รบ.ใหม่มาเลเซีย-ไทยกับทางออกขัดแย้งปาตานี 'ภาคประชาสังคม' ย้ำ 'สิทธิเสรีภาพทางการเมือง' คือประตูสำคัญ

  • หลังความพยายามตั้งข้อกล่าวหา ปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร ต่อแกนนำคนหนุ่มสาวมลายูที่จัดงานรวมพลมลายูรายอ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ย้ำบทเรียนจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง 'สิทธิเสรีภาพของประชาชน' เป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นแสวงหาทางออกทางการเมือง
  • พร้อมส่องทิศทางรัฐบาลใหม่ มาเลเซีย กับกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะการตั้งนายทหารระดับสูงเข้ามามีบทบาทในฐานะหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวก ขณะที่ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ โดยที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่พยายามผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งแห่งชาติ ให้เจตจำนงของรัฐสัมพันธ์กับข้อกฎหมาย

ความพยายามในการตั้งข้อกล่าวหา ปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร ต่อแกนนำคนหนุ่มสาวมลายู ที่จัดงานรวมพล มลายูรายอ เพื่อรณรงค์แสดงออกถึงศักดิ์ศรีทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมนั้น เป็นสัญญาณอันตรายต่อการคุกคาม สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวมลายู และถือเป็นอุปสรรคเงื่อนไขในการสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพ อันเป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ

เจะฆูฮาซัน หรือฮาซัน ยามาดีบุ นักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และคณะทำงานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ Civil Society Assembly For Peace หรือ CAP กล่าวถึง ความพยายามในการตั้งข้อกล่าวหา ปลุกปั้น อั้งยี่ซ่องโจร จากกรณีการรวมตัวของเยาวชนประมาณ 30,000 คน จัดกิจกรรม มลายูรายอ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565  แสดงออกถึงศักดิ์ศรีทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวมลายู

“ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงกำลังเตรียมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร มีการส่งข่าวกันเสมอว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผมและเพื่อนๆ  พวกเขากำลังซื้อเวลา เพื่อให้นักกิจกรรมมลายูเสียเวลากับการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม นี่เป็นความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของเราชาวมลายู ” ฮาซัน กล่าว

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูอัตลักษณ์วัฒนธรรม การปราศรัยของตนนั้น เพื่อให้เยาวชนตระหนักต่อบทบาทของตนเองในการปกป้องศักดิ์ศรี ประวัติศาสตร์รากเหง้าของชาวมลายู สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสรรค์ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมือง ในท้ายที่สุดการจัดกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ก่อเกิดการต่อสู้แนวทางสันติวิธี

“บทเรียนจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งบอกเราว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นแสวงหาทางออกทางการเมือง” มูฮัมหมัดอาลาดี กล่าว

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ

ความพยายามใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ที่เป็นข้อเสนอจากกระบวนพูดคุยสันติภาพ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อบรรยากาศความปลอดภัย ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคงไทยจะกังวลว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักกิจกรรมชาวมลายูในพื้นที่ สัมพันธ์กับข้อเรียกร้องบนโต๊ะเจรจาของขบวนการปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) ทรรศนะเหล่านี้ล้วนเคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์การจับกุมฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา อันเนื่องจากการปราศรัยตามชุมชนต่าง ๆ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จนนำไปสู่การมีฉันทามติร่วมของชาวมลายูในตอนนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ การรายงานของบรรดาสายลับต่าง ๆ ในพื้นที่ และการตีความของระดับนโยบายในอดีต จนนำมาสู่การจับกุม และอุ้มหายหะยีสุหลงในเวลาต่อมา การเปลี่ยนผ่านการต่อสู้ด้วยแนวทางการเมืองสู่การก่อเกิดขบวนการติดอาวุธจึงสัมพันธ์กับท่าทีเชิงนโยบายของรัฐบาลด้วย

รัฐบาลใหม่ มาเลเซีย กับทิศทางกระบวนการสันติภาพ

หลายฝ่ายต่างบอกกับว่า มันพอจะมีความหวังอยู่บ้าง อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดี หลังจากการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim)  และการแต่งตั้ง ซุลกิฟลี ไซนัล อาบีดิน (Gen. Zulkifli Bin Zainal Abidin) นายทหารระดับสูงเข้ามามีบทบาทในฐานะหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวก เนื่องจากเขาเป็นคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันการก่อการร้ายโดยตรง เป็นนายทหารที่เติบโตในแวดวงวิชาการการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ และมาเลเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา

อันวาร์ อิบราฮิม (ที่มา: เฟซบุ๊ก Anwar Ibrahim) 

ความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่มาเลเซีย โดยพรรคการเมืองหลักในการจัดตั้งรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมและประชาธิปไตย คุณค่าต่างๆ เหล่านี้ เป็นหนึ่งในหลักการ ที่เราคิดว่ามาเลเซียภายใต้รัฐบาลใหม่จะปกป้องหลักการต่างๆ เพื่อภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ดีของประเทศตนเอง

แต่หากมองทิศทางที่กำลังเกิดขึ้น โดยมิได้จัดวางวาระ กระบวนการสันติภาพ เป็นวาระหลักของทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซีย ความสำคัญอันดับต้นคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโรคระบาด Covid – 19 ทั้งสองประเทศจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ มากกว่า การจัดการความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานจากการแบ่งเส้นเขตแดนโดยอาณานิคมอังกฤษ 

จากการรายงานข่าวของ Defense Security Asia เกี่ยวกับประเด็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย Joint Development Area (JDA) อ้างว่าเหตุผลของไทยในการซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน คือการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อรองเจรจากับมาเลเซีย ในปี 2572 เกี่ยวกับข้อตกลงการพัฒนาร่วมจะสิ้นสุดลง เนื่องจากมาเลเซียมีศักยภาพความพร้อมทางทะเลที่เหนือกว่า

"การที่เรามีเรือดำน้ำในปี 2570 จะส่งผลต่อการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ส่งผลให้ไทยไม่เสียเปรียบ ผลประโยชน์ทางทะเลของชาติสูงถึง 24 ล้านล้านบาท เพราะลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำ วันนี้กว่าจะได้รับเรือคือปี 2570" พลเรือโท (ยศขณะนั้น) เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์  เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวไว้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เผยแพร่ทางไทยพีบีเอส

ความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยการกำหนดอนาคตตนเองของชาวมลายูปาตานี สัมพันธ์กับเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย มาเลเซียจึงมีสถานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคมลายูปาตานีนั้น จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศและมาเลเซีย

อีกด้านการตั้งข้อสังเกตต่อการแต่งตั้งหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ที่มาจากกองทัพนั้น สะท้อนว่ามาเลเซียให้ความสำคัญกับ เขตแดน อำนาจอธิปไตย เป็นสำคัญ อาจเป็นเหตุผลจากปฏิบัติการทางอาวุธของขบวนการเอกราชที่ถูกสงสัยว่าได้รับการสนับสนุนจากมาเลเซีย และกรณีการอุ้มข้ามแดนที่เกิดขึ้น ในอีกความหมายคือ การก่ออาชญากรรมในเขตอำนาจอธิปไตยของมาเลเซียกำลังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากประชาคมระหว่างประเทศ ที่สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย

การเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยต่อวาระการเจรจาสันติภาพ

การเลือกตั้งที่ผ่านมาให้บทเรียนกับชาวมลายูว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดที่พยายามผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งแห่งชาติ ให้เจตจำนงของรัฐสัมพันธ์กับ ข้อกฎหมาย หลักประกันจากรัฐสภา หรือนโยบายของรัฐบาล หลายต่อหลายครั้งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีสื่อสารสาธารณะ “ไม่รู้ ไม่รู้ ยังไม่ทราบ” ล้วนสะท้อนน้ำหนักในการให้ความสำคัญของรัฐบาลไทยต่อวาระการเจรจาสันติภาพ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าสำคัญต่อชาวมลายูปาตานี การพยายามหาเสียงเพื่อผลักดันวาระกระบวนการสันติภาพ การนำเสนอให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ล้วนเป็นความพยายามเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี สิ่งที่เป็นความหวังของชาวมลายูและคนไทยฝ่ายก้าวหน้า คือ การมีรัฐบาลพลเรือน ที่ให้ความสำคัญกับหลักประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เป็นรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมือง จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยแนวทางทางการเมือง เพราะการเจรจาสันติภาพนั้น อาจไม่สามารถหาข้อสรุปทางการเมืองบนโต๊ะเจรจา หากแต่เป็นการผลักดันนำเสนอ ความคิดเห็นทางการเมืองจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท