Skip to main content
sharethis

‘เพตร์ ปาเวล’ อดีตประธานคณะกรรมาธิการทหารนาโต (NATO) ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็กด้วยคะแนนแลนด์สไลด์เกือบ 60% เอาชนะคู่แข่งขาดลอย ชูจุดยืนหนุนอียู-นาโต สนับสนุนสิทธิทำแท้ง-สมรสเท่าเทียม ย้ำชัด สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่แทรกแซงนายกฯ และฝ่ายบริหารเหมือน ปธน.คนปัจจุบัน

ภาพจากทวิตเตอร์ @general_pavel 

30 ม.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่านายพลเพตร์ ปาเวล อดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพแห่งสาธารณรัฐเช็กและอดีตประธานคณะกรรมาธิการทหารนาโต (NATO) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็กซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา สามารถเอาชนะอันแดรย์ บาบิช อดีตนายกรัฐมนตรี ในรอบสุดท้ายได้อย่างขาดลอยด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 58.3 ต่อ 41.68 ซึ่งถือเป็นคะแนนชนะเลือกตั้งที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเช็ก

นายพลปาเวลวัย 61 ปีชนะเลือกตั้งในนามอิสระด้วยนโยบายหาเสียงว่าเขาสนับสนุนสหภาพยุโรป (EU) และองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ซึ่งสาธารณรัฐเช็กเป็นสมาชิกของทั้ง 2 องค์กร นอกจากนี้ เขายังแสดงจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาลเช็กมอบความช่วยเหลือด้านการทหารและมนุษยธรรมแก่ยูเครนเพื่อเอาชนะในสงครามกับรัสเซีย นอกจากจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศที่สนับสนุนชาติตะวันตกแล้ว นายพลปาเวลยังแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิพลเมืองด้านอื่นๆ เช่น สิทธิการทำแท้งและการสมรสเท่าเทียม ซึ่งกฎหมายปัจจุบันของสาธารณรัฐเช็กยังไม่รับรอง นโยบายหาเสียงทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ผมต้องการขอบคุณทุกคนที่ลงคะแนนให้ผม รวมถึงขอบคุณคนที่ไม่ได้เลือกผมแต่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะทุกคน[ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง]แสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้เกียรติประชาธิปไตยและห่วงใยประเทศนี้” นายพลปาเวลกล่าวหลังจากชนะการเลือกตั้ง พร้อมระบุว่าชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “ความจริง เกียรติภูมิ ความเคารพ และความนอบน้อม” พร้อมเน้นย้ำว่าเขาจะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศ

“เราเห็นต่างกันได้ในหลายๆ เรื่อง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นศัตรูกัน เราต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารต่อกันและกัน” เขากล่าว

หลังทราบผลการเลือกตั้ง ผู้นำคนสำคัญในยุโรปได้ร่วมแสดงความยินดีกับนายพลปาเวล อาทิ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, วลาดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน, วีโยซา ออสมานี ประธานาธิบดีโคโซโว รวมถึงซูซานา คาปูโตวา ประธานาธิบดีสโลวาเกียที่ปรากฎตัวบนเวทีเพื่อร่วมแสดงความยินดีกับเขาหลังชนะการเลือกตั้ง

นายพลปาเวลจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 4 แห่งสาธารณรัฐเช็กอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2566 แทนที่มิลอช เซมาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคสิทธิพลเมือง (Party of Civic Rights) ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2556 และอยู่ในตำแหน่งครบ 2 วาระตามรัฐธรรมนูญ โดยเซมานถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเช็กที่ชนะการเลือกตั้งโดยตรง

ภาพจากทวิตเตอร์ @general_pavel 

คู่แข่งทางการเมืองของนายพลปาเวล

เซมาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันมีแนวคิดกลาง-ขวา และมีนโยบายการต่างประเทศที่ตรงข้ามกับนายพลปาเวลชัดเจน เซมานแสดงความคิดเห็นว่าต่อต้านผู้อพยพและชาวมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อกรณีพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน นอกจากนี้ เซมานยังถูกกล่าวหาว่าพยายามแทรกแซงการบริหารประเทศของรัฐบาลซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเช็กกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุขแห่งรัฐและผู้นำสูงสุดแห่งกองทัพ ไม่มีอำนาจในการบริหารซึ่งคล้ายกับตำแหน่งประธานาธิบดีของออสเตรียและเยอรมนี และแตกต่างจากตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็กมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมถึงมีอำนาจในการแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดและประธานศาลรัฐธรรมนูญตามความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภา และมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางแห่งชาติ

ประธานาธิบดีสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายการต่างประเทศและการทหาร แต่ต้องผ่านการลงนามเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ทั้งยังสามารถโต้แย้งร่างกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภา ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายที่มีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งจาก ส.ส. อย่างไรก็ตาม กฎหมายเดียวที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็กไม่มีอำนาจในการเห็นชอบหรือโต้แย้งคือกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญของนายพลปาเวลในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีบาบิชตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีซุกหุ้น โดยเขาถูกกล่าวหาว่าปกปิดบัญชีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 2 ล้านยูโรในบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อก่อสร้างศูนย์ประชุมใกล้กรุงปราก แต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ศาลแขวงกรุงปรากมีคำพิพากษาให้บาบิชพ้นผิดจากทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม บาบิชซึ่งครั้งหนึ่งนั่งเก้าอี้มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุกของสาธารณรัฐเช็กประกาศงดเดินทางหาเสียงก่อนถึงการเลือกตั้งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากเขาได้รับจดหมายขู่ฆ่าจากผู้ไม่เปิดเผยตัวตน

สำหรับนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของบาบิช มุ่งเน้นไปที่ผลงานสมัยเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มีจุดยืนด้านการต่างประเทศที่ตรงกันข้ามกับนายพลปาเวล โดยบาบิชตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรนาโต พร้อมย้ำชัดว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะไม่มีทางส่งกองกำลังเช็กไปยังโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต แม้ว่าโปแลนด์จะถูกรุกรานโดยรัสเซียก็ตาม

ภาพจากทวิตเตอร์ @general_pavel 

รู้จัก ‘นายพลปาเวล’ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเช็ก

นายพลเพตร์ ปาเวล เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2504 ในเมืองปลาน่า ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนทางตะวันตกของสาธารณรัฐเช็กกับประเทศเยอรมนี สามารถสื่อสารได้ 4 ภาษา คือ ภาษาเช็ก อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เขาสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากโรงเรียนนายร้อยสมัยเช็กโกสโลวาเกียและมหาวิทยาลัยความมั่นคงแห่งสาธารณรัฐเช็ก หลังการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) หรือการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองโดยสันติจากพรรคคอมวมิวนิสต์ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่ปกครองเช็กโกสโลวาเกียมานานกว่า 41 ปี นายพลปาเวลได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence University) ในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสตาฟฟ์คอลเลจ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการทหารในสังกัด Royal College of Defence Studies (RCDS) ของสหราชอาณาจักร และจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากคิงส์คอลเลจลอนดอน

นายพลปาเวลเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้แทนด้านการทหารของสาธารณรัฐเช็กในสหภาพยุโรประหว่างปี 2550-2552 และก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพทหารด้วยการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกของสาธารณรัฐเช็กในปี 2555-2558 ซึ่งมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาด้านการทหารแก่รัฐบาล ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารนาโต (NATO) ในปี 2558-2561

หลังเกษียณอายุจากอาชีพทหารในปี 2561 นายพลปาเวลได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์และที่ปรึกษาด้านการทหาร และทำแคมเปญช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก่อนจะลงเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วด้วยการประกาศลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม Spolu ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรครัฐบาลของเช็กในปัจจุบัน

ถึงแม้นายพลปาเวลเคยอธิบายตนเองว่ามีแนวคิดทางการเมืองเป็นฝั่งกลาง-ขวา แต่ในอดีต เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิวสต์แห่งเช็กโกสโลวาเกีย โดยประเด็นนี้ บาบิชซึ่งเป็นคู่แข่งในการท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีหยิบยกขึ้นมาเป็นแคมเปญหาเสียงเพื่อโจมตีนายพลปาเวล อย่างไรก็ตาม นายพลปาเวลเขียนบนเว็บไซต์ของเขาว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และถือเป็นความผิดพลาดในชีวิต โดยการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นเพราะอาชีพด้านการทหารของเขา

“ผมเกิดมาในครอบครัวที่มองว่าการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถือเป็นเรื่องปกติ ผมไม่มีข้อมูลและประสบการณ์มากพอที่จะประเมินว่าการปกครองด้วยระบอบดังกล่าวเป็นอาชญากรรม”

นายพลปาเวลมีบทบาทสำคัญด้านการทหารระหว่างประเทศ โดยเข้าร่วมสมรภูมิสำคัญของนาโตในอัฟกานิสถานและอิรัก รวมถึงเป็นผู้บัญชาการในปฏิบัติการอพยพทหารฝรั่งเศสออกจากสมรภูมิรบระหว่างเซอร์เบีย-โครเอเชียเมื่อปี 2536 โดยปฏิบัตริการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของกองกำลังพิทักษ์สันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNPROFOR)

แปลและเรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net