Skip to main content
sharethis

อคติทางศาสนากำลังเป็นชนวนความขัดแย้งที่สำคัญของโลก พุทธเถรวาทก็มิใช่ข้อยกเว้น ‘พุทธทำนาย’ ‘ศาสนาแห่งสันติ’ ต่างนำไปสู่ความขัดแย้ง การเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์ และปะทุเป็นลัทธิการคุ้มครองพุทธศาสนาเชิงปกป้อง ทุกศาสนาสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ทุกคนล้วนมีอคติ การสร้างพื้นที่พูดคุยอย่างสร้างสรรค์คือหนทางระงับมิให้อคตินำไปสู่ความรุนแรง

  • ศาสนากำลังเป็นบ่อเกิดความขัดแย้งหลักของโลกปัจจุบัน การทำความเข้าใจอคติทางศาสนาจึงสำคัญต่อการทำความเข้าใจความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน
  • พุทธเถรวาทถูกผูกโยงกับชาตินิยมไทยและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ รวมถึงขจัดความเป็นอื่น
  • พุทธทำนายเป็นจินตนาการที่ฝังแน่นและแพร่หลายในโลกพุทธเถรวาทเป็นรากฐานความคิดว่าต้องปกป้องพุทธศาสนาจากภัยคุกคามต่างศาสนา ก่อนจะแปรเป็นลัทธิการคุ้มครองพุทธศาสนาเชิงปกป้อง (Buddhist protectionism)
  • ผู้ที่เชื่อในลัทธิการคุ้มครองพุทธศาสนาเชิงปกป้องเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือพุทธศาสนากำลังเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากศาสนาอื่น วิธีการจัดการปัญหาก็คือการจัดการกับศาสนาอื่น
  • ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสันติเป็นความเชื่อที่ถูกสร้างในศตวรรษที่ 19 ซึ่งจำกัดกรอบและโดดเดี่ยวตัวตนความเป็นพุทธออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ ผู้เขียน ‘A Little History of Religion’ หรือ ‘ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์’ เขียนในหนังสือของเขาว่า "เมื่อศาสนาเข้าร่วมการทะเลาะเบาะแว้ง มันเติมพิษลงไปในส่วนผสม ซึ่งพิษนี้มักไม่ปรากฏในข้อขัดแย้งอื่น เดิมทีมนุษย์นั้นชอบใช้ความรุนแรง แต่ถ้าพวกเขาปักใจว่าตนทำเพื่อสนองพระประสงค์ของพระเจ้า โอกาสที่พวกเขาจะปรานีและออมมือเมื่อมีข้อขัดแย้งย่อมมลายหายไป"

ศาสนามีแนวโน้มเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าคำสอนจะงดงามเพียงใด แต่มันก็มีการแบ่ง ‘เขา’ และแบ่ง ‘เรา’ เป็นรากฐาน สิ่งนี้ก่อร่างสร้างตัวเป็นอคติทางศาสนาที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งศาสนาพุทธที่ถูกสร้างความเชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติ

ประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาและตีแผ่อคติที่เกิดจากศาสนา โดยเฉพาะพุทธเถรวาทที่เป็นเชื้อไฟแห่งความรุนแรงได้ไม่ต่างจากศาสนาอื่นๆ

เหนืออื่นใด ทุกคนมีล้วนอคติ การลบล้างอคติไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราสามารถสร้างพื้นที่พูดคุยอย่างสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาอคติ สร้างความเข้าอกเข้าใจ และไม่แปรเปลี่ยนมันไปสู่ความรุนแรงได้

เมื่อศาสนาเติมเชื้อไฟความรุนแรง

ประกีรติ เริ่มต้นพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงทศวรรษผ่านมาที่ศาสนาได้กลายเป็นส่วนประกอบของภูมิทัศน์ความขัดแย้งและความรุนแรง เหตุการณ์ความรุนแรงทางศาสนาปรากฎขึ้นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง การไล่ทำร้ายและลงโทษชาวโรฮิงญาในพม่า หรือความขัดแย้งระหว่างภายในศาสนาระหว่างนิกายต่างๆ เช่น ระหว่างมุสลิมนิกายชีอะห์และซุนนีในตะวันออกกลาง และระหว่างคนต่างศาสนา เช่น คนพุทธและมุสลิมในเอเชีย หรือคนคริสต์และมุสลิมในทวีปแอฟริกา

พัฒนาการเหล่านี้ดูจะสอดคล้องกับข้อค้นพบจากฐานข้อมูล The Religion and Armed Conflicts (RELAC) Data, 1975-2015 ของทีมวิจัยมหาวิทยาลัย Uppsala University ประเทศสวีเดน ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลความเกี่ยวพันกันระหว่างศาสนาและความขัดแย้งที่ขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี ค.ศ.1975-2015 และมีข้อค้นพบว่า จำนวนความขัดแย้งในประเด็นทางศาสนาได้ขยายตัวและเพิ่มสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

แนวโน้มความรุนแรงทางศาสนาดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับแหล่งข้อมูลอื่น โดยกลุ่มสิทธิของชนกลุ่มน้อยระหว่างประเทศ (Minority Rights Group International) ได้รายงานในปี ค.ศ.2021 ว่าคนกลุ่มน้อยทางศาสนาต้องเผชิญกับทัศนคติของสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มพวกตน และมีการเผชิญหน้าระหว่างศาสนาที่เกิดการนองเลือด รวมถึงรายงานในปี ค.ศ.2019 จากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ก็ได้รายงานว่า แม้เหตุการณ์การก่อการร้ายจะลดลง แต่การแทรกแซงของรัฐต่อศาสนกิจรวมถึงการลิดรอนและคุกคามสวัสดิภาพและเสรีภาพทางศาสนาของคนกลุ่มน้อยกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดตั้งแต่ได้เริ่มมีการสำรวจและเก็บข้อมูลมาในปี ค.ศ.2007 โดยปัจจัยผลักดันสำคัญประการหนึ่งคงจะไม่พ้นอคติทางศาสนาที่สามารถบ่อนทำลายขันติธรรมต่อความหลากหลายและสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกปฏิบัติ เป็นเหมือนเชื้อไฟที่คอยกระตุ้นกระแสความขัดแย้งและความรุนแรงทางศาสนา

เข้าใจอคติทางศาสนา เข้าใจความขัดแย้งในปัจจุบัน

“การทำความเข้าใจความขัดแย้งอคติทางศาสนาจึงสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งเราพบว่าอคติทางศาสนาถูกใช้เป็นกรอบในการสร้างเรื่องเล่าเพื่อสื่อสาร ระดมพล จัดตั้ง และเป็นแกนกลางของความขัดแย้งเหล่านี้”

แต่คนทั่วไปคงมีคำถามว่า ทำไมศาสนาถึงเกี่ยวโยงกับการขาดขันติธรรมและความรุนแรง เพราะคำสอนของศาสนาน่าจะมุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาเป็นคนดี นักสังคมศาสตร์เองก็ถกเถียงเรื่องนี้และยังหาข้อสรุปอย่างเด็ดขาดไม่ได้ บางคนอาจมองว่าความรุนแรงทางศาสนาไม่ใช่เรื่องศาสนาเลยด้วยซ้ำ หากเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ถูกทำให้ดูเป็นเรื่องศาสนา หรือบางคนเสนอว่าศาสนามีคุณลักษณะบางอย่างในตัวมันเองที่นำไปสู่ความรุนแรง

ทั้งนี้ จะมีการมองอีกแบบที่ให้ความสำคัญกับการตีความคัมภีร์และคำสอนทางศาสนา โดยมองว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งถ้าเงื่อนไขของบริบทแวดล้อมเหมาะสม การตีความก็สามารถถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนความรุนแรงได้

แน่นอนว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งคงหนีไม่พ้นการเปิดสวิตช์ให้อคติทางศาสนาทำงานด้วยการแยกเราแยกเขาออกจากกันและเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นศัตรู เพราะศาสนาไม่เพียงกำหนดอัตลักษณ์ความเป็นเขาเป็นเราทั้งในระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงเอกลักษณ์ของชาติ แต่ยังสามารถถูกนำไปใช้อธิบายว่าอะไรเป็นภัยและควรต้องถูกกำจัดด้วย

ในปัจจุบันเราพบเห็นผู้คนที่นิยามตัวเองว่าไม่นับถือศาสนามากขึ้น ในทางกลับกันก็มีผู้คนที่ระบุความชัดเจนของอัตลักษณ์ตนเองว่าเป็นคนของศาสนาและมีการประพฤติตนอย่างเคร่งครัดตามแนวทางศาสนาที่ตนยึดถือ เมื่อความต่างขั้วต้องอยู่ร่วมกันในสังคมพื้นที่หนึ่งๆ ความขัดแย้งจึงเลี่ยงได้ยาก และบางครั้งก็ลุกลามเป็นการปะทะ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาลักษณะบทบาทและพลวัตของอคติทางศาสนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในบริบทสังคมสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมและศาสนาอยู่ตลอด

ชาตินิยมศาสนา พุทธเถรวาทนิยามความเป็นชาติ

โดยปกติแล้ว ชาตินิยมศาสนาเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและลัทธิชาตินิยม โดยเฉพาะในบริบทที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอ้างชาติในการเคลื่อนไหวและนิยามความเป็นชาติด้วยคำอธิบายเชิงศาสนา สำหรับกรณีของโลกเถรวาท การหลอมรวมระหว่างอัตลักษณ์ศาสนาและชาติ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธที่เป็นคนหมู่มากกับคนกลุ่มน้อยทางศาสนา ซึ่งมักเป็นคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ด้วย รวมถึงการผลักดันกฎหมายให้คุณให้โทษบนพื้นฐานทางศาสนา ต่างเป็นลักษณะเด่นชัดของปรากฏการณ์พุทธชาตินิยมที่มีศรีลังกาและพม่าเป็นตัวอย่างหลัก และแน่นอนว่า แม้ไทยเองจะมีลักษณะร่วมหลายประการกับพม่าและศรีลังกา แต่ระดับความขัดแย้งและความรุนแรงยังห่างจากสองกรณีแรก

อย่างไรก็ดี จุดร่วมสำคัญประการหนึ่งของปรากฏการณ์ชาตินิยมศาสนา คือการใช้อคติทางชาติพันธุ์และศาสนาเป็นกลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมการเมือง ในกรณีของศรีลังกา พม่า และไทย อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนหมู่มากและความเป็นพุทธเถรวาทถูกนำมาใช้นิยามความเป็นชาติ ซึ่งมีผลให้ความเป็นคนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องถูกควบคุมและบางทีก็ต้องโดนกำจัด ถ้าความต่างดังกล่าวถูกนิยามว่าเป็นภัยของชาติ

เป็นที่น่าสนใจว่า โลกเถรวาทเป็นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ และลักษณะทางวัฒนธรรมดังกล่าวเชื่อมโยงกันผ่านประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางด้านภาษาและตัวบททางศาสนา เพราะคัมภีร์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาของครูบาอาจารย์ในรุ่นหลังต่างใช้ภาษาบาลีเป็นภาษากลาง ทั้งยังกระจายเคลื่อนย้ายไปพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ก่อนยุคสมัยใหม่ตอนต้น ตัวบททางศาสนาเหล่านี้ไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องเล่าและคำสอนที่จดจำกันมา แต่มีการตีความคำสอนที่แฝงฝังอคติทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของผู้เขียนเข้าไปด้วย เช่น คัมภีร์มหาวงศ์ที่อ้างถึงเหตุการณ์ในยุคต้นลังกาทวีปจะมีเรื่องเล่าแสดงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสิงหล รวมไปถึงคำอธิบายให้ความชอบธรรมต่อสงครามและการใช้ความรุนแรงปราบชาวพื้นเมืองเดิม เป็นต้น

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าภาษามีอิทธิพลต่อโลกทัศน์และการรับรู้ว่าอะไรคือความจริง นักวิชาการหลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเล่าและอุปลักษณ์ในข้อเขียนภาษาบาลีได้สร้างจินตนาการร่วมทางเถรวาท แต่ที่สำคัญจะเป็นเรื่องที่จินตนาการนี้พร้อมถูกนำไปตีความเพื่อสนับสนุนการใช้ความรุนแรงสำหรับขจัดภัยต่อศาสนาและชาติ ดังเช่นกรณีการอ้างถึงข้อความในมหาวงศ์เพื่อปราบปรามศัตรูทั้งในสงครามกลางเมืองของศรีลังการะหว่างกลุ่มพุทธสิงหลและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ รวมถึงการปลุกระดมคนพุทธให้ต่อต้านโรฮิงญาในพม่า เป็นสำคัญ

จินตนาการ ‘พุทธทำนาย’ และบทบาทสงฆ์ที่ลดน้อยถอยลง

แต่จินตนาการที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งคือเรื่องคำทำนายการสิ้นศาสนาภายในเวลา 5,000 ปี ซึ่งถูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของชาวพุทธทั่วไปและเป็นเหตุผลกล่าวอ้างสำคัญสำหรับการปกป้องคุ้มครองศาสนา ถ้าเป็นในกรณีของไทยเอง แม้คณะสงฆ์จะถูกเข้าใจว่าเป็นสถาบันหลักที่คอยค้ำจุนศาสนา แต่ในบริบทที่คณะสงฆ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์และรัฐได้กลายเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของคณะสงฆ์ต่อกิจการของรัฐหรือการอุปถัมภ์สนับสนุนที่รัฐมีให้ต่อคณะสงฆ์

“ในช่วงการรวมศูนย์ คณะสงฆ์มีบทบาทสำคัญมากในทางการเมือง การสร้างรัฐ สร้างชาติ การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ การดูแลจัดการการศึกษาและการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญมากในการต่อสู้กับอำนาจอาณานิคมและคอมมิวนิสต์ เป็นตัวแทนของรัฐส่วนกลางในกรุงเทพ ลงไปช่วยจัดการปัญหาความยากจนในพื้นที่สีแดง”

แต่ในยุคหลังสงครามเย็น นโยบายความมั่นคงเปลี่ยน บทบาททางการเมืองของคณะสงฆ์ลดทอนหายไป แม้ยังเป็นสถาบันสำคัญในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้รับมอบบทบาทหน้าที่เหมือนเดิม คณะสงฆ์ส่วนกลางกังวลใจมาก รู้สึกว่าคนไม่เข้าวัด พลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม การถือศาสนาที่เปลี่ยนไปจากแบบแผนเดิม คนแสวงหาคำอธิบายหรือแนวทางการปฏิบัติใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมและเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ความศรัทธาของคนจึงเริ่มกระจายตัวออกและเกิดสำนักปฏิบัติทางพุทธศาสนาอื่นๆ ขึ้น เช่น ธรรมกาย สันติอโศก พุทธทาส เป็นต้น

ผนวกกับบทบาทของคณะสงฆ์ที่ชาวพุทธมักเข้าใจว่าพระสงฆ์เป็นตัวแทนของศาสนา เป็นสถาบันหลักของศาสนา ดังนั้นย่อมเป็นผู้ดูแลปกป้องรักษาพระศาสนา เกิดการตีความว่าบทบาทของคณะสงฆ์ที่มีต่อรัฐเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของคณะสงฆ์และศาสนา ประกีรติอธิบายว่าการตีความนี้เกิดขึ้นเมื่อคณะสงฆ์ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ

แต่หลังสงครามเย็น นโยบายความมั่นคงเปลี่ยน บทบาททางการเมืองของคณะสงฆ์ลดทอนหายไป แม้ยังเป็นสถาบันสำคัญในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้รับมอบบทบาทหน้าที่เหมือนเดิม คณะสงฆ์ส่วนกลางกังวลใจมาก รู้สึกว่าคนไม่เข้าวัด การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม การถือศาสนาแบบเดิมเปลี่ยนไป คนแสวงหาคำอธิบายหรือแนวทางการปฏิบัติใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของสังคม เศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ความศรัทธาของคนเริ่มกระจายตัวออกเกิดสำนักปฏิบัติทางพุทธศาสนาอื่นๆ ขึ้น เช่น ธรรมกาย สันติอโศก พุทธทาส เป็นต้น

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คณะสงฆ์กังวลใจ สอดคล้องกับความคิดที่ว่าศาสนาเสื่อมลง ไม่รวมถึงข่าวอื้อฉาวต่างๆ ความกังวลใจก็มีพลวัต มันเปลี่ยน ช่วงหลังๆ เชื่อว่าศาสนาอ่อนแอ ข่าวอื้อฉาว คนไม่ค่อยเข้าวัด คนบวชน้อยลง คนวิจารณ์พระเยอะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดว่าศาสนาเสื่อมลงในสายตาคณะสงฆ์ เพราะคณะสงฆ์เป็นตัวแทนศาสนา ควรเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ แต่คนวิพากษ์วิจารณ์เยอะแสดงว่าความศักดิ์สิทธิ์น้อยลง พอข่าวคราวอื้อฉาวออกมาเยอะ พระรู้สึกตนเองตกเป็นเหยื่อ โดนโจมตี ก็กระทบความรู้สึกของคณะสงฆ์และชาวพุทธว่าศาสนาเสื่อม ไม่ได้รับความเคารพเหมือนเดิม และทางรัฐไม่ได้ใส่ใจดูแล เชิดชู ยกย่องเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต”

ศัตรูที่เปลี่ยนไป จากเกลียดกลัวคริสต์ถึงเกลียดกลัวอิสลาม

ขณะเดียวกันความขัดแย้งกับคนต่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันมาโดยต่อเนื่อง ในกรณีประวัติศาสตร์รัฐชาติสมัยใหม่ของไทย ความต่างทางศาสนาเป็นประเด็นสำคัญเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างตัวตนของชาติไทย ถ้ามองไปในยุคอาณานิคม กรณีพิพาธอินโดจีนระหว่างสยามและฝรั่งเศส และวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ได้สร้างบาดแผลให้กับชนชั้นนำของสยาม และมีผลให้ฝ่ายสยามตั้งข้อรังเกียจและเบียดเบียนคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยที่บาทหลวงฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้ดูแลอยู่ เพราะมองว่าพวกคริสต์เป็นไส้ศึก โดยมีกรณีการคุกคามชาวคริสต์หลายแห่ง

แต่ที่รุนแรงที่สุดคือกรณีมรณสักขีแห่งสองคอนที่คริสตจักรที่บ้านสองคอน จังหวัดนครพนม ถูกคุกคามและชาวบ้านคาธอลิกจำนวนเจ็ดคนถูกฆาตกรรมด้วยตำรวจ โบสถ์โดนเผา โดยไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมารับผิดได้ และแม้หลังปี 2475 ท่าทีไม่ไว้วางใจและความคิดที่ว่าศาสนาคริสต์เป็นตัวแทนของจักรวรรดินิยมยังคงมีอยู่ ประกีรติเล่าว่า

“เมื่อครั้งที่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ขึ้นดำรงตำแหน่ง ทางคริสตจักรโรมันคาธอลิกมีความพยายามที่จะปรับศาสนจักรให้เข้ากับยุคสมัย โดยหลังการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ได้มีการลงมติว่า การเผยแพร่ศาสนาควรให้ความสำคัญกับการปรับพิธีสักการะบูชาให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีผลให้บาทหลวงเริ่มหันหน้าทำความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น และในงานด้านเผยแพร่ได้ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนในโบสถ์คริสต์ให้มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาเหมือนพุทธแต่มีรูปพระเยซู มีการตั้งชื่อโบสถ์เป็นวัด จึงถูกมองจากชาวพุทธว่าเป็นการคุกคาม กลุ่มปัญญาชนชาวพุทธ เช่น จำนงค์ ทองประเสริฐ ป.อ.ปยุตโต เจ้าคุณระแบบ ได้รวมตัวกันผลักดันการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีวันวิสาขบูชาเป็นแกนหลัก ซึ่งได้วางแผนให้เป็นช่วงที่พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 มาเยือนไทยพอดี งานนี้จึงเป็นการประท้วงศาสนาคริสต์เชิงสัญลักษณ์ พร้อมการตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า พระพุทธศาสนาศาสนาประจำชาติไทย และเจ้าคุณระแบบยังได้เขียนหนังสือ แผนทำลายพระพุทธศาสนา เพื่อเปิดโปงว่าคริสต์มีแผนทำลายพุทธอย่างไรบ้าง”

ประกีรติกล่าวว่าการส่งเสียงต่อต้านดังกล่าวมีฐานอคติที่เป็นมรดกมาจากยุคอาณานิคมซึ่งมองคริสต์เป็นภัย และคำอธิบายของคนต่างศาสนาในฐานะผู้ไม่หวังดีต่อศาสนาและชาติเป็นแบบแผนสำคัญของกระแสการต่อต้านอิสลามในภายหลัง

เขาอธิบายต่อว่าพุทธศาสนาที่ถูกสร้างเป็นศาสนาของรัฐ คู่ตรงข้ามจะเป็นสิ่งที่ไม่ใช่พุทธ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม หรือศาสนาอื่นๆ หรือแม้แต่พุทธที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนของรัฐ เหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความเป็นอื่น เกิดความเป็นปฏิปักษ์ทั้งต่อต่างศาสนาและภายในศาสนากันเอง ซึ่งเป็นรูปแบบจำเพาะมากที่เกิดจากการที่ศาสนากลายเป็นองคาพยพของรัฐ

การเกลียดกลัวอิสลามส่วนหนึ่งจึงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด แต่เป็นความต่อเนื่องที่ดำรงอยู่มาโดยตลอด เพียงแค่เปลี่ยนตัวละคร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับส่วนหนึ่งเป็นบริบทของกระแสจากภายนอก เช่น การก่อการร้ายโลก เหตุการณ์ 9/11 การระเบิดพระพุทธรูปหินในแอฟกานิสถาน แต่ประเด็นเหล่านี้จะจุดไม่ติดถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

“เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คนมองว่าสิ่งนี้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย มันเชื่อมโยงได้ มันมีอยู่จริง และใน 18 ปีที่ผ่านมาก็มีบางช่วงที่คนพุทธกับพระตกเป็นเป้าของการโจมตีจริงเพราะถูกมองว่าเป็นตัวแทนอำนาจรัฐไทย ก็ยิ่งทำให้เชื่อ”

ประกอบกับภาพของคนมุสลิมที่ดูจะปรากฏเด่นชัดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเพราะผู้นับถือศาสนาอิสลามมีจำนวนมากอันดับ 2 ในประเทศ ทั้งมีบทบาทในแวดวงข้าราชการ การเมือง ธุรกิจมากขึ้น มีการแสดงตัวตนว่าเป็นชาวมุสลิม มีการขยายตัวของโรงเรียนศาสนาเอกชนเพื่อรองรับประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนพุทธรู้สึกถึงการขยายตัวทางกายภาพของชาวมุสลิม และตีความว่าเป็นการคุกคามแบบหนึ่งเพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกว่าภูมิทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถควบคุมได้

เหมารวม-อคติ-เลือกปฏิบัติ

กระบวนการสร้างตัวตนคือการสร้างความเป็นอื่นตลอดเวลา เนื่องจากการระบุว่าเราเป็นใครบางครั้งไม่ได้เริ่มต้นจากตัวเรา แต่มาจากการบอกว่าเราไม่ใช่อะไร และสิ่งที่เราไม่ใช่มักเป็นสิ่งที่มีลักษณะชัดเจน โดดเด่นในตัวเองมากพอที่จะชี้ว่าเราไม่ใช่สิ่งนั้น

ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะปฏิสัมพันธ์กับ ‘คนอื่น’ อย่างไร ซึ่งการพิจารณาอคติมักจะมีแนวคิดหลักๆ คือ การเหมารวม (stereotype) อคติ (prejudice) และการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ประกีรติกล่าวว่ามันเป็นกลไกธรรมดาที่ทุกสังคมและทุกคนมี เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะมีพลวัตแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และช่วงเวลา

“การสร้างตัวตนมักมาพร้อมกับการบอกว่าเราเป็นใคร เป็นแบบไหน มีระบบคุณค่าอย่างไร แล้วคนที่ไม่ใช่เรามีลักษณะแบบไหน แตกต่างจากเราอย่างไร ซึ่งภาพโดยรวมว่าคนกลุ่มไหนมีลักษณะอย่างไร จะเรียกว่าการเหมารวม (stereotype) เช่น ถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนไทย จิตใจดี รักสงบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันนี้เป็นการเหมารวม แต่การเหมารวมก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและข้อสมมติฐานที่เรามีต่อคนกลุ่มนั้น ถ้าถามคนไทยว่าคนอินเดียเป็นยังไง คนทั่วไปมักจะบอกว่าเป็นแขก และถ้าเห็นแขกกับเห็นงูให้ตีแขกก่อน อันนี้เป็นการเหมารวมเชิงลบที่พัฒนาไปเป็นอคติ เพราะมีการกำหนดลักษณะพื้นฐานของคนแต่ละพวกว่าเป็นยังไง พร้อมการตัดสินแล้วว่าเราดีกว่าเขายังไง หรือบางกลุ่มอาจจะเหนือกว่าเราก็ได้ เขาเหนือกว่าเราในด้านไหนบ้าง และเราต้องรับมือกับเค้าอย่างไร”

สิ่งที่ตามมาจากการเหมารวมคืออคติซึ่งเป็นการตัดสินผู้อื่นในเชิงลบ เพียงเพราะเค้าเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยอคติมีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับความคิด ระดับความรู้สึก และระดับปฏิบัติ กล่าวในทางกลับกันก็คือการเลือกปฏิบัติเกิดจากการมีอคติเป็นพื้นฐาน

“อคติมักมีพื้นฐานจากการเหมารวม วัฒนธรรมต่างๆ สร้างการเหมารวมขึ้นมาอยู่ตลอด แต่การเหมารวมจะพัฒนาไปสู่อคติต้องมีมิติอื่นด้วย เช่น ต้องมีเงื่อนไขทางสังคม ประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรณีไทยก็มีเรื่องการสร้างตัวตน การสร้างชาติเข้ามาส่วนหนึ่ง อีกส่วนอาจเป็นเรื่องจากประสบการณ์ร่วมที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกจีนสมัยก่อนในไทยถูกเรียกเป็นเจ๊ก เป็นพวกกุลี ชอบกินปลาตะเพียนก้างเยอะเพราะไม่มีเงินซื้อปลาดีๆ มากิน แต่อคติอย่างเดียวจะยังไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การแปลงอคติไปสู่การกระทำจำเป็นต้องมีเงื่อนไขผลักดันที่เหมาะสม เพราะแม้คนธรรมดาทั่วไปจะมีอคติ แต่เขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่เป็นเป้าอคติของเขา

“กรณีของไทย ความเป็นอื่นผูกติดกับการสร้างตัวตนผ่านรัฐชาติ วิธีการอธิบายคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนามักถูกอธิบายผ่านประวัติศาสตร์รัฐชาติ อคติในเรื่องนี้จึงฝังอยู่ในจิตสำนึกของหลายคน อคติอย่างเช่นพวกเขมรเชื่อใจไม่ได้เพราะชอบหักหลังสยามเวลามีสงคราม การเรียนรู้ตัวตนจากประวัติศาสตร์รูปแบบดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความเป็นอื่นที่สำคัญมาก แต่อคติเองก็มีพลวัตเปลี่ยนแปลงได้ เช่นจากการเกลียดกลัวศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นอิสลามในปัจจุบัน ซึ่งพลวัตดังกล่าวก็ขึ้นกับตัวแปรที่หลากหลาย เช่น เงื่อนไขทางเวลา ปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น”

ลัทธิการคุ้มครองพุทธศาสนาเชิงปกป้อง Buddhist protectionism

พุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ชาตินิยมของไทยไม่เพียงแค่ในเชิงความคิด เพราะในเชิงสถาบัน คณะสงฆ์เป็นองคาพยพหนึ่งของรัฐ และในเชิงปฏิบัติการ คณะสงฆ์มีบทบาททำงานให้รัฐด้วย แม้ว่าจะไม่เข้มข้นเท่าในอดีต แต่ก็ยังมีบทบาทอยู่ เช่น การจัดการโครงการครูสอนศีลธรรมสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การสวดมนต์ให้พรผู้นำเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง รวมถึงการกำราบพระที่ออกนอกแถว โดยเฉพาะพระที่ออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

“บางคนใช้คำว่ากลุ่มพุทธชาตินิยม แต่สำหรับข้อถกเถียงทางวิชาการในปัจจุบัน หลายคนรู้สึกว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะกรอบชาตินิยมที่ผ่านมามองศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นเจตน์จำนงทางการเมืองของคณะสงฆ์และนักกิจกรรมฝ่ายฆราวาสเด่นชัดขึ้น เพราะแม้พวกเค้าจะอ้างชาติในการเคลื่อนไหว แต่เป้าหมายพวกเค้ากลับเป็นการผลักดันวาระทางการเมืองของคณะสงฆ์และกลุ่มตนเอง โดยนิยามผลประโยชน์ของกลุ่มตนในมิติของการอยู่รอดของศาสนาและการปกป้องพุทธศาสนาเป็นสำคัญ พร้อมมีข้อสมมติฐานที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมไทยและมีสถานะที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถาบันชาติและกษัตริย์ กลุ่มนักวิชาการจึงเรียกปรากฏการณ์ที่ยังมีลักษณะของชาตินิยมผสมอยู่ แต่ไม่สามารถใช้กรอบชาตินิยมแบบเดิมมาทำความเข้าใจว่า Buddhist protectionism หรือการคุ้มครองพุทธศาสนาเชิงปกป้อง”

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาคือการชูวาระการปกป้องพุทธศาสนาให้เป็นวาระสำคัญในการเคลื่อนไหวโดยใช้แนวคิดชาตินิยมเป็นเครื่องมือสนับสนุน เป็นกรอบในการให้เหตุผล และสร้างความชอบธรรมให้การเคลื่อนไหว สิ่งนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของรัฐเช่นในอดีต แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของคณะสงฆ์

ประกีรติอธิบายต่อว่าแนวคิด Buddhist protectionism ถูกนำมาใช้ศึกษาปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับการเมือง ความรุนแรง และอคติต่อคนต่างศาสนาทั้งในศรีลังกา พม่า และไทย โดยตัวละครที่ต่างออกไปมีข้อเรียกร้องที่ต่างออกไป แต่พวกเขาเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือพุทธศาสนากำลังเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากศาสนาอื่น ดังนั้น วิธีการจัดการปัญหาก็คือการจัดการกับศาสนาอื่น

พุทธ ศาสนาแห่งสันติ ความเชื่อที่เพิ่งสร้าง

มาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาใดก็สามารถใช้ความรุนแรงกับคนต่างศาสนาได้เหมือนๆ กันไม่เว้นกระทั่งพุทธศาสนา ข้อเสนอดังกล่าวมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งในศรีลังกา พม่า และไทย อย่างไรก็ตาม ความเป็น ‘ศาสนาแห่งสันติ’ ของพุทธได้สร้างภาพจำและความเชื่อว่าพุทธศาสนาไม่รุนแรง

ประกีรติกล่าวว่า ภาพของศาสนาแห่งสันติและศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ปรากฏขึ้นจากกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่พุทธเถรวาทเข้าไปมีส่วนสัมพันธ์กับลัทธิอาณานิคม ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โลกเถรวาทต้องเผชิญความท้าทายจากการเผยแพร่ศาสนาและแรงกดดันจากเจ้าอาณานิคมที่ส่งผลให้ชาวพุทธต้องปรับตัวและตอบโต้ โดยเฉพาะชนชั้นนำที่มีการศึกษาในภาคเมือง ทางหนึ่งก็เพื่อต่อต้านข้อกล่าวหาว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งความงมงาย เพราะให้ความสำคัญกับพิธีกรรมและการบูชารูปเสมือน แต่อีกทางก็คือการดัดแปลงนำเอาวิธีการ ภาษา และแนวคิดตะวันตกมาใช้ในการปรับสร้างตัวตนใหม่ของพุทธเถรวาท เช่น มีการปรับคำสอนให้เน้นที่ตัวบททางศาสนา ความเป็นเหตุเป็นผล การเพิ่มบทบาทของฆราวาส และการปฎิบัติสมาธิ รวมไปถึงการตั้งองค์กรพุทธฝ่ายฆราวาสและจัดซื้อแท่นพิมพ์เพื่อผลิตสื่อโจมตีคริสต์ว่างมงายเช่นกัน เพราะไหว้พระธาตุนักบุญและมีพิธีมิสซาที่ขนมปังและไวน์เป็นเหมือนดั่งกายและเลือดของพระเยซู

“นักวิชาการเรียกว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าพุทธโปรเตสแตนท์ ซึ่งเป็นการเข้าสู่สมัยใหม่ของพุทธเถรวาทที่ไม่ได้จำกัดตัวเองแค่การสู้กับคริสต์ แต่ยังขยายตัวไปถึงความพยายามที่จะนิยามพุทธว่าเป็นศาสนาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ เป็นศาสนาแห่งสันติเพราะไม่สอนให้คนฆ่ากันเหมือนคริสต์หรืออิสลามที่ต่อสู้กันในสงครามครูเสด และคริสต์ก็เป็นศาสนาของเจ้าอาณานิคม อิสลามก็รุนแรง มันคือการบอกว่าเราแตกต่างเพราะว่าเราไม่ไปรุกรานใคร

“ในด้านหนึ่ง พุทธเถรวาทถูกมองว่าเป็นศาสนาที่ปฏิเสธโลก เราหันสู่ทางหลุดพ้นจากตัวตนและไม่ได้มีสงครามกับใคร แต่ถ้าพุทธเถรวาทเองก็ต้องดำรงอยู่กับความเป็นสมัยใหม่ได้ด้วยเช่นกัน คำอธิบายอีกประการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาคือพุทธเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ โดยในช่วงหลังจะขยายไปถึงการเปรียบเทียบพุทธกับควอนตัมฟิสิกส์ การยกเอาวิปัสสนาเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการเอาจุดร่วมต่างๆ ในคำสอนไปพยายามบอกว่ามันเชื่อมโยงสอดคล้องกันกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์”

วิธีการปรับตัวเองและนำเสนอว่าพุทธเป็นศาสนาสมัยใหม่เช่นไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่โลกตะวันออก แต่นักวิชาการและคนบางกลุ่มในยุโรปยังมีบทบาทในการตีความเสนอภาพให้พุทธเป็นศาสนาที่สอดคล้องเข้ากับทั้งวิทยาศาสตร์และแตกต่างไปจากลัทธิเหตุผลนิยมที่ปฏิเสธความรู้จากประสบการณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเหล่านี้มีบาดแผลจากการกดทับทางศีลธรรมของวัฒนธรรมคริสต์ยุควิคตอเรียน ฉะนั้นจึงมองว่าพุทธเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คริสต์ ให้การเชิดชู และพยายามเอามาใช้ กระบวนการดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาทางซีกโลกตะวันตกด้วยที่ทำให้ข้ออ้างว่าพุทธเป็นศาสนาสันติ สงบ เป็นวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น และเป็นความรู้ที่กระจายตัวมาอยู่ในโลกตะวันออก

“ความพยายามสร้างภาพว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งสันติจำกัดกรอบและโดดเดี่ยวตัวตนความเป็นพุทธออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ชาวพุทธไม่ได้เพียงแค่อ่านพระไตรปิฎกหรือนั่งสมาธิ แต่พิธีกรรมและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่หลากหลายยังเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ความเป็นคนพุทธ และแน่นอนว่าเหตุการณ์เช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกาและพม่า การใช้ความรุนแรงในนามของพุทธในหลายพื้นที่ของโลกเถรวาทในหลายช่วงเวลาที่ต่างมา ต่างเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ทำให้เราเห็นว่าคำกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นจริงตามคำอ้าง หลายคนจึงมองภาพดังกล่าวเป็นการกลับกลอก มันเป็นมายาคติ

“แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือมายาคตินี้กลับถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้กับความคิดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานข้อเรียกร้องทางการเมืองของคณะสงฆ์และกลุ่มคนพุทธ แต่ไม่ได้มองว่าการเรียกร้องดังกล่าวจะมีผลต่อการอยู่ร่วมกันหรือลดทอนสถานะความศรัทธาของคนทั่วไปต่อพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด ข้อสังเกตที่สำคัญจะได้แก่ประเด็นที่ว่า การเรียกร้องสถานะพิเศษทางกฎหมายให้กับพุทธศาสนาหรือการอุปถัมภ์ของรัฐไม่เพียงนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนที่เชื่อและไม่เชื่อ แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีผลระยะยาวที่บั่นทอนศาสนาด้วย เพราะเมื่อศาสนาถูกแช่แข็งตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ความเป็นจริงชีวิตของผู้คนที่อยู่ในศาสนากลับไม่ได้เป็นเช่นที่กล่าวอ้าง ทั้งยังมีการพยายามแอบอ้างศาสนา แอบอ้างมายาคติ เพื่อแสวงประโยชน์ของตนหรือเพื่อให้เหตุผลต่อการใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น ความขัดแย้งที่ดูหลอกหลวงจะยิ่งทำให้คนหมดศรัทธา

“ถ้ามีใครมาบอกว่าศาสนากำหนดการกระทำของคน เราคงต้องบอกว่าคนต่างหากที่เป็นผู้ตีความตัวบทและเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเพื่อสร้างความหมายให้กับเป้าหมายพฤติกรรมและชีวิตตน หรือเพื่อสนับสนุนเหตุผลของการกระทำที่กำลังจะเกิดขึ้น ศาสนาจึงยึดเกี่ยวอยู่กับการตีความของคน แล้วคนก็พยายามบอกว่าการตีความนี้เป็นสารัตถะอันแท้จริงของศาสนา ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เรายึดถือเป็นสรณะโดยไม่มีการไตร่ตรองหรือตั้งคำถาม เราคงไม่ต้องไปฟังหรือจินตนาการว่าศาสนาจะเสื่อมในอีก 5,000 ปี ศาสนาเสื่อมต่อหน้าต่อตาเราแน่นอน เพราะถ้าเรามองไม่เห็นช่องว่างระหว่างความเชื่อและคำกล่าวอ้าง เราก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้”

ลบอคติไม่ได้ แต่สร้างพื้นที่พูดคุยได้

ทว่า ในโลกความเป็นจริงแล้ว อคติทางศาสนาเกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่มีวันหายไป การทำความเข้าใจอคติไม่ใช่เพื่อปฏิเสธมันหรือเพื่อบอกว่าไม่มี แต่เพื่อให้เกิดการยอมรับ เพื่อให้สามารถพูดคุยกัน ทำความเข้าใจ และหาทางออก

“เราต้องมีพื้นที่สำหรับพูดคุยถกเถียงความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะความคิดที่ผลักดันด้วยอคติ เช่น ความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพี่น้องต่างศาสนา เพราะถ้าเราคิดคนเดียว ทำคนเดียว เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราคิดและทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันต้องมีกระบวนการปรึกษาหารือ อันนี้สำคัญ เราต้องพูดคุยเรื่องนี้ให้กว้างขวาง ต้องสร้างโอกาสให้มีพื้นที่ในการพูดโดยไม่มีบทลงโทษและไม่มีความหวาดกลัวที่จะพูด”

ประกีรติกล่าวว่าสังคมที่ปิดกั้นการแสดงออก เชื่อบางอย่างโดยไม่มีการตั้งคำถาม ไม่เปิดพื้นที่ให้เสียงที่แตกต่างได้พูดมักเป็นสังคมอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจแบบผิดประเภท พร่ำเพรื่อ และมีการกดขี่สูง เขาเสนอว่าเพื่อไม่ให้อคติทางศาสนาแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง สังคมต้องเปิดพื้นที่ให้พูด ต้องมีหลายกระบวนการเข้ามาทำงานร่วมกัน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำข้อถกเถียง ข้อเสนอ สร้างการพูดคุย ถกเถียง ต้องมีคนอธิบายให้เห็นการทำงานของสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ มีการสื่อสาร ถึงจะเป็นสังคมที่ผู้คนอดทนอยู่ร่วมกันได้

“เราต้องพัฒนากลไกลในสังคมที่ทำให้เราไม่ต้องเห็นด้วย คนละขั้วเลย แต่ต้องคุยกันได้โดยไม่ตีกัน ให้สู้กันได้ในระบบ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net