สุรพศ ทวีศักดิ์: ระบบอยุติธรรมที่ห้ามมีความเป็นคน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เฟสบุ๊คศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่เรื่องราว “กว่าจะมาเป็นการเดิมพันด้วยชีวิตของแบม อรวรรณ” ให้เห็นว่าเธอต้องเผชิญกับ “ความอยุติธรรม” อะไรมาบ้างตามภาพและข้อความข้างล่างนี้

ที่มา https://www.facebook.com/lawyercenter2014/photos/a.668860109830513/5785499564833183

ย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 แบมกับ “ตะวัน” หรือทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และเพื่อนๆ รวม 8 คนถูกดำเนินคดี ม.112 และ 116 จากกรณีทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “ขบวนเสด็จ” ที่สยามพารากอน และได้รับการประกันตัวด้วยเงื่อนไขดังกล่าว 

เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่แบม, ตะวัน, นักสู้ทุกคนที่ติดกำไล EM และทุกคนที่ต้องคดี 112, 116 ทั้งทีได้รับการประกันตัวและอยู่ในคุก รวมทั้งที่หนีออกนอกประเทศ ต่างเผชิญกับ “ความอยุติธรรม” อย่างชัดแจ้ง เพราะ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ คือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” (the principle of equal liberty) ได้แก่ เสรีภาพในการกระทำและการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลที่ใครๆ จะเลือกกระทำหรือใช้ชีวิตส่วนตัวแบบไหนก็ได้ ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น และเสรีภาพทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม เสรีภาพจากการถูกจับกุมคุมขังด้วยการใช้กำลังบังคับโดยพลการ และสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ เป็นต้น 

ในสังคมประชาธิปไตย หลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมดังกล่าวจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายถึง รัฐธรรมนูญต้องรับรองหลักเสรีภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ ต้องไม่มีการบัญญัติให้สถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคมสถาบันใดสถาบันหนึ่งมีสถานะ, อำนาจ และบทบาทหน้าที่ขัดหลักความยุติธรรมดังกล่าว เช่น จะมีกฎหมายที่บัญญัติให้สถาบันกษัตริย์ สถาบันศาสนา กองทัพ ศาล และอื่นๆ มีสถานะ, อำนาจ และบทบาทหน้าที่ขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมไม่ได้

พูดให้ชัดขึ้นคือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะ, อำนาจ และบทบาทของสถาบันต่างๆ ทางการเมืองและทางสังคมจะต้องบัญญัติ “วางกรอบ” ให้สถาบันนั้นๆ มีสถานะ, อำนาจ และบทบาทหน้าที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือมีสถานะ อำนาจ และบทบาทหน้าที่ปกป้องรักษาหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าทียม 

ดังนั้น ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ สถาบันกษัตริย์ สถาบันพรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ กองทัพ ตำรวจ และระบบราชการทั้งหมดจะต้องมีสถานะ, อำนาจ และบทบาทบาทหน้าที่สอดคล้องและรักษาปกป้องหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าทียมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ นอกจากสถาบันกษัตริย์ สถาบันพรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ กองทัพ ฯลฯ จะต้องมีสถานะ, อำนาจและบทบาทหน้าที่สอดคล้องและปกป้องรักษาหลักความยุติธรรมสาธารณะแล้ว ประชาชนในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ปกป้องรักษาหลักความยุติธรรมสาธารณะร่วมกันด้วย เช่น บทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบทุกสถาบันทางการเมืองและทางสังคมที่ใช้ภาษีของเราว่าโปร่งใสหรือไม่ มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือทรยศหักหลังประชาชนที่เลี้ยงดูด้วยการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานต่างๆ หรือละเมิดหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือไม่เป็นต้น 

แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เราเป็นสังคมที่ “หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญ” คือ เขียนรัฐธรรมนูญหลอกลวงตัวเองว่า “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แต่ประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นประมุขที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ประกันหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม ซึ่งหมายความว่า ประมุขไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี ต้องอยู่ภายใต้หลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม ดังนั้น ประมุขของรัฐจึงต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรือเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบจากประชาชนด้วย และตำรวจ อัยการ ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะจับประชาชนเข้าคุกเพียงเพราะใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น การพูด การแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เช่น ตะวันกัแบมและเพื่อนๆ แค่ทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ไม่มีทางที่จะผิดกฎหมายใดๆ ในระบอบประชาธิปไตยได้ ยกเว้นกฎหมายของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเท่านั้น 

การเป็นสังคมที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทำให้สังคมไทยติด “กับดักของการทำลายตัวเองและทำลายกันและกัน” ทุกสถาบันที่มีสถานะ, อำนาจ และบทบาทหน้าที่ขัดแย้ง หรือละเมิด และทำลายหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง และทำร้ายประชาชนที่ทำหน้าที่ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ด้วยการจับพวกเขาเข้าคุก ทำลายโอกาสทางการศึกษา อาชีพการงาน และอนาคตของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า 

พูดอย่างถึงที่สุด ระบบการปกครองที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญ คือระบบการปกครองที่ “ห้ามมีความเป็นคน” เช่น เงื่อนไขการให้ประกันตัวของตะวัน-แบมและคนอื่นๆ การมีนักโทษ 112 และคดีการเมืองอื่นๆ คือการห้ามมีความเป็นคน ทั้งในแง่ความเป็นคนที่ต้องมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว ชีวิตการศึกษา อาชีพการงาน และทั้งในแง่ความเป็นคนในวิถีชีวิตทางสังคมและการเมืองที่ถูกห้ามแสดงบทบาทของความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค 

ในด้านกลับกัน ระบบการปกครองที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญมันสะท้อน “การขาดความเป็นคน” ของบรรดาผู้มีอำนาจในทุกสถาบันทางการเมืองและทางสังคมที่รับภาษีประชาชน เพราะระบบการปกครองเช่นนี้ทำให้ “คน” ที่อยู่ในระบบโครงสร้างอำนาจของสถาบันต่างๆ เหล่านั้นทำหน้าที่แบบ “หุ่นยนต์” ที่ไร้หัวจิตหัวใจ หรือต้องทำหน้าที่อย่างอำมหิตเลือดเย็นต่อความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกศาลตัดสินลงโทษอย่างอยุติธรรม 

พูดอีกอย่างคือ ระบบการปกครองที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญมันสร้าง “คน” ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจของสถาบันทางการเมืองและทางสังคม ให้หลายเป็น “คนหลอกตัวเอง” ว่าฉันก็ทำตามกฎหมาย ฉันก็ทำตามหน้าที่ของฉันดีที่สุดแล้ว แม้ฉันจะเห็นว่าการจับกุมคุมขังหรือพิพากษาตัดสินให้เพื่อนร่วมสังคมติดคุก เพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองมัน “ไม่ยุติธรรม” แต่ฉันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉันต้องทำตามระบบ ทำตามคำสั่งของนายเหนือหัวขึ้นไป ฉันไม่มีเจตนาร้ายอะไรต่อนักสู้เพื่อเสรีภาพเหล่านั้น แต่ฉันไม่มีทางเลือก

แต่ในด้านที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ระบบการปกครองที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญมันสร้าง “คนที่ทำลายความเป็นคนของตัวเองและคนอื่น” คือมันสร้างคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนด้วยกันเองให้กลายเป็น “พวกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ” ในการแสดงตัวเป็น “คนดี” ของระบบที่บิดเบี้ยว ด้วยการกระตือรือร้นหาทางใช้กฎหมาย (ที่ขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะ/หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม) และวิธีการนอกกฎหมายจัดการกับประชาชนที่ออกมาสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

แน่นอนว่าระบบเช่นนี้มันก็สร้างพลเมืองที่เรียกกันว่า “ไทยเฉย” หรือพวกอิกนอแรนท์ต่อความอยุติธรรมที่เห็นตำตา (คนเหล่านี้มีตั้งแต่คนระดับชาวบ้านธรรมดาถึงคนระดับศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์และทางอื่นๆ) เพราะความกลัว หรือเพราะไม่เคยเห็นคุณค่าของหลักความยุติธรรมสาธารณะ/หลักเสรีภาพที่เท่าเทียมของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากสถาบันการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแบบไทยไม่เคยสอนหรือสร้างการเรียนรู้ให้เข้าใจและเห็นคุณค่าในหลักดังกล่าวอย่างจริงจัง หรือเป็นพระพวกเขาเหล่านั้นอยู่ในสถานะชนชั้นนำทางสังคมและเศรษฐกิจที่สุขสบายแล้ว หรืออยู่ในกลุ่มหรือเครือข่ายชนชั้นนำที่กุมอำนาจนำทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้เปรียบคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกรู้สาอะไรกับความอยุติธรรมที่เห็นตำตา

เมื่อพิจารณาข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของตะวัน-แบม คือ 1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นอิสระและเป็นกลาง 2) ปล่อยผู้ถูกขังคุกคดี 112 หรือคดีการเมือง และ 3) ให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีนโยบายยกเลิก ม.112, 116 ก็คือข้อเสนอที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือเป็นข้อเสนอที่เป็นจุดเริ่มต้นให้สามารถสร้างหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้เป็นไปได้จริง 

มันเป็นข้อเสนอที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด การมองว่าเป็น “ข้อเสนอที่สุดโต่ง” ย่อมเป็นการมองที่ผิดเพี้ยน เพราะระบบการปกครองที่หลอกตัวเองโดยรัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นระบบที่สุดโต่งและผิดเพี้ยนมากอยู่แล้ว มากเสียจนทำให้ข้อเสนอปกติกลายเป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง และระบบการปกครองที่บิดเบี้ยวสุดโต่งเช่นนี้ก็คือระบบที่บีบกดให้คนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยใจบริสุทธิ์อย่างตะวัน-แบมต้องเลือกที่จะเอาชีวิตเข้าแลก 

จึงแทนที่จะชี้นิ้วว่าตะวัน-แบมเรียกร้องอย่างสุดโต่ง และใช้วิธีการสุดโต่ง คนที่มีอำนาจในทุกสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคม เช่น สถาบันกษัตริย์ พรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฯลฯ ควรทบทวนสถานะ อำนาจ และบทบาทหน้าที่ที่ผ่านมาของตนเองและในปัจจุบันมากกว่า และควรหาทางช่วยกันปกป้องชีวิตของทั้งสอง โดยมีกระบวนการรับข้อเสนอทั้งสามข้อมาพิจารณาหาทางออกร่วมกันอย่างจริงจังจะดีกว่า ถ้าบรรดาคนที่มีอำนาจในสถาบันเหล่านั้นยังเชื่อว่าตนเองยัง “มีความเป็นคน” กันอยู่!

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท