เขตอำนาจศาลสากลคืออะไร หลังกลุ่มสิทธิ-ชาวพม่า ฟ้องรัฐบาลทหารต่อศาลเยอรมนี ข้อหาอาชญากรรมสงคราม

ทำความรู้จัก 'เขตอำนาจศาลสากล' ใครเป็นผู้ยื่นฟ้อง และทำไมต้องเป็นเยอรมนี หลังกลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์และพลเมืองพม่า 16 ราย ยื่นเอกสารคำร้อง 215 หน้า และภาคผนวกกว่า 1,000 หน้า ต่อสำนักงานอัยการใหญ่ของรัฐบาลกลางเยอรมนี ขอใช้หลักการเขตอำนาจศาลสากล หวังเอาผิดรัฐบาลทหารพม่าข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

รายงานของมิซซิมาระบุว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ผู้ยื่นฟ้อง ได้แก่ กลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ และผู้ยื่นคำร้องเป็นรายบุคคลอีก 16 ราย เพื่อดำเนินคดีกับนายพลอาวุโสหลายนาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564

ภาพการอพยพของชาวโรฮิงญา (ภาพจาก Fortify Rights)

แม้การรัฐประหารพม่ากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 และเวลาจะล่วงเลยมากว่า 5 ปี ที่กองกำลังทหารพม่าโจมตีชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้ายทารุณในเดือนสิงหาคม 2560 แต่บุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบในความผิดดังกล่าว หรือมีส่วนกระทำการเกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว กลับยังคงลอยนวลพ้นผิด

"แนวร่วมกลุ่มผู้รอดชีวิตที่ชาติพันธุ์หลากหลายมาจากทั่วทุกสารทิศของพม่า กำลังนำคดีนี้ขึ้นศาล เพื่อแสวงหาความยุติธรรมและนำผู้กระทำผิดมารับผล" แมทธิว สมิธ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวแถลง

"แม้นานาชาติจะให้ความสนใจ และมีความริเริ่มหลายอย่างเพื่อนำผู้กระทำผิดมารับผลในขณะนี้ แต่กองทัพพม่ายังคงเสพสุขจากการไม่ต้องรับความผิดใดๆ และเรื่องแบบนี้ต้องยุติได้แล้ว อาชญากรรมเหล่านี้จะปล่อยไปโดยปราศจากบทลงโทษไม่ได้"

"กฎหมายเขตอำนาจศาลสากลของเยอรมนี เป็นตัวแบบของโลกในการจัดการกับการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดในอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด และช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากการทำลายล้างชีวิตมนุษย์สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ไม่ว่าอาชญากรรมจะเกิดที่ไหน และผู้รอดชีวิตจะอยู่ที่ใด"

เขตอำนาจศาลสากลคืออะไร

เขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) เป็นหลักการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐสามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานที่เกิดอาชญากรรมหรือสัญชาติของเหยื่อและผู้กระทำผิด

เนื่องจากมาตรการอื่นไม่เห็นผลเท่าที่ควร นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงหันมาใช้หลักการนี้เป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายรูปแบบใหม่ในการเอาผิดเหล่านายพล ปกติแล้ว เขตอำนาจศาลสากลจะถูกใช้กับความผิดที่เป็น "อาชญากรรมสากล" ซึ่งมักเป็นการกระทำที่อุกอาจร้ายแรงจนถือเป็นความผิดต่อประชาคมระหว่างประเทศ

บรรณาธิการข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดอะดิโพลแมต เขียนบทความลงในเว็บไซต์เมื่อ 24 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมาระบุว่า นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยใช้หลักการเขตอำนาจศาลสากลนี้ เพื่อพยายามเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่ามาก่อนหน้านี้แล้ว

ตัวอย่างเช่น กลุ่มสิทธิโรฮิงญาและกลุ่มสิทธิในละตินอเมริกา ได้ทำการฟ้องคดีที่ศาลอาร์เจนตินาในช่วงปลายปี 2562 เพื่อเรียกร้องให้สอบสวนผู้นำทหารพม่าจากการกระทำผิดผ่าน "ปฏิบัติการกวาดล้าง" ในรัฐยะไข่ นำไปสู่การรับฟ้องในเดือน พ.ย. 2564 นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องคดีลักษณะเดียวกันในตุรกีและอินโดนีเซีย

หลักการเขตอำนาจศาลสากลถูกนำมาใช้จริงเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 เมื่อตำรวจลอนดอนทำการจับกุม พล.อ.ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีชิลีในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2533 ขณะที่เขาท่องเที่ยวอยู่ในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามหมายจับของศาลสเปนในคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบหลังการรัฐประหารในปี 2516

หลังการจับกุมดังกล่าว ศาลของบริเตนปฏิเสธข้อโต้แย้งของปิโนเชต์ ที่เขาอ้างว่ามีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และตัดสินให้ส่งตัวเขาไปยังประเทศสเปนเพื่อทำการไต่สวน แม้ท้ายที่สุดแล้ว ปิโนเช่จะถูกศาลวินิจฉัยว่าไม่สามารถเข้ารับการไต่สวนได้ เพราะความทุพพลภาพทางจิตใจ แต่คดีนี้ชี้ว่าหลักเขตอำนาจศาลสากลสามารถใช้ได้จริง

ใครเป็นผู้ยื่นฟ้อง

คดีความที่ยื่นฟ้องเมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมานี้ ดำเนินการโดยกลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ มีผู้แทนทางกฎหมายได้แก่ Covington & Burling LLP บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีสำนักงานหลายแห่งในเยอรมนี ขณะนี้เอกสารคำร้องถูกส่งถึงมือทางการเยอรมนีแล้ว แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ในสาธารณะ

ในกลุ่มผู้ยื่นคำร้องรายบุคคล 16 ราย ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาและ "ปฏิบัติการกวาดล้าง" ของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ ใน พ.ศ. 2559-2560 ส่วนอีกประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในรัฐและแคว้นต่างๆ ของพม่า หลังการรัฐประหารระหว่างปี 2564 - 2565

ผู้ยื่นคำร้องแบ่งเป็นเพศหญิง 6 ราย เพศชาย 10 ราย เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่า ได้แก่ ยะไข่ พม่า ฉิ่น กะเหรี่ยง กะเรนนี มอญ และโรฮิงญา และมาจากหลายสาขาชีพ ได้แก่ นักศึกษา นักวิชาการ เกษตรกร นักสิทธิ นักธุรกิจ อดีตผู้ใหญ่บ้าน และคนงานสร้างบ้าน

บุคคลเหล่านี้เป็นผู้รอดชีวิตหรือเป็นพยานในอาชญากรรมของทหาร บางคนยังคงอยู่ในพม่า อีกหลายคนได้ลี้ภัยในต่างประเทศแล้ว โดยอยู่ในบังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ส่วนที่เยอรมนีมีผู้ลี้ภัยที่รับคำปรึกษาทางกฎหมายเป็นผู้ร่วมฟ้องสองราย ได้แก่ นิกกี้ ไดมอน กรรมการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ "เอฟ.เค. (นามสมมติ)"

"เอฟ.เค." เป็นหญิงชาวโรฮิงญา อายุ 51 ปี รอดชีวิตจาก "ปฏิบัติการกวาดล้าง" ที่รัฐยะไข่ในปี 2560 เธอเป็นประจักษ์พยานขณะที่ทหารและชาวบ้านไม่ใช่ชาวโรฮิงญาบุกเข้ามาเผาหมู่บ้านของเธอ และขัดขวางไม่ให้หลบหนี ลูกสะใภ้ของเธอถูกข่มขืน ขณะที่เธอถูกซ้อมในห้องติดกัน ไม่นานนักหมู่บ้านของเธอก็เต็มไปด้วยซากศพ

นอกจากนี้ เธอยังเห็นทหารพม่าใช้มีดทิ่มแทงทุบตีสังหารผู้ชายและเด็กชาวโรฮิงญาจำนวนมาก และทหารคนหนึ่งได้ทำการสังหารเด็กในขณะที่เขากำลังร้องขอน้ำดื่มด้วย เธอบอกว่า "รัฐบาลและกองทัพพม่าพยายามขจัดชุมชนชาวโรฮิงญาให้หมดไปในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ในฐานะโจทย์ชาวโรฮิงญา ฉันพร้อมฟ้องคดีเขตอำนาจศาลสากลนี้"

ธีดา หญิงชาวฉิ่นวัย 35 ปี และแม่ของลูก 3 คน เป็นโจทย์ในคดีนี้ด้วย หลังกองทัพพม่าจับกุมสามีอายุ 35 ปีของเธอชื่ว่า ไง กุง โดยพลการและนำไปซ้อมทรมาน หลังจากไม่ได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องสามีของเธออีกเลย กองทัพพม่าแจ้งต่อกลุ่มบาทหลวงว่าสามีของเธอเสียชีวิตแล้ว การกระทำนี้เข้าข่ายความผิดของการบังคับสูญหาย

"ฉันยังโกรธทหารอยู่เลย" ธีดาระบุกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ "พวกเขาไม่เคยคิดว่าเราเป็นมนุษย์เลย และปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นสัตว์ หรือสิ่งของ"

Fortify Rights

ขอให้อัยการเยอรมนีทำอะไร

ในเบื้องต้น กลุ่มผู้ยื่นฟ้องคดีขอให้อัยการเยอรมนีเปิดการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของกองทัพพม่า และบุคคลที่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง และเปิด "การสอบสวนเชิงโครงสร้าง" ซึ่งใช้ปกติใช้ในคดีที่ยังระบุตัวผู้กระทำผิดได้ไม่แน่ชัด เพื่อขยายขอบเขตการสอบสวนไปสู่การกระทำผิดอื่นๆ ที่อาจไม่ได้อยู่ในคำร้อง

นอกจากคำให้การของผู้ยื่นคำร้อง อัยการยังได้หลักฐานเป็นบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงของทหารพม่ากว่า 1,000 ครั้ง ที่ดำเนินการโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 และเอกสารข้อมูลรั่วไหลจากกองทัพ ตำรวจแปรพักตร์ และพยานอื่นที่แสดงให้เห็นปฏิบัติการ อาชญากรรม และโครงสร้างบังคับบัญชาของกองทัพพม่า ด้วย

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุอีกว่า การสอบสวนและดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเยอรมนีจะนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิด และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้นอีก รวมถึงแสดงให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างด้วยว่าผู้กระทำผิดในคดีอาชญากรรมร้ายแรงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดได้

กลุ่มสิทธิยืนยันว่าการดำเนินคดีครั้งนี้ ไม่ใช่ความซ้ำซ้อน แต่เป็นการเสริมพยานหลักฐานให้หนักแน่นยิ่งขึ้นในคดีอื่นๆ หลังจากที่ผ่านมามีการสั่งเปิดการสืบสวนจากศาลอาญาระหว่างประเทศ การสั่งไต่สวนคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และการรับฟ้องคดีที่อาร์เจนตินาโดยใช้หลักเขตอำนาจศาลสากลแล้ว

ทำไมต้องเป็นเยอรมนี

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่าจากการศึกษาค้นคว้าเขตอำนาจศาล 16 แห่งในยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้ พบว่าเยอรมนีมีความเหมาะสมที่สุด เพราะภายใต้กฎหมายของเยอรมนี อัยการเป็นผู้มีสิทธิวินิจฉัยชี้ขาดแต่เพียงผู้เดียวว่าจะนำคดีมาพิจารณาโดยใช้หลักการเขตอำนาจศาลสากลหรือไม่

นอกจากนี้ เยอรมนียังอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนคดีอาชญากรรมสากลที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศกว่า 100 คดี ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดของเยอรมนีสั่งให้มีการสอบสวนเชิงโครงสร้างและนำไปสู่การไต่สวนหลายครั้ง และมีผลงานไต่สวนคดีทารุณกรรมในเรือนจำซีเรีย คดีของสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซีดิสด้วย

ใครพร้อมให้ความร่วมมือในคดีนี้บ้าง

องค์กรประชาสังคมในพม่าหลายแห่งยินยอมให้ความร่วมมือกับทางการเยอรมนีแล้ว เช่น กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวฉิ่น กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวกะเรนี มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแผ่นดินมอญ องค์กรโรฮิงญาพม่าในสหราชอาณาจักร และเครือข่ายแนวร่วมของทนายความพม่าที่ทำงานทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของพม่า และเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็พร้อมให้การสนับสนุนแก่อัยการเยอรมนี เช่น ทอม แดนดรูส์ (ผู้รายงานพิเศษยูเอ็น), โตมาส ควินตานา และยางฮี ลี (อดีตผู้รายงานพิเศษ), มาร์ซูกิ ดารุสแมน และคริสต์ ซีโดตี (คณะกรรมการค้นหาความจริงยูเอ็น) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีชื่ออดีตบุคลากรการทูต เช่น เลทิเทีย วาน เดน อัสสัม (อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ) กอบศักดิ์ ชุติกุล (อดีตเอกอัครราชทูตไทย และอดีต ส.ส. พรรคชาติไทย) เคอร์รี เคเนดี ประธานองค์กรโรเบิร์ต เอฟ. เคเนดี เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้มีบทบาทสำคัญอีกหลายคน

แปลและเรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท