'อนุทิน' จ่อแก้มียาบ้าเกิน 1 เม็ด คือ 'ผู้ค้า' ด้าน 'ก้าวไกล' ชี้ขัดเจตนารมณ์ ที่มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องบำบัด

ส.ส.ก้าวไกล ถาม 'อนุทิน' ออกเกณฑ์ผู้เสพ-ผู้ค้า ยาบ้าใหม่ มีงานวิจัย-ข้อมูลรองรับหรือไม่ว่าจะแก้ปัญหาได้ ชี้เกณฑ์ที่ใช้ปัจจุบันเปิดช่องโหว่มากพอแล้ว ขัดเจตนารมณ์ที่มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด แนะใช้กระบวนการทางอาญาพิสูจน์ทราบ คัดแยกผู้เสพ-ผู้ค้าตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไป ย้ำระยะยาว ต้องแก้ต้นตอปัญหาที่โครงสร้างสังคม

30 ม.ค.2566 จากกรณีวานนี้ (29 ม.ค.) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขึ้นเวทีปราศรัยพรรคภูมิใจไทย เดินหน้าประกาศสงครามยาเสพติด ระบุเตรียมลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ครองครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด ถือเป็นผู้จำหน่ายนั้น

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่มสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณีดังกล่าว ว่าอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาเกณฑ์การพิจารณา ในการแยกตัวผู้เสพออกจากผู้ค้า เพื่อรับการบำบัดที่ปัจจุบันเกณฑ์ดังกล่าวก็มีปัญหามากอยู่แล้ว

วาโยระบุว่า นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา วางอยู่บนหลักการที่ว่าต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า โดยถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ไม่ใช่อาชญากร ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่วิธีการที่ใช้ในการแยกตัวผู้เสพออกจากผู้ค้าที่ผ่านมามีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน (assumption of law) ว่าผู้ที่ครอบครองเกินกว่า 15 หน่วยการใช้ ถือว่าเป็นผู้ค้าปัญหาของเกณฑ์แบบนี้ คือการแยกผู้ค้าออกจากผู้เสพจะทำได้ยากหรือไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะหากตัดเม็ดยาบ้าให้เป็น 4 ขา ก็นับเป็น 4 หน่วยการใช้ ถ้าบุคคลคนหนึ่งที่เป็นเพียงผู้เสพ มียาบ้า 4 เม็ด แต่ตัดเป็นเม็ดละ 4 ขา จะกลายเป็นว่าคนๆ นั้นมี 16 หน่วยการใช้ และต้องถูกตีความให้เป็นผู้ค้าทันที เป็นการตีกรอบที่ส่งผลต่อดุลพินิจในการพิจารณาคดี ให้ศาลต้องตีความได้ประการเดียว ว่าผู้ครอบครองเกินเกณฑ์ 15 หน่วยการใช้ต้องถูกนับให้เป็นผู้ค้าเท่านั้น ทั้งที่หากสืบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลไป อาจจะเป็นเพียงแค่ผู้เสพหรือผู้ป่วยที่ควรจะต้องได้รับการบำบัดมากกว่าการเอาไปขังก็ได้

วาโยระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมางานวิจัย การศึกษา และสถิติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ยังได้บ่งชี้ตรงกันว่าการใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อนเช่นนี้ ไม่ได้ผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเพียงพอ และยังก่อให้เกิดผลในทางกลับกัน คือคดียาเสพติดและจำนวนผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการผลักให้ผู้เสพซึ่งควรเป็นผู้ป่วย ให้กลายเป็นผู้ค้าแทน

ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะปรับเกณฑ์จาก 15 หน่วยการใช้ เป็น 2 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาช่องโหว่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่สมกับเจตนารมณ์ในการเอาผู้ป่วยมาเข้ารับการบำบัด และยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุก ที่เมื่อเอาสถิติมาดู ก็จะพบได้ว่า 60-70% ของคนที่ติดคุกมาจากคดียาเสพติด และส่วนใหญ่ก็เป็นรายย่อยกว่า 80-90% และยังมีบางส่วนที่ความจริงควรถูกนับเป็นผู้ป่วย แต่กลับถูกผลักให้เป็นอาชญากรไปเสีย และทำให้ต้องฝากถามไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าการผลักดันเกณฑ์เช่นนี้ออกมาอาศัยผลการศึกษาเชิงประจักษ์ เอกสารทางวิชาการ หรือข้อมูลเชิงสถิติ จากทั้งในและต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาแล้วหรือไม่ มีข้อบ่งชี้จากผลการศึกษาเหล่านั้นแล้วหรือไม่ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เช่นนี้แล้วจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้จริงๆ

“นโยบายเช่นนี้ในขาหนึ่งอาจจะป้องปรามยาเสพติดได้จริง แต่อีกขาหนึ่งก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่ามาตรการเช่นนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่ และกลายเป็นการผลักผู้ป่วยให้กลายเป็นอาชญากรหรือไม่ และการใช้วิธีแบบนี้ ที่ผ่านมามีพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือสถิติมายืนยันหรือไม่ว่าได้ผลจริงในการแก้ปัญหายาเสพติด” วาโยกล่าว

วาโยยังกล่าวต่อไปว่า ตนเห็นว่านโยบายที่เน้นการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้าเป็นแนวทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ที่ใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อน มีปัญหาช่องโหว่มากเกินไป หากสามารถปรับวิธีพิจารณาให้กลับสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปได้ ก็จะช่วยให้เกิดกระบวนการแยกผู้เสพออกจากอาชญากรตัวจริงได้จริงๆ ตามเจตนารมณ์ของการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ต้นตอ จะเป็นมาตรการที่จะช่วยยุติปัญหายาเสพติดที่ได้ผลดีที่สุด

“ทุกคนที่เป็นเหยื่อของสังคม ถูกล่อลวงให้เสพยาจนเกิดการเสพติดขึ้นมา เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรค addiction disorder แบบหนึ่งที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่เกณฑ์ที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายแบบนี้ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมเป็นหลัก ถูกบีบคั้นทางสังคม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สภาพแวดล้อมที่เป็นวงจรภายในชุมชน ชักนำให้เสพยา นำไปสู่การติดยาและค้ายา ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาประเทศจนชุมชนได้รับการพัฒนา มีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนดีพอ ปัญหายาเสพติดจะลดน้อยลงไปเองในที่สุด” วาโยกล่าวทิ้งท้าย

 

เพจพรรคภูมิใจไทย รายงานว่า 29 ม.ค. 2566 ที่ชุมชนวัดมะกอก เขตสามเสนใน กรุงเทพมหานคร อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารพรรค  ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน พร้อมนำเสนอนโยบายของพรรค

ระหว่างนั้น อนุทิน และทีมงาน ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชน ถึงกรณีที่ชุมชนถูกปิดกั้นทางเข้าออก ไปจนถึงปัญหาค่าเช่าที่ค้าขาย ซึ่งสูงเกินไป นอกจากนั้น ยังมีเรื่องร้องเรียนจากชุมชนใต้ทางด่วน อาทิ การปล่อยน้ำทิ้งจากทางด่วน และมลพิษทางเสียง ปัญหา ค่าเช่า และค่าปรับ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอนุทิน ยืนยันว่าจะหาทางแก้ไข ให้เกิดความเป็นรูปธรรม

“เรื่องยาเสพติด พรรคภูมิใจไทย มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องแก้ไขด้วยการแก้กฎหมาย จากนี้ ใครครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เท่ากับเป็นผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้จำหน่ายเลย โทษหนักเลย เตรียมลงนามเร็วๆ นี้ ” อนุทิน กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท