ศธ.ให้อำนาจ รร.กำหนดระเบียบทรงผม ‘จาตุรนต์-พริษฐ์’ ชี้แก้ไม่ถูกจุด อาจเปิดช่อง รร.ละเมิดสิทธิ นร.

กรณี ศธ.ยกเลิกกฎกระทรวงแล้วให้ รร.-ผู้ปกครองกำหนดระเบียบทรงผม ‘จาตุรนต์’ อดีต ส.ส.เพื่อไทย และ ‘ไอติม พริษฐ์’ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ชี้ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด อาจเปิดช่อง รร.ออกกฎละเมิดสิทธิ แนะ ปรับปรุงหลักสูตร ไม่ใช่เน้นเรื่องแต่งกาย 

27 ม.ค. 66 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.เพื่อไทยโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เปลี่ยนเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติกว้างๆ เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษา โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ไปพิจารณาออกระเบียบข้อบังคับกันเอง ระบุว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดและเพิ่มปัญหาแทน อาจเปิดช่องให้โรงเรียนออกระเบียบที่เข้มงวดกว่าเดิม  ถึงขั้นที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง จะกลายเป็นส่งผลตรงข้ามกับความตั้งใจและเกิดความเสียหายมากกว่าที่คิดกัน สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรทำคือยังคงมีระเบียบของกระทรวงต่อไป แต่ปรับผ่อนปรนมากขึ้นสำหรับนักเรียน และเข้มงวดต่อผู้บริหารสถานศึกษาและครูเพื่อไม่ให้ทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก อีกอย่างที่ควรทำมากคือการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั้งระบบเพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าใจถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตัวเอง รับผิดชอบต่อตนเองและรู้ที่เรียนรู้พัฒนาตนเองในโลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่ ไม่ใช่เน้นเรื่องการแต่งกาย ทรงผมเป๊ะ จนไม่ได้สนใจปรับปรุงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันโลกทันสมัยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ความเห็นของอดีต ส.ส. เพื่อไทย สอดคล้องกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ระบุว่าถ้าพูดเฉพาะประเด็นการกำหนดทรงผม สิ่งที่รัฐมนตรีทำ ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องทรงผมของนักเรียน และอาจทำให้เป้าหมายเสรีทรงผมห่างไกลกว่าเดิม เพราะการยกเลิกกฎระเบียบส่วนกลางเกี่ยวกับทรงผม และโอนความรับผิดชอบและการตัดสินใจทั้งหมดไปที่โรงเรียน จะยิ่งเปิดช่องให้โรงเรียนแต่ละแห่งออกกฎเกณฑ์เรื่องทรงผมที่ละเมิดสิทธิผู้เรียนอย่างไรก็ได้แบบไร้ขอบเขต เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งสามารถออกกฎให้เด็กทุกคนต้องโกนหัวก็ได้ ดังนั้น ถ้าอยากแก้ปัญหาจริงๆ กระทรวงควรออกระเบียบหรือมาตรฐานขั้นต่ำจากส่วนกลางให้ชัด ห้ามไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบตนเองที่บังคับเด็กเรื่องทรงผม

พริษฐ์ กล่าวว่า หากมองในภาพรวม เรื่องนี้ยังสะท้อนปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน เกี่ยวกับการวางบทบาทตนเองกับโรงเรียนที่ดูกลับหัวกลับหาง ในเรื่องที่กระทรวงควรกำชับทุกโรงเรียน กลับไม่ทำในเรื่องที่ควรให้อิสระแก่โรงเรียน กลับไม่ให้ ซึ่งทำให้ปัญหาของการศึกษาไทยไม่ถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตนมองว่าสิ่งที่กระทรวงฯ ควรให้อิสระแก่โรงเรียนในการบริหารจัดการ แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ด้านงบประมาณ เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์

2. ด้านบุคลากร เช่น ให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือก

3. ด้านวิชาการ เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน

พริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการคุ้มครองสิทธิของนักเรียน สิ่งที่กระทรวงควรกำชับทุกโรงเรียน มี 3 อย่าง ได้แก่

1. กำหนดให้ชัดกฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งครอบคลุมกว่าแค่เรื่องการบังคับทรงผม เช่น เสรีภาพในการแสดงออก ห้ามให้มีการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท ห้ามบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ ห้ามการบังคับซื้อของ

2. พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน

3. จัดให้มีกลไกการร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียนและเขตพื้นที่ซึ่งอาจขึ้นตรงกับรัฐมนตรีฯ ศึกษาธิการ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการปฏิรูปการศึกษาไทยที่จะผลักดันทันทีหากได้เป็นรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท