ขบวนประชาชนเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง เลิกม.112 มุ่งหน้าศาลอาญา

ขบวนประชาชนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลอาญา รัชดาฯ ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก ม.112 

25 ม.ค.2566 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มทะลุวัง โมกข์หลวงริมน้ำ 24มิถุนาฯ ประชาธิปไตยและกลุ่มแรงงาน พร้อมประชาชนรวมตัวกันตั้งขบวนคาร์ม็อบเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองและสนับสนุนข้อเรียกร้องของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ์ ภู่พงศ์หรือแบม โดยจะเดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ และจะสิ้นสุดกิจกรรมในเวลา 4 โมงเย็นที่หน้าศาล

เนติพร เสน่ห์สังคม

เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ขึ้นปราศรัยย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อดังกล่าวที่จะยื่นถึงศาลอาญาวันนี้ประกอบด้วย

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่ใช่พียงแต่กับคดีการเมือง ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการศาล ประชาชนจะได้ประโยชน์จากข้อเรียกร้องนี้

2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง และปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดที่ตอนนี้มีอยู่ 16 คน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ทานตะวันและอรวรรณถอนประกันตัวเอง

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องสนับสนุนการยกเลิก ม.112 และ ม.116 เพราะรัฐเอามาใช้ในการปิดปากและทำให้พวกเราเหนื่อยอ่อนในการต่อสู้ โดยต้องเป็นการยกเลิกเท่านั้นเราไม่เอาการแก้ไขปรับปรุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นเวลา 13.15 น. ขบวนจึงเริ่มเดินทางออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยออกไปทางสะพานปิ่นเกล้า ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานพระราม 7 วงศ์สว่าง ก่อนเข้าถนนรัชดาฯ และมีการประกาศว่าในการเคลื่อนขบวนมวลชนจะไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ และทางผู้จัดได้ทำเรื่องขออนุญาตแล้ว ถ้าหากเกิดความรุนแรงใดๆ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบ

15.30 น. โดยประมาณ หลังจากขบวนประชาชนเดินทางถึงบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ธัชพงษ์ แกดำ หรือบอย กล่าวว่าวันนี้จะเป็นการแสดงให้ผู้มีอำนาจที่จับคนเข้าคุกดำเนินคดีได้เพราะเห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวแล้ว การมาทำกิจกรรมวันนี้ของพวกเขาจะแสดงพลังให้เห็นว่าประชาชนยังสู้อยู่และการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะกลับมาอีกครั้ง โดยการทำกิจกรรมวันนี้เป็นการยืนยันถึงการใช้สิทธิในการวิจารณ์ศาลได้ และศาลเดียวที่วิจารณ์แล้วตอบโต้ไม่ได้มีเพียงศาลพระภูมิเท่านั้น และข้อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของทานตะวันก็เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลหรือศาลเองก็พูดว่าจะปฏิรูป แต่กลับไม่มีการปฏิบัติ แล้วการเรียกร้องนี้จะผิดกฎหมายได้อย่างไร

เมื่อธัชพงษ์กล่าวเริ่มกิจกรรม มวลชนบางส่วนที่มารออยู่บนสะพานลอยหน้าศาลได้โปรยกระดาษที่ระบุถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ

จากนั้นเนติพรเล่าถึงเก็ต โมกข์หลวงริมน้ำว่า เธอเพิ่งได้รู้จักกันหลังจากออกจาเรือนจำและได้มาทำกิจกรรมร่วมกันตอนช่วงการประชุมเอเปคเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา

"เก็ตเป็นคนที่มีความกล้าหาญมา คำพูดที่เก็ตพูดกับบุ้งแล้วยังประทับใจจนถึงทุกวันนี้คือ เก็ตบอกว่า 112 มันเป็นแค่กระดาษใบถ้าเราไม่กลัวมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้" เนติพรเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้กลุ่มทะลุวังและโมกข์หลวงริมน้ำได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

เนติพรยังกล่าวถึงใบปอด้วยว่าสำหรับเธอแล้วใบปอเป็นทั้งน้องสาวและเพื่อนร่วมตายการที่ศาลตัดสินถอนประกันเป็นเรื่องที่อัปยศมาก เพราะน้องทั้งสองคนออกมาเรียกร้องในกิจกรรมช่วงการประชุมเอเปคก็เพียงแค่ต้องการให้เสียงของประชาชนเข้าไปถึงผู้นำที่มาประชุมเอเปค เพียงแค่ต้องการเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลหรือนายทุนมีหาแต่ผลกำไรกัน แต่เหตุผลเพียงเท่านี้ก็ทำให้ศาลตัดสินให้พวกเขาต้องเข้าไปในเรือนจำ

เนติพรยังกล่าวถึงทานตะวันและอรวรรณต่ออีกว่าวันที่เก็ตและใบปอโดนถอนประกัน ทั้งสองคนก็มาปรึกษากับเธอว่าต้องการถอนประกันตัวเองเพราะเห็นใบปอและเก็ตต้องเข้าไปในเรือนจำและยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ต่อสู้ร่วมกันมาต้องอยู่ในเรือนจำมากว่าปีแล้ว เป็นเรื่องที่ทานตะวันและอรวรรณรู้สึกเจ็บปวดมาก 

"แต่เป็นบุ้งเองที่ขี้ขลาดแล้วก็บอกกับน้องไปว่าขอเวลาได้ไหม ขอเวลาอีกอย่าเพิ่งรีบทำ มันไวเกินไป อย่าเพิ่งเสียสละตัวเองขนาดนั้น แต่น้องก็บอกกับบุ้งว่าถ้าหนูไม่ทำแล้วใครจะทำแล้วคนที่อยู่ในเรือนจำเขาอยู่มานานแล้วนะ" เนติพรเล่าถึงเหตุผลที่เลือกจะไม่ห้ามการตัดสินใจของทั้งสองคนและสนับสนุนทางเลือกของเพื่อนของเธอ และยืนยันจะยืนเคียงข้างผู้ต้องขังทุกคนจนกว่าทุกคนจะได้ปล่อยตัว

เนติพรกล่าวอีกว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ นั้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ทำได้ทันทีไม่ได้เป็นเรื่องนามธรรม การปล่อยนักโทษทางการเมืองมันเป็นดุลพินิจของศาลอยู่แล้วอีกทังผู้ต้องขังก็ไม่สามารถหลบหนีหรือยุ่งกับพยานหลักฐานอะไรได้ ทำไมศาลจึงไม่ปล่อยพวกเขาทั้งที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด 

เนติพรยังได้เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องที่สามว่า ขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคให้มีนโยบายสนับสนุนยกเลิกมาตรา 112 และ 116 มาตราที่เอาไว้กดหัวกดขี่ประชาชนแบบนี้ ไม่รู้ว่าเราจะเก็บมันไว้ทำไม" 

เนติพรยังได้กล่าวถึงคนที่สงสัยการกระทำของทานตะวันและอรวรรณโดยการตั้งคำถามกลับคนที่ออกมาสู้กับเผด็จการนั้นเคยสู้ชนะหรือไม่ ถ้ายังไม่เคย ก็ควรจะลองทุกวิธีการที่ทำได้ทั้งสองคนได้เสียสละแล้ว ก็ขอให้ทุกคนยืนเคียงข้างทานตะวันและอรวรรณทำให้ข้อเรียกร้องของทั้งสองคนเป็นจริง

หลังจากการพูดความรู้สึกต่อการคุมขังทานตะวัน อรวรรณและนักโทษการเมืองของผู้ที่มาร่วมแล้ว มีการประกาศว่าจะเคลื่อนขบวนไปเพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ทางศาลจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือ

เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ

“บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกล่าวในฐานะเพื่อนของผู้ต้องขังว่า เขารู้สึกทนไม่ได้และเจ็บปวดมากที่เห็นเพื่อนต้องทรมาน เขาไม่ได้สุดโต่งอะไรพวกเขาเพียงแค่เรียกร้องสิทธิพื้นฐาน สิทธิประกันตัวตามรัฐธรรมนูญหรือเรียกร้องอะไรเกินเลย ไม่ได้ต้องการปฏิวัติหรือทำลายระบอบการปกครอง ทั้งต้องติดกำไล EM เหมือนผมที่ไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำแต่โดนมาตรา 112 เพราะพูดเรื่องราวของรัชกาลที่ 7 ในประวัติศาสตร์

เกียรติชัยกล่าวอีกว่าทานตะวันต้องถูกกักขังในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกับติดคุกแม้จะได้ประกันตัวออกมา

"เรายังมีหลักการนี้อยู่มั้ย หลักการที่ว่าเราจะไม่ตัดสินก่อนว่าผิด เรามีจริงๆ เหรอครับ Presumption of Innocense ถ้าเรามีจริงทำไมผมต้องติด EM จนขาผมต้องเป็นแผล ทำไมตะวันต้องติดคุก 24 ชั่วโมงที่บ้าน ทำไมเก็ตต้องติดคุก เรามีหลักการเหล่านี้จริงๆ เหรอ" 

เกียรติชัยย้ำว่าผู้พิพากษาไม่ใช่ศัตรูของเราและหลายคนก้มีหลักการ มาพูดคุยด้วย แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีหลักการไม่ยอมคุยกับเด็กดีๆ อยากให้มาช่วยคุยดีๆ พวกเขาไม่ใช่ศัตรู และเขาก็เป็นคนเหมือนกับผู้พิพากษา และเขาก็เชื่อว่าผู้พิพากษาก็คงเจ็บปวดเหมือนกับพวกเขาที่ต้องเห้นเพื่อนร่วมชาติร่วมอุดมการณ์ใดๆ ต้องมาอดข้าวเหนื่อยล้าเพียงแค่เรียกร้องสิทธิประกันตัวที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินว่าผิดและขอร้องให้ช่วยเห็นใจพวกเขาด้วยและคงไม่อยากให้คนที่เพียงแค่ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ประเทศดีขึ้นต้องมาเสียชีวิต

