Skip to main content
sharethis

"เพชร" รัฐมหาวิรุฬห์กร หนึ่งในสมาชิก "ดึงดิน" นักกิจกรรมที่ลุกขึ้นมาตั้งนามสกุลใหม่ให้ตัวเอง เมื่อความคิดทางการเมืองไปคนละทิศทางกับพ่อแม่อนุรักษ์นิยม เพชรไม่ใช่คนแรกที่ยอมแลก "ชื่อ-สกุล" ของตัวเอง เพื่อยืนยันอุดมการณ์และความคิดความเชื่อทางการเมือง ยังมีนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนที่ละทิ้งชื่อ นามสกุล หรือครอบครัวของตัวเอง และเลือกยืนข้างประชาธิปไตย

 

หลังเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชีวิตของ เพชร-เอเชีย รัฐมหาวิรุฬห์กร เด็กเทคนิคสาขาก่อสร้าง วัย 20 ปีก็ได้พบเจอหลายเหตุการณ์ ใน #ม็อบ18พฤศจิกา65 ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ เพชรเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมแนวหน้าที่ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. กระทืบและใช้กำลังจับกุมตัวไป ก่อนที่ไม่นานความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมจะทำให้ พายุ ดาวดิน ต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาไปด้วยผลของกระสุนยางที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ยิงใส่ผู้ชุมนุม

ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางกายภาพที่เพชรได้รับหลังร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเขากับครอบครัวก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อพ่อเอ่ยปากไล่ให้เขาไปเปลี่ยนนามสกุล และหยุดส่งเสียลูกชายที่เห็นต่างเรียนหนังสือ ความเห็นทางการเมืองกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างพ่อที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและลูกชายที่เชื่อในประชาธิปไตย

“ดึงดิน” ความคิดที่จะดึงปัญหาชีวิตของคนชายขอบขึ้นมาในสังคม

เพรชเป็นหนึ่งในสมาชิก “ดึงดิน” กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหน้าใหม่จากอีสาน ดึงดินเกิดการรวมตัวกันของคนอายุ 19 – 20 ปีในจังหวัดอุดรธานี พวกเขาแค่เชื่อในประชาธิปไตยและเชื่อว่าคนเท่ากันได้ กลุ่มดึงดินจึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพูดเรื่องการเมืองในสายตาของคนรุ่นใหม่ และสื่อสารปัญหาชีวิตผู้คนระดับล่างในสังคม เช่น คนไร้บ้าน คนแก่ยากจนที่ไม่มีใครดูแล หรือชาวบ้านที่ต่อสู้ในประเด็นทรัพยากร ฯลฯ

เพชรเติบโตในครอบครัวที่สนใจการเมืองระดับหนึ่ง ตอนเด็กตากับยายเป็นคนที่พาเขาไป “ม็อบเสื้อเขียว” ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ต่อต้านเหมืองแร่โปแตช “ผมจำปีไม่ได้ แต่น่าจะเป็นปีเดียวกับที่กลุ่มดาวดินมาช่วยพี่น้องที่นี่ ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่อง เพราะผมยังเด็กมาก จำความแทบไม่ได้” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เพชรรับรู้ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่อีสาน

ไม่แปลกที่เมื่อขบวนการประชาธิปไตยเบ่งบานในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ เพชรที่โตพอแล้วจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว

จังหวะชีวิตที่โตมากับยุค “ประยุทธ์”, พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และการลงถนนของคนรุ่นใหม่ เป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่จะทำให้เพชรสนใจการเมือง จนถึงเคยเข้ากรุงเทพไปเป็นการ์ดให้กับกลุ่มวีโว่ (Wevo)

คุณเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังตอนไหน

เพชร : ช่วงที่เข้าไปเรียนเทคนิคอุดรฯ เริ่มจากในวิทยาลัย ตอนเทอมแรกมีโควิด-19 พอดี ต้องเรียนออนไลน์สลับกับออนไซต์ เรารู้สึกว่ามันไม่คุ้ม ถ้าจะเสียเงินค่าเทอมเต็มๆ ตอนเทอมสองผมเลยไปติดป้ายตั้งคำถามกับค่าเทอมที่จ่ายไป แล้วพวกเราต้องเรียนออนไลน์ เงินที่เหลือมันไปเข้าใคร เอากระดาษไปติดป้าย ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก  

ผมเรียนตรงนั้น เรียนก่อสร้าง สถาปัตยกรรมออกแบบ เราต้องไปลงสนามในการใช้กล้อง ต้องไปตีไม้ ผสมปูน มันเป็นหนึ่งในวิชาเรียน แต่ว่าเราไม่ได้เรียนออนไซต์ก็ยังต้องจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ เพราะเขาบังคับจ่าย  

ผมโดนตัดคะแนนความประพฤติ ตัดไป 40 คะแนน ถ้าอีก 10 คะแนนก็ไม่เชิงว่าไล่ออก ก็คือให้ย้ายที่เรียน ผมเหลือ 10 คะแนน เราก็ติดป้ายไม่ได้ปิดหน้านะ ผมทำทุกอย่างปกติหมดเลย

 

แล้ว “ดึงดิน” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก่อตั้งกันมานานแค่ไหนแล้ว

เพชร : หลังจากที่ผมลาออกจากมหาวิทยาลัยที่โคราช ผมมีแผนจะกลับมาเรียนที่เทคนิคอุดรฯ ช่วงนั้นมีเพื่อนๆ ที่รู้จักกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพื่อนม.4 บ้าง ป.3 บ้าง มานั่งคุยกัน พอมานั่งมองหน้าเพื่อนตัวเอง “เออ พวกนี้ก็ทำได้นี่หว่า” ทำได้ในแง่พวกเราก็มีความคิดเห็นที่ตรงกันในระดับหนึ่งเกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และตั้งคำถามต่อสถานบันกษัตริย์ในแง่มุมที่คล้ายกัน

ตอนแรกคนในดึงดินลองลงพื้นที่ไปดูคนยากไร้ เอาข้าวไปให้คนไร้บ้านไหม ไปดูแลคนแก่ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มันไปได้นะ สนุกดี ก็เลยทำกลุ่มกันขึ้นมา

มีอยู่เคสหนึ่งชื่อตาบุญสงค์ บ้านแกอยู่ไม่ไกลผมเท่าไหร่ ตาบุญสงค์ชอบเดินข้างถนน เดินถือไม้เท้า ตาก็ไม่ค่อยดี ผมรับแกไปส่งบ้าน แล้วไปเห็นว่าสภาพบ้านแกสภาพแย่ แกมีลูกหลานนะ แต่เหมือนลูกหลานไม่ได้มาทำความสะอาดให้ เขามีปัญหาเรื่องยาเสพติด เราก็เลยพากันไปทำความสะอาดบ้านให้ใหม่ ล้างห้องน้ำ เอาเตียงนอนไปให้ใหม่ ซึ่งเป็นเตียงนอนของเพื่อนผม เอาข้าวสารอาหารแห้งไปให้เผื่อว่าญาติแกแถวนั้นจะทำกับข้าวให้ เพราะเราไม่สามารถที่จะดูแลแกตลอดเวลาได้

ครั้งนั้นเป็นกิจกรรมแรกที่ทำด้วยกัน

ดึงดินตั้งมาได้ประมาณปีกว่าแล้ว สมาชิกปัจจุบันมี 7 คน เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ เพื่อนๆ กัน แล้วก็รุ่นน้องในเทคนิค ความสนใจของดึงดินไม่ตายตัว เปลี่ยนมาเรื่อยๆ การเมือง สิ่งแวดล้อม ตามรูปแบบของสมาชิกว่าเขาจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเวลาเราทำกิจกรรมหนึ่งมันไม่ได้ส่งผลแค่กับเราคนเดียว มันส่งผลกับทั้งกลุ่ม ก็เลยต้องคุยกันเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา

เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือใครมาจับตามองพวกคุณบ้างไหมเวลาที่ดึงดินออกไปทำกิจกรรม

เพชร : เคยครับ ผมมี ตอนทำเพจใหม่ๆ ต้องยอมรับตรงๆ เลยว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราสักแต่ว่าอยากจะทำอย่างเดียว ไม่ได้สนใจอะไรเลย วันนั้นเป็นวันเกิดของรัชกาลที่ 10 พวกเราไปยืนชูสามนิ้วอยู่หน้ารูปที่เทศบาล

เช้าวันต่อมาตำรวจมาลงทันทีเลย ไปบ้านคนที่อยู่ในรูป ไปข่มขู่คุกคามตามสไตล์ตำรวจไทย ถามว่าชื่ออะไร ใครทำ แต่ก็ไม่ได้มีถึงขั้นทำร้ายร่างกาย

มีเหตุการณ์หลายครั้งที่เราโดนตำรวจคุกคาม ยิ่งช่วงที่จะมีขบวนเสด็จมาอุดรฯ เจ้าหน้าที่ตามไปถึงบ้านพ่อแม่ ตามไปที่วิทยาลัย เพื่อถามว่าหอของสมาชิกดึงดินอยู่ตรงไหน จะได้ส่งตำรวจไปเฝ้าดู

ไม่ใช่แค่ดึงดิน แต่โดนกันทุกกลุ่มในอุดรฯ นักกิจกรรมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้แปลกใจที่เขาจะมาดูพวกเรา

จากกิจกรรมที่เคยไปชู 3 นิ้ว คิดว่าชื่อพวกเราน่าจะไปอยู่ในสารบบของตำรวจเรียบร้อยแล้ว

อย่างนี้คุณก็เคยไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับหลายๆ กลุ่ม ตั้งแต่โคราชจนกลับมาที่อุดรฯ

เพชร : ในภาคอีสานจะมีการรวมตัวกันของสมาชิกนักเคลื่อนไหวในอีสานจำนวนหนึ่ง ชื่อว่า “ราษฎรโขง ชี มูน” เป็นกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวอีสานในเกือบ 20 -30 กลุ่ม พื้นที่ตรงนี้ทำให้เราได้รู้จักใครหลายๆ คน ได้ ถ้าไปกรุงเทพก็ไปหาหนังสือหาแรงบันดาลใจมาจากคนโน้นคนนี้  

ทำไมถึงตั้งชื่อกลุ่มว่า “ดึงดิน”

เพชร : ตอนนี้ไอ้คนตั้งชื่อไปเป็นทหารเกณฑ์แล้ว จับได้ใบแดง 2 ปี หลังจากที่เราไปทำกิจกรรมที่บ้านตาบุญสงค์ เราก็มานั่งคุยกัน แต่ละคนก็เลยเสนอชื่อกลุ่มกัน สุดท้ายก็มาตกได้ที่ดึงดิน

ดึงดินความหมายของมันก็คือ การดึงคนรากหญ้าหรือคนชายขอบขึ้นมาให้เขาได้มีโอกาส มีพื้นที่ในการหายใจ มาตรฐานของดึงดินคือการมองว่าคนเท่ากัน ซึ่งสังคมทุกวันนี้มันไม่เท่ากัน เราเลยอยากจะดึงเขาขึ้นมา แค่นี้เลยความหมายของชื่อ

การเคลื่อนไหวต่างๆ ส่งผลกระทบกับการเรียนคุณบ้างไหม

เพชร : มีครับ ก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เราไม่ค่อยมีเวลาเรียนเต็มตัว ไม่ค่อยได้แบบมีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวมากเท่าเดิม มันเป็นเรื่องที่ไปด้วยได้กันยาก ระหว่างทำกิจกรรมการเมืองและเรียนไปด้วย ช่วงที่มีม็อบปี 2563 อย่างเช่น 14 ตุลาฯ ก็ไปกับเขา ไปกินแก๊ส (ประชด) สนุกนะ

คนอายุ 19 - 20 ปี ไปเป็นการ์ดในม็อบไม่กลัวเหรอ

เพชร : กลัวดิ (หัวเราะ)

แล้วทำไมยังไป

เพชร : เอาจริงๆ ตอนนั้นมันไม่ได้กลัวอะไรเลย โคตรเลือดร้อน ผมเข้าใจพวกวัยรุ่นเลือดร้อนเลยมันเป็นยังไงพอเจอกับตัวเอง

วันนั้นผมไปกรุงเทพ ช่วง 14 ตุลา จังหวะที่แก๊งทะลุฟ้าโดนหิ้วไปก่อนแล้ว ผมไปกับพี่ที่อยู่ในกลุ่มโคราช movement ขี่มอเตอร์ไซค์จากอุดรฯ ไปโคราช แล้วนั่งรถมินิบัสจากโคราชไปกรุงเทพ ระหว่างทางเราได้เห็นข่าวว่าพี่เราโดนแก๊สน้ำตา มันโกรธอยากอยู่ตรงนั้นด้วย ตอนนั้นก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ากลัวหรือว่าอะไร 

แต่มานึกทีหลัง ทำไปได้ไง เราเพิ่งอายุแค่นี้เองจะเอาชีวิตไปทิ้งตรงนั้นแล้ว ซึ่งเหตุการณ์วันนั้นมันมีการยิงกันจริงๆ

เพชรขณะถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายร่างกาย ในม็อบ "ราษฎรหยุด APEC 2022"

แต่ใน #ม็อบ18พฤศจิกา65 ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ คุณก็ยังไปทำหน้าที่การ์ด และเป็นคนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายร่างกายและจับกุมในวันนั้น ทำไมถึงไป

เพชร : ผมไปในนามของ “ราษฎรโขง ชี มูน” ไปดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องสมัชชาคนจน และมีการคุยกันว่าจะโยนรถตำรวจ เอาสลิงมาดึงให้สิ่งกรีดขวางนี้ออก เพื่อประชาชนจะได้เดินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปได้ พอเราดึงเจ้าหน้าที่ คฝ. ก็กรูกันเข้ามา และเริ่มมีการใช้ปืนที่ใส่กระสุนยางยิงแล้ว

ผมโดนจับจังหวะที่ดึงสลิง ตอนเข้าไปช่วยพี่คนหนึ่งที่โดน คฝ. ประมาณ 2 – 3 คนดึงอยู่ ซึ่งตัวพี่เขาติดอยู่กับสลิง ดึงกันจนผมกลายเป็นคนที่ถูกดูดเข้าไปด้วยอีกคน ก็เลยไปอยู่ในท่านั้น (ถูกกระทืบ)

“ตอนนั้นโดนทุกอย่างเหยียบหัว กระทืบ เตะ จิกหัวแล้วก็ลากไปกับพื้น เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่มารุมน่าจะมี 10 คนบวกๆ ตอนที่โดนเตะเจ็บมาก เราไม่เคยโดนอะไรที่เจ็บขนาดนั้นมาก่อน น่วมครับ เป็นครั้งแรกที่โดนกระทืบ และเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก เราไม่คิดว่าจะถูกกระทำขนาดนั้น” เพชร กล่าว

ผลกระทบอีกอย่างหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แล้ว ผมไม่ได้เห็น movement ของสังคมในภาพใหญ่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มีคนตาบอด ข่าวช่องหลักนำเสนอเรื่องนี้ไหม บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น มีแต่คนบนถนนดินสอที่รู้

 

รัฐมหาวิรุฬห์ : 'การเมือง' แตกหัก 'ครอบครัว'

 
รู้มาว่า การเคลื่อนไหวทางเมืองทำให้คุณกับพ่อแตกหักกัน เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

เพชร : เขาไล่ให้ไปเปลี่ยนนามสกุล

ผมซิ่วมาเรียนที่อุดรฯ ก่อนหน้านี้เรียนวิศวะอยู่ที่โคราช ที่สำคัญเลยคือเรามีปัญหากับครอบครัวจากสิ่งที่เราทำ การที่เราเคลื่อนไหว ไปแอคชั่นอยู่กรุงเทพ อะไรทำนองนี้ที่พ่อผมรับไม่ได้

ผมไม่ได้บอกพ่อ

พ่อส่งเรียน ตอนที่อยู่โคราชผมไม่รู้ว่าพ่อเขารู้มาได้อย่างไงเหมือนกันว่าผมไป เพราะผมพยายามบล็อคทุกช่องทางออนไลน์ พอเขารู้ก็เลยมีปัญหาทะเลาะกัน จุดนี้ทำให้ผมไม่ได้เรียนโคราช และซิ่วย้ายมาเรียนที่เทคนิคอุดรฯ

หลังจากนั้นพ่อกับผม เราก็ขาดกันเลย

คุณคิดอย่างไรที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตย แต่มีพ่อเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม

เพชร : ผมรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่โคตรไม่ควรเกิดขึ้นกับสถาบันที่เราเรียกว่าครอบครัวเลย ความเห็นต่างผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ปกติมากนะ แต่ด้วยความที่เรากับพ่อพอเห็นต่างกัน แล้วเราไปทำกิจกรรมการเมือง แต่ว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบส่งเราเรียน พอมีปัญหาตรงนั้นก็เลยไม่ได้เรียน

ต้องเล่าย้อนกลับไปว่าพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมยังเด็กมากๆ ผมจำความไม่ได้ เราเพิ่งกลับมาเจอกันตอนผมอยู่ ม.3 เพิ่งรู้ว่าอ๋อคนนี้เหรอคือพ่อเราตอน ม.3 แต่ผมใช้นามสกุลเขา จนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 กระแสม็อบเริ่มมา เราก็ไปเข้าร่วมกับกลุ่ม “โคราช movement” ไปทำกิจกรรมกับเขา พ่อดันรู้เรื่องก็เลยทะเลาะกัน

พอทะเลาะกันก็แตกหัก ตอนแรกผมจะแตกหักกับแม่ผมเองด้วยซ้ำ 

แค่ไปม็อบที่กรุงเทพ เราจะต้องไม่ใช่ลูกเขาเลยเหรอ สุดท้ายก็ขาดกับพ่อเลย ตอนนั้นเรายังไม่เปลี่ยนนามสกุลนะ จนมาอีกสักพักผมเริ่มแชร์บทความอะไรสักอย่างลงในเพจ แล้วพ่อก็เลยแคปหน้าจอส่งผ่านมาทางน้องชายผมว่า แบบนี้มันเสียหายถึงวงศ์ตระกูลนามสกุลนะ ถ้าไม่เคารพกันแล้วให้ไปเปลี่ยนนามสกุล

ผมก็เลยไปเปลี่ยนนามสกุล

รัฐมหาวิรุฬห์ คุณเปลี่ยนมาใช้นามสกุลแม่เหรอ

เพชร : ผมเป็นคนแรกของนามสกุลนี้ รัฐมหาวิรุฬห์ พี่ที่อยู่ในขบวนตั้งให้ 

ทำไมไม่เลือกกลับไปใช้นามสกุลแม่

เพชร : ผมไม่อยากทำให้นามสกุลใครเสื่อมเสียชื่อเสียง นามสกุลใครป่นปี้เพราะผม ถ้าผมพังก็ขอให้พังคนเดียวพอ ตอนแรกจะเปลี่ยนชื่อด้วย แต่ว่าแม่ขอไว้

แม่ขออะไรอีกเกี่ยวกับความเป็นห่วงที่คุณออกมาเคลื่อนไหว

เพชร : ก็ขออย่าให้โดนจับ ดูแลตัวเอง แม่เป็นห่วงเหมือนฟิวส์แม่ห่วงลูกทั่วไป หลังจากที่เคลียร์ใจกันแล้ว อันนี้อธิบายให้เห็นภาพคือว่าแม่เป็นห่วงไม่อยากให้ต้องไปเจอกระสุนยาง เจอแก๊สน้ำตา โดนกระบองฟาด แม่รับไม่ได้หรอก ผมก็เข้าใจในความเห็นของแม่

สิ่งที่แม่ขอไว้ ถ้าคุณจะเคลื่อนไหวหรือคุณจะทำกิจกรรมก็ให้ระวังตรงนี้ แค่นั้นเอง

แม่กับพ่อผมเป็นสลิ่มทั้งคู่ พ่อเคยไปร่วมม็อบ กปปส. ไปเป่านกหวีด สะบัดธงกับเขา ช่วงปี 2556 และเขาก็มีเพื่อนเป็นทหารค่อนข้างเยอะ ทุกวันนี้ก็ยังคลุกคลีกับวงทหารอยู่ ไม่ได้ทิ้งลายของการเป็นสลิ่มออกไปเลย 

ผมเรียกว่าอนุรักษ์นิยมแล้วกัน ไม่อยากเรียกว่าสลิ่ม

แต่ของแม่เราคุยกัน ก็ยังไม่รู้นะว่าแม่เปลี่ยนหรือยัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร คุยกันได้แล้วเคารพกันก็พอ

ถ้าให้มองย้อนกลับมาในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณจะเสียใจไหมที่เลือกประชาธิปไตย ไม่ได้เลือกพ่อ

เพชร : ถ้าเป็นตัวเลือกนี้ ผมไม่ได้รู้สึกว่าพ่ออยู่ในสมการชีวิตตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ก็เลยไม่เสียใจ

มีอะไรอยากพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกไหม

เพชร : อยากย้ำเรื่องประเด็นครอบครัวครับ ผมไม่ได้อยากเห็นใครต้องมาทะเลาะกัน หรือต้องมาตัดขาดกันอย่างเคสของผมเพราะเรื่องความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

การที่คนเราเป็นพ่อเป็นแม่ เรามีเขาแล้ว เราก็ต้องดูแลเขาหรือเปล่า ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง เรามีหน้าที่ที่ต้องดูแลเขา ไม่ใช่ว่าถ้าคุณไม่อยู่ในกติกานี้แล้วเราจะเลิกดูแลคุณ

อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่อเมริกาหรือประเทศแบบที่เด็กอายุ 17-18 ปี จะสามารถทำงานพาร์ทไทม์แล้วมีตังค์เก็บดูแลตัวเองได้ เมืองไทยทำงานทั้งวันยัง 150 บาท 200 บาท 300 บาทอยู่เลย น่าสงสารชีวิตเด็กเหล่านั้นที่ต้องมาเผชิญโลกข้างนอก โดยที่สังคมไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรสำหรับเขาเลย ผมไม่อยากให้ใครมาเจออะไรแบบนี้ มันเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก 

เลวร้ายต่อจิตใจและเลวร้ายต่อตัวเด็ก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net