'ทะลุฟ้า' เดินขบวน 'ยื่น หยุด ขัง' ไปศาลอาญา รัชดาฯ ยื่นประกันตัวผู้คุมขังทางการเมือง

  • ประมวลกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ เดินขบวนจากเมเจอร์ รัชโยฯ ไปศาลอาญารัชดา ยื่นขอประกันผู้ถูกคุมขังทางการเมืองร่วมกับทนายความ และญาติผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ด้านเก็ท ใบปอ ตะวัน และแบม ไม่ประสงค์ขอยื่นจนกว่าผู้ต้องหาทางการเมืองจะได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด
  • ทะลุฟ้า แถลงเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจ ผู้พิพากษา อธิบดีศาล พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยการเมืองทุกคดีบนหลักกฎหมาย สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมดสิ้นสุด และยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่จำกัดเสรีภาพ

29 ม.ค. 2566 ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม Mobdata  รายงานวันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลา 9.00 น. กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมประชาชนประมาณ 10 คน รวมตัวที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหนคร หรือ BACC แยกปทุมวัน เพื่อร่วมกันเดินขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีสยาม ไปสถานีบีทีเอสรัชโยธิน

สำหรับกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ยื่น หยุด ขัง นัดรวมตัวหน้าศูนย์การค้า เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน ในเวลา 10.00 น. ก่อนเดินขบวนไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นขอประกันตัวนักกิจกรรมการเมืองร่วมกับทนายความ และญาตินักโทษการเมือง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการถือ 'ดอกไม้ทานตะวัน' ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หนึ่งในนักกิจกรรมการเมืองที่ก่อนหน้านี้อดอาหารและน้ำติดต่อกันมาเกิน 1 สัปดาห์แล้ว เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองต้องมีนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และยกเลิกมาตรา 116

9.38 น. เริ่มมีประชาชนมารอทำกิจกรรม สมทบกับทีมทะลุฟ้า ที่หน้าเมเจอร์ รัชโยธิน

9.53 น. ขบวนทะลุฟ้า จากหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เดินทางถึงสถานี BTS รัชโยธิน

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า เวลา 10.00 น. ขบวนทะลุฟ้า ที่เดินทางมาจาก BACC เริ่มตั้งแถวห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนจะเริ่มเดินทำกิจกรรมเดินเท้าไปยังศาลอาญารัชดาในเวลา 10.10 น.

ขบวนทะลุฟ้า เริ่มเดินจากหน้าศูนย์การค้าเมเจอร์ฯ รัชโยธิน (ถ่ายโดย ZEE AI)

10.17 น. ไผ่ และประชาชน เดินทางมาถึงหน้า สน.พหลโยธิน พร้อมร่วมตะโกนปล่อยนักโทษทางการเมือง คืนสิทธิประกันตัวหน้า

ทั้งนี้ ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม Mobdata ระบุว่า หน้า สน.มีการกั้นรั้วลวดหนามและมีตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 10 นายยืนตั้งแถวบริเวณทางเข้า

'ทะลุฟ้า' แถลงถึงศาล ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยการเมืองตามหลักกฎหมาย-เลิกเงื่อนไขประกันตัวจำกัดเสรีภาพ

10.43 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส และประชาชน เดินผ่านหน้า สำนักงานพรรคพลังประชารัฐ ไผ่ ตะโกนว่า เลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต้องไปเลือก 

บรรยากาศการเดินขบวน (ถ่ายโดย ZEE AI)

10.50 น. ขบวนทะลุฟ้า เดินทางถึงหน้าศาลอาญารัชดา กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 12 รายจาก 16 ราย โดยนักกิจกรรม 4 ราย ได้แก่ 'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์ 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ 'ใบปอ' ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ประสงค์ไม่ขอยื่นประกันตัว ต้องการต่อสู้จนกว่าผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ จะได้รับการประกันตัวทั้งหมดไปก่อน เขายืนยันว่าสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและทุกคนควรได้รับ เขาจึงใช้ตัวเองทำให้สังคม และศาล ได้รับรู้และตระหนักในเรื่องนี้

รายชื่อที่ทนายความจะยื่นคำร้องขอประกันตัว ได้แก่

  • อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล, แบงค์ ณัฐพล, เก่ง พลพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส 
  • แน็ก ทัตพงศ์, คทาธร และ คงเพชร ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด 
  • พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกกล่าวหาจากเหตุร่วมปาระเบิดปิงปองบริเวณสนามหญ้าหน้าประตูกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ 
  • เอก (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ตามมาตรา 112
  • อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล (ก้อง ทะลุราม), สมบัติ ทองย้อย, สิทธิโชค เศรษฐเศวต (ไรเดอร์ วัย 26 ปี) ศาลตัดสินคดี ม.112 แล้ว และยังไม่ได้รับการประกันตัว

หลังจากนั้น ไผ่ ทะลุฟ้า อ่านแถลงการณ์ประชาชน "ยื่น หยุด ขัง" เรียกร้องขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ อ่านแถลงการณ์ (ถ่ายโดย ZEE AI)

11.30 น. ผู้ชุมนุมวางดอกทานตะวัน และปักธงป้ายข้อความบริเวณหน้าป้ายศาล 

กิตติศักดิ์ กล่าวหลังยื่นคำร้องของประกันตัวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการรอฟังคำสั่ง ซึ่งศาลจะมีคำสั่งภายในวันนี้ (29 ม.ค.) ภายในช่วงบ่าย

12.12 น. ประชาชนเดินทางกลับมาจากศาลอาญา รัชดาภิเษก ไปที่ BACC โดยการโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีรัชโยธิน และเดินทางถึง BACC ในเวลาประมาณ 12.55 น. 

ทั้งนี้ 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 13.33 น. แจ้งข่าวว่า ไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร เสียชีวิตระหว่างทำกิจกรรม ยื่น หยุด ขัง บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อช่วงกลางวันด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน 

  

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เมื่อเวลาประมาณ 15.41 น. ระบุว่า เมื่อตอนบ่ายสามโมง ศาลยังยืนยันไม่ให้ประกันตัว 9 ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ชั้นสอบสวน-พิจารณา อีก 3 รายคดี ม.112 ชั้นอุทธรณ์ทั้งศาลอาญา-อาญากรุงเทพใต้ ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา ท่ามกลางการอดอาหาร-น้ำเรียกร้องสิทธิประกันตัวกว่า 10 วันแล้วของตะวัน-แบม และสิทธิโชค แม้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ศาลปฏิบัติตามหลักกฎหมาย

 

 

มีรายละเอียดดังนี้

ในวันที่ 29 มกราคม 2566 นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ  ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารและน้ำจนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นการอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน
 
โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการ คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ไม่น้อยกว่า 16 คน
 
ทางภาคประชาชนผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” เห็นว่า สิทธิในการประกันตัวหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้ โดยบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
 
อีกทั้ง ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังกำหนดว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นและต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวของศาลจึงต้องคำนึงถึง หลักกฎหมายและปรากฎข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้

ด้วยเหตุนี้ ทางภาคประชาชนที่ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” จึงขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
1. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลให้การรับรอง โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา
 
2. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน
 
ทางภาคประชาชนผู้ทำกิจกรรม "ยื่น หยุด ขัง" ขอเรียนต่อศาลว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้มิได้เป็นการกดดัน การปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือกระทำการอันเป็นแทรกแซงการพิจารณาคดีที่ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรมของศาล แต่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและตึงเครียด ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันตุลาการจะเป็นเสาหลัก นำพาความยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง
 
เราเชื่อว่า หากสถาบันตุลาการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน สถาบันตุลาการย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข
 
ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท