพากษาโทษ แต่การปล่อยตัวในกรณีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะในช่วงที่ผ่านมา ศาลอิหร่านมักตัดสินโทษจำคุกแก่นักข่าวเป็นเวลานาน

ตัวอย่างเช่น อาห์มัด ฮาลาบิซาส ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลากว่า 27 วันในช่วงแรกของการประท้วง เพิ่งแจ้งเมื่อ 16 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าเขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีที่เรือนจำเอวิน วันถัดมา (17 ม.ค.) อาลิเรซา คูชบัต ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อ 22 ก.ย. 65 และได้ประกันตัวหลังผ่านไป 94 วัน ถูกศาลสั่งจำคุก 6 ปีในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ

จับช่างทำป้ายหลุมศพ

ในรายงานอีกฉบับหนึ่งของ Iran International เมื่อ 20 ม.ค. อ้างอิงจากคาเมเลีย ซาจจาดีอัน แม่ของผู้ประท้วงคนหนึ่งที่ถูกกองกำลังอิหร่านยิงเสียชีวิตระหว่างการประท้วง ระบุว่าช่างหินคนหนึ่ง ที่ถูกจ้างมาให้ทำป้ายหลุมศพแก่โมฮัมหมัด ฮอสเซนี ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอิหร่าน

คาเมเลีย ซาจจาดีอันโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ในวันพฤหัสบดี (19 ม.ค. 66) ว่าเพื่อนของเธอแจ้งข่าวนี้กับเธอ และทางการอิหร่านได้ควบคุมเพื่อนร่วมงานของช่างหินคนดังกล่าวไปด้วย ในข้อหาพยายามวัดขนาดหลุมศพเพื่อสร้างป้ายหินให้แก่ผู้เสียชีวิต เธอให้ความเห็นว่า "เธอไม่เคยเจอความโหดร้ายที่ไหนในโลกแบบนี้มาก่อน"

"รัฐบาลที่มองว่าตัวเองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค กลับกลัวป้ายหินบนหลุมศพของคนตาย" คาเมเลียตั้งข้อสังเกต

โมฮัมหมัด ฮอสเซนี ผู้ประท้วงชาวอิหร่านวัย 39 ปี ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เมื่อ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่าน ทั้งที่หลักฐานยังคงขาดความชัดเจน ฮอสเซนีไม่ปรากฎว่ามีสมาชิกร่วมครอบครัวเลย และเสียชีวิตไปอย่างเดียวดาย

การเสียชีวิตของโมฮัมหมัด ฮอสเซนี ก่อให้เกิดกระแสประณามอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ตามธรรมเนียมประเพณีของครอบครัวอิหร่านที่ไว้แก่อาลัยเมื่อสูญเสียสมาชิกอันเป็นที่รัก ประชาชนได้ทยอยมารวมตัวกันที่หลุมศพ วางดอกไม้ และแจกจ่ายอาหารคาวหวาน เพื่อให้เกียรติและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตเป็นระยะ

นับตั้งแต่เกิดประท้วงใหญ่ในอิหร่านเป็นต้นมา ปัจจุบันมีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอไปแล้ว 4 ราย มีอีก 11 รายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ และในจำนวนนี้หลายคนไม่ได้ถูกฟ้องในข้อหาฆาตกรรม ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ประท้วงอีกอย่างน้อย 100 รายที่ถูกฟ้องในข้อหาที่อาจมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการอิหร่านพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการติดตั้งป้ายหินบนหลุมศพของโมห์เซน เชคารี ผู้ประท้วงคนแรกที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตโดยสาธารณรัฐอิสลาม ต่อมาเจ้าหน้าที่อิหร่านยังทำการทุบป้ายหลุมศพที่ถูกนำมาติดแบบหลบซ่อนไว้ทิ้งอีกด้วย

 

 

เรียบเรียงจาก

An everyday occurrence in Iran: three more women journalists jailed in Tehran, marking 55 arrests since the start of protests

An unprecedented number of women journalists are now detained in Iran

Iran Arrests Stonemason Who Made A Tombstone For Hanged Protester

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท