งานวิจัยชี้ 'เฮทสปีช' ต่อ LGBTQ+ ในทวิตเตอร์เพิ่ม ช่วงเดียวกับเหตุรุนแรงในโลกจริงเพิ่มเช่นกัน

ข้อมูลจากการวิจัยระบุช่วงที่มีการใช้วาจาปลุกปั่นความเกลียดชังต่อ LGBTQ+ ในทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นมาก ก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในโลกจริงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมข้อสังเกตทวิตเตอร์ในยุคอีลอน มัสก์ อนุญาตเนื้อหาเฮทสปีชเหล่านี้แพร่หลายมากขึ้นโดยกลั่นกรองน้อยลง

28 ม.ค.2566 งานวิจัยของสถาบันวิจัยด้านการแพร่กระจายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Network Contagion Research Institute หรือ NCRI) ระบุว่า การที่ในทวิตเตอร์มีความคิดเห็นเหยียด LGBTQ+ และเหยียดชาวยิวเพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันกับการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงทางกายภาพในโลกจริงต่อชาว LGBTQ+

ถึงแม้ว่างานวิจัยดังกล่าวจะพูดถึงเรื่องสหสัมพันธ์ (correlation) ของสองตัวแปรซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะส่งผลต่อกัน (causation) เสมอไป แต่การที่ตัวแปรสองอย่างนี้เพิ่มขึ้นไปพร้อมกันก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสังเกต โดยที่งานวิจัยของ NCRI ระบุว่า มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงในโลกจริงต่อชาว LGBTQ+ กับการที่มีกลุ่มผู้เผยแพร่เฮทสปีชในโลกอินเทอร์เน็ต โดยมีการอ้างใช้วาทกรรมที่ไม่มีที่มากล่าวหาว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นพวก "ล่อลวงเด็ก" หรือ "กรูมเมอร์" (groomer)

การอ้างใช้วาทกรรมเพื่อก่อเฮทสปีชต่อชาว LGBTQ+ เช่นนี้ เคยทำให้ทวิตเตอร์ทำการแบนคำว่า "กรูมเมอร์" มาก่อน จนกระทั่งอีลอน มัสก์ เขามายึดบริษัททวิตเตอร์เมื่อปลายปีที่แล้ว (2565) ถึงได้มีการอนุญาตให้วาทกรรมความรุนแรงต่อชาว LGBTQ+ คำนี้ถูกนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง และมีการนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีเหตุการณ์กราดยิงที่ คลับคิว ในโคโรราโดสปริงส์ ซึ่งผู้ก่อเหตุถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังอัตลักษณ์ของ LGBTQ+ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากที่มัสก์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทวิตเตอร์แล้ว เขาก็ทำการลดการกลั่นกรองเนื้อหาเฮทสปีชออกจากพื้นที่โซเชียลมีเดียแห่งนี้

อเล็กซานเดอร์ รีด รอส นักวิเคราะห์จาก NCRI กล่าวว่าในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมา พวกเขาได้เห็นเหตุการณ์ต่อต้านชาว LGBTQ+ ในโลกจริงเกิดมากขึ้น และพวกเขาก็เล็งเห็นว่ามีสหสัมพันธ์ในทางสถิติระหว่างการเพิ่มขึ้นของเฮทสปีชกับการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์เช่นนี้

 

รอส ระบุว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ย. มีจำนวนทวีตข้อความที่กล่าวหาว่า LGBTQ+ เป็นพวก "groomer" มากกว่า 4,000 ทวีต ซึ่งนับว่ามีข้อความจำนวนนี้เพิ่มขึ้นในระดับที่มากที่สุด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน ก่อนหน้าที่จะมีการก่อเหตุโจมตีต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้น 7 กรณี

 

รอส กล่าวว่า ต้องมีการนำเรื่องเฮทสปีชนี้มาพิจารณาด้วยว่ามันเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์รุนแรง เพราะมันเป็นตัวหล่อเลี้ยงวาทกรรมเป็นพิษที่มีการประณามเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งส่งผลให้เกิดการให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

หนึ่งในแหล่งเพาะเชื้อใหญ่ๆ ของการต่อต้าน LGBTQ+ มาจากบัญชีผู้ใช้ที่ชื่อ Libs of TikTok ซึ่งมักจะใช้วาทกรรมใส่ร้ายป้ายสีว่า "กรูมเมอร์" บางครั้งบัญชีผู้ใช้งานนี้ก็ถูกระงับการใช้งานเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หรือไม่เช่นนั้นก็มีการลบข้อความบางข้อความออก จนกระทั่งเมื่อมัสก์เข้ามาครอบครองทวิตเตอร์แล้วก็ไม่มีการระงับการใช้งานของบัญชี Libs of TikTok นี้เกิดขึ้นอีก

 

ผู้ดูแลบัญชี Libs of TikTok ได้เปิดเผยตัวเองเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ว่าเธอคือ ชายา ไรชิค คนที่เคยเข้าร่วมประท้วงของมวลมหาประชาชนต่อต้านโจ ไบเดน และก่อการจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 โดยที่ไรชิค มักจะใช้ Libs of TikTok ในการกล่าวโจมตีโรงพยาบาลที่ให้บริการช่วยเหลือคนข้ามเพศ รวมถึงโจมตีการแสดงแดรกโชว์ด้วย มีบางกรณีที่หลังจากการโจมตีทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้วก็มีการข่มขู่คุกคามและการก่อเหตุโจมตีในโลกจริงต่อสถานพยาบาลและงานแสดงโชว์เหล่านี้เกิดขึ้นตามมาด้วย

 

อีกกรณีหนึ่งที่มีการพูดถึงคือการใช้โวหารโจมตีชาวยิว ที่มาจากแร๊พเพอร์ Ye ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของคานเย เวสต์ เขาเคยถูกแบนโดยทวิตเตอร์มาก่อนแต่มัสก์เคยถอนแบนให้กับ Ye อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่เขาจะถูกแบนอีกรอบ หลังจากการกล่าวโจมตีชาวยิวของ Ye ก็มีเหตุการณ์ที่คนไปพ่นสีสเปรย์ใส่สุสานชาวยิวเป็นรูปสวัสดิกะนาซีรวมถึงกล่าวในทำนองชื่นชม Ye ด้วย

 

เคยมีงานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ที่ระบุไปในทางเดียวกันว่าทวิตเตอร์มีการอนุญาตเฮทสปีชต่อชาว LGBTQ+ มากขึ้นนับตั้งแต่ที่มัสก์เข้ามายึดครอง งานวิจัยดังกล่าวมาจากองค์กรมีเดียแมตเตอร์และ GLAAD ที่นำเสนอเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ระบุว่ามีเนื้อหาที่ใช้วาทกรรมใส่ร้ายป้ายสีผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,200 นับตั้งแต่ที่มัสก์เข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา

 

เรียบเรียงจาก :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท