เปิดคำให้การ 'ปิยบุตร' คดี ม.112 'ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์' คนละเรื่องกับ 'อาฆาตมาดร้าย'

เปิดคำให้การต่อพนักงานสอบสวนของ “ปิยบุตร” เลขาธิการคณะก้าวหน้า หลังถูก “เทพมนตรี ลิปพยอม” แจ้ง ม.112 และพ.ร.บ. คอมฯ ปิยบุตรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ชี้ ผู้แจ้งความมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง หากปล่อยให้ใครไม่ชอบหน้ากันฟ้อง ม.112 ได้ ระบบกฎหมายไทยจะสั่นคลอนและบิดเบี้ยว พร้อมชี้แจง การโพสต์ข้อความของตนประเด็น “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” , “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตย” ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.112 และไม่ใช่การหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

 

26 ม.ค. 2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล” เผยแพร่ “คำให้การคำให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต กรณีเทพมนตรีกล่าวโทษผมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” ตามที่ เทพมนตรี ลิปพยอม ไปร้องทุกข์กล่าวโทษปิยบุตร ต่อ สน.ดุสิต และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกและตั้งข้อหาว่าปิยบุตรว่ากระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 และกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น ปิยบุตรได้อ้างบุคคลเป็นพยานหลายปาก ให้พนักงานสอบสวนไปสอบพยาน

เบื้อต้นปิยบุตรได้ส่งคำให้การ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อพนักงานสอบสวน เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ และเพื่อให้สาธารณชนได้ร่วมกันพิจารณาพฤติกรรมของผู้กล่าวโทษ พิจารณาถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ อันจะช่วยชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ปิยบุตร จึงได้นำคำให้การรวม 11 หน้าของตน เผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนี้

 

คำให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต

ตามที่ พ.ต.ท.รามน้อย สายอ๋อง และ พ.ต.ท.พิชัย มีอัฐมั่น เจ้าพนักงานตำรวจประจำ สน.ดุสิต ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ข้าพเจ้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และในการกระทำความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ข้าพเจ้าขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอชี้แจงแก้ข้อหาและข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสี่ ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก ผู้กล่าวโทษมีความคิดอันเป็นปฏิปักษ์กับข้าพเจ้า

การตั้งข้อกล่าวหาต่อข้าพเจ้าในกรณีนี้เริ่มต้นจาก นายเทพมนตรี ลิปพยอม ได้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11.00 น. เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญากับข้าพเจ้าในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นายเทพมนตรี ผู้นี้ ได้แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเป็นไปในทางปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้าอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่นายเทพมนตรีไปร้องทุกข์กล่าวโทษข้าพเจ้า เขาได้โพสข้อความอันเป็นปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้าลงในเพจเฟสบุ๊คของเขาชื่อ “Thepmontri Limpaphayorm” รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เขาได้โพสข้อความในหัวข้อ “ปิยบุตรตกอยู่ในอันตราย” และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ข้อความว่า “สัปดาห์หน้าปิยบุตรโดนคดีครับ สั้นๆกระชับๆ” และมีสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่เป็นข่าวต่อ หลังจากนั้น เขายังได้โพสแสดงความเห็นอันเป็นปฏิปักษ์กับข้าพเจ้าอีกหลายครั้ง

ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ออกหมายเรียกและตั้งข้อหากับข้าพเจ้าแล้ว นายเทพมนตรี ก็ยังคงแสดงความเห็นใส่ร้ายป้ายสีข้าพเจ้าอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังแจ้งผ่านเฟสบุ๊คของตนอีกว่า ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษข้าพเจ้าในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมอีกที่ สน.นางเลิ้ง ดังปรากฏให้เห็นข้อความในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่า “พรุ่งนี้ ท่าน ส.กับปิยบุตร สนุกกันสักรอบครับ” และในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ว่า “แจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ ปิยบุตร อีกครั้งที่ สน.นางเลิ้งเรียบร้อยครับ ขอบพระคุณทุกๆท่านที่มีส่วนทำให้ผมได้ทำหน้าที่ความเป็นคนไทย ตามรัฐธรรมนูญ”

หากนับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาไม่นานก่อนที่นายเทพมนตรีไปร้องทุกข์กล่าวโทษข้าพเจ้าที่ สน.ดุสิต จนถึงสิ้นปี 2565 พบว่านายเทพมนตรี ผู้นี้ ได้โพสข้อความอันเป็นปฏิปักษ์ แสดงความเกลียดชัง แสดงเจตนาต้องการทำลายข้าพเจ้า ทำให้ผู้อื่นเกลียดชังและเข้าใจข้าพเจ้าผิด ลงเพจเฟสบุ๊ค “Thepmontri Limpaphayorm” รวมทั้งสิ้น 56 ครั้ง และจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ยังคงโพสข้อความในลักษณะดังกล่าวอยู่ (โปรดดูเอกสารสำเนาแนบท้าย)

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ย่อมแสดงให้เห็น “มูลเหตุจูงใจ” ของนายเทพมนตรี ว่า มีความคิดอันเป็นปฏิปักษ์กับข้าพเจ้า มุ่งหมายให้ข้าพเจ้าต้องเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จริงอยู่ แม้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเปิดโอกาสให้บุคคลใดมาร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ แต่หากพนักงานสอบสวนปล่อยให้บุคคลที่เห็นต่างกัน ปล่อยให้บุคคลหนึ่งที่ไม่ชอบอีกบุคคลหนึ่ง แล้วคัดเลือกข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ พิมพ์ออกเป็นกระดาษ แล้วนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่ตนไม่ชอบได้เช่นนี้ สังคมไทย กระบวนการยุติธรรมไทย และระบบกฎหมายไทยจะบิดเบี้ยวและสั่นคลอนเพียงใด หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป หากใครไม่ชอบหน้ากัน ใครที่ถกเถียงอภิปรายแลกเปลี่ยนสู้ไม่ได้ ก็เลือกใช้ “การฟ้องคดีปิดปาก” แบบนี้ โดยตนแทบไม่ต้องแบกรับต้นทุนอะไรนอกจากค่าพิมพ์เอกสาร ค่ากระดาษ และค่าเดินทางไปสถานีตำรวจ ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวโทษต้องรับภาระในการต่อสู้คดีและถูกทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด

ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนนำประเด็นนี้ไปพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจทำความเห็นเสนอต่อพนักงานอัยการด้วย

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

ประเด็นที่สอง การรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ

ในวันที่ข้าพเจ้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ดุสิตนั้น ทางพนักงานสอบสวนได้ชี้แจงว่า ก่อนออกหมายเรียกและตั้งข้อหาแก่ข้าพเจ้า ทางพนักงานสอบสวนได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นและยืนยันว่าข้อความที่ข้าพเจ้าได้โพสนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นให้กับข้าพเจ้าทราบ

เพื่อความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักการประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้งและรับฟังทุกฝ่าย ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยชื่อของผู้เชี่ยวชาญและความเห็นของพวกเขา เพื่อที่ข้าพเจ้าจะสามารถโต้แย้งความเห็นและแสดงพยานหลักฐานประกอบได้

อนึ่ง ข้าพเจ้าเคยฟังคำอภิปรายของนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงได้ทราบว่า พนักงานสอบสวน มักใช้บริการนายไชยันต์ ไชยพร นายเจษฎ์ โทณวณิก และนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นในชั้นสอบสวนหรือเป็นพยานบุคคลในชั้นศาล หากกรณีของข้าพเจ้านี้ พนักงานสอบสวนได้เชิญทั้งสามคนนี้มาให้ความเห็นว่าข้อความที่ข้าพเจ้าโพสเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าก็ต้องขอความเป็นธรรมให้พนักงานสอบสวนได้พิจารณาว่าทั้งสามคนนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย และสถาบันกษัตริย์ จริงหรือ? เป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้า หรือไม่? มีทัศนคติทางการเมืองเช่นใด อยู่ฝักฝ่ายทางการเมืองใด? และมีทัศนคติในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างไร? และเพื่อความเป็นธรรมต่อกรณี ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนพิจารณาความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่ข้าพเจ้าขออ้างด้วย

 

ประเด็นที่สาม การกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ข้อความที่ข้าพเจ้าโพสลงบนทวิตเตอร์ของข้าพเจ้าในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่ว่า “สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นไปได้และทำให้ทุกคนอยู่อย่างสันติ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” นั้น เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้ให้เหตุผลว่า “เป็นการระบุในลักษณะที่ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่อีกต่อไป โดยคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” หมายถึง ระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์เด็ดขาดในการบริหารประเทศ และคำว่า “จำแลง” หมายถึง แปลงตัว คำว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง จึงหมายถึง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แปลงตัวลงมา กล่าวคือ เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามรูปแบบที่เรียกกัน แต่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิเด็ดขาดในการบริหารประเทศ” (โปรดดู “บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา” แผ่นที่ 3)

ข้าพเจ้าขอชี้แจงโต้แย้งข้อกล่าวหา ดังนี้ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่

1. พระมหากษัตริย์ หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้ว หรือพระมหากษัตริย์ในอดีต มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้

2. พระราชินี หมายถึง คู่อภิเษกสมรสของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชมน์อยู่ก็ตาม

3. รัชทายาท หมายถึง ตามนัยแห่งกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์เป็นการชั่วคราวเมื่อพระองค์มิได้ประทับในราชอาณาจักรหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ หรือในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและยังมิได้มีการอัญเชิญพระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

(โปรดดู จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 1, พิมพ์ครั้งที่ 8, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2548, หัวข้อ 497 ; ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552, หน้า 29. ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายสำเนาแนบมาด้วยแล้ว)

เจ้าพนักงานตำรวจได้กล่าวหาว่าข้อความที่ข้าพเจ้าโพสในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อความดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้มุ่งหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด ข้าพเจ้าใช้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Monarchical Institution” หรือ “Kingship” ซึ่งเป็นการพิจารณา “พระมหากษัตริย์” ในฐานะสถาบัน (Institution) ที่ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของราชอาณาจักรไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) และมีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Organ) ก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดกฎเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่ง พระราชสถานะ และพระราชอำนาจเอาไว้ ดังที่ปรากฏในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงฉบับปัจจุบัน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่าข้าพเจ้าแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงไม่ถูกต้อง แปลความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 เกินความไปมากกว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขัดกับหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด การกระทำของข้าพเจ้าจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ในส่วนของคำว่า “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น หมายถึง การแสดงความมุ่งร้ายว่าในอนาคตจะทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ จะทำลายทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆของพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าจะแสดงออกด้วยกิริยาท่าทาง สัญลักษณ์ ข้อความ คำพูด หรือวิธีใดๆ โดยไม่จำเป็นต้องโกรธเคืองมาก่อน

(โปรดดู จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 1, พิมพ์ครั้งที่ 8, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2548, หน้า 14 ; ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552, หน้า 31 ; หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 2-3, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546, หน้า 22. ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายสำเนาแนบมาด้วยแล้ว)

ข้อความของข้าพเจ้าที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มิได้เป็นการแสดงความมุ่งร้ายว่าในอนาคตจะทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ จะทำลายทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆของพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่า “เป็นการระบุในลักษณะที่ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่อีกต่อไป” นั้น เป็นการนึกคิดเอาเอง จินตนาการเอาเองทั้งสิ้น ไม่มีข้อความใดที่บ่งบอกว่าข้าพเจ้า “ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่อีกต่อไป” หากพิจารณาแบบภาววิสัย วิญญูชนที่ได้อ่านข้อความดังกล่าว ย่อมเข้าใจได้ตรงกันว่า ข้าพเจ้าเพียงแต่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพเท่านั้น ซึ่งคำว่า “ปฏิรูป” หรือ Reform ย่อมหมายความอย่างชัดเจนว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ยกเลิกหรือล้มล้างสิ่งนั้นไป เพียงแต่แก้ไขปรับปรุงบางประการให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์ในแต่ละยุคสมัย การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็คือ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ กฎหมายลำดับรอง หรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนตามยุคสมัยใหม่และภายใต้หลักการประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาแล้วหลายครั้ง

ในส่วนของคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” ที่ข้าพเจ้าเลือกใช้เปรียบเปรยนั้น เป็นคำที่ใช้กันในแวดวงวิชาการ โดยปรับเล่นกับคำว่า “ระบอบสาธารณรัฐจำแลง” หรือ “Disguised Republic” ที่วอลเตอร์ แบ็จชอต (Walter Bagehot) ผู้เขียนหนังสือ The English Constitution (1867) ได้คิดค้นขึ้น แบ็จชอตได้บรรยายถึงพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญตอนต้น (Early Constitutional Monarchy) จนถึงระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญตอนสุกงอม (Mature Constitutional Monarchy) นับแต่ ค.ศ.1832 โดยแบ็จชอตได้เปรียบเปรยยุคนี้ว่าเป็น “ระบอบสาธารณรัฐจำแลง”

ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำความคิดของแบ็จช็อตมาประยุกต์ใช้ และสร้างคำว่า “เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์” หรือ “Virtual Absolutism เพื่อตั้งประเด็นคำถามว่า หากระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมีแนวโน้มกลายเป็นระบอบสาธารณรัฐจำแลงได้ แล้ว “เป็นไปได้ไหมว่าโดยตรรกะกลับกัน มันก็อาจเกิดแนวโน้มกลับตาลปัตรกลายเป็นระบอบ “เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์” (Virtual Absolutism) ได้เหมือนกัน ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนอีกแบบหนึ่ง?”

(โปรดดู เกษียร เตชะพีระ, สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” วารสารฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2564, หน้า 9-31. ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายสำเนาแนบมาด้วยแล้ว)

ข้าพเจ้าได้นำความคิดของวอลเตอร์ แบ็จชอต และศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ มาประยุกต์ต่อยอดและผสมผสานเป็นคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” เพื่ออธิบายเปรียบเทียบกับระบอบการปกครองต่างๆ ตั้งแต่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ, ระบอบสาธารณรัฐ และชี้ให้เห็นว่าหากเราเรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” แล้ว ระบอบแบบนี้จะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนในสามระบอบข้างต้น ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ใช้คำคำนี้เรื่อยมาในการบรรยายสาธารณะและแสดงความคิดเห็นผ่านข้อเขียนหรือบทความต่างๆ และปัจจุบัน คำคำนี้ก็มีการใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

(โปรดดู บทความของข้าพเจ้าหลายชิ้น อาทิเช่น กฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy, Constitutional Monarchy คือ การผสมผสานระหว่าง Democracy + Parliamentarism + Monarchy, จากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง, การก่อรูปของ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” เป็นต้น ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ใน ปิยบุตร แสงกนกกุล, เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, มูลนิธิคณะก้าวหน้า, 2565, หน้า 320-359. ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายสำเนาแนบมาด้วยแล้ว)

ข้าพเจ้ายืนยันว่า การอภิปรายแสดงความเห็นโดยยกคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” ขึ้นมานั้น เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในทางวิชาการ ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งในสังคมประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญไทยได้รับรองไว้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หากการวิเคราะห์กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆเพื่ออธิบายและเปรียบเทียบระบอบการปกครอง ประเมินว่าลักษณะเช่นนี้จะจัดประเภทให้เป็นระบอบการปกครองแบบใดแล้ว จำต้องถูกกล่าวโทษว่า “อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” จำต้องถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว ประเทศนี้ก็คงไม่สามารถศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ได้

ข้อเท็จจริงปรากฏอย่างประจักษ์ชัดนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตนเองตั้งขึ้นมาเอง ต่อเนื่องมาจนเป็นนายกรัฐมนตรี “สืบทอดอำนาจ” หลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ในช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจการปกครองประเทศอยู่นี้เอง มีกรณีแนวทางปฏิบัติ และกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่ทำให้ลักษณะของระบอบการปกครองในประเทศไทยโน้มเอียงออกจากหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่สอดคล้องกับหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ขยับเข้าใกล้กับลักษณะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากยิ่งขึ้น และโดยประการสำคัญ แนวทางปฏิบัติของรัฐบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ในหลายเรื่องมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างโดยสังเขป ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมใน หมวด 2 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560, พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560, พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561, พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตลอดจนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ อ้างถึงพระมหากษัตริย์ ในที่สาธารณะ อีกหลายครั้ง เป็นต้น

การเปรียบเปรย “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช์จำแลง” นี้ ข้าพเจ้ามุ่งวิจารณ์ตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะองค์กรนิติบัญญัติ เพราะ เป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบในกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่ส่งผลให้ลักษณะระบอบการปกครองขยับเข้าใกล้สมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น ข้าพเจ้ามิได้วิจารณ์และไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหลายปี และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าย่อมทราบดีว่า ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบ แต่ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทน เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ องค์กรเหล่านี้จึงเป็นผู้รับผิดชอบ มิใช่พระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้ายังเห็นต่อไปด้วยว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ด้วย การเพิ่มพูนพระราชอำนาจโดยแท้ให้แก่พระมหากษัตริย์จนทำให้พระมหากษัตริย์อาจมีบทบาทในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งการทำเช่นนี้ จะทำให้กระทบต่อสถานะความเป็นกลางและทรงอยู่เหนือการเมืองของกษัตริย์ ดังเช่น ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ผู้บรรยายและเขียนตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ผู้มีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับ ให้ความเห็นไว้หลายครั้ง หลายโอกาส อาทิเช่น

“การที่มาตรานี้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมเป็นการกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและจะต้องไม่ทรงปรึกษาหารือกับนักการเมืองใดๆนอกจากคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี ถ้าพระมหากษัตริย์ประสงค์จะพบกับสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาล ต้องขอให้รัฐบาลจัดถวาย และควรต้องมีพระราชดำรัสต่อหน้ารัฐมนตรีเพื่อแสดงความเป็นกลาง ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องถือว่าราษฎรทุกคนพัวพันกับการเมือง แม้บุคคลที่อ้างว่าตนไม่เป็นสมาชิกหรือฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ ก็ต้องถือว่าเป็นฝ่ายข้างน้อยซึ่งมีความเห็นตรงกันข้ามกับราษฎรที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายข้างมาก และต้องถือว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว (และนอกจากนั้นก็คือคณะองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษา) ที่ไม่เป็นพรรคพวกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของราษฎรทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือสนับสนุนรัฐบาล และไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือผู้ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ

เพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ จึงมีหลักว่า “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้” (the King can do no wrong) ... สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยนั้น เราควรถือว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นั้น เพราะมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญแทนพระมหากษัตริย์ ในประเทศไทยยังมีความเข้าใจผิดอยู่ข้อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าแสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำสิ่งใดโดยพระองค์เองรู้สึกว่าเป็นการเฉลิมเกียรติ มีบ่อยๆ ที่รัฐมนตรีอ้างว่าได้กระทำการนั้นการนี้ อันมีลักษณะเป็นการเมืองโดยคำแนะนำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงควรจะเป็นความลับและรัฐมนตรีควรจะกระทำด้วยความรับผิดชอบของตนเอง การอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดในทางการเมืองโดยพระองค์เองก็ดี การอ้างว่าทรงแนะนำให้กระทำการนั้นๆ ก็ดี ย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ขอให้พวกเราจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเราในทางที่ถูกเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราจะดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพตลอดกาลนาน ดังเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศอังกฤษ

เพื่อที่พระมหากษัตริย์จะอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงเว้นเสียซึ่งการกระทำใดๆโดยเปิดเผยอันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์ เช่น โดยการออกความคิดเห็นในทางการเมือง ฯลฯ หรือกล่าวถึงปัญหาในทางการเมืองที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในประเทศ เป็นต้น”

(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์, ตีพิมพ์ใหม่ 2551, วิญญูชน, หน้า 14-17.)

"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ...

ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) และพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ ก็ต่อเมือ่พระองค์มิได้ทรงกระทำอะไรโดยพระองค์เอง แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์...

ฉะนั้น การเอาพระปรมาภิไธยมาพัวพันกับการเมือง แม้ผู้กล่าวว่าจะได้กระทำไปโดยความเคารพสักการะ แต่กระทำไปด้วยความไม่รู้เท่าถึงการ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตย ฉะนั้น การอ้างถึงพระปรมาภิไธยนั้นเป็นการละเมิดต่อพระบรมเดชานุภาพที่จะทรงเป็นกลาง (neutral power) เพราะคนหนึ่งเห็นว่าดี อีกคนหนึ่งอาจเห็นว่าไม่ดี

ข้าพเจ้าขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของเราโดยทางที่ถูก เพื่อพระมหากษัตริย์จะได้ทรงปกเกล้าฯพี่น้องชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข ขอให้เราทั้งหลายอย่าคิดว่าถ้าเราพยายามโฆษณาว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำอะไรโดยพระองค์เองแล้วจะเป็นของดี เพราะการโฆษณาเช่นนั้นขัดกับหลักประชาธิปไตย และการชุมนุมสาธารณะเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดๆ อันมิใช่โดยคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน”

(ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499)

“ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ 3 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง... ในกรณีที่ไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงทักท้วงตักเตือนให้เห็นภยันตรายของการดำเนินตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงเช่นว่านี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุม ปรึกษาหารือกันใหม่ คณะรัฐมนตรีอาจยืนยันความเห็นเดิมก็ได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรียืนยันตามความเห็นเดิม พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอม เพราะคณะรัฐมนตรีต่างหากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ..."

(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2515, หน้า 46-47)

ประเด็นที่สี่ ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า

ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ข้าพเจ้าได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่เคยเลยที่ข้าพเจ้าเสนอให้ประเทศไทยยกเลิกสถาบันกษัตริย์และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ข้าพเจ้าโดนฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่จงใจทำลาย กล่าวหาให้ร้ายมามากกว่าทศวรรษว่า เป็นพวก “ล้มเจ้า” เป็นพวก “เนรคุณแผ่นดิน” เป็นพวก “ชังชาติ” เป็นพวก “ยุยงล้างสมองเยาวชน” เป็นพวก “บ้าฝรั่งเศส” เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมือง ก็ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงออกในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า จำเป็นต้องคิด เขียน พูด เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป เพราะ ภายใต้สังคมไทยในปัจจุบันนั้นที่ความคิดเห็นของคนไทยในประเด็นสถาบันกษัตริย์แตกต่างกันอย่างมาก เยาวรุ่นมีความคิดความรู้สึกต่อสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน คนจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐไทยหมดปัญญาในการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อได้แบบแต่ก่อน สภาพสังคมไทยเช่นนี้ ยิ่งจำเป็นต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์แบบใดก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสำคัญของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในแทบทุกมิติ และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน และคงต้องยอมรับว่าเป็นความจริงอีกเช่นกัน ณ วันนี้ คนไทยจำนวนมากมีความเห็นในเรื่องระบอบการปกครองและรูปของรัฐออกไปอย่างหลากหลาย อยู่ที่จะกล้าแสดงออกหรือไม่ภายใต้ข้อจำกัดของระบบกฎหมายไทยที่อนุญาตให้เชื่อได้ “ระบอบเดียว” บางคนอยากให้เป็นสาธารณรัฐ บางคนอยากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บางคนอยากให้เป็นอยู่แบบนี้ต่อไป บางคนเฉยๆไม่สนใจปล่อยไปสุดแท้แต่จะเป็น บางคนอยากกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บางคนรัก บางคนเฉยๆ บางคนไม่รัก บางคนเกลียด นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเกิด ควรเกิด ไม่ควรเกิด ไม่ต้องเกิด แต่มันเกิดมาแล้ว มีคนคิด รู้สึกต่างกันแล้ว เช่นนี้จะทำอย่างไร? ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสาธารณรัฐ ในขณะที่ความคิดจิตใจของคนไทยจำนวนมากยังต้องการมีสถาบันกษัตริย์อยู่ อาจทำให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกของคนในชาติอย่างร้าวลึก และทำให้รัฐบาลของระบอบใหม่จำเป็นต้องปราบปรามคนที่คิดแบบเก่าด้วยความรุนแรงจนกลายเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม การเดินหน้าไปเป็นสาธารณรัฐโดยที่ไม่ได้ตกลงพูดคุยกันเลยว่าสาธารณรัฐใหม่นั้นหน้าตาจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ตกลงพูดคุยกันเลยว่าสาธารณรัฐใหม่นั้นมีหลักการพื้นฐานอะไรที่หลอมรวมให้คนทั้งประเทศพอจะยึดถือร่วมกันได้ อาจเปิดทางให้เกิดผู้ปกครองใหม่ที่กลายเป็นเผด็จการ เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าก็เห็นว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ ให้เพิ่มพูนพระราชอำนาจมากขึ้น จนหนีห่างจากประชาธิปไตย โน้มเอียงเข้าหาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่ได้ช่วยทำให้สถาบันกษัตริย์มีเสถียรภาพเข้มแข็งมากขึ้นหรืออยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคสมัยนี้ การกดขี่ปราบปรามผู้เห็นต่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ การจับกุมคุมขังดำเนินคดีเยาวชนอนาคตของชาติ การใช้อำนาจเผด็จการกองทัพ + ระบบราชการกลไกรัฐ + ทุนใหญ่ผูกขาด ที่ร่วมแบ่งปันประโยชน์ซึ่งกันและกัน มาค้ำยันสถาบันกษัตริย์ วิธีเหล่านี้ไม่สามารถรักษาสถาบันกษัตริย์ในช่วงเผชิญความท้าทายแห่งยุคสมัยได้ วิธีเหล่านี้มีแต่จะทำให้คนที่คิดต่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปแรงไปไกลขึ้นกว่าเดิม

ข้าพเจ้าเห็นว่าหนทางออกที่ดีที่สุด คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะ เป็นหนทางที่ทำให้ทุกฝักฝ่ายทุกความคิดอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่หักหาญน้ำจิตน้ำใจความเชื่อของแต่ละฝ่ายมากจนเกินไป ทำให้แต่ละฝักฝ่ายพอจะยอมรับร่วมกันได้ภายใต้หลักประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ประเด็นที่ห้า ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน ในฐานะ “ต้นน้ำ” ของสายธารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ทำสำนวนและทำความเห็นเสนอต่อไปยังพนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีดุลพินิจในการทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องได้

แม้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้ แม้เรากล่าวกันว่าระบบกฎหมายไทยใช้ระบบกล่าวหา เมื่อมีการกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องมีหน้าที่ในการชี้แจงโต้แย้งว่ามิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ตาม แต่ถึงกระนั้น พนักงานสอบสวน ก็ไม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียง “บุรุษไปรษณีย์” ที่นำเรื่องที่มีบุคคลทั่วไปใครก็ไม่รู้เที่ยวกล่าวโทษผู้อื่นไปทั่ว เสนอต่อไปยังพนักงานอัยการ โดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและกระทบกับสถาบันกษัตริย์ด้วยแล้วนั้น พนักงานสอบสวน ในฐานะที่เป็น “ต้นน้ำ” ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ก็ยิ่งต้องมีบทบาทสำคัญในการป้องกันมิให้ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อกำหนดให้มีองค์กรผู้รับผิดชอบในการกล่าวโทษโดยเฉพาะ พนักงานสอบสวนสามารถบรรเทาการใช้มาตรา 112 กลั่นแกล้งกันได้ ด้วยการพิจารณาการร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานนี้อย่างรอบคอบ หากการกระทำใดไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ต้องทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง มิใช่ไม่คิดอะไรใดๆทั้งสิ้น พอเห็นเลขมาตรา 112 ลอยมา ก็เป็นอันต้องสั่งฟ้องให้หมดทุกกรณี หากพนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งฟ้องไปให้หมดทุกกรณีตามกันไปนั้น ผลร้ายที่เกิดขึ้นตามมามิได้ตกอยู่กับผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่อาจกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพของพวกเราด้วย

ข้าพเจ้ายืนยันว่า ข้าพเจ้ามิได้กระทำความผิดตามความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมิได้กระทำความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” การกระทำที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าว

ข้าพเจ้าขอให้พนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาของท่านใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ เมื่อการกระทำของข้าพเจ้าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ต้องกล้าหาญที่จะทำความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” เสนอต่อยังอัยการ ความกล้าหาญทำสำนวนและทำความเห็นอย่างตรงไปตรงมา “สั่งไม่ฟ้อง” ข้าพเจ้า ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของข้าพเจ้า แต่ทั้งหมดเพื่อผดุงรักษากระบวนการยุติธรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้สาธารณชนและสังคมได้เห็นและเชื่อมั่นว่า แม้เป็นกรณีความผิดฐานนี้ พนักงานสอบสวนก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มิใช่มีความเห็นสั่งฟ้องไปหมดทุกกรณี

ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราต้องร่วมกันรักษาสถาบันกษัตริย์ในทางที่ถูกต้อง อย่าปล่อยให้คนบางคนบางกลุ่มผูกขาดความรักสถาบันกษัตริย์เอาไว้แต่เพียงผู้เดียวแล้วเที่ยวไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้อื่นในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้ “ได้ใจ” ใช้มาตรา 112 เพื่อทำลายผู้อื่นอีกต่อไป

อนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และส่งเสริมให้เกิดการรักษาและเคารพสถาบันกษัตริย์ให้ถูกทาง เพื่อธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและยุคสมัย ข้าพเจ้าขอมอบหนังสือสองเล่มที่ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้น ได้แก่ “เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย” และ “เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ให้แก่พนักงานสอบสวน มา ณ ที่นี้ด้วย

 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

(ปิยบุตร แสงกนกกุล)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท