ไต้หวันไฟเขียวสมรสเท่าเทียมแก่คู่รัก 'ไต้หวัน-ต่างชาติ' แล้ว แต่ยังยกเว้นคู่ 'ไต้หวัน-จีน'

ความรักได้รับชัยชนะอีกครั้ง เมื่อไต้หวันอนุมัติให้พลเมืองคนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติได้เกือบทุกประเทศแล้วหลังต่อสู้เรียกร้องเกือบ 4 ปี แม้คู่รัก 'ไต้หวัน-มาเก๊า' และ 'ไต้หวัน-ฮ่องกง' จะได้รับสิทธินี้ด้วย แต่คู่รัก 'ไต้หวัน-จีนแผ่นดินใหญ่' กลับยังจดทะเบียนสมรสไม่ได้ เพราะข้อจำกัดในขั้นตอนกระบวนการ

27 ม.ค.2566 สื่อไต้หวันรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันมีมติให้ขยายสิทธิสมรสเท่าเทียมแก่ชาวต่างชาติเป็นทางการแล้ว ตามปรากฎในหนังสือแจ้งต่อกรมทะเบียนบ้านเมื่อ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าไม่ให้ปฏิเสธสิทธิของบุคคลรักเพศเดียวกัน "ในการสถาปนาคู่ครองถาวรที่มีความลึกซึ้งและพิเศษ เพื่อวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตร่วมกัน"

การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ถือเป็นผลงานสุดท้ายของซู เจินชาง นายกรัฐมนตรีของไต้หวัน ก่อนลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 ม.ค. 66 ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ยังไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน

 

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน ร่วมกับนักเรียนชนพื้นเมือง (ที่มา: YouTube: Office of the President Republic of China)

แม้ไต้หวันจะสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ 2564 แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีข้อจำกัด เพราะคนรักเพศเดียวกันจะสมรสกับชาวต่างชาติได้ ถ้ากฎหมายของชาติฝั่งคู่ครองอนุญาตให้สมรสเท่าเทียมด้วยเท่านั้น ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่สมรสเท่าเทียม ชาวไต้หวันที่รักกับบุคคลสัญชาติอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงไทย จึงไม่มีโอกาสรับสิทธิ

หลังต่อสู้เรียกร้องมาเกือบ 4 ปี ในที่สุดไต้หวันก็มีความก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมทางเพศขึ้นอีกก้าวหนึ่ง โดยการนำของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการส่งเสริมสิทธิการจดทะเบียนคู่ชีวิต (TAPCPR) และกลุ่มแนวร่วมคนรักเพศเดียวกัน สู่ ซิ่วเหวิน ทนายความและตัวแทนของกลุ่ม TAPCPR แสดงความยินดีกับพัฒนาการครั้งนี้อย่างตื่นเต้น

ทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีไต้หวัน @iingwen เมื่อสภาไต้หวันผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานคนเพศเดียวกัน ปี 2562

ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ จนได้ชัยชนะ

ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิเป็นผู้แทนทางกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกัน และฟ้องร้องกรมทะเบียนบ้านเป็นจำนวนหลายต่อหลายคดี​ จนชนะได้จดทะเบียนสมรสเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น คู่รัก 'ไต้หวัน-มาเก๊า' เป็นคู่แรกที่ได้จดทะเบียนสมรสในไต้หวัน หลังชนะคดีเมื่อ ส.ค. 2564 ขณะที่คู่รัก 'ไต้หวัน-ญี่ปุ่น' ชนะคดีได้จดทะเบียนสมรส เมื่อ ก.ย. 2565

เมื่อมีคำพิพากษาออกมาในไต้หวันว่า การปฏิเสธสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในการจดทะเบียนสมรส เป็นกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของไต้หวัน จากเดิมที่เคยต้องต่อสู้เป็นรายกรณี ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยของไต้หวันก็สั่งเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม

สู่ ซิ่วเหวิน ให้สัมภาษณ์ในรายงานของไชน่าโปรเจคว่า "รัฐบาลท้องถิ่น และสำนักงานกรมทะเบียนบ้านจะให้การต้อนรับคำสั่งนี้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ [สำนักงานกรมทะเบียนบ้าน] แพ้มาทุกคดีแล้ว" เธอบอกอีกว่า "นี่คือดอกผลของการต่อสู้บนชั้นศาลของเรา ที่ผ่านมา เราล็อบบี้รัฐบาลในประเด็นนี้มาตลอดหลายปี"

แม้คู่รักเพศเดียวกันที่เป็นชาวไต้หวันกับมาเก๊า และชาวไต้หวันกับฮ่องกง จะได้รับความเท่าเทียมทางการสมรสแล้วจากการเปลี่ยนแปลงคำสั่งครั้งนี้ แต่คู่รักเพศเดียวกันที่เป็นชาวไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ กลับยังไม่ถูกนับรวมในคำสั่งฉบับใหม่ สื่อญี่ปุ่นระบุว่ามาจากข้อจำกัดของขั้นตอนกระบวนการ

หลังการแก้ไขคำสั่ง แถลงร่วมของ 7 กลุ่มสิทธิ รวมถึง TAPCPR ระบุว่า "เรารู้สึกเสียดายที่คู่รักเพศเดียวกันใน 2 ฟากชายฝั่ง ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้หลังการปฏิรูปรอบนี้ แต่ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจว่าหุ้นส่วนในภาครัฐและภาคการเมืองที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนัก กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้"

แม้สิทธิสมรสเท่าเทียมในไต้หวันจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ รายงานของไชน่าโปรเจคระบุว่าคู่รักคู่หนึ่งที่เป็นชาวไต้หวันกับชาวมาเลเซีย ที่ผ่านมาใช้ชีวิตด้วยกันในไต้หวัน แต่คู่ครองชาวมาเลเซียต้องอยู่ด้วยวีซ่านักศึกษาและทำงานได้ไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอนักในการใช้ชีวิตคู่

หลังการออกคำสั่งฉบับใหม่ เธอได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่าการจดทะเบียนสมรสของเธอได้รับการอนุมัติแล้ว หลังจากนี้เธอจะเดินทางไปขอเปลี่ยนวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้สามารถทำงานหาเงินได้มากขึ้น จากนั้นจะสร้างตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทำไมห้ามคู่รัก 'จีน-ไต้หวัน'

การจดทะเบียนสมรสข้ามสัญชาติโดยปกติเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่แล้ว แต่ปัญหาเรื่องนี้ซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อเป็นการสมรสของคนรักเพศเดียวกันภายใต้กฎหมายหรือคำสั่งฉบับใหม่ และเมื่อการสมรสดังกล่าวถูกคั่นกลางด้วยความขัดแย้งระหว่าง 2 รัฐบาล ที่ปัญหาพื้นฐานอย่างเรื่องอำนาจอธิปไตยยังไม่ได้ข้อสรุป

รายงานของสื่อไชน่าโปรเจคอ้างว่า คนรักเพศเดียวกันที่เป็นชาวไต้หวันและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังจดทะเบียนสมรสไม่ได้ เพราะรัฐบาลไต้หวันยังมองว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ใช่ 'ต่างชาติ' จึงไม่ได้ถูกนับรวมในคำสั่ง แต่คำอธิบายนี้ก็ยังฟังไม่ขึ้นนัก เพราะหากคนจีนแผ่นดินใหญ่ถูกนับเป็นพลเมืองไต้หวัน ก็ควรได้รับสิทธิสมรสเท่าเทียม

เมื่อความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันผ่อนคลายลงในทศวรรษ ค.ศ. 1980 และประชาชนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่พบปะสัญจรข้ามชายฝั่งเพิ่มขึ้น ไต้หวันได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า "กฎหมายปกครองความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในเขตไต้หวันและเขตแผ่นดินใหญ่" เพื่อกำกับดูแลกิจกรรมข้ามชายฝั่งของประชาชน ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับการสมรสด้วย

ในมาตรา 52 ของกฎหมายดังกล่าวระบุว่า "รูปแบบและเงื่อนไขทางกฎหมายสำหรับการสมรสหรือการหย่าร้าง หากกระทำด้วยความยินยอม ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสถานที่ที่มีการแต่งงาน [หรือหย่าร้าง] ดังกล่าว" ประเด็นนี้กลุ่มสิทธิเห็นว่า คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิจดทะเบียนที่ไต้หวันได้ตามกฎหมาย แต่รัฐยังคงต้องแก้ไขขั้นตอนกระบวนการในการจดทะเบียน

สภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน หน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายข้างต้น เคยระบุในปี 2564 ว่ากำลังดำเนินการเพื่อหาทางออกในการคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นคนไต้หวันและคนจีนแผ่นดินใหญ่

จากการสอบถามไปยังพลเมืองไต้หวันรายหนึ่ง ประชาไทได้คำอธิบายว่า ปกติแล้วในการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวไต้หวันและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทางการไต้หวันกำหนดให้คู่รักต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ก่อน ด้วยการขอเอกสารจากจีนเพื่อประกอบการพิจารณา แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์มีมาตรการกีดกันคนรักเพศเดียวกันมาตลอด

"อะไรที่เกี่ยวกับจีนมันก็ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ และไม่ใช่สิ่งที่ทางไต้หวันตกลงฝั่งเดียวได้" พลเมืองไต้หวันระบุ "เราต้องตรวจสอบความเป็นจริงของความสัมพันธ์นี้ก่อน และการจดทะเบียนที่จีนเป็นหนึ่งในเงื่อนไขนั้น ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ [ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกัน] การสมรสต่างเพศระหว่างคนจีนกับคนไต้หวันก็มีข้อจำกัดเยอะอยู่แล้ว"

สู่ ซิ่วเหวิน วิเคราะห์ว่า ขณะที่รัฐบาลไต้หวันและรัฐบาลจีนยังคงมีข้อพิพาทกันในประเด็นการเมืองและความมั่นคง การสมรสเท่าเทียมของคู่รักที่เป็นชาวไต้หวันและชาวจีนยังมีแนวโน้มไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แม้จะมีคู่รักต่างเพศที่เป็นชาวไต้หวันกับชาวจีนหลายพันคู่ก็ตาม

สู่ ซิ่วเหวิน ยังคงเห็นว่า "เสรีภาพในการแต่งงานเป็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรเสียสละเสรีภาพการแต่งงานสำหรับพลเมืองของเรา" เธอระบุอีกว่าการจดทะเบียนสมรสรูปแบบนี้ยังต้องอาศัยมาตรการจากฝ่ายบริหารเพิ่มเติม แต่ "นั่นก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นสำหรับรัฐบาลของเรา"

แปลและเรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท