สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ม.ค. 2566

ธุรกิจขนส่งพัสดุในภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดท่องเที่ยวทางใต้ระส่ำหนักเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุในภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดท่องเที่ยวทางใต้ระส่ำหนักเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลับเข้าไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะมีรายได้ที่สูงกว่า ทำให้หลายธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งพัสดุเกิดปัญหาหนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการจ้าง oursource บริษัทหรือพนักงานจากภายนอก ให้ขนส่งพัสดุในพื้นที่ เมื่อแรงงานขาดแคลน จึงมีการขอปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลผู้ประกอบการหลายราย ประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งที่ส่งมายังพื้นที่ปลายทางเหล่านี้ เช่น FLASH Express ได้ประกาศปรับขึ้นราคาค่าขนส่งพัสดุไปยังเกาะสมุย, เกาะพะงัน, จังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ต โดยพัสดุที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 30 กิโลกรัม จะบวกราคาค่าขนส่งเพิ่ม 50 บาท พัสดุที่มีน้ำหนัก 30-50 กิโลกรัม จะบวกค่าขนส่งเพิ่ม 100 บาท และพัสดุที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป จะบวกค่าขนส่งเพิ่ม 150 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 2565 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวได้รับความนิยมมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน รวมถึงต้นทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาบริการให้ดีต่อไป จึงปรับขึ้นค่าขนส่งพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ J&T Express ออกประกาศแจ้งว่า พัสดุที่จัดส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จะคิดค่าธรรมเนียมการจัดส่งเพิ่มเติมจากค่าจัดส่งมาตรฐาน 200 บาทต่อพัสดุ มีผลตั้งแต่ 18 ม.ค.66 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และยังระบุด้วยว่า การนำจ่ายพัสดุในพื้นที่ดังกล่าว อาจเกิดความล่าช้า ส่วน Kerry Express ออกประกาศแจ้งลูกค้าว่า บริษัทของดส่งพัสดุไปปลายทางดังนี้ ตามรหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ 84280, 84310, 84320 รหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ 83000, 83150 รหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดพังงา ได้แก่ 83000 มีผลตั้งแต่ 27 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/1/2566

ศธ. จับมือ MOU 12 หน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาหนี้ครู มั่นใจปลดหนี้ครูไทยได้แน่นอน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน 12 แห่ง เพื่อต่อยอด “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” และ “มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย” ที่มีการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,300 ล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ความร่วมมือของ 13 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปัจจุบันครูทั่วประเทศ เป็นหนี้อยู่ในทุกสถาบันการเงินจำนวนกว่า 900,000 ราย วงเงินรวม 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมามีครูลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 40,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการอีกกว่าร้อยละ 90

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 27/1/2566

ผู้พิการค้าสลาก ร้อง 'ประยุทธ์' อย่าตัดโควตา ลั่นจะไม่พอกินแล้ว

26 ม.ค. 2566 ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนกลุ่มคนพิการ และผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย จ.อุดรธานี นำโดยนายบุญส่ง คุ้มโห้ อดีตทหารผ่านศึก เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองสลากฯ จัดสลากให้พอเพียงกับผู้พิการและผู้ค้ารายย่อย โดยมีนายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นตัวแทนรับ ก่อนส่งมอบต่อให้ นายเจษฎา ปานะถึก ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี เร่งรัดดำเนินการ

นายบุญส่ง กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนคนพิการ ผู้ค้าสลากรายย่อย ที่มีอาชีพจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรายได้หลัก มาร้องเรียนขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จากประกาศของกองสลาก โครงการซื้อ-จองล่วงหน้า สลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 13 ม.ค. 2566 ก่อนจะยุบสภา

นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2558 กองสลากฯ จัดสรรสลากฯ ให้ผู้ค้าสลากฯ รายย่อย ระบบสั่งซื้อ-จองล่วงหน้า รายละ 5 เล่ม หรือ 500 ฉบับ ขายหมดจะมีกำไร 4,800 บาทต่องวด ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอจุนเจือครอบครัวอยู่แล้ว แต่กองสลากฯ กลับออกประกาศลดเหลือเพียง 3 เล่ม หรือ 300 ฉบับ หากขายหมดจะมีผลกำไร 2,880 บาทต่องวด ทำให้ผู้มีอาชีพค้าสลากฯ เดือดร้อนแสนสาหัส

ด้าน น.ส.ธันย์ชนก นามวงศ์ อายุ 45 ปี ผู้พิการนั่งรถเข็น กล่าวว่า ผู้พิการที่เดือดร้อนครั้งนี้ไม่เคยมีโควตาสลากฯ คนพิการ ต้องอาศัยสั่งซื้อ-สั่งจองเหมือนรายย่อยทั่วไป มีต้นทุนมากกว่าคนทั่วไป ทั้งค่าใช้จ่ายเดินทางสั่งซื้อ-จอง ตามตู้เอทีเอ็ม ต้องไปนอนเฝ้าข้ามคืนทุกงวด ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งถูกเอาเปรียบ ถูกรังแก ไปสู้รบปรบมือกับเขาไม่ได้ ยังจะมาตัดให้เหลือแค่ 3 เล่ม

“เราจะเอาอะไรกินคะ 5 เล่มยังไม่พอกินกันเลยแต่ละครั้ง เวลาเดินทางไปขายก็มีต้นทุนสูง ไหนจะคนเข็น ไหนจะคนขับรถพาไป ลำพังคนพิการไปเองไม่ได้ ขอหน่อยแล้วกัน อย่าตัดพวกหนูเลยนะคะ ขอท่านนายกฯ ให้โควตาพวกหนู อย่าตัดออก” น.ส.ธันย์ชนก กล่าว

ด้านนายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ทางจังหวัดจะเร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี ส่งหนังสือร้องเรียนไปตามขั้นตอน และขอให้กำลังใจผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ กับการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อยทุกคน

ที่มา: ข่าวสด, 26/1/2566

ดันแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” สู่อาชีวะ ใช้ big data ส่งเสริมมีงานทำ

26 ม.ค. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการมีงานทำแก่นักเรียน นักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล (big data) ด้านอุปสงค์ อุปทานของตลาดแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำให้แก่กำลังแรงงานทุกระดับ และทั้ง 2 ฝ่ายมีการขับเคลื่อนร่วมกันเรื่อยมา

โดยในวันนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดประชุมชี้แจงการใช้งานแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ ด้วยระบบ Digital ID ผ่านระบบ Zoom Meeting ให้สถานศึกษาภาครัฐ และเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กว่า 900 แห่ง เนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ของแพลตฟอร์มไทยมีงานทำของกรมการจัดหางาน ต่อนักเรียนและนักศึกษา

ซึ่งกรมการจัดหางานได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ จากกองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการใช้งานระบบไทยมีงานทำ เพื่อให้ครู อาจารย์ และบุคลากรด้านการศึกษา นำไปแนะนำต่อยังนักเรียนและนักศึกษา ให้ทราบช่องทางการใช้บริการจัดหางานภาครัฐ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตำแหน่งงาน สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ ในการค้นหาตำแหน่งงานว่างที่ตรงกับความรู้ ความสามารถ ตลอดจนค้นหาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“กรมการจัดหางาน พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้มีความรู้ ความสามารถ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และการพัฒนาประเทศ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2566

ที่ประชุม คบต.จ่อชง ครม.ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวทำงานในไทยอีก 1-2 ปี

25 ม.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คบต.ได้เห็นชอบ 3 ข้อพิจารณา 1.เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงาน และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กกจ. ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เพื่อจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานจาก กกจ.ให้ใช้ใบรับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หรือทะเบียนใบอนุญาตทำงาน ตามแต่ละกรณี คู่กับใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบตามขั้นตอนแล้ว คนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี

2.พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี ให้ดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 หรือภายใน 90 วัน และขอความร่วมมือทางการเมียนมาเพิ่มสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI

3.เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงาน โดยกลุ่มที่ครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประมาณ 60,000 คน และกลุ่มที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่าง วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 จำนวน 50,000 คน ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูควบคู่ไปด้วย โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือเดินทางกลับเพียงระยะสั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยได้กำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ และจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ จึงเป็นที่มาของการเสนอข้อพิจารณาทั้ง 3 ประเด็นในวันนี้ โดยล่าสุด กกจ.ได้มีหนังสือไปสอบถามความเห็นจากประเทศต้นทางแล้ว และอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ ระหว่างนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ กล่าวว่า ทางการเมียนมามีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงประเทศไทย ถึง 2 ฉบับ ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานเมียนมา ดำเนินการเพื่อมีหนังสือเดินทางจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 เนื่องจากคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู ซึ่งวาระการจ้างครบ 4 ปี หนังสือเดินทางกำลังทยอยหมดอายุและอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคลออกไปอีก 6 เดือน

“นอกจากนี้ กกจ.ยังได้รับการประสานจากภาคเอกชนถึงปัญหาขัดข้องที่สถานทูตไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ทันภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 จากข้อเสนอของทางการเมียนมาและภาคเอกชนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานในช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคลฉบับใหม่ ตลอดจนขยายระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์ CI เพื่อสามารถดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคลให้เสร็จสิ้น” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชน, 25/1/2566

เอกชนเสนอรัฐเอ็มโอยูสถานศึกษาเเก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน

หลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบและมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้าไทยบ้างแล้วผู้ประกอบการเสนอให้ภาครัฐ ได้เริ่มลงนามตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาเพื่อจะได้มีแรงงานเข้าระบบได้ทัน

หลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบและมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้าไทยบ้างแล้ว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สปา ร้านนวด ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานออกไปจากท้องตลาดอย่างหนัก

โดยเฉพาะแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง หรือ ลาออก กลับภูมิลำเนาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่กลับเข้าระบบการทำงานเดิม ซึ่งปัญหาสำคัญคือแรงงานส่วนใหญ่เลือกจะไม่กลับเข้ามาทำงานแล้ว เนื่องจากเริ่มประกอบอาชีพอื่น

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งช่วยเสริมให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้ แต่การจ้างแรงงานต่างด้าวก็มีต้นทุนสูง เนื่องจากการจัดการเอกสารโดยผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการให้บางรายการก็มีค่าใช้จ่ายสูง

บางกรณีอาจเกิดการแย่งแรงงานโดยการเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้มากกว่าปกติ ซึ่งปัญหานี้จะนำไปสู่การโก่งราคาแรงงานปกติได้ หากสภาวะตลาดขาดแคลนแรงงานสูง

นางฐนิวรรณ บอกว่า อยากเสนอให้ภาครัฐ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการที่ภาคการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนได้เริ่มลงนามตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ และเพิ่มประสบการณ์การทำงานในด้านนี้ได้

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าภาคใต้กลุ่มจังหวัดอันดามัน ระบุว่า การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงไฮซีซั่นนี้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ว่าการที่ประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิดนั้น ยอมรับว่าเกินความคาดหมายของภาคเอกชนที่ได้ติดตามในช่วงแรก ไม่คาดคิดว่าจะมีการฟื้นตัวได้รวดเร็ว

แต่ก็ประเมินเอาไว้แล้วว่าการท่องเที่ยวรอบนี้จะเป็นการท่องเที่ยวแบบล้างแค้น เพราะหลายคนไม่ได้เดินทางมา 2-3 ปี

เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธุรกิจต่าง ๆ หาพนักงานไม่ทัน เอกชนกำลังประสานสถาบันการศึกษา ทั้งระดับ ปวช. ปวส. และระดับมหาวิทยาลัย ขอให้สถาบันการศึกษาปรับการเรียนการสอนให้นักศึกษามาทำการฝึกงานในสถานประกอบการเร็วขึ้น จากนั้นจึงไปจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาอื่น หรือจัดเวลาการเรียนให้น้อยลง เพื่อจะได้มาฝึกงานมากขึ้น

ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหารือ รวมทั้งการเร่งเปิดรับพนักงานที่จะเข้ามาทำงานให้เพียงพอกับการบริการ โดยรวมแล้วขณะนี้ภาคใต้กลุ่มจังหวัดอันดามันขาดแคลนแรงงานรวมกันนับหมื่นตำแหน่ง

จึงขอเชิญชวนว่านักศึกษาที่จบใหม่หรือบัณฑิตที่จบใหม่ที่มีใจรักบริการ แม้จะไม่ตรงสายงาน แต่สถานประกอบการก็พร้อมจะจัดฝึกอบรม ด้วยคอร์สระยะสั้น ที่สามารถไปเข้าฝึกอบรมแล้วก็มาทำงานได้

ที่มา: Thai PBS, 24/1/2566

กระทรวงแรงงานรับสมัครคนไทยฝึกงานญี่ปุ่น ฝึกครบรับเงินกว่า 1.5 แสนบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan ปี 2566 ครั้งที่ 2 (เพศชาย) ในตำแหน่งผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิค ประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง (อาทิ งานหล่อกลึงโลหะ งานปั๊มขึ้นรูปโลหะ งานเชื่อม งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานบำรุงรักษาเครื่องจักร งานพ่นสี งานหลอม พลาสติก งานซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ งานแปรรูปอาหาร เป็นต้น) ผู้สมัครสามารถสมัครด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้ – 31 มกราคม 2566 และสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบจังหวัดลำปาง โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนแรก 80,000 เยน หรือประมาณ 20,510 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี และเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด เมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ  153,830 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 24 มกราคม 2566) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะทำให้แรงงานไทยมีรายได้ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้รับประสบการณ์ สามารถนำทักษะที่เรียนรู้มาเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน หรืออาจต่อยอดเปิดกิจการของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan จะมีการคัดเลือกด้วยวิธีสอบภาคความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ด้านช่าง และความรู้ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และสอบสัมภาษณ์ เพื่อทดสอบทัศนคติ บุคลิกภาพ การปรับตัว และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป โดยกรมการจัดหางานจะเรียกผู้ผ่านการคัดเลือกตามบัญชีรายชื่อเข้ารับการฝึกอบรมด้านวัฒนธรรมและภาษาญี่ปุ่นก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 เดือน แบบอยู่ประจำ ณ ศูนย์ฝึกอบรม

ทั้งนี้หากผู้ผ่านการคัดเลือกไม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตามที่กรมการจัดทางานกำหนดให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์ โดยจะเรียกผู้ผ่านการคัดเลือกตามบัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปเข้ารับการฝึกอบรมแทน และเมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมก่อนเดินทางจะมีการทดสอบภาษาญี่ปุ่น ซึ่งต้องผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนภาษาญี่ปุ่นระดับ 5 ในหลักสูตรที่องค์กร IM ประเทศญี่ปุ่นร่วมกับกรมการจัดหางานกำหนด จึงจะมีสิทธิได้เดินทาง สุดท้ายจะต้องเข้ารับการอบรมด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นอีก 1 เดือน โดยจะมีการทดสอบอีกครั้ง หากไม่ผ่านการทดสอบจะถูกส่งกลับประเทศไทย

“ขอให้ผู้ที่สนใจสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ศึกษาคุณสมบัติ เงื่อนไขการรับสมัครอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจที่ เว็บไซต์ toea.doe.go.th หัวข้อ “ข่าวประกาศรับสมัคร”  หากมีความประสงค์สมัครคัดเลือก สามารถสมัครได้ที่เว็บเดียวกัน โดยลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน ดูรายการสมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0-2245-9428 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694”

ที่มา: สยามรัฐ, 24/1/2566

เอกชนห่วงไทยขาดแคลนแรงงานภาคบริการรองรับนักท่องเที่ยว

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า หลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศ และเชื่อว่าจากนี้จะเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานประเมินว่าจะสูงถึง 7 ล้านคนในปีนี้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่มีประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ประเมินตัวเลขอาจสูงถึง 25 ล้านคน มีความเป็นห่วงว่า ผู้ประกอบการในภาคบริการจะไม่สามารถหาแรงงานในการให้บริการได้ทัน จนส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยในอนาคต อาจมีการเปลี่ยนเป้าหมายไปประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่สามารถสร้างความประทับใจแรกในการเดินทางหลังเปิดประเทศได้ โดยเฉพาะผู้ให้บริการภายในสนามบิน การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ และการให้บริการบนสายการบิน

ขณะที่ย่านเยาวราชเวลานี้พนักงานขายของร้านค้า ร้านอาหาร และผู้ให้บริการต่างๆ ส่วนหนึ่งใช้บริการแรงงานต่างด้าวจากเมียนมา และกัมพูชา เนื่องจากแรงงานไทยหายากและไม่พร้อมทำงาน จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐมองเห็นปัญหาในจุดนี้ เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนแรงงานคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ให้กับการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต ให้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/1/2566

“แรงงานสร้างชาติ” ขานรับภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

22 ม.ค. 2565 นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ (NLP) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม ในนาม We Fair นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และคณะกรรมการเครือข่ายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า มาพบตนที่สำนักงานใหญ่พรรคแรงงานสร้างชาติ เพื่อรณรงค์ขุดข้อเสนอ 9 ด้าน รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 12 พรรคการเมืองของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม We Fair ให้พรรคการเมืองให้คำมั่นพร้อมสนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้า 9 ด้าน เช่น เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนเดือนละ 3,000 บาท เรียนฟรีอนุบาลถึงปริญญาตรี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวกันเท่าเทียม การเข้าถึงสิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัย การพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับคนทำงานทุกภาคส่วน เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากมีการมองกันว่า สวัสดิการยุครัฐบาลประยุทธ์เน้นระบบสงเคราะห์เชิงอุปถัมภ์ เข้าไม่ถึงสิทธิเสมอกัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเปราะบางในประเทศไทยยังคงมีอยู่สูง ดังนั้นในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศที่กำลังจะมาถึงจึงต้องการให้พรรคการเมืองแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนสวัสดิการถ้วนหน้าให้ชัดเจน

นายมนัส กล่าวว่า ข้อเสนอด้านสวัสดิการถ้วนหน้าของกลุ่ม We Fair ส่วนใหญ่ตรงกับนโยบายพรรคแรงงานสร้างชาติ ที่เราพร้อมขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมาพรรคแรงงานสร้างชาติได้เปิดนโยบายภาคสังคมให้สาธารณชนรับรู้วงกว้างแล้ว โดยสัปดาห์หน้าพรรคแรงงานสร้างชาติมีกำหนดลงพื้นที่พบปะผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการจังหวัดระยอง ชลบุรี เพื่อชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม เช่น 1.ให้รับสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพได้โดยไม่ต้องถึงอายุ 55 ปี 2. ดำเนินการให้มีรพ.ประกันสังคมต้นแบบแก้ปัญหาระบบส่งต่อ (รีเฟอร์) สิทธิรักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาคนทำงานเมื่อเจ็บป่วยต้องเสียชีวิตระหว่างทางไปใช้สิทธิ ณ รพ.ที่มีสิทธิ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหายั่งยืนจึงควรมีรพ.ประกันสังคมต้นแบบ ขนาด 200 เตียง ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ เมืองอุตสาหกรรมทั้ง 4 มุมเมืองซึ่งเป็นการตอบโจทย์การใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ตรงจุด.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 22/1/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท