ในญี่ปุ่น ผู้ปกครองที่ทำงานหลายคนประสบปัญหาที่เรียกว่า "กำแพงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1" เมื่อบุตรหลานจบอนุบาลและเข้าเรียนในโรงเรียนประถม ก็ได้สร้างภาระใหม่ๆ ให้กับผู้ปกครอง
ที่มาภาพประกอบ: kkunurashima (CC BY 2.0)
29 ม.ค. 2566 ในญี่ปุ่น ผู้ปกครองที่ทำงานหลายคนประสบปัญหาที่เรียกว่า "กำแพงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1" เมื่อลูกๆ ของพวกเขาจบจากโรงเรียนอนุบาลและเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งชั้นเรียนจะจบลงในช่วงเวลาบ่ายทำให้บทบาทของผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างในระบบการดูแลเด็กของญี่ปุ่นทำให้ผู้ปกครองเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่า บุตรหลานของพวกเขาจะมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรอคอยผู้ปกครองที่เลิกงานในช่วงเย็น
แม้การเข้าโรงเรียนประถมเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก แต่สำหรับพ่อแม่ที่ทำงานหลายคน ก็อาจเป็นเรื่องทดสอบครั้งใหญ่ได้เช่นกัน การสำรวจผู้ปกครอง 1,014 คน ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยสำนักพิมพ์ Seigetsusha พบว่าร้อยละ 49 ของผู้ตอบแบบสอบถามประสบปัญหาที่เรียกว่า "กำแพงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1" ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือความยากลำบากในการหาการดูแลเด็กๆ หลังเลิกเรียนและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อ เมื่อเด็กออกจากสถานที่รับเลี้ยงเด็กในระดับอนุบาลและก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับประถมศึกษา
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด ผู้ปกครองร้อยละ 54.7 ระบุว่าคือความยากลำบากในการสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน, ร้อยละ 41.7 ระบุว่าคือความยากลำบากในการจัดการกับช่วงปิดเทอม, และร้อยละ 38 ระบุว่าคือบทบาทของผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้น
ผู้ปกครองหลายคนถูกบังคับให้เปลี่ยนงานจากงานประจำเป็นงานนอกเวลา เพื่อแลกกับเวลาที่จะได้ดูแลบุตรหลานได้มากขึ้น
นอกจากนี้ผู้ปกครองที่ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าพวกเขาต้องใช้วันลาพักร้อน เมื่อโรงเรียนของบุตรหลานปิดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพบว่าไม่มีสถานที่ดูแลเด็กหลังเลิกเรียนเหลืออยู่เมื่อพยายามสมัครโครงการนี้
ส่วนปัญหาที่พบบ่อยที่สุดที่ตัวเด็กเองต้องเผชิญในวัยประถมคือเรื่องการเรียน ได้แก่ เวลาเรียนไม่เพียงพอ (ร้อยละ 23.1) หรือเรียนไม่ทัน (ร้อยละ 15.8)
เมื่อถูกถามว่าบุตรหลานของตนมีที่พักนอกบ้านและโรงเรียนหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79.2 ตอบว่ามี, ร้อยละ 66.4 ระบุว่าบุตรหลานของตนเรียนพิเศษแบบตัวต่อตัวนอกโรงเรียน, ร้อยละ 40.7 ระบุว่าบุตรหลานของตนทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬา, ร้อยละ 33 ระบุว่าบุตรหลานของตนเข้าสถานที่ดูแลเด็กหลังเลิกเรียน - เห็นได้ชัดว่าพ่อแม่ที่ทำงานพยายามเชื่อมช่องว่างหลังบุตรหลานเลิกเรียนและเวลาเลิกงานของพวกเขา ด้วยการเติมเต็มด้วยกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อไม่ให้บุตรหลานถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังที่บ้าน