Skip to main content
sharethis

หลังราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศ กกต. 2 ฉบับ ‘จำนวน ส.ส.เขตแต่ละจังหวัด - รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง’ ล่าสุด กกต. กางแผนที่ แต่ละจังหวัดมี ส.ส.ได้กี่คน 

1 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ก.พ.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง' เผยแพร่แผนที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้ง ปี 2566 แยกตามจังหวัด หลังวานนี้ (31 ม.ค.66) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 ฉบับ ลงวันที่วันที่ 31 ม.ค. 2566 ประกอบด้วย 1.เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 และ 2. เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 

ซึ่งประกาศฉบับแรกระบุ จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 มีจำนวน 66,090,475 คน จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 165,226 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งภายหลัง แฟนเพจ 'สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง' เผยแพร่เป็นแผนที่ดังนี้

สำหรับประกาศเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 นั้น ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ใกล้เคียงกันแล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อยสามรูปแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็น ของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ

ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย 4 ประเด็น 1. รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต 2.จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถ เดินทางได้โดยสะดวก 3. เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ 4. แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ระบุว่า ภายใน 3 วันนับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดตามข้างต้นให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่ง เขตเลือกตั้งของจังหวัด แล้วรวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสมเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันถัดไป

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานตามข้างต้น และได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้ง ทั่วไปใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยให้ถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้ตามข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net