นักเศรษฐศาสตร์ชี้มูลค่าการค้าพุ่งสูงแต่ผลประโยชน์และสวัสดิการไม่กระจาย

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ระดับการเปิดประเทศไทยสูงขึ้น มูลค่าการค้าพุ่งสูงแต่ผลประโยชน์และสวัสดิการไม่กระจาย นำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัยพุ่งกว่า 1,000% ทำให้ไทยขาดดุลกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดปีนี้ส่งออกโตได้ 2-3%         

29 ม.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีระดับการเปิดประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ การขยายตัวของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ไทยอยู่ในอันดับ 3 ในมิติระดับการเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น เมื่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น การผลิตสูงขึ้น การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รายได้ที่แท้จริงเริ่มกระเตื้องขึ้น การบริโภคเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น การผลิต การบริโภค การท่องเที่ยวในไทยต่างสนับสนุนการค้า ทำให้ขนาดการค้าระหว่างประเทศของไทยใหญ่ขึ้นมาก ระดับการเปิดประเทศที่สูง ย่อมหมายถึง ความถดถอยหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในมาก จากการคำนวณล่าสุด (ณ. สิ้นปี 2565) พบว่า ไทยมีระดับการเปิดประเทศอยู่ที่ 116.76% อย่างไรก็ตามระดับการเปิดประเทศยังไม่กลับไปสู่ระดับเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยที่ระดับการเปิดประเทศ ณ. ไตรมาสสอง 2548 อยู่ที่ 128.1% การที่ระดับการเปิดประเทศในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับในทศวรรษ 2540 ทั้งที่มูลค่าการค้าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นผลจากขนาดของเศรษฐกิจภายใน ตลาดภายในทั้งในมิติภาคการบริโภคและภาคการลงทุนเติบโตขึ้นในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่านำเข้าสูงกว่าส่งออกในปี พ.ศ. 2565 ทำให้ไทยขาดดุลการค้าสูงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา อัตราทางการค้า (Term of Trade) แย่ลง ทำให้ สังคมโดยรวม ไม่ได้ประโยชย์อย่างเต็มที่จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราทางการค้าไทยปรับตัวลดลง เพราะ ราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคาสินค้านำเข้าปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 เป็นเวลาต่อเนื่อง 12 เดือน ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าราคาสินค้าส่งออกของไทยมาก อย่างตัวเลขล่าสุด อัตราการค้า (Term of Trade) ก็อยู่ที่ระดับ 98.8 ต่ำกว่า 100 นอกจากนี้ การนำเข้าส่วนที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 1,000% จากปี 2564 คือ หมวดสินค้าอาวุธและยุทธปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงมากเมื่อปีที่แล้ว    

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือของประชาชนดีขึ้นมากขึ้นได้ ซึ่งในทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็น Immiserizing Growth เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อการขยายตัวทางการค้า ทำให้อัตราการค้าแย่ลง และ อัตราการค้าที่แย่ลงนี้แย่ลงมากกว่าผลบวกจากการค้าที่นำมาสู่ความมั่งคั่ง ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมลดลง ประเทศต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง ขณะที่ต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงอย่างมากเพื่อให้ขายได้ ระบบเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้นอัตราการค้าที่ตกต่ำจึงมีผลให้สวัสดิการของประเทศลดตามไปด้วย การขยายตัวของการค้าภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าของไทยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากการค้าไม่กระจายตัวมายังคนส่วนใหญ่ 80% ของประเทศ ผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่มีรายได้สูงสุด 20% จึงทำให้คนกลุ่มนี้ถือครองรายได้เกินกว่า 60% ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 

งานวิจัยเรื่อง การเปิดเสรีการค้ากับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศไทย ของ ดร. ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และ ดร. ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ พบว่า การเปิดเสรีทางการค้าสามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทยเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงก็ได้ โดยขึ้นกับประเภทของการเปิดเสรีการค้าที่เกิดขึ้น หากการเปิดเสรีทางการค้ามีผลช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาเกษตรของประเทศไทยหรือทำให้ประเทศไทยปรับลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีในสาขาบริการลงจากเดิมผลของการเปิดเสรีทางการค้าจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทย นอกจากนั้น หากการเปิดเสรีการค้าก่อให้เกิดการยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาผลิตสินค้าและสาขาบริการของประเทศคู่ค้าของไทยหรือทำให้คู่ค้าปรับลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและที่มิใช่ภาษีที่เคยมีกับการนำเข้าสินเกษตรจากประเทศไทยลง ก็จะทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทยลดลงได้    

การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization) จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (Macroeconomic Variables) จะมีค่าเป็นบวก แต่ตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และ การกระจายรายได้กลับแย่ลงในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งไทย การเปิดเสรีทางการค้าก่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ หรือ แรงงานไร้ฝีมือ รุนแรงขึ้น จากการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีค่าแรงถูกและมีแรงงานเหลือเฟือ มีผลทำให้ราคาเปรียบเทียบ (Relative Price) ของสินค้าที่ใช้แรงงานฝีมือหรือใช้ทุนเข้มข้นปรับเพิ่มขึ้นและทำให้ความไม่เท่าเทียมทางด้านค่าจ้างแรงงาน หากเปิดเสรีการค้าทำให้ผู้ผลิตและอุตสาหกรรมภายในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า ผู้ผลิตภายในก็อาจใช้วิธีการจ้างการผลิตแบบเหมาช่วง (Outsource) ในส่วนของกิจกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นจากประเทศส่งออกที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าเหล่านั้นแทน กรณีแบบนี้ การเปิดเสรีการค้าส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมต่างๆไปยังปัจจัยแรงงานฝีมือมากขึ้น หากการเปิดเสรีการค้ามีผลทำให้การนำเข้าสินค้าปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น หรือมีผลทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้นนั้นได้นำเทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตหรือกระบวนการทำงานใหม่ๆ ประเทศผู้นำเข้าหรือผู้รับการลงทุนเหล่านี้ก็อาจมีแนวโน้มจ้างแรงงานทักษะสูง 

การเปิดเสรีส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับความคุ้มครองจากกำแพงภาษีจะถูกบีบให้ต้องมีปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้แข่งขันกับสินค้านำเข้าให้ได้ การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ  อัตราขยายตัวของการลงทุนในปี พ.ศ. 2566 น่าจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติม อาจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมและกิจการท่องเที่ยว อัตราการขยายตัวของการส่งออก 2-3%  ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าบางประเทศ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าจะกลับมาเกินดุลได้ ราคาพลังงานนำเข้าลดลงอย่างมีนัยยสำคัญทำให้ลดการขาดดุลการค้าประกอบกับมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวของต่างชาติและกระแสเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ รายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะแตะระดับ 9.5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 66 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 18.5-20 ล้านคน ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศจะมีรายได้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท รวมรายได้จากธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องน่าจะอยู่ระดับ 1.55-1.8 ล้านล้านในปี 2566 คาดการณ์ว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังคงห่างไกลจุดสูงสุดของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมเกือบ 40 ล้านคนในหนึ่งปีและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติเกือบ 2 ล้านล้านบาท  

สงครามยูเครนรัสเซียอาจขยายวงและยืดเยื้อไปอีกนาน และยังไม่เห็นสัญญาณของการเจรจาสันติภาพกันได้ในอนาคตอันใกล้ การส่งอาวุธสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตก อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางด้านนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรป สภาวะดังกล่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยตรง ความเสี่ยงต่อวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นระลอกใหม่ได้ สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศได้ กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ก่อผลทางลบอย่างรุนแรงเหล่านี้ จะเกิดความไม่นอนอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว ระดับการเปิดประเทศในระดับสูงของไทยย่อมทำให้ได้รับผลกระทบจากพลวัตของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกอย่างมาก การมียุทธศาสตร์ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในจากภาคการลงทุน และ ตลาดภายในมีความสำคัญในการลดความผันผวนจากภายนอก โดยไทยต้องวิเคราะห์ ยุทธศาสตร์ใหญ่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ของสหรัฐอเมริกา ประเมิน โครงการ Build Back Better World ของรัฐบาลโจ ไบเดนให้ดี โครงการนี้จะสนับสนุนกลุ่มทุนเอกชนในประเทศ G7 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ดิจิทัลและความเท่าเทียมกันในทุกมิติ นอกจากนี้ หลังจากจีนกลับมาเปิดประเทศเต็มที่แล้ว ไทยต้องติดตามมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น (BRI) ของจีนจะมีความคืบหน้าไปในทิศทางใด ซึ่งคาดว่าจะมีการเร่งรัดให้เกิดตามเป้าหมายเร็วขึ้นเพื่อกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และการวางนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศให้เหมาะสม บทบาทไทยในประชาคมอาเซียนมีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายกันของการปะทะกันทางด้านเศรษฐกิจการเมืองของมหาอำนาจโลกในภูมิภาคอาเซียน การวางตำแหน่งของไทยและอาเซียนให้อยู่ในจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคมีความสำคัญ พร้อมกับ การใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน พรรคการเมืองต่างๆที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆเหล่านี้ให้ชัดเจน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ในปี พ.ศ. 2566 เมื่อได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว คาดว่า ไทยคงจะสามารถเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆได้อย่างรอบคอบ อย่างมีกลยุทธและรัดกุมยิ่งขึ้น การนำเข้าหมวดอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยต่างๆน่าจะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ และ การนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร สินค้าเทคโนโลยีน่าจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท