Skip to main content
sharethis

ตรีนุช รมว.ศธ. กังวล ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ’ อาจคลอดไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ หลังพิจารณาไปถึงมาตราที่ 14 จากกว่าร้อยมาตรา ด้าน ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ขอฝ่ายคัดค้าน เห็นแก่ส่วนรวม ชี้ข้อดีเพียบ

26 ม.ค. 66 มติชนออนไลน์รายงานว่า ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยละเอียดเป็นรายมาตรา ซึ่งขณะนี้พิจารณาถึงมาตราที่ 14 ก่อนที่จะปิดการประชุม เพื่อไปพิจารณาในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปนั้น ยอมรับว่า ตนมีความกังวลเช่นกันว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … อาจจะพิจารณาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีกว่า 100 มาตรา ประกอบกับขณะนี้ระยะเวลาเหลือน้อย และมีเวลาที่จำกัด แต่ตนเชื่อว่ารัฐสภาจะมีการจัดระเบียบ เรียบร้องความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้เสร็จเร็วที่สุด หรือเสร็จทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

ตรีนุช กล่าวต่อว่ากว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะดำเนินการมาถึงจุดนี้ก็ผ่านกระบวนการต่างๆ มากกว่า 5 ปี แล้ว ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อการศึกษา มีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงทำให้รัฐสภาจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศ 

ขอฝ่ายต้าน มองประโยชน์ส่วนรวม

ในวันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานคำพูดของ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า รัฐสภาจะพิจารณาร่างฯ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ในวาะ 2 และ 3 ภายในเดือนก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้เพื่อผลักดันกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปที่ห้องเรียนและตัวเด็กอย่างแท้จริง

“ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเพราะเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทย ได้เสนอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม แต่เสียงส่วนมากลงมติให้เดินหน้าพิจารณาต่อ ดังนั้น จึงมีความหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้ทันในรัฐบาลนี้ ส่วนกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน อยากให้มองประโยชน์ส่วนรวมและข้อดีของกฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียน ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคลากร งบประมาณ และแนวทางการจัดการเรียนการสอน รวมถึงงบประมาณที่จะส่งตรงถึงโรงเรียนโดยตรง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ตั้งแต่ช่วงที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ใช้งบไปกว่า 1 พันล้านบาท จึงไม่ควรทำให้เวลาและงบดังกล่าว เกิดความเสียเปล่าโดยไม่ได้ประโยชน์” นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net