Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่อสู้คัดค้านเขื่อน ชี้ปัญหาการจัดการน้ำของรัฐกระทบสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของประชาชน เรียกร้องระงับโครงการเขื่อนบนน้ำโขงทันที 

25 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 16.30 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน เดินทางมาเรียนรู้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโขง ณ โฮงเฮียนน้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายมีการจัดงานกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมสุดยอดแห่งเอเชียของพันธมิตรรักษาน้ำ (Waterkeeper Alliance) ตลอดจนอ่านคำประกาศไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขงและทั่วประเทศ

การลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ได้รับรางวัล “Goldman Environmental” มีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการจัดบริหารจัดการแหล่งน้ำของตัวแทนในแต่ละประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยลดการสร้างเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งในงานนี้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กร Water Keeper จากต่างประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา บังกลาเทศ และเนปาล

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อายุ 63 ปี ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า เราต่อสู้มานานร่วม 20 กว่าปี เพื่อให้ยกเลิกการระเบิดแก่งหินตามแม่น้ำโขงระยะทางมากกว่า 96 กิโลเมตรในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนแถบลุ่มน้ำโขงจนมีคำสั่งยกเลิกได้จึงถือว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญ

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ทั้งนี้ปัญหาของแม่น้ำโขงก็ยังไม่หมดไป เนื่องจากมีปัญหาใหม่ตามมาคือการสร้างเขื่อนในจีน ในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เรามองเห็นแล้วว่าปัญหาผลกระทบในแม่น้ำโขงนั้นมาจากการสร้างเขื่อนเป็นหลัก ถึงแม้ในสถานการณ์โลกปัจจุบันจะมีวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า Climate change แต่ตัวเร่งปัญหาของแม่น้ำโขงคือการสร้างเขื่อน

สิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพราะต้องการที่จะร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีแนวคิดเดียวกัน ในการปกป้องทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เพราะเรามองว่าแม่น้ำคือวิถีชีวิตของชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่รัฐมีแนวคิดที่แตกต่างกันกับชุมชนและพยายามเข้าไปควบคุมหรือจัดการน้ำผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนทั้งในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ อย่างเช่น โครงการโขง ชี มูล ที่รัฐกำหนดนโยบายลงมา โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและนำมาสู้การเรียกร้องให้รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นบทเรียนของผลกระทบที่รัฐจะต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่กำหนดนโยบายต่อที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยอมรับ

ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ อายุ 28 ปี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและองค์กร Water keeper ร่วมกันยืนถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแม่น้ำโขง และอ่านคำประกาศ โดยมีเนื้อหาดังนี้ “เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและองค์กร water keeper ไม่เอาเขื่อนน้ำโขง” จากกรณีที่มีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนกว่า 12 เขื่อน และจะมีการสร้างใหม่ 11 เขื่อน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการน้ำที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศ ตลอดจนกระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขา

ภานุพงศ์กล่าวอีกว่า บทเรียนการจัดการน้ำในภาคอีสานชี้ให้เห็นชัดว่า โครงการ “โขง ชี มูน” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูน แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน โครงการนี้กลับถูกประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูน นักวิชาการและประชาชนทั่วไป วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐและความไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในหลากหลายมิติ


 

ตัวแทนเครือข่ายถึงบทเรียนจากกรณีเขื่อนในแม่น้ำโขง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชีว่า จากวันนั้นจวบจนวันนี้โครงการ โขง ชี มูน เดินทางมานานกว่า 30 ปี และหลายลุ่มน้ำในภาคอีสาน ภาพฝันกับความจริงกลับไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ และอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำให้ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และปัจจุบันรัฐพยายามผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน แต่พี่น้องในพื้นที่ต่างไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อนและไม่มีส่วนร่วม เราต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสมือนโครงการโขง ชี มูนเดิม ที่ผ่านมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและ water keeper จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) หยุดและทบทวนการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง

2) แก้ไขปัญหาเขื่อนในลุ่มน้ำโขงที่มีอยู่ และแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วม

3) ต้องมีการศึกษาองค์รวมของลุ่มน้ำโขงโดยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน

4.) ไม่เอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง เลย ชี มูน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net