"ผมได้ไปเรียนตอนเปิดเทอมแต่ใบปอเพื่อนผมไม่ได้เรียน เปิดเทอมแทนที่จะได้เรียนแต่ใบปอไม่ได้เรียนหนังสือเพียงเพราะร่วมชุมนุมเอเปค ท่านคิดว่ามันสมเหตุสมผล มันถูกต้องแล้วหรือครับ มันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นหรือ เพื่อนผมไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อนอีกคนกำลังอดน้ำอดข้าวเพียงเพราะเรียกร้องสิทธิประกันตัว เพียงเพราะหวังดีต่อบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย"
เกียรติชัยยังตั้งกล่าวต่อว่าประเทศนี้จะมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ปลอมๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งที่มี ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่พร้อมจะโกงวิถีทาง การเลือกตั้งแบบนี้คือเผด็จการจำแลงไม่ใช่ประชาธิปไตย

"ผมไม่รู้ว่าศาลจะตีความอย่างไรจะตีความว่าเขามาร่วมชุมนุมที่มีความไม่สงบวุ่นวาย แต่สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้เพื่อนเราแค่มายืนอย่างสงบ เรียกร้องสิทธิง่ายแค่ให้พวกเขาประกันตัว พวกเขาไม่ได้ขออะไรยากเลยแค่ขอให้ประกันตัว ให้ติดสินให้เสร็จก่อน ถ้าพวกเขาผิดก็ให้พวกเขาเข้าคุกตามกระบวนการ มันไม่ใช่เรื่องยาก มันไม่ใช่เรื่องที่ขอกันมาก พวกเขาไม่ได้ขออะไรยิ่งใหญ่ พวกเขาไม่ได้จะล้มล้างการปกครอง พวกเขาไม่มีอาวุธ มีแค่ปากมีแค่ไมค์" เกียรติชัยกล่าว

เกียรติชัยยังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องขอให้พรรคการเมืองสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 แม้เขาจะเข้าใจว่าพรรคการเมืองอาจจะกังวลเรื่องถูกยุบพรรค แต่ในประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันกษัตริย์อย่างญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีกฎหมายนี้ทำไมประเทศอื่นถึงทำได้ และขอให้ทุกคนสู้ในแนวทางที่ตัวเองทำได้ต่อไป

หนังสือที่ยื่นถึงอธิบดีศาลอาญามีการระบุหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนที่จะมีคำพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดและจะทำเสมือนบุคคลเหล่านี้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ซึ่งถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 29 การคุมขังบุคคลเอาไว้ก่อนที่คดีจะสิ้นสุดจึงขัดหลักการดังกล่าว แต่การจะควบคุมคุมขังจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้หลบหนี ดังนั้นการมีเงื่อนไขการปล่อยตัวอย่างการใส่กำไล EM ห้ามวิจารณ์กษัตริย์ และห้ามร่วมชุมนุมจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เกินกว่าเหตุ

อีกทั้งการที่ศาลเรียกทานตะวันไปไต่สวนถอนประกันจากเหตุชุมนุมต่อต้านการประชุมเอเปคเช่นเดียวกับที่ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์หรือใบปอ และ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ที่ศาลถอนประกันไปก่อนแล้วโดยที่อัยการและตำรวจที่รับผิดชอบคดีของทานตะวันไม่รู้เรื่องมาก่อนและอ้างว่าศาลมีอำนาจในการเรียกไต่สวนถอนประกันได้เอง ยังเป็นเหตุให้ทานตะวันและอรวรรณตัดสินใจถอนประกันตัวเองเพราะเห็นว่าการไต่สวนของศาลนั้นขัดกับต่อสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งศาลก็จะถอนประกันทั้งสองคนอยู่แล้ว ในคำร้องขอถอนประกันของทานตะวันยังระบุอีกว่าเงื่อนไขประกันตัวของศาลขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและทำให้มีข้อเรียกร้องทั้งสามข้อดังกล่าว

นอกจากนั้นประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังมีเหตุจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวแต่รัฐบาลกลับใช้มาตร 112 และมาตรา 116 กับประชาชนเพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเมื่อคดีเข้าสู่ศาล ศาลยังสั่งให้คุมขังประชาชนเหล่านั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการคุกคามประชาชน

ในหนังสือที่ยื่นยังได้มีการย้ำข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของทานตะวันและอรวรรณ โดยระบุว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการขอให้ศาลคำนึงถึงหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎร ไม่ให้ศาลเป็นเครื่องมือและถูกแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก

“ดังนั้นการที่ตะวันและแบมยอมใช้ชีวิตที่เจ็บปวดที่อาจถึงแก่ชีวิต ก็เพื่อแสดงให้สังคมเห็นคุณค่าของคำว่า “สิทธิ เสรีภาพและความยุติธรรม” นั้นมีความหมายยิ่งกว่าลมหายใจของตนเองเป็นความต้องการรของประชาชนที่จะทำให้สังคมไทยมีความก้าวหน้าด้วยสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและประชาธิปไตย” ถูกระบุไว้ท้ายหนังสือเพื่อขอให้ศาลทำตามข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของทานตะวันและอรวรรณ

หลังการยื่นหนังสือรถเครื่องเสียงจึงประกาศยุติกิจกรรมในเวลา 17.00 น.

รวมภาพกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